ระบอบทรราชและความอยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปอย่างที่เป็นมา


รายงานประจำปี 2555: ระบอบทรราชและความอยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปอย่างที่เป็นมา
เราต้องการสนธิสัญญาว่าด้วยการซื้อขายอาวุธที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแสดงให้เห็นมากขึ้นว่าไม่เหมาะสมต่อภารกิจนี้

ความกล้าหาญที่ผู้ประท้วงแสดงออกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เกิดขึ้นในระดับเดียวกับความล้มเหลวของผู้นำ ซึ่งทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดูเหมือนจะอ่อนแรง ก้าวผิดจังหวะ และไม่เหมาะสมต่อภารกิจนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในโอกาสเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกฉบับที่ 50 ซึ่งเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาว่าด้วยการซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในช่วงปลายปีนี้

“ผู้นำทั่วโลกต่างแสดงความล้มเหลวในช่วงปีที่ผ่านมา ในขณะที่นักการเมืองตอบโต้การประท้วงด้วยการทารุณหรือเพิกเฉย ในสถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลต้องแสดงภาวะผู้นำที่ชอบธรรมและปฏิเสธความอยุติธรรมด้วยการคุ้มครองผู้ไร้อำนาจและควบคุมผู้ที่มีอำนาจ ถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเหนือบรรษัท และให้ความสำคัญกับสิทธิเหนือผลกำไร” ซาลิล เชตตี (Salil Shetty) เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
    
มหาอำนาจทั้งในระดับโลกและภูมิภาคซึ่งแสดงความสนับสนุนทางวาจาอย่างกระตือรือร้นและเต็มที่ต่อการประท้วงของประชาชนเมื่อช่วงต้นปี 2554 ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนจากคำพูดให้เป็นการปฏิบัติ ในขณะที่ชาวอียิปต์ไปเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ดูเหมือนว่าโอกาสของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลงานของผู้ประท้วงกำลังถูกทำให้สูญเปล่า
    
“ในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่าบรรดาพันธมิตรที่ฉวยโอกาสและผู้ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจการเงินย่ำยีสิทธิมนุษยชน ในขณะที่มหาอำนาจโลกก็เข้าไปแทรกแซงมีอิทธิพลเหนือตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ”
ซาลิล เชตตีกล่าว “มีการพูดถึงและนำภาษาสิทธิมนุษยชนมาใช้ก็ต่อเมื่อตอบสนองนโยบายด้านการเมืองหรือนโยบายของบรรษัท แต่เพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนเมื่อกลายเป็นประเด็นที่สร้างความยากลำบากหรือขัดขวางหนทางแสวงหากำไร”
    
การไม่เข้าไปแทรกแซงกรณีศรีลังกาและการเพิกเฉยต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในซีเรีย (ซึ่งเป็นลูกค้าซื้ออาวุธรายใหญ่จากรัสเซีย) เป็นเหตุให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสันติภาพของโลกได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอำนาจต่อรองใหม่อย่างเช่น บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ก็มักจะทำตัวสอดคล้องกลมกลืนด้วยการสงวนถ้อยคำ
    
“สถานการณ์ในซีเรียเป็นเรื่องที่ชัดเจนและมีเหตุผลน่าเชื่อถืออย่างมาก ซึ่งควรส่งเรื่องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสอบสวนกรณีที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่เจตจำนงของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบางประเทศที่ปกป้องซีเรียในทุกวิถีทาง เป็นเหตุให้ความรับผิดต่ออาชญากรรมยากจะเกิดขึ้นได้ และยังเป็นการทรยศหักหลังประชาชนชาวซีเรีย” ซาลิล เชตตีกล่าว
    
รายงานประจำปีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 2555 รวบรวมข้อมูลการจำกัดเสรีภาพในการพูดในอย่างน้อย 91 ประเทศ รวมทั้งกรณีเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายในอย่างน้อย 101 ประเทศ ซึ่งในหลายกรณีพวกเขาเป็นเหยื่อเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง
    
“การขับไล่ผู้นำทรราชบางคน ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว รัฐบาลจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบระหว่างประเทศอย่างจริงจัง และลงทุนในระบบและโครงสร้างที่ช่วยประกันความยุติธรรม เสรีภาพและความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย”
    
การประชุมขององค์การสหประชาชาติเพื่อตกลงกันถึงร่างสนธิสัญญาว่าด้วยการซื้อขายอาวุธในเดือนกรกฎาคม 2555 จะเป็นบททดสอบว่านักการเมืองให้ความสำคัญต่อสิทธิเหนือผลประโยชน์และผลกำไรส่วนตนหรือไม่ หากเนื้อหาของสนธิสัญญาไม่เข้มงวดพอ การทำหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อคุ้มครองสันติภาพและความมั่นคงของโลกก็คงจะล้มเหลว สมาชิกถาวรจะใช้อำนาจวีโต้ในทุกๆมติ ทั้งๆ ที่ประเทศตัวเองเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่สุดของโลก
    
“ผู้ประท้วงแสดงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ พวกเขาได้เรียกร้องอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยให้รัฐบาล    ยืนหยัดเพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุย์ พวกเขาแสดงให้เห็นว่าผู้นำซึ่งไม่สามารถปฏิบัติตามความคาดหวังเช่นนี้ จะไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ไม่สวยงามมากนัก แต่ปี 2555 จะต้องเป็นปีแห่งปฏิบัติการ” ซาลิล เชตตีกล่าว

    
เหตุการณ์ระดับโลกอื่นๆ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในรายงานประจำปีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 2555 ได้แก่
• รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเช่นจีน ได้ใช้กลไกความมั่นคงอย่างเต็มที่เพื่อกดดันไม่ให้มีการประท้วง ส่วนที่เกาหลีเหนือยังไม่มีพัฒนาการด้านสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายเลย
• ในทวีปแอฟริกาเขตที่ต่ำกว่าทะเลทราบซาฮาราลงมา ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องของประชาชน แต่ทางการในประเทศอังโกลาจนถึงเซเนกัล และถึงยูกันดาต่างก็ตอบโต้ผู้ประท้วงในประเทศของตนด้วยการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
• เริ่มมีการประท้วงด้านสังคมมากขึ้นในทวีปอเมริกา ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง มีการข่มขู่และสังหารนักเคลื่อนไหว อย่างเช่นที่บราซิล โคลัมเบียและเม็กซิโก
• ในรัสเซีย การเคลื่อนไหวของมวลชนมีเพิ่มขึ้น และมีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่สุดนับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่เสียงของฝ่ายตรงข้ามถูกละเมิดและมีการปฏิเสธโอกาสของพวกเขาอย่างเป็นระบบ
• ไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศต่างๆ อย่างเช่น เติร์กเมนิสถานและอุเบกิสถาน ประเทศเจ้าภาพการประกวด Eurovision Song Contest อย่างอาเซอร์ไบจานยังคงปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก และควบคุมตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก 16 คนไว้เนื่องจากส่งเสียงต่อต้านรัฐบาลในปี 2554
• ภายหลังการลงคะแนนเสียงแยกประเทศซูดานใต้เป็นเอกราช ความรุนแรงได้ปะทุมากขึ้น แต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งสภาสหภาพแอฟริกาเพื่อสันติภาพและความมั่นคง (African Union’s Peace and Security Council) ก็ยังคงล้มเหลวไม่มีการส่งเสียงประณามการละเมิดสิทธิ รวมทั้งการที่กองทัพซูดานทิ้งระเบิดโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และกรณีที่รัฐบาลซูดานสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้าไปให้ความช่วยเหลือในรัฐที่ได้รับผลกระทบ
• ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ประชาชนทั่วโลกรับทราบถึงการเคลื่อนไหวประท้วง แต่ปัญหาที่ลึกซึ้งระดับรากเหง้ากลับเลวร้ายลง รัฐบาลอิหร่านยังคงถูกโดดเดี่ยว ไม่ยอมรับฟังเสียงวิจารณ์ และยังคงใช้โทษประหารอย่างจงใจ โดยมีสถิติเป็นรองเพียงประเทศจีน ส่วนซาอุดิอาระเบียยังคงปราบปรามผู้ประท้วง อิสราเอลยังคงปิดกั้นการเข้าฉนวนกาซา ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมยืดเยื้อขึ้น และอิสราเอลยังคงส่งเสริมให้มีการเข้าไปอยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมายในเขตเวสต์แบงค์ องค์กรการเมืองของชาวปาเลสไตน์อย่างฟาตาห์ (Fatah) และฮามาส (Hamas) ยังคงพุ่งเป้าโจมตีผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย ส่วนกองกำลังของอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ยังคงปะทะกันอย่างต่อเนื่องในเขตฉนวนกาซา
• รัฐบาลพม่าตัดสินใจครั้งสำคัญให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองกว่า 300 คน และอนุญาตให้นางอองซานซูจีลงสมัครรับเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลเนื่องมาจากการต่อสู้ขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในเขตชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย รวมทั้งการคุกคามและควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการปฏิรูปดังกล่าว
• การละเมิดต่อชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกายังดำเนินต่อไป เนื่องจากความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ส่วนที่แอฟริกาการเลือกปฏิบัติเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพยังคงเลวร้ายลงไปอีก ส่วนนักการเมืองยุโรปก็ยังคงแสดงวาทศิลป์ต่อต้านคนชาติอื่นมากขึ้น และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการก่อการร้ายในแอฟริกาซึ่งนำโดยกลุ่มติดอาวุธอิสลาม
• ความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งการพัฒนาไปสู่การยุติโทษประหารชีวิตระดับโลก การลดลงของการลอยนวลพ้นผิดสำหรับการละเมิดสิทธิที่ผ่านมาในทวีปอเมริกา ก้าวย่างสำคัญของความยุติธรรมในยุโรปเมื่อมีการจับกุมตัวพลเอกรัตโก มลาดิก (Ratko Mladić) และนายโกรัน ฮัดซิค (Goran HadZić) ชาวเซิร์บเชื้อสายโครเอเชียเพื่อมาขึ้นศาลสำหรับอาชญากรรมที่ก่อขึ้นระหว่างสงครามช่วงทศวรรษ 1990 ในอดีตยูโกสลาเวีย