ข้อสังเกตบางประการ รัฐธรรมนูญกับปัญหาปาตานี
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบปัตตานี แต่อับดุลกาเด หนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ. ที่นั้น ส่วนทายาท ตวนกู โมหะ ยิดดิน นั้นภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว
แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดีย เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลี มีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเปนเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า "Long Live King Of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงความภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานี(ฮัจยีสุหลง)บางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไปโดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน ( ที่มาหนังสือ ทัศนะของรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ )
ทัศนะของต้นของอาจารย์ปรีดี คือการทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้น สำหรับอาจารย์ปรีดีทัศนะเรื่องการทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้คลี่คลายและสงบลงได้คือ การทำให้เกิดความเท่าเทียมทางด้านการเมืองและรองรับสิทธิ เสรีภาพของคนมลายูมุสลิมที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากสังคมไทย ซึ่งทัศนะเช่นนี้ก็คล้ายๆกับการมองเรื่องความขัดแย้งระหว่างอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่น ภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย
เป็นข้อตกลงทั่วโลกหลังจากเกิดขึ้นของรัฐชาติ(Nation-state) ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายอันสูงสุดเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในรัฐนั้นๆ รัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญต่อการสถาปนาอำนาจการปกครองอันชอบธรรมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทุกประเทศจึงได้จัดรูปแบบความสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างองค์กรสูงสุดของรัฐและความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างประชาชนกับรัฐ และระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน ท่ามกลางที่สังคมไทยมีอัตลักษณ์อันหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ข้อถกเถียงที่สำคัญและเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้คือ การโหวตโน หรือว่า โนโหวต กับรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เป็นสิ่งที่ดีเบตในแวดวงนักวิชาการและผู้ที่สนใจการเมืองไทยในปัจจุบัน
หากว่ากลับมามองที่แวดวงการเคลื่อนไหวของนักวิชาการและนักกิจกรรมที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีการพูดถึงหรือเปิดเวทีดีเบต เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คำถามคือทำไมถึงไม่ได้รับความสนใจและดูเหมือนจะไม่แคร์ด้วยซ้ำ (ล่าสุดได้มีการเปิดเวทีดีเบตที่มหาวิทยลัยแห่งหนึ่ง ทว่าประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็ยังออกจะห่างเหินจากข้อมูลเหล่านี้)
คงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องไปกล่าวโทษว่าผู้คนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สนใจการเมืองไทยและรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น ในทางกลับกันความเป็นจริงที่ประจักษ์ในหลายๆครั้งว่าหลายๆครั้งกลับพบว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนประชาชนไปลงใช้สิทธิมากกว่าพื้นที่อื่นๆสักด้วยซ้ำ แน่นอนมากกว่ากรุงเทพฯจากจำนวนสถิติหลายๆครั้ง และแม้กระทั้งการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปิดคูหาการเลือกตั้ง แต่ก็มีความพยายามของประชาชนเพื่อจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แม้จะถูกกีดขวางก็ตาม
ปัญหาคือ บริบทการเมืองไทยตอนนี้และเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ได้ตัดขาดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ(Sense of belonging)ที่จะร่วมใช้อำนาจและให้สิทธิความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ความรู้สึกร่วมจึงไม่เกิดขึ้นสำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จึงไม่ได้อยู่ในความสนใจหรือมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับโนโหวตหรือว่าโหวตโน เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ หากจะมีก็มีแต่ผลเสียมากกว่า
สำหรับการกระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดำเนินการต่อไป และปรับปรุงเนื้อหาสาระ ข้อตกลง ที่จะพอให้เกิดความหวังแก่คนที่ในพื้นที่ได้ แน่นอนเป็นเรื่องที่ฝ่ายกลุ่ม MARA PATANI และรัฐบาลไทย ที่ต้องพิสูจน์ต่อไป หากทว่ารัฐธรรมนูญก็ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องเป็นหมุดหมายอันสำคัญสำหรับคุณภาพชีวิต การศึกษา สิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายที่อาศัยอยู่ในสังคมไทย การมีรัฐธรรมนูญที่ดีและมีความเป็นประชาธิปไตยก็จะช่วยให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพเกิดความก้าวหน้าและเข้มแข็งมากขึ้น และไม่ใช่ใครขึ้นมามีอำนาจจะมาล้มกระบวนการพูดคุยแบบง่ายๆอีกต่อไป
ย้อนคิดข้อเสนอของอาจารย์ปรีดีคือ การทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเคารพอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงได้ แต่ทว่าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการลงประชามติ 7 สิงหาคมนี้ กลับไม่มีความหวังหรือพื้นที่อำนาจทางการเมืองให้แก่คนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เขตการปกครองพิเศษ จังหวัดจัดการตัวเอง พื้นที่ทางอัตลักษณ์ ฯลฯ ซ้ำร้ายกว่านั้นรัฐธรรมนูญได้ฉีกขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในพ้ืนที่และสังคมการเมืองไทย