มหาวิทยาลัยมีใว้เพื่อใคร ?

 

ปณิธานของมหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์แห่งนี้มีประโยคที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

 

การตื่นตัวทางการเมืองและสนใจปัญหาชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมของอาจารย์มหาวิทยาลัยถือว่าเป็นเรื่องที่ยินดีไม่น้อยสำหรับสังคมการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ที่จำเป็นต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทุกภาคส่วนของสังคม ต้องถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ คณาจารย์มหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ตามหลักประชาธิปไตย หากแต่ทว่าสิ่งที่ต้องระมัดระวังมหาวิทยาลัยต้องไม่ต้องเป็น “กองเชียร์” ของพรรคการเมือง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมีแนวโน้มจะสนับสนุนอำนาจนิยม แต่ต้องทำหน้าที่คือ ให้เสรีภาพทางความคิดแก่ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และความเห็นทางการเมืองทีแตกต่างกัน ควรมีที่มากเพียงพอให้แก่คนที่เห็นต่าง ตราบเท่าที่เราใช้สติปัญญามาเป็นเครื่องมือในการถกเถียง โดยไม่ใช้ความรุนแรง

 

แล้วจะตั้งมหาวิทยาลัยกันขึ้นมาทำไม ? สำหรับปัญญาชนและผู้คนที่ตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ คงทราบดีว่า การมีโอกาสถกเถียงมีโอกาสอภิปรายกันด้วยเรื่องปัญหาชีวิตและเรื่องของปัญญา เพื่อจะบรรลุสัจจะความจริง สังคมต้องการมีโอกาสนี้เท่านั้นที่จะแสวงหาความจริง คือ Justification ของการมีมหาวิทยาลัย ของการตั้งมหาวิทยาลัยไม่ว่าที่ใดในโลก เรื่องที่มีความสำคัญยิ่งคือ "พื้นที่ของการถกเถียง" ซึ่งย่อมมีค่าและควรได้รับปกป้อง นั้นหมายถึงลมหายใจของเสรีภาพนั้นยังคงอยู่ แต่หากมหาวิทยาลัยไร้เสรีภาพแล้ว นักวิชาการที่ประกอบสร้างองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยก็ย่อมเป็นเครื่องจักรที่อาศัยอยู่ในโรงงานผลิตขนาดใหญ่ ที่ผลิตแต่คนทื่อๆไร้จิตวิญญาณ แต่ไม่สามารถบอกให้ผู้ที่จะมาเล่าเรียนเห็นถึง “ปัญญาธรรม” ได้ 

 

การค้นคว้าแสวงหาความจริงคือภารกิจที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย และต้องแสดงตัวตนว่าจะยืนอยู่ข้างความจริง หาใช่อำนาจทางการเมือง เพราะนั้นไม่ใช่วิสัยและพันธกิจของมหาวิทยาลัย 

 

ฉะนั้น เสรีภาพทางวิชาการนี้เป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรมของปัญญาชน เป็นมรดกวัฒนธรรมที่ตกทอดมานานหลายพันปี ซึ่งบรรพบุรุษของมนุษยชาติได้มอบหมายไว้ให้เป็นมรดกและได้สอนกันมาตั้งแต่สมัยมีการการตั้งคำถามว่า "ความรู้คืออะไร" นักวิชาการถือว่าการยืนหยัดในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเป็นความกล้าหาญของปัญญาชน เป็นเจตนารมณ์ที่สืบทอดและมีพื้นฐานมากจาก Natural Rights สิทธิโดยชอบธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ 

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42  ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เพื่อขอความร่วมมือให้ทำความเข้าใจกับบุคลากรที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ทางด้านวิชาการอย่างร้ายแรง หากกล่าวโดยเฉพาะ ข้อมูลวิชาการ ที่การออกมาให้ความรู้ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะทำให้มหาวิทยาลัยมีศักดิ์ศรี ที่มีบุคลากร นักวิชาการ ได้ออกมาปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะคนด้อยอำนาจของสังคม ด้วยข้อมูลทางด้านวิชาการ ในเนื้อแท้ความเป็นจริง พวกเราก็ทราบดีว่า มันมีความหมายมากกว่าการประเมินแบบกระดาษ ที่มีแต่แล้งแห้งและไม่มีความหมายกับชีวิตผู้คนจริงๆ 

 

บุคลากรในมหาวิทยาลัยได้มีบทบาทเป็นแนวหน้าในการออกมาต่อต้านการกระทำของนายทุนและอำนาจรัฐที่ไม่ได้ให้เกียรติแก่เจ้าของพื้นที่ก็คือประชาชน ย่อมมีความสำคัญมากๆ ต่อพื้นที่สิทธิและเสรีภาพ การลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงให้แก่สังคมครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและมีความกล้าหาญยิ่ง

 

ส่วนฝ่ายปัญญาชนเองนั้นจะได้รับการยอมรับ respect หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายครูบาอาจารย์ได้ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์มากน้อยเพียงใด คือสอนสัจจะและมีชีวิตที่เป็นพยานต่อสัจจะที่ตัวเองได้พร่ำสอนในห้องเรียน ในโมงยามที่ประเทศตกอยู่ในสภาพไร้สิทธิและเสรีภาพเช่นนี้ การเป็นครูสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ก็ย่อมเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง หากไม่ยืนหยัดในหลักวิชาการ ในแง่ของการยืนหยัดในหลักวิชา พวกเรา(ชาวมหาวิทยาลัย)ได้ชี้ให้เห็นถึงการเคารพสิทธิและเห็นคุณค่าของคำว่า “คนเท่ากัน” เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นพลังที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรม หากทว่าสภาพความจริง เมื่อออกมาจากห้องเรียน กลับเจอสภาพความจริงอันตาลปัตร ที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ฉีกตำราและแสดงพฤติกรรมถึงขั้นสวนทางกับส่ิงที่เกิดในภายในห้องเรียน  

 

บทบาทของมหาวิทยาลัยหากใช่แต่เพียงคอยทำหน้าที่ ห้ามปรามนักศึกษา ปัญญาชน โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง เพราะหากพวกเขาเลือกและตัดสินใจแล้ว ก็ควรจะเคารพและสนับสนุนในทางด้านวิชาการ เพราะท้ายสุดพวกเขาก็ต้องรับผิดชอบและเรียนรู้จากสิ่งที่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกและลบ หากเป็นไปได้พร้อมกันนั้นมหาวิทยาลัยควรปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของพวกเขาที่เลือกใช้วิธีการสันติวิธี แม้ว่าจะคิดต่างกับครูบาอาจารย์ และในอีกชั้นหนึ่งบรรดาคณาจารย์ก็อาจจะคิดต่างกับผู้บริหารในมหาวิทยาลัยก็ตาม ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลาย 

 

ท้ายที่สุด สิทธิและเสรีภาพ เป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิทักษ์ปกป้อง เพื่อจะเป็นพื้นที่ให้แก่เหล่าบรรดานักวิชาการ ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ได้แสดงความรู้และเกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบวนการยุติธรรม จนไปถึงเรื่องของสิทธิของผู้หญิง เพศ  และคุณภาพการศึกษา ฯลฯ จะได้รับการใส่ใจและมีโอกาสได้อภิปรายในสาธารณะ เมื่อการปกป้องพื้นที่เสรีภาพได้ขยับขยายพื้นที่ให้เติบโตและมีหลักประกันที่จะไม่มีใครหรือกลุ่มคณะใดมาใช้อำนาจแบบไร้ขอบเขตและตรวจสอบไม่ได้เหมือนที่กำลังเกิดขึ้น