เกาะกระแส Islamophobia โรคหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? : บันทึกจากการเสวนา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้ประสบพบเห็นกับปรากฎการณ์ และได้รู้จักกับคำว่า Islamophobia มากขึ้น หลายคนกล่าวว่า Islamophobia หรือโรคหวาดกลัวอิสลามนั้นเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2001 และค่อย ๆ กระจายตัวไปทั่วโลก จนเมื่อไม่นานมานี้ประชาคมโลกถูกปลุกให้ตื่นด้วยโรคหวาดกลัวอิสลามอีกครั้งภายหลังการอพยพลี้ภัยของประชาชนชาวตะวันออกกลางจำนวนมากไปยังทวีปยุโรปอันเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในประเทศและสงครามกลางเมือง

ขณะที่ในประเทศไทย สภาวะหวาดกลัวอิสลามได้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค สะท้อนให้เห็นได้จากปรากฎการณ์ต่าง ๆ อาทิ การคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดที่ จ.มุกดาหาร การต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลใน จ.เชียงใหม่ และการต่อต้านจากพระในวัดพระธาตุฯ จ.นครศรีธรรมราช ต่อการบูรณะชุมชนการค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม เป็นต้น ปรากฎการณ์ทางสังคมเหล่านี้อาจเกิดขึ้นมาช้านานหรือเพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีใครทราบได้ แต่ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็น “สัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า” (early warning system) ว่าเกิดสภาวะไม่ปกติขึ้นในสังคมไทย

ปาตานีฟอรั่มมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสำรวจตรวจสอบและทำความเข้าใจกับกระแส Islamophobiaในประเทศไทย ด้วยการลงพื้นที่ภาคสนามเก็บข้อมูลในทุกภูมิภาค การเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ปาตานีฟอรั่มได้นำเสนอผลการศึกษาในเบื้องต้น และเปิดวงสนทนาเล็ก ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงเรื่องราวกระแสหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการจากสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนาสำนักจุฬาราชมนตรี และผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Islamophobiaว่า

ความหวาดกลัวต่ออิสลามนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยศาสดาเริ่มเผยแผ่ศาสนา แต่ยังไม่มีการวิเคราะห์เชื่อมโยงไปถึงตรงนั้นในทางวิชาการ ขณะที่งานศึกษาทางสังคมศาสตร์เริ่มให้ความสนใจกับ Islamophobia ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1990 หลังจากการอพยพของมุสลิมที่มาพร้อมกับการก่อตัวของความหวาดกลัวในพื้นที่ทวีปยุโรป และถึงจุดพีคหลังเหตุการณ์ 911 อันนำมาสู่ความสนใจที่จะศึกษาในประเด็นนี้โดยเฉพาะของนักสังคมศาสตร์ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าอะไรคือนิยามของ Islamophobia โดยส่วนตัวเรียกว่า โรคเกลียดกลัวอิสลาม โดยมี concept ต่อมาจากงานเขียนของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด นักวิชาการชื่อดังชาวยิวที่ชี้ให้เห็นว่า มีความพยายามในทางวิชาการของยุโรปในการสร้างองค์ความรู้ชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่ออธิบายคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในสังคมมุสลิมที่ถูกมอง ถูกสร้างความเป็นอื่น ให้เป็นอะไรที่ประหลาด ล้าหลัง ไร้อารยะ อันตราย และน่ากลัว

ในปี 1977 มีงานชิ้นสำคัญอย่าง “อิสลามโมโฟเบีย สิ่งท้าทายสำหรับมนุษย์ทุกคน” ได้ที่ชี้ให้เห็นมุมมองของโลกตะวันตกที่มีต่ออิสลามใน 3 ประเด็นที่นำไปสู่ความหวาดกลัวอิสลามทั่วทั้งโลก ประเด็นแรกอธิบายถึงการมองอิสลามเป็นเนื้อเดียวกันหมด ไม่มองว่าอิสลามมีหลากหลายจนนำไปสู่การเหมารวม เช่น เห็นภาพความรุนแรงแล้วเหมารวมว่านั้นคืออิสลาม ประเด็นที่สองคือ มองว่าคุณค่าของอิสลามเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เห็นได้จากประเทศมุสลิมหลาย ๆ ประเทศที่เป็นเผด็จการ ไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย และประเด็นที่สามกล่าวถึง คำสอนของอิสลามหลายอย่างถูกเอาไปรับใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องญิฮาด ซึ่งในความคิดของคนตะวันตก jihad แปลว่า holy war (สงครามศักดิ์สิทธิ์) ทั้ง ๆ ที่อิสลามไม่เคยสอนว่าสงครามนั้นศักดิ์สิทธิ์

ภาพปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงต่อคนมุสลิมในทวีปยุโรป เช่น การไล่ออกเด็กหญิงมุสลิมจากโรงเรียนและการฆาตรกรรมหญิงมุสลิมเพียงเพราะเธอเหล่านั้นคลุมฮีญาบ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่ากระแสความเกลียดกลัวอิสลามนั้นได้กระจายไปแล้วทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ปัจจุบันนักวิชาการสังคมศาสตร์จึงให้ความสนใจอย่างเป็นเรื่องเป็นราวถึงที่มาของอิสลามโมโฟเบีย สาเหตุมาจากอะไร มีผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร และมีความเข้มข้นของความหวาดกลัวต่ออิสลามมากน้อยเท่าไหร่

ผลการศึกษาของปาตานีฟอรั่มสนับสนุนข้อมูลของ ผศ.ดร.สุชาติ ได้เป็นอย่างดี โดย อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ ตัวแทนจากปาตานีฟอรั่ม ได้รายงานผลการศึกษาในเบื้องต้นว่า ความรู้สึกของคนต่างศาสนิกต่อชุมชนมุสลิมมีอยู่ 2 ส่วน คือ หนึ่ง ความรู้สึกต่อคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกมีความเข้าใจว่า การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนมุสลิมในรูปแบบต่าง ๆ นั้น เกิดจากโครงสร้างของรัฐไทยที่กดขี่และไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม ส่วนในด้านลบ ภาพแรกที่นึกถึงคนมุสลิมสามจังหวัดฯ เป็นการเหมารวมว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ชอบสร้างเงื่อนไขและสร้างปัญหาและสอง

ความรู้สึกของคนต่างศาสนิกต่อมุสลิมในภาพรวม ซึ่งผลการศึกษามีความย้อนแย้งกันอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ ด้านบวก ชื่นชมถึงการปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดของคนมุสลิม ในขณะที่ด้านลบกลับพบว่า พวกเขารู้สึกอึดอัดกับวิถีปฏิบัติของคนมุสลิมที่จุกจิก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแตกต่าง ทำไมปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น และมีข้อห้ามมากมาย อีกทั้งมองว่า สื่อเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแส Islamophobia (การศึกษาในครั้งนี้ทำให้พบข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับความหวาดกลัวอิสลามมากมายและทำขึ้นภายใต้ข้อจำกัดเนื่องจากประเด็นทางศาสนามีความละเอียดอ่อนทำให้กลุ่มตัวอย่างบางส่วนไม่อาจสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา)

แอน อิศดุลย์ ประธานบ้านบุญเต็ม ได้สะท้อนความคิดเห็นในฐานะคนพุทธในพื้นที่สามจังหวัดฯ ว่า เนื่องจากเติบโตในพื้นที่และมีความใกล้ชิดกับคนมุสลิมมาตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ตนเองมีความเข้าในวิถีชีวิตของคนมลายูมุสลิม ซึ่งแตกต่างจากคนพุทธคนอื่น ๆ ที่ยังขาดความเข้าใจ และเมื่อถึงยุคที่เกิดกระแสความหวาดกลัว จึงนำไปสู่ความเกลียดชังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่เข้าใจได้ง่าย กลายเป็นอคติที่มีต่อคนมุสลิมและถูกส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นโดยการกล่อมเกลาของสถาบันครอบครัว

นอกจากนี้ ในพื้นที่สามจังหวัดฯ ยังมีกลุ่มบุคคลที่ทำการยุยงปลุกปั่นผ่านโลกโซเชียลมีเดียจนทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แอนยังชี้ให้เห็นว่า การทำความเข้าใจต่อคนมุสลิมในพื้นที่จะต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างคนพุทธในพื้นที่โดยกำเนิดกับคนพุทธจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกันกับความเป็นคนมุสลิมก็แตกต่างกันระหว่างคนมุสลิมในสามจังหวัดฯ กับคนมุสลิมในพื้นที่อื่น ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยมและนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม เช่น การปลุกระดมคนพุทธไม่ให้ซื้ออาหารร้านค้ามุสลิม และแอนยังฝากความห่วงใยว่า หากความเกลียดกลัวของคนพุทธต่อคนมุสลิมในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไข ในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะสามารถลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ได้ค่อย ๆ ทำลายพื้นที่ปฏิสังสรรค์ระหว่างทั้งคนสองศาสนา และการปลุกกระแสไม่เข้าร้านมุสลิมของคนพุทธยิ่งเพิ่มเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี กระแส Islamophobia ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่น ๆ ดังเช่นกรณีการต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล จ.เชียงใหม่ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้เรื่องราวที่ถูกอธิบายว่าเป็นผลพวงมาจากโรคหวาดกลัวอิสลามกลับมีเรื่องราวอื่นทับซ้อนและอยู่เบื้องหลังดังที่ ผศ.ดร.สุชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมในช่วงที่สองของการเสวนาว่า ตนเป็นมุสลิมเชียงใหม่และเป็นคนส่วนน้อยท่ามกลางคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนพุทธ คนในรุ่นพ่อแม่ที่อพยพเข้ามาอยู่ในภาคเหนือของไทยมีทั้งที่เป็นคนเชื้อสายจีน เบงกาลี อินเดีย ปาทานและเชื้อสายอื่น ๆ ซึ่งคนรุ่นนั้นได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคนท้องถิ่น และมีการแต่งงานกับคนในท้องถิ่นจำนวนมาก เพราะเขาเหล่านั้นไม่ได้ให้ความสนใจกับความแตกต่างทางศาสนา ตนก็เป็นหนึ่งในมุสลิมที่มีแม่เป็นมูอัลลัฟ (ผู้ที่สนใจอิสลามและเข้านับถือศาสนาอิสลาม )

 แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฎการณ์ความหวาดกลัวอิสลามที่เราได้เห็นจากเหตุการณ์ในพม่า ภาพของมุสลิมถูกทำร้าย ถูกเผา การใช้ความรุนแรงต่าง ๆ เป็นปรากฎการณ์ที่เข้าใกล้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตนเป็นห่วงว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้โดยที่ไม่ทำอะไร เกรงว่าในอีกยี่สิบหรือสามสิบปีข้างหน้า เหตุการณ์ในเมืองไทยอาจจะไม่ต่างจากพม่า สอดคล้องกับรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนาในสังคมไทยของอเมริกาที่ฟันธงว่า ประเทศต่อไปที่จะเกิดความขัดแย้งทางศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากพม่า คือ ประเทศไทย

กรณีการต่อต้านการสร้างมัสยิดในภาคเหนือและภาคอีสาน พบว่านอกเหนือจากกระแส Islamophobia ที่สร้างภาพอันน่ากลัวให้กับคนมุสลิมแล้วนั้น การขาดความรู้ ความเข้าใจในอิสลามและวิถีปฏิบัติของคนมุสลิม การบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น กรณีหอคำหลวง บวกกับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความหวาดระแวงจนนำมาสู่การคัดค้านของคนต่างศาสนิก ดังเช่นกรณีของเชียงใหม่ เชียงราย น่านและมุกดาหาร ในขณะเดียวกัน ภาพการออกมาต่อต้านคัดค้านที่เข้าใจกันว่าเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องจากกระแสความหวาดกลัวอิสลามอย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล กลับพบว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงผลประโยชน์ของการเมืองท้องถิ่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด

ผศ.ดร.สุชาติ ยังได้กล่าวถึงแนวคิดของ ฮันส์ คุง นักวิชาการคาทอลิคที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับอิสลาม ไว้ว่า

“สังคมสันติสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เกิดสันติสุขระหว่างศาสนา สันติสุขระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เกิดการทำความเข้าใจ พูดคุยกันระหว่างศาสนา และการพูดคุยทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าแต่ละศาสนิกไม่เข้าใจในแก่นแท้ แก่นธรรมคำสอนของศาสนาตัวเอง”

รวมไปถึงคำพูดของนักต่อสู้เพื่อคนผิวสีอย่าง เนลสัน แมนเดลลา เพื่อให้กำลังใจและให้ความหวังว่า

“ไม่มีใครที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเกลียดต่อคนเพียงเพราะเขามีสีผิวและศาสนาที่ต่างไปจากเรา แสดงว่าความเกลียดนั้นถูกมาเรียนรู้ หล่อหลอมขึ้นทีหลัง ถ้าความเกลียดเป็นสิ่งที่มาเรียนรู้ มาหล่อหลอมได้ทีหลัง ความรักก็น่าจะเรียนรู้ หล่อหลอมได้ เพราะความรักเป็นอะไรที่อยู่ใกล้ธรรมชาติของมนุษย์มากกว่าความเกลียด”

ด้านซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้ ได้เสริมต่อประเด็นของ ผศ.ดร.สุชาติ ถึงสาเหตุที่กระแสความหวาดกลัวอิสลามเกิดขึ้นในภาคอีสาน ดังเช่น กรณีจังหวัดมุกดาหาร โดยอ้างถึงงานวิจัยของ พันเอกหญิงพิมลพรรณ อุโฆษกิจ อาจารย์จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชื่อ “นักรบกลับบ้าน: ประสบการณ์จากสมรภูมิ” สะท้อนถึงเรื่องเล่าของทหารจากภาคอีสานที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดฯ ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นคนอีสาน คนพุทธ และความเป็นทหาร สิ่งเหล่านี้เป็นกลายเป็นกรอบจำกัดมโนทัศน์ของเหล่าทหารที่มีผลต่อความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่และมองว่าผู้ก่อเหตุเป็น “อริราชศัตรู” เรื่องเล่าในบริบทเช่นนี้ทำให้ความจริงบิดเบี้ยว ดังกรอบการวิเคราะห์ของ คาริน  ที่ว่า “เมื่อเราเริ่มวิเคราะห์ข้อมูล (fact) ความจริงจะถูกทำลายไปส่วนหนึ่ง” เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปรากฎการณ์อิสลามโมโฟเบียก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งมันถูกทำลายจากการวิเคราะห์ การให้ข้อมูล และการสร้างภาพลักษณ์ของสื่อ

อับดุลเล๊าะได้เพิ่มเติมถึงประสบการณ์ภาคสนามที่ จ.อุบลราชธานี ว่าคนในท้องที่รู้สึกหวาดระแวงต่อคนมุสลิมในสามจังหวัดฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกหลานของเขาจำนวนมากถูกส่งไปประจำการที่ภาคใต้ กระแสความหวาดกลัวจึงอาจเกิดจากสิ่งที่ทหารไปพบเจอ และนำกลับมาเล่าสู่กันฟังปากต่อปาก “สำหรับชาวบ้านคนอีสานแล้วนั้น ทหาร คือ “ฮีโร่” ในขณะที่คนสามจังหวัดฯ มองว่า ทหาร คือ ผู้ก่อปัญหา”

ทางด้าน แอน  ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกของคนพุทธในพื้นที่ต่อเหตุการณ์ความไม่สงบถึงข้อสงสัยต่อการปฏิบัติงานของทหารที่มักมีการจับกุมผู้ต้องหาในคดีก่อเหตุความรุนแรงแล้วปล่อยตัว รวมทั้งการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ แก่คนมุสลิม เช่น การรับราชการ การศึกษาต่อ หรือแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือแก่คนมุสลิมขององค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ และความไม่เข้าใจ และอคติต่อคนมุสลิมจนก่อให้เกิดความเกลียดชังและหวาดระแวงต่อกัน ดังเช่นกรณีการเปิดบ้านเช่าในจังหวัดยะลาที่สงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะคนพุทธเท่านั้น เนื่องจากเกรงกลัวต่อการถูกกลืนวัฒนธรรมจากคนมุสลิมจึงต้องการปกป้องพื้นที่ของคนพุทธเอาไว้ ในขณะเดียวกันคนมุสลิมก็มีความหวาดระแวงคนพุทธ จากการที่คนมุสลิมแต่งงานกับคนนอกศาสนามากขึ้น จึงเกิดการกล่าวโทษคนพุทธว่า มีความต้องการจะกลืนวัฒนธรรมมุสลิม โดยปราศจากการศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริง

แอนยังได้บอกเล่าเรื่องราวของการทะเลาะวิวาทระหว่างเยาวชนพุทธกับมุสลิมที่ใช้ศาสนาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจากการที่พวกเขามองว่า พ่อแม่ผู้ปกครองของตนถูกกระทำจากคนมุสลิม ซึ่งทุกกรณีที่แอนได้สัมผัส เยาวชนพุทธเป็นผู้เริ่มก่อเหตุก่อนเสมอ และนำไปสู่การตอบโต้ของเยาวชนมุสลิมตามมา แอนจึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไข คือ การแก้ปัญหาที่เยาวชน โดยการเพิ่มปัญญาให้กับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ และพยายามให้เด็กพุทธและมุสลิมได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ซึ่งแอนมองว่ายังไม่สายที่จะแก้ไข แต่จะให้คนพุทธลุกขึ้นมาทำก็ค่อนข้างยากเนื่องจากเป็นคนส่วนน้อย ดังนั้น พี่น้องมุสลิมต้องช่วยกันเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายลงไปได้ และได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสภาวะที่ความเกลียดชังเริ่มเติบโตเช่นนี้ ในขณะเดียวกัน อย่างที่อาจารย์บอก ทำอย่างไรให้ความรักเกิดขึ้นควบคู่กับความเกลียด คือ ต้องเข้าใจ”

จากภาพรวมของการเสวนาในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โรคเกลียดกลัวอิสลาม หรือ Islamophobiaนั้น เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจและความเข้าใจผิดของ “คนนอก” ศาสนาอิสลาม ทั้งไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับตนเองว่า วันนี้ได้พยายามสื่อสารออกไปยัง “คนนอก” แล้วหรือยัง ได้พยายามให้เขารู้จักอิสลามมากน้อยแค่ไหน และควรปรับตัวอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น