พื้นที่แห่งการตีความและช่วงชิงความหมาย
“รัฐไทย” ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หากทว่ากลับมีพลวัต การปรับตัว ข้อวิจารณ์ที่ว่ารัฐไม่ได้ทำความข้าใจประเด็นทางอัตลักษณ์ความเป็นมลายูและศาสนาอิสลาม คงอาจจะไม่ใช่เสมอไป หากทว่า ตัวแทนของรัฐ ไม่ว่าในนามอะไรก็ตาม พวกเขาเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์อย่างดี แต่ก็เลือกทำอีกอย่างที่สวนทางกับการแก้ไขปัญหา ท่ามกลางอุตสาหกรรมการศึกษา วิจัยและเรียกร้องจากสังคมจำนวนมาก เห็นได้จากรายงานชิ้นสำคัญของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส) ที่ได้เสนอให้มีการทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ส่วนปัจจัยทางวัฒนธรรมคือ ภาษามลายู ศาสนาอิสลาม และประวัติศาสตร์ปัตตานีไม่ใช่สาเหตุแต่เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง หรือยอมรับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง
หากพิจารณางานของฟูโกต์ ได้เสนอให้พิจารณาว่า อำนาจต้องมีนัยของการผลิตสร้างหรือก่อให้เกิดบางสิ่งบางอย่างได้ จึงจะถือว่าเป็นอำนาจ จากนั้นก็ตั้งคำถามต่อไปว่า อำนาจก่อกำเนิดหรือผลิตสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งฟูโกต์พยายามจะเสนอข้อถกเถียงว่า อำนาจคือพลังที่สามารถผลิตทั้งความรู้และความจริง และยังเป็นปริมณฑลของสรรพสิ่งๆ ตลอดจนพิธีกรรมของความจริง (Ritual of Truth) ด้วยและการผลิตความรู้เพื่อให้ยอมรับว่าเป็นจริงในฐานะวาทกรรม จึงมีเรื่องของพิธีกรรมและปริมณฑลของสรพพสิ่งต่างๆ เช่น รัฐจะแสดงอำนาจตามความรู้ความเข้าใจได้นั้น รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าตนเองรู้และเข้าใจถึงจะมีความชอบธรรม
การศึกษากระบวนการปรับตัวของรัฐไทยด้วยการลงเข้ามาสู่พื้นที่ “สนามของอัตลักษณ์มลายูมุสลิมปาตานี” โดยมีรัฐเข้ามาในพื้นที่สนามแห่งอัตลักษณ์เพื่อที่จะปรับตัวและแสดงบทบาทท่าทีการยอมรับเท่าที่รัฐจะยอมรับโดยการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ และเพื่อรักษาสถานภาพความชอบธรรมและอำนาจรัฐ ท่ามกลางกระแสที่เรียกร้องภาคประชาสังคมให้รัฐยอมรับในเรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธุ์มลายูมุสลิมและการปรับวิธีคิดการทำงานในพื้นที่ทางวัฒนธรรม หรือสนามของอัตลักษณ์
การปรับตัวรัฐต้องอาศัยกลไกต่างๆทั้งในและนอกพื้นที่ เป็นเครื่องมือในการรักษาสถานภาพของรัฐ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในพื้นที่ในการทำงานทางด้านความคิดและถือว่าเป็นหน่วยงานที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น การสร้างวาทกรรมของโดยรัฐเป็นการช่วงชิงวาทกรรมเรื่อง อิสลาม มลายู จากนักกิจกรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนนอกภาครัฐและพยายามสามารถสถาปนาวาทกรรมในประเด็นใหญ่ก็คือการเป็นมุสลิมที่ดีให้คนในพื้นที่
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ รัฐพยายามอย่างตั้งใจนำหลักการทางศาสนาอิสลาม(บางส่วน) เพื่อที่จะมาต่อสู้ทางด้านความคิดกับฐานชุดความคิดที่ฝ่ายรัฐคิดว่า อีกฝ่ายหมายถึง กลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ได้พยายามอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น “สงครามศาสนา” ซึ่งทำให้รัฐต้องปรับตัวและนำนักวิชาการจากพื้นที่ต่างๆเพื่อมาอธิบาย หลักการศาสนาอิสลาม ให้แก่คนในพื้นที่ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของมุสลิมในพื้นที่ให้ถูกต้องตามความหมายของรัฐ หรืออย่างที่รัฐให้เป็น รัฐจึงมีความจำเป็นต้องเข้ามาสู่พื้นที่สนามของอัตลักษณ์
แต่ทว่าอีกฝ่ายหรือบทสะท้อนของกลุ่มปัญญาชนมลายูมุสลิมปาตานีในพื้นที่กลับมองท่าทีการสร้างวาทกรรมของรัฐและการเชิญนักปราชญ์มุลสิมจากนอกประเทศมาในพื้นที่ว่า
“วันนี้รัฐกำลังดูถูกคนในพื้นที่ เดี๋ยวเอาคนนู้นมา คนนี้มาพูดเรื่อง “อิสลาม” ให้แก่พวกเราฟัง ทำเหมือนว่าเราไม่มีความรู้ทางด้านศาสนา และที่มาพูดก็ประเด็นเพียงอย่างเดียวก็ มุสลิมที่นี้สามารถอยู้ร่วมกับรัฐไทยได้ และที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ของการต่อสู้ พูดแค่นี้ก็กลับไป เรื่องที่เค้าพูดเราก็รู้อยู่แล้ว แต่เรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญกลับไม่พูด แต่อย่างว่า พวกเค้าแม้ว่าเป็นมุสลิมก็เป็นคนนอก ไม่รู้เรื่องในพื้นที่หรอก” (บทสะท้อนกลับของชาวบ้านในพื้นที่)
หากพิจารณาแล้ววาทกรรมหรืออำนาจความรู้ที่เกี่ยวกับ ศาสนาอิสลาม ชาติพันธุ์มลายู ความรุนแรง ที่ถูกผลิตสถาปนาจากรัฐผ่านกระบอกเสียงของกลุ่มนักวิชาการศาสนาอิสลามทั้งในและนอกพื้นที่ ก็ทำให้เกิดความปฏิกริยาจากผู้คนท้องถิ่นได้เช่นกัน อย่างเช่นกรณีชาวบ้านที่ต้องประสบเจอเหตุการณ์และมองเห็นความซับซ้อนของปัญหา ที่ไม่ใช่ปัญหาเพียงแต่เรื่องของศาสนาอิสลาม หรือความเป็นมลายู แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเป็นธรรม” จากผู้ปกครองต่างหาก
อำนาจของวาทกรรมในแง่ที่เป็น “เทคนิควิธี” เนื่องจากอำนาจเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็น อำนาจจึงมองเห็นด้วยการมองผ่านปฎิบัติการ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดวินัย ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือติดอยู่กับสถานภาพของคน เพราะว่าขึ้นอยู่กับการกระทำ ธรรมชาติในการผลิตสร้างอำนาจ จึงอยู่ที่การกรทำผ่านการบงการให้กระทำไปตามวินัยบางอย่าวง ฟูโกต์เรียกว่าอำนาจเช่นนี้ว่า “อำนาจในการกำหนดวินัย” (Disciplinary Power) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของอำนาจ
การปฎิบัติการของอำนาจดังกล่าว มักแสดงออกผ่านกลไกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า เทคนิคในการจัดแนกแยกแยะ (Technology of Classification) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนิยามความหมายต่างๆ ให้มีอำนาจไปบงการหรือวางกรอบผู้คนในสังคมให้อยู่ในระเบียบวินัย ตามความหมายที่นิยามขึ้นมานั้น เช่น การให้คำนิยามของการเป็นมุสลิมมลายูที่ดี หรือการให้คำนิยามในการกระทำของกลุ่มที่ก่อการ ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น การไม่อาบน้ำศพของกลุ่มผู้ติดอาวุธ รัฐได้นิยามว่า ผิดหลักการศาสนา การกระทำอย่างนั้นของชาวบ้านถือว่าผิด โดยนำอำนาจความรู้จากนักการศาสนาของฝ่ายรัฐ หรือมีทรรศนะที่คล้อยตามรัฐ
รัฐได้พยายามสร้างวาทกรรมหรือการนิยาม ในแง่นี้คือ การต่อสู้ในพื้นที่ความรู้ อันเป็นฐานคิดสำคัญของขบวนการต่อสู้กับรัฐ ไม่ว่าที่ใดในโลก และนำผู้รู้ทางด้านศาสนาให้มาอยู่กับฝ่ายรัฐ เพื่อสร้างอำนาจและความชอบธรรมให้แก่รัฐ