ความสอดคล้องกลมกลืนกันของ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ และ ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’

ความสอดคล้องกลมกลืนกันของ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  และ ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’[1]

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙

 

สวัสดีครับทุกท่าน  รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในงานสมัชชา กป.อพช.  ครั้งนี้  หลายท่านในห้องนี้ก็เป็นครูผม  โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติและมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๙  ผมแบกคำถามที่หนักอึ้งคำถามหนึ่งเอาไว้ว่า “ทำไมเอ็นจีโอและขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกันเช่น  องค์กรด้านสิทธิชุมชน  สิทธิมนุษยชน  พวกจับตานโยบาย โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าข้างรัฐและทุนที่ลดทอน ปิดกั้น คุกคาม สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถึงอยู่ด้านตรงข้ามกับประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร

ผมพยายามคิดทบทวนเพื่อตอบคำถามนี้เรื่อยมา  แต่มันตอบคำถามนี้ไม่เสร็จสักที  อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้สนใจเพียงแค่พยายามคิดเพื่อตอบคำถาม  ถ้าลำพังเพียงแค่ตอบคำถามก็คงเสร็จไปนานแล้ว  แต่ผมพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองและองค์กรด้วย  เพราะตระหนักเสมอว่า  ‘คิด’  กับ  ‘ทำ’  ต้องไปด้วยกัน

ในการคิดทบทวนเพื่อหาคำตอบต่อคำถามนี้  เรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือว่า  คำที่ว่า ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  หรือคำอะไรอื่นทำนองนี้อีก  เช่น  ‘ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง’  ‘การพัฒนาต้องมาจากปะชาชน’  ฯลฯ  มันช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกินกับคำที่ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’  ที่คนอย่างพวกเราชอบพูดกันมากในการถกเถียงแลกเปลี่ยนและโต้แย้งกันถึงวิกฤติปัญหาประชาธิปไตยที่เอ็นจีโอ  ปัญญาชนสาธารณะ  ชนชั้นกลางหรือใครก็ตามชอบใช้แก้ตัวหรือตัดบทการสนทนาเมื่อถูกกล่าวหาหรือพาดพิงว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในการสนับสนุนรัฐประหารในสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา[2]

แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนกลับด้วยเช่นเดียวกันด้านหนึ่งก็คือ มันเป็นอะไรที่ลึกซึ้งมาก  สะท้อนความเป็นจริงได้ดีมาก  เพราะคงไม่มีประชาชนคนใดอยากเอาชีวิตตัวเองทั้งหมดไปผูกอยู่กับการเลือกตั้งหรอก  ชีวิตการเมืองไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งสักหน่อย  เพราะถึงแม้ดูจะเป็นระบบการเมืองที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดี คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีที่สุด  แต่ก็ยังกดขี่ข่มเหงขูดรีดประชาชนไม่ต่างจากระบอบการเมืองอื่นอยู่ดี  อีกด้านหนึ่งคือ ถ้าบอกแบบนี้แล้วก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วยไปพร้อมกับคำถามว่า “นั่นสิ  เราจะทำยังไงให้ประชาชนที่เราทำงานอยู่เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอ  ไม่พึ่งพิงองคาพยพ  องค์กร  หรือสถาบันการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งเท่านั้นหรือ “จะทำยังไงถึงจะทำให้ประชาชนที่เราทำงานอยู่เป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเท่านั้น

พอถามคำถามนี้แล้วก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า “เราทำอะไรกันไปแล้วบ้างที่ทำให้เห็นรูปธรรมที่แท้จริง  ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ?”

เมื่อสำรวจดูก็พบว่าเราทำอะไรไปตั้งมากมายเพื่อตอบคำถามนี้  แต่มาตายน้ำตื้นเอาตรงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในช่วงสิบปีมานี้ต้องจารึกว่า  ทั้งในระดับบุคคลและองค์กรที่มีส่วนผลักดันขับเคลื่อนบ้านเมืองและสังคมเพื่อตอบคำถามว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร

อาจจะมีผู้แย้งว่า “ทำไมเหรอ  มันจะอะไรกันนักกันหนากับไอ้การแค่สนับสนุนรัฐประหาร  ไม่ได้หมายความว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตยสักหน่อย  มันเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยอีกแง่มุมหนึ่งด้วยซ้ำ”

ต้องเข้าใจไว้ด้วยว่าความหมายของคำว่ารัฐประหาร  ตลอดยุคสมัยของการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้น  มันได้รวมคำว่าอำนาจนิยม  อนุรักษ์นิยม  ชาตินิยมและกษัตริย์นิยมอยู่ในคำนี้ด้วย  ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายไม่ดีเอาเสียเลยในสังคมไทย  เพราะรัฐประหารทำให้มันแปดเปื้อน  ต่อให้คุณบอกว่า “ฉันไม่ได้นิยมอะไรเหล่านั้นนะ”  แต่เมื่อคุณสนับสนุนรัฐประหารไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม  คุณก็จะกลายเป็นฝ่ายนิยมอะไรเหล่านั้นไปโดยปริยาย 

มันจึงทำให้ความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’  ที่เคยมีความหมายหรือบริบทกว้างขวาง  สะท้อนถึงความก้าวหน้าของขบวนประชาชนในทุก ๆ ด้าน  กลับหดแคบลงเพียงแค่ว่า  รัฐประหารคือความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของ ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’

หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ  รัฐประหารคือคุณค่าที่แท้จริงของความเชื่อความเข้าใจของคนทำงานที่พยายามทำงานเพื่อ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  หมายถึงว่าต้องสนับสนุนรัฐประหารเท่านั้นถึงจะไปให้ถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของ ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’  หรือหมายถึงว่าต้องสนับสนุนรัฐประหารเท่านั้นถึงจะไปให้ถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’

นอกเหนือจากนั้นเป็นสิ่งกลวงเปล่า  เพราะที่ผ่านมาที่ทำ ๆ กันอยู่น่ะมันเห็นผลช้า  หรือมองให้เลวร้ายกว่านั้นคือไม่เห็นผลอะไรเลย  ก็เลยต้องวิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา  คือ ‘รัฐประหาร’  เพื่อจะทำให้เกิดสิ่งนี้  ตัวเร่งปฏิกิริยารัฐประหารมันคือคำเดียวกันที่ชอบพูดกันว่า ‘รัฐประหารคือหน้าต่างแห่งโอกาส’  นั่นแหละ

แต่สำหรับผมเห็นตรงข้าม  ไม่ศรัทธาแนวทางที่วิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา  คือ  “รัฐประหาร”

จริง ๆ แล้ว  เราทำอะไรกันตั้งเยอะแยะที่ไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าสู่สภาวะความย้อนแย้ง  ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันเช่นนี้  หลักที่สำคัญมากที่เราทำกันมาก็คือ  มันทำให้ขบวนประชาชนที่เราทำงานด้วยเข้าใจและพัฒนาคุณค่าและความหมายของคำว่าประชาธิปไตยมาโดยตลอด  นั่นคือ  หนึ่ง ประชาธิปไตยในสภา หรือประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง  หรือประชาธิปไตยตัวแทน  สอง ประชาธิปไตยนอกสภาหรือประชาธิปไตยมวลชน  หรือประชาธิปไตยทางตรง  ที่มันจะต้องหาจุดสมดุลย์ระหว่างกันมาโดยตลอด

ในด้านเศรษฐกิจเราก็ต่อสู้กับเศรษฐกิจกระแสหลักที่สนใจแต่จีดีพี  ด้วยการเสนอเศรษฐกิจสองระบบที่มีอีกด้านหนึ่งที่พึ่งพาตนเองได้  รวมทั้งการพัฒนาสิทธิชุมชนให้กลายเป็นสิทธิสากลเท่าเทียมกับสิทธิมนุษยชน  แต่ปัญหาคือพัฒนาการของเรามันสะดุดหยุดลง  เพราะมีพวกขี้เกียจทำงานกับชุมชน  มวลชน  มักง่าย  แต่ชอบอยู่ส่วนบนของขบวนประชาชน  เป็นพวกเอ็นจีโอขุนนาง[3]

ตรงนี้น่าสนใจ  ผมแกะไม่ออก  กำลังค่อย ๆ แกะว่าเหตุใดพัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยในขบวนประชาชนที่ก้าวหน้าถึงสะดุดหยุดลง  มันมีเหตุปัจจัยที่ละเอียด  ลึกซึ้ง  ซับซ้อน  อะไรอีกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง  แต่อย่างน้อยเท่าที่คิดได้ในตอนนี้ก็คือ  จริง ๆ แล้วเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากด้วยซ้ำที่พลัง ‘ประชาธิปไตยมวลชน’  มันมีศักยภาพมากที่จะควบคุมหรือสร้างสมดุลย์กับ ‘ประชาธิปไตยเลือกตั้ง’  เราพบเห็นรูปธรรมเหล่านี้ได้เยอะแยะเต็มไปหมดในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ควบคุมอำนาจและความฉ้อฉลของการเมืองท้องถิ่นที่ได้มาจากประชาธิปไตยเลือกตั้ง

จริง ๆ แล้วต้องใช้คำว่าชาวบ้านมีความก้าวหน้ากว่าเรามาก  ส่วนเราเองที่เคยเป็นฝ่ายก้าวหน้ากลับล้าหลังคลั่งชาติ[4]

ความก้าวหน้าของชาวบ้านคือเขาจับตาสอดส่องและดุลย์อำนาจประชาธิปไตยด้วยการกระทำการเอง  โดยเข้าไปอยู่หรือเข้าไปใช้พื้นที่ของ ‘ประชาธิปไตยเลือกตั้ง’ ด้วยตนเอง  รวมทั้งสร้าง/ไม่ทิ้ง ‘ประชาธิปไตยมวลชน’  ทำให้มันเข้มแข็งต่อไปที่จะคานอำนาจ ‘ประชาธิปไตยเลือกตั้ง’ ให้ได้

หลักที่ชาวบ้านทำ  มันแปลความหมายให้เห็นความงดงามและคุณค่าที่ทรงพลังมาก ๆ เลย  ก็คือ  เขาพยายามอยู่ตลอดเวลาที่แปรพลังจากสองมือสองเท้าของเขาให้เป็นเสียงที่มีคุณค่าให้ได้ เพราะฉะนั้น  หลักการหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงมันสำคัญมากตรงนี้  เพราะมันแปรเสียงออกมาจากสองมือสองเท้าของประชาชน  มันเป็นเสียงที่ออกมาจาก ‘ประชาธิปไตยมวลชน’ ที่อยู่นอกสภา  เพื่อให้ไปทำหน้าที่พัฒนาประชาธิปไตยอีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ในสภา  มันเป็นหลักการที่โคตรสันติวิธีเลย  มีวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนสังคมด้วยสันติวิธีที่สุด  นอกนั้นมีแต่เสียเลือดเนื้อ

ผมยังคิดว่าโดยส่วนลึกแล้ว  นักกิจกรรมทางสังคม  ปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานเพื่อ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  จริง ๆ แล้วก้าวหน้านะ  แต่ยอมถอยความคิดและจุดยืนของตัวเอง  ยอมเป็นพวกเดียวกันหรือขอเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเมืองที่ล้าหลังคลั่งชาติ[5]เพื่อจะได้สนับสนุนรัฐประหารได้อย่างแนบสนิทใจก็เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง  แต่ผลลัพธ์มันรุนแรงมาก  เพราะรัฐประหารมันได้ทำลายคุณค่าและความหมายประชาธิปไตยเสียหมดสิ้น  แต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือความตกต่ำสุดขีดของขบวนประชาชนที่ก่อร่างศรัทธาในเรื่องของการ ‘ลดอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน’  คือเราทำลายประชาธิปไตยมวลชนที่เคยเป็นพลังคานอำนาจประชาธิปไตยเลือกตั้งเสียจนย่อยยับ

หากจะมีผู้โต้แย้งว่า “อะไรล่ะคือสิ่งบ่งชี้ที่ว่า  มากล่าวหากันเลื่อนลอยได้ไง ?” 

ก็กฎหมายห้ามชุมนุมนั่นไง  ที่ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.  แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวไม่ต้องรวมเรื่องอื่น ๆ อีก  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ  แผนแม่บทป่าไม้  ฯลฯ  ก็แย่พอแล้ว  ถ้าชาวบ้านชุมนุมไม่ได้ก็ไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ได้เลย  หรือชุมนุมได้แต่ก็ไม่สามารถกดดันใด ๆ ได้เลย  ไปกันเป็นร้อยคนแต่ใช้เครื่องเสียงควบคุมมวลชนไม่ได้  แค่นี้ก็จบแล้ว  แทบทุกกิจกรรม  ทุกการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของประชาชนสามารถถูกตีความว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุมได้หมด อาจจะมีผู้โต้แย้งว่ารัฐบาลประชาธิปไตยก็ชอบกฎหมายพวกนี้นะ  ใช่!  แต่รัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถออกกฎหมายบังคับกดหัวคนได้รุนแรงเช่นนี้หรอก  มันสามารถมีภาวะผ่อนปรนหรือต่อรองได้มากกว่านี้

เวลาล่วงเลยมามากแล้ว  ผมขอสรุปดังนี้ 

ข้อหนึ่ง  ผมคิดว่าถ้อยคำ  การกระทำ  และความคิดที่ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’  จะมีความหมายและคุณค่าก็ต่อเมื่อในขณะที่บ้านเมืองมีประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้งนั่นแหละ  เราถึงจะมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำงานกับประชาชนเพื่อส่งเสริมคุณค่าและความหมายของวาทกรรมดังกล่าว  เพื่อผลักดันให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง  เป็นองค์กรหรือขบวนการที่สูงส่งและมีพลังมากเสียยิ่งกว่าองค์กรการเมืองที่เฝ้ารอแต่การเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจรัฐมากดขี่ข่มเหงเรา

ผมอยากจะเตือนสติตัวเองและทุกท่านว่า  ความคิดที่ไม่สอดคล้องกับการกระทำมันกัดกินเราทุกวันให้เสื่อมถอยและไร้ค่า[6] มันคือความ“สามานย์[7]รูปแบบหนึ่งที่คิดว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ โดยการไปสนับสนุนรัฐประหาร  แทนที่จะบอกว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ แล้วลงไปทำงานกับชาวบ้าน  เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้าน จัดตั้งองค์กรชาวบ้านเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐและทุนที่มาจากการเลือกตั้งแล้วรุกรานกดขี่และเอาเปรียบเรา

ทุกวันนี้คนที่บอกว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’  และ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’  เป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน  ยังนั่งดูประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงจากองค์กรหรือสถาบันรัฐประหารที่ทำให้ฝันคุณเป็นจริง  ก็ฝันที่ว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ นี่แหละ  เรายังนั่งงอมืองอเท้าอยู่ที่บ้านโดยไม่ลงไปทำงานกับชาวบ้านช่วยเหลือเขาเลย[8]

ข้อสอง  อีกสิ่งหนึ่งที่คิดว่าเส้นทางของ กป.อพช.  และเพื่อนตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา  สิ่งที่ไม่มีหรือขาดหายไป ก็คือ ‘ความคิดทางการเมืองในงานที่ทำ’  หมายถึงว่า ‘การทำงานพัฒนาต้องพัฒนาไปพร้อมกับความคิดทางการเมือง’  ตลอด ๓๐ ปี  ของ กป.อพช. และเพื่อนไม่มีตรงนี้  มันจึงทำให้การคิดวิเคราะห์สังคมเป็นแบบ ‘หวังน้ำบ่อหน้า’  หรือเหมือนเห็นขอนไม้ลอยกลางทะเล  เห็นอะไรก็คว้าหมดเพื่อเอาชีวิตตัวเองให้รอด

ข้อสาม  ข้อนี้มันลอยมา  อาจจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่พูดมาเลย  แต่ก็ขอพูดไว้ก่อน  กำลังพัฒนาความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่  ก็คือ  เห็นหลายคนในเวทีนี้พูดถึงประชารัฐกันเยอะ  ก็อยากจะบอกว่า  เป้าหมายที่แท้จริงของประชารัฐคือการกวาดต้อนประชาชนเพื่อสนับสนุนและค้ำจุนระบอบเผด็จการทหารหรือรัฐประหารเท่านั้นแหละ  นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องหลอกลวง   

และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก  ก็คือ  ความบกพร่องหรือปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือนักกิจกรรมทางสังคม  ปัญญาชนสาธารณะทั้งหลายมักแยกตัวเองและองค์กรตัวเองออกจากองค์กรหรือขบวนประชาชน  แต่ชอบนั่งอยู่ส่วนบนของขบวนประชาชนนะ  และชอบเก็บเกี่ยวดอกผลที่เกิดขึ้นจากขบวนประชาชนอีกด้วย  แต่ไม่พยายามทำให้ตัวเองและองค์กรตัวเองเป็นเนื้อเดียวกันทั้งในแง่ร่วมทุกข์ร่วมสุข  บริหารจัดการองค์กร  และจัดตั้งความคิดกับองค์กรหรือขบวนประชาชน  มันลอยออกไปหรือแยกส่วนออกไปจากขบวนประชาชนที่เป็นแนวหน้าที่ถูกผลักให้ขึ้นไปเสี่ยงอยู่ข้างหน้าเสมอ  แต่ตัวเองและองค์กรตัวเองลอยตัว[9]

ข้อสี่ท้ายสุด  เส้นทางของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม  กว่าที่พลเมืองแต่ละกลุ่ม  เพศ วัย  เชื้อชาติ  ฯลฯ  จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ต้องสูญเสียเลือดเนื้อมากมาย  แต่ที่เมืองไทย  ฝ่ายก้าวหน้าที่เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม  ทำงานพัฒนาชนบทและชุมชนเพื่อต่อสู้กับความเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงคนยากคนจนคนเล็กคนน้อยในสังคม  เพื่อนำเสียงของคนเหล่านั้นขึ้นมาให้สังคมข้างนอกได้ยิน  ซึ่งเป็นขบวนการที่ประดิษฐ์หรือชูคำขวัญที่ว่า ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ กลับเข้ากันได้ดีหรือเป็นพวกเดียวกันกับพวกที่ออกมาพูดว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ ด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร

เรายอมแม้กระทั่งสูญเสียเลือดเนื้อประชาชนเป็นร้อยคนเพื่อย้อนเวลากลับสู่อดีตอันไกลโพ้นด้วยคำถามพื้นฐานเมื่อหลายพันปีมาแล้วว่า “การออกเสียงมีความสำคัญต่อคุณยังไง ?” ตรงนี้แหละที่น่าเป็นห่วง  เพราะประวัติศาสตร์มันจะบันทึกไว้ว่าเรากลายเป็นตัวตลกในยุคสมัยของเรา

 

 

                                               



[1] ถอดความและเรียบเรียงเพิ่มเติมจากการพูดของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  หนึ่งในวิทยากรของเวทีประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)  ปี ๒๕๕๙  ในหัวข้อ ‘เหลียวหลัง  แลหน้า  ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน’  เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙  ณ ห้องประชุมอิงบุรี  พักพิงอิงทางบูติกโฮเทล  งามวงศ์วานซอย ๑๙  นนทบุรี ทั้งนี้  การถอดความและเรียบเรียงเพิ่มเติมทำโดยผู้พูดเอง

[2] เป็นคำที่เขียนเพิ่มเติมขึ้นมาในภายหลังเพื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจ  เนื่องจากการพูดในเวทีประชุมสมัชชาฯเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙  ไม่ได้พูดในส่วนของคำดังกล่าว

[3] เป็นคำที่ปรากฎอยู่ในเอกสารบทพูดของเลิศศักดิ์ที่เตรียมไว้ประกอบการพูด  แต่ในเวทีประชุมสมัชชาฯเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙  ไม่ได้พูดในส่วนของคำดังกล่าว

[4] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 3

[5] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 3 และ 4

[6] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 3, 4 และ 5

[7] เป็นคำที่ปรากฎอยู่ในเอกสารบทพูดของเลิศศักดิ์ที่เตรียมไว้ประกอบการพูด  แต่ในเวทีประชุมสมัชชาฯเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙  ได้ใช้คำว่า ‘เสื่อมโทรม’ แทน  ในงานเขียนชิ้นนี้ขอกลับไปใช้คำว่า ‘สามานย์’  ตามเอกสารบทพูดเดิมที่เตรียมไว้ประกอบการพูด

[8] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 3 - 6

[9] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 3 - 6  และ 8

ภาพประกอบจาก https://th.boell.org โดย Three gether