ถาม-ตอบ แลกเปลี่ยนทัศนะกับ Islamophobia “โรคเกลียดกลัวอิสลาม” ในสังคมไทย : บันทึกจากการเสวนา

 

สังคมสันติสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เกิดสันติสุขระหว่างศาสนา สันติสุขระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เกิดการทำความเข้าใจ พูดคุยกันระหว่างศาสนา และการพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าแต่ละศาสนิกไม่เข้าใจในแก่นแท้ แก่นธรรมคำสอนของศาสนาตัวเอง” แนวคิดของฮันส์ คุง แสดงให้เห็นว่า interfaith dialogue หรือการสานเสวนาระหว่างคนที่มีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกันนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสภาวการณ์ปัจจุบัน

บทสนทนาในช่วงท้ายของงานเสวนา “เกาะกระแส Islamophobia ในสังคมไทย: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”ที่จัดโดยปาตานีฟอรั่ม ร่วมกับสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี และฮาลาลไลฟ์  เริ่มต้นที่ สาโรจน์ เกิดอยู่ ได้อภิปรายถึงการคัดค้านการปลุกกระแสความหวาดกลัวอิสลามจากกรณีการสร้างมัสยิดกลางจังหวัดมุกดาหารในฐานะที่เป็นประชาสัมพันธ์โครงการ โดยสาโรจน์ยืนยันว่า การต่อต้านดังกล่าวไม่ได้เกิดจากคนในพื้นที่ เนื่องจากไม่เคยปรากฏความขัดแย้งระหว่างคนพุทธและคนมุสลิมในจังหวัดมุกดาหารมาก่อน อีกทั้งโครงการก่อสร้างยังได้รับฉันทามติร่วมกันจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ประชาชนมุสลิมในอำเภอเมืองและอำเภออื่น ๆ และประชาชนทั่วไปในอำเภอเมืองและที่อาศัยอยู่บริเวณมัสยิด นอกจากนี้สาโรจน์ยังได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าป้ายคัดค้านน่าจะมาจากนอกพื้นที่

ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ ปาตานีฟอรั่ม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์ภาคสนามในฐานะหนึ่งในคณะผู้วิจัย โดยดอนชี้ให้เห็นถึงมุมมองในด้านบวกที่พ่อแม่ผู้ปกครองไทยพุทธในจังหวัดอุดรธานีมีความเชื่อมั่นต่อคนมุสลิม ด้วยการส่งบุตรหลานของตนเข้าศึกษาในโรงเรียนของมุสลิมเพราะชื่นชอบภาพลักษณ์ของครูมุสลิมที่ไม่ติดเหล้า ติดการพนัน และดอนยังได้สะท้อนถึงความรู้สึกหนักใจของชาวมุสลิมในจังหวัดอยุธยาที่มักถูกทำตั้งคำถามเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และถูกมองเหมารวมกับคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงเพราะนับถือศาสนาเดียวกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

ด้านซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ดำเนินการเสวนาได้บอกเล่าถึงบทเรียนของยุโรปต่อการเผชิญหน้ากับอิสลามโมโฟเบียจากประสบการณ์การท่องเที่ยวในแถบชานเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า ภาพแรกที่เขาเห็นคือ ไม่คิดว่าตนอยู่อัมสเตอร์ดัม แต่อยู่ในประเทศอิสลามสักแห่งหนึ่ง เพราะขวามือของถนนเป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมผู้อพยพมาจากแอฟริกาเหนือ โมรอคโค ไนจีเรีย ส่วนซ้ายมือเป็นชุมชนชาวเตอร์กิส (ชาวตุรกี) ในขณะที่ฝรั่งหัวทอง (ชาวยุโรป) มีจำนวนน้อยมาก ความรู้สึกถูกคุกคามจึงย่อมเกิดขึ้นกับชาวยุโรปอย่างแน่นอน และเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเกิดกระแสอิสลามโมโฟเบียโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมุสลิมไม่พยายามเปิดตัวเอง เขาเสริมต่อว่า สิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนให้กับมุสลิมในประเทศไทยได้ คือ ประสบการณ์ของมุสลิมยุโรปที่พยายามเอาชนะความเกลียดกลัวอิสลาม โดยอ้างถึงรายงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับกระแสอิสลามโมโฟเบียกับประชาธิปไตยซึ่งชี้ให้เห็นว่า วิธีการรับมือโดยใช้ศาสนาโต้ตอบกันเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาด หากแต่ควรต่อสู้ด้วยวิธีการที่เป็น universal value (คุณค่าสากล) ซึ่งมีเครื่องมืออีกมากมายที่สามารถใช้รับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการจากสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนาสำนัก จุฬาราชมนตรี และผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวเสริมในเรื่องหลักการสากล (universal value) ว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เป็นเมตตาให้กับมนุษยชาติซึ่งถือเป็นหลักการสากล “อิสลามไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อมุสลิมอย่างเดียว” แต่มีมุสลิมจำนวนไม่น้อยคิดว่า “อิสลามเพื่ออิสลามเท่านั้น” (มุสลิมเป็นพี่น้องกันต้องช่วยคนมุสลิมเท่านั้น) โดยยกตัวอย่างถึงชุมชนมุสลิม

"ในยุโรปและอเมริกาที่พยายามก้าวข้ามภาวะความหวาดกลัวอิสลามด้วยการเปิดมัสยิดหลายแห่งให้คนต่างศาสนาได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ศาสนาอิสลาม หมอพยาบาลมุสลิมเปิดคลินิกในมัสยิดให้คนทั่วไปได้รับการรักษาฟรีโดยไม่จำกัดศาสนา หรือในประเทศไทยอย่างกรณีของชุมชนที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีการเปิดโอกาสให้ต่างศาสนิกเข้าไปร่วมในพิธีนิกะฮ์ได้ (การแต่งงาน) เพื่อให้เห็นพิธีการอย่างใกล้ชิดและได้ฟังหลักคำสอนคู่บ่าวสาวเรื่องการสมรส"

 ผศ.ดร.สุชาติชี้ว่า การได้รับรู้หลักคำสอนของอิสลามตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเหตุการณ์ประท้วงมัสยิดที่เชียงใหม่ที่มีพระขึ้นไฮปาร์คและกล่าวหาในทำนองว่า “ไอ้พวกมุสลิมมาสอนให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่เพื่อขึ้นสวรรค์” นั้นแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อศาสนาอิสลาม ดังนั้น สิ่งที่ชุมชนในอำเภอแม่สะเรียงทำถือเป็นการเชิญชวนให้เกิดการเรียนรู้และการเข้าใจอิสลาม

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุชาติ ยังได้กล่าวเสริมในประเด็นสังคมพหุวัฒนธรรมและการเกิดกระแสอิสลามโมโฟเบียที่สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมา เราต่างคนต่างอยู่มากเกินไป สังคมพหุวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ซึ่งผู้คนที่มีความหลากหลายมาอยู่ร่วมกันเท่านั้น หากแต่คนในสถานที่แห่งนั้นจะต้องเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอำเภอแม่สะเรียง ในยุโรปและอเมริกา ส่วนประเด็นการสร้างสันติภาพ ผศ.ดร.สุชาติ ได้ยกเอาคำสอนของ คานธี ที่ว่า “จะสร้างสันติภาพที่แท้จริงจะต้องสร้างที่เด็ก อย่าไปหวังที่ผู้ใหญ่ มันแก่แล้วแก่เลย ไม่อยากไปยุ่ง” แต่ยังมองในแง่ดีว่า “ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป จะไหวไหม ก็ยังคิดว่าถ้าเราช่วยกันเริ่มจากจุดเล็ก ๆ มันก็ยังทัน

เพราะฉะนั้นในแต่ละคนแต่ละศาสนิกก็ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจในกลุ่มตัวเอง แทนที่จะวิพากษ์คนอื่นให้มากเราต้องกลับมาวิพากษ์ตนเองเพื่อที่จะได้เข้าใจในแก่นของศาสนาของเราอย่างที่ ฮันส์ คุง บอก เช่นเดียวกับท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า “ปณิธานข้อที่หนึ่ง ศาสนิกใดก็ตามจะต้องเข้าใจในแก่นธรรมศาสนาของตนเอง ปณิธานข้อที่สอง จะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และปณิธานข้อที่สาม เราต่างมีศัตรูร่วมกันคือจะต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยม” เป็นปณิธาน 3 ข้อของท่านพุทธทาส ผมคิดว่าทุกศาสนามีจุดร่วมเยอะที่เราจะไปด้วยกัน แต่ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราต่างคนต่างอยู่กันเกินไปและเราไม่ได้เข้าใจกันและสร้างมายาภาพมากมายที่จะทำร้ายกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเวทีแบบนี้น่าจะต้องมีมากขึ้นเพื่อที่จะทำความเข้าใจและในศาสนิกของตนเองก็ต้องกลับไปทำความเข้าใจ ผมก็ยังมองไปข้างหน้าด้วยความหวัง”

ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรว่า ในขณะนี้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า new normal (เป็นคำที่นักธุรกิจใช้อธิบายเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม) หมายถึง สภาพสังคมที่ไม่เหมือนเดิม (แตกต่างไปจากสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่) ดังนั้นคนมุสลิมต้อง pro-active กล่าวคือ ต้องคิดทั้งเชิงสังคมและเชิงศาสนาว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยยกตัวอย่างกรณีมัสยิดที่ซอยรามคำแหง 53 ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนมุสลิมมาแต่เดิม แต่ก่อน มัสยิดเปิดเสียงอาซานดังเต็มที่โดยตลอด แต่เมื่อการขยายสังคมเมืองมีความหลากหลาย สังคมเปลี่ยนแปลงไป เสียงอาซานก่อให้เกิดความคลางแคลงใจและรบกวนต่อคนพุทธที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง มุสลิมจึงปรับตัวเพราะพวกเขาเอาความกังวลของคนพุทธ ของคนต่างศาสนิกมาพิจารณา

ดอน ปาทานได้ตั้งคำถามต่อจากประเด็นของ ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส เกี่ยวกับสภาวะ new normal ในสามจังหวัดฯ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เดิมทีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมลายูและไม่ใช่มลายูมีความใกล้ชิดกันมาก เช่น เมื่อคนมุสลิมจัดงานแต่งงานจะมีการยืมโต๊ะ เต็นท์ อุปกรณ์ต่าง ๆ จากวัด ผู้คนทั้งสองศาสนาไปมาหาสู่กันดี แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินออกไป คำถามคือ ลักษณะของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการที่แต่เดิมกระทำอยู่ในป่าและได้ย้ายเข้ามาปฏิบัติการในเมืองนั้นเป็นสาเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธและมุสลิมเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร และดอนยังได้ตั้งคำถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการขยายพื้นที่อัตลักษณ์และวัฒนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการเพิ่มนโยบาย affirmative action (การจัดสรรโควต้า) ในเชิงยุทธศาสตร์ต่อชาวมลายูว่า ในสภาวะที่มีการดำเนินนโยบายเช่นนี้ คนพุทธในพื้นที่และคนพุทธในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศจะคิดอย่างไร และเขาเหล่านั้นจะยอมรับนโยบายนี้ได้มากแค่ไหน

แอน อิศดุลย์ ประธานบ้านบุญเต็ม บอกเล่าถึงความอคติและความเข้าใจของคนต่างพื้นที่ที่ลงมาทำงานในสามจังหวัดฯ ที่มีต่อคนมุสลิมผ่านการสนทนากับตำรวจรายหนึ่งซึ่งมาจากจังหวัดนครสวรรค์ โดยแอนถูกถามว่า

“ ขอโทษครับพี่เป็นพุทธหรือมุสลิม” เธอจึงถามกลับไปว่า “ขอโทษนะคะ พุทธยังไง มุสลิมแล้วยังไง” คำตอบที่เธอได้รับคือ “อ้อ ถ้าพี่เป็นพุทธผมคุย แต่ถ้าเป็นมุสลิมผมไม่คุยนะครับ ”

จากบทสนทนานี้ แอนชี้ให้เห็นว่าความคิดแบบนี้มีปัญหาเพราะก่อให้เกิดการแบ่งแยก และมองว่าสาเหตุของปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ดังนั้นโจทย์คือ เราจะทำอย่างไรจึงจะสะท้อนให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้เห็น

"ดร.มูฮัมหมัดอิลยาส ได้ตั้งคำถามต่อว่า คนพุทธมีความคิดเห็นอย่างไรหากพื้นที่สามจังหวัดฯ จะปกครองด้วยรูปแบบ autonomy (เขตปกครองพิเศษ) และมีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม แอนในฐานะคนพุทธได้ตอบข้อคำถามนี้ว่า คนไทยพุทธมีความรู้สึกกังวลหากมีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ เนื่องจากไม่ทราบถึงขอบเขตอำนาจของกฎหมายว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน และจะบังคับใช้กับคนพุทธด้วยหรือไม่ ซึ่งเธอมองว่าเป็นหน้าที่ของคนมุสลิมในการให้ความชัดเจนกับเรื่องนี้ "

อาจารย์นิติ ฮาซัน คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลาม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในช่วงท้ายของการเสวนา ประเด็นแรก นิติได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งของประวัติศาสตร์แต่ละฉบับที่ถูกเขียนขึ้นจากคู่ขัดแย้งต่างฝ่าย กล่าวคือ การเขียนประวัติศาสตร์ไทยที่เชิดชูความเก่งกาจของผู้นำในการขยายดินแดนซึ่งขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ของรัฐอาณานิคม (เปรัค เคดาห์ กลันตัน ฯลฯ) ที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการรุกราน โดยเฉพาะปัตตานีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในปัจจุบัน ประเด็นที่สอง กล่าวถึงกระแสความหวาดกลัวอิสลามที่ก่อตัวขึ้นในยุโรป โดยยกข้อเขียนของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์หลายท่านที่แสดงความคิดเห็นว่า การอพยพของมุสลิมเข้ายุโรปเป็นผลกรรมของประเทศยุโรปเองที่ในอดีตได้รุกรานและยึดครองประเทศอื่น ๆ  อีกทั้งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางเป็นผลมาจากการแทรกแซงของประเทศยุโรป และประเด็นสุดท้าย กล่าวถึงองค์กรมุสลิมต่าง ๆ ที่ต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามให้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่และต้องวางแผนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

อาจารย์นิติยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การสร้างความเข้าใจต่อหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐไม่ได้เป็นหน้าที่ของเยาวชนหรือนักศึกษาเพียงเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสลามฯ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐย่อมรับฟังคณะกรรมการอิสลามฯ ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายของการเสวนาในครั้งนี้ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวสรุปการสนทนาว่า นี่คือจุดเริ่มต้นที่หลายฝ่ายได้มาร่วมพูดคุยกันและตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบตนเองโดยเฉพาะคนมุสลิม เราต้องอยู่ในสังคมนี้และอยู่ร่วมกับพี่น้องคนพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนมุสลิมที่จะต้องหาทางจัดการกับปัญหา และที่ขาดเสียไม่ได้ คือพลังจากพี่น้องพุทธที่เข้าในสถานการณ์และบริบท ในการที่จะร่วมมือกันขจัดสิ่งที่เป็นอคติ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่สามารถทำลายให้หมดไป เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ภัยคุกคามนี้ถูกจำกัดอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และมีหนทางที่จะเดินร่วมกับพี่น้องชาวพุทธต่อไป

 

ที่มาของภาพประกอบ : http://www.frontpagemag.com/fpm/261257/progressive-thought-blockers-islamophobia-bruce-thornton