กระบวนการสันติภาพครึ่งใบ กับขวากหนามอีกสองต่อ
ความก้ำกึ่งไม่เต็มใจของรัฐบาลทหารจะทำให้ความชอบธรรมของผู้ร่วมวงเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ ดับวูบลงอีกครั้ง
เมื่อส่วนกลางส่งสัญญาณที่ชวนสับสน อุปสรรคใหญ่สองเรื่องก็เกิดตามมาในกระบวนการสันติภาพ ณ ปลายด้ามขวาน ซึ่งไม่ควรจะเกิดหากผู้มีอำนาจเลือกใช้กลยุทธ์แบบก้าวหน้ากับแผ่นดินที่ใช้ภาษามลายูแห่งนี้เสียแต่แรก
อุปสรรคแรก คือ การปลด พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง ออกจากตำแหน่งเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ที่กำลังจับเข่าคุยกับกลุ่มมาราปัตตานี องค์กรร่มของบรรดากลุ่มคิดที่ต่างชายแดนใต้ (อย่างพอจะเห็นแสงแห่งความหวัง) โดย พล.ท.นักรบ ถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าทำเกินหน้าที่ ที่ก็มิได้มีการกำหนดกรอบชัดเจนแต่แรก ว่ากันว่ารัฐบาลทหารห่วงมากว่าพวกตนจะทิ้งอะไรไว้เป็นมรดกเบื้องหลัง ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ “ใส่พาน” ส่งมอบดินแดนที่แย่งชิงกันมาแต่ประวัติศาสตร์
อุปสรรคที่สอง คือ การที่รัฐบาลกดดันให้องค์การความร่วมมืออิสลาม (หรือ โอไอซี) หลีกเลี่ยงการเอ่ยถึงกลุ่ม มารา ปาตานี ในข้อตกลงต่างๆ ระหว่างการประชุมสุดยอดขององค์การฯ ที่ตุรกีเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย แม้ว่าจะมีบางประเทศสมาชิกโอไอซี (จากทั้งหมด 57 ประเทศ) ยืนยันจะพูดถึงการเสวนาสันติภาพของไทยที่กำลังดำเนินอยู่ด้วย
การประชุมสุดยอดของโอไอซีมีคำแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ในฐานะกับกลุ่มผู้แทนชุมชนมุสลิมชายแดนภาคใต้ตามที่ถูกร้องขอ และเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองความปลอดภัยของทีมเสวนาสันติภาพในระหว่างการเดินทางไป-กลับประเทศไทย และให้ความคุ้มครองจากการถูกคุมตัวและการฟ้องร้องต่างๆ ในช่วงที่การเสวนาสันติภาพกำลังดำเนินไป”
ทางการไทยหวั่นใจอยู่เสมอว่า มารา ปาตานี จะได้รับความใส่ใจในระดับนานาชาติเกินไปกว่าที่ตนยอมให้ คือการยอมตั้งโต๊ะพูดคุย นโยบายของฝ่ายไทยดูจะขัดแย้งในตนเอง ดึงรั้งระหว่างความเต็มใจให้เกียรติจับเข่าคุยกับ มารา ปาตานี กับความหงุดหงิดทุกครั้งที่ มารา ปาตานี หาทางไปพูดคุยกลุ่มอื่น ทั้งที่ก็มิใช่เรื่องแปลกที่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่าง มารา ปาตานี จะหาทางสร้างความชอบธรรมให้แก่พวกตนจากนานาชาติ และจากผู้คนในพื้นที่ปัญหาซึ่งครอบคลุมทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีกสี่เขตของจังหวัดสงขลาที่ใช้ภาษามลายู
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว อิยาด อามีน มาดานี เลขาธิการโอไอซี ได้ไปพบปะกับสมาชิกกลุ่ม มารา ปาตานี ที่มาเลเซียก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งทางการไทยได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการพบปะดังกล่าว แถมตำหนิฝ่ายกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่อำนวยความสะดวกให้ แต่ทาง มารา ปาตานี ก็รีบออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่าตนเป็นต้นคิด และนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ได้เตะสกัดเลขาธิการโอซีแบบหัวทิ่มในการพบปะกันที่กรุงเทพฯ ว่า น้อมรับความห่วงใยของท่านเลขาธิการ แต่จะไม่รับการแทรกแซง
ปัญหาชายแดนใต้ของไทยอยู่ในสายตาของโอไอซีแบบ ‘มาๆ ไปๆ’ มาหลายทศวรรษ เมื่อปี พ.ศ. 2553 นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซีขณะนั้น ก็เคยได้พบปะกับตัวแทนองค์กรแบ่งแยกดินแดนปาตานีที่ซาอุดีอาระเบีย และสนับสนุนตัวแทนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มทางการเมืองชื่อ สหพันธ์ประชาชนปาตานี (United Patani People Council หรือ UPPC) โดยทางโอไอซียืนยันจะช่วยจัดโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายไทยให้ และตามแผนเมื่อ UPPC จัดตั้งแล้ว จะต้องจัดตั้งสภาประชาชนปาตานี (the Patani People Congress หรือ PCC) ตามมา เพื่อเป็นกลไกผลักดันความชอบธรรมให้แก่ UPPC อีกที แต่แล้วรัฐบาลของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธที่จะเล่นตามเกม แผนดังกล่าวจึงยุติลง
ปัญหาปาตานีกลับเข้าสู่วาระอีกครั้งในปี พ.ศ.2555 ในการประชุมระดับรัฐประมนตรีต่างประเทศของโอไอซี ซึ่งครั้งนั้นทางโอไอซีแสดงความหนักใจเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมปี 2550 ระหว่างไทยกับโอไอซีที่ยังไม่ออกผลเป็นความคืบหน้าใดๆ และแสดงความกังวลเรื่อง “พรก. ฉุกเฉินที่ไม่ยอมยุติในพื้นที่ภาคใต้ กับพัฒนาการในวงแคบของแนวคิดการใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอนในโรงเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้”
โอไอซียังวิจารณ์เรื่อง “การใช้กำลังทหารควบคุมสถานการณ์อย่างยืดเยื้อทั่วจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่” รวมถึงวิจารณ์ “การหันไปเน้นการพึ่งพากองกำลังติดอาวุธฝึกหัดที่ไร้ระเบียบแบบแผนที่ถูกกล่าวหาเรื่องปฏิบัติการอย่างผิดกฎหมายและรังแต่จะสร้างความแตกแยกทางเชื้อชาติศาสนา”
คำแถลงการณ์ร่วมปี พ.ศ. 2550 ระหว่างโอไอซี กับรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้กลายเป็นหลักที่โอไอซีใช้ชี้วัดความจริงจังของไทยในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เพราะคำแถลงครั้งนั้นมีความชัดเจน หนักแน่น ระบุเจาะจงกรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร การนองเลือดที่มัสยิดกรือเซะ และการสังหารหมู่ที่อำเภอตากใบ และยังพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเว้นโทษในหมู่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่กระทำผิดในประเทศไทย
แต่แล้วคำมั่นสัญญาหนักแน่นของไทยที่ว่าจะต่อสู้เพื่อให้เกิดสันติภาพในครั้งนั้น กลับมีชีวิตสั้นพอๆ กับระยะเวลาบริหารประเทศของรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ เพราะจากนั้นก็ไม่มีรัฐบาลชุดใดกล้าสานสายใยต่อกับชาวมลายูปาตานี แม้แต่รัฐบาลของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยจัดวงเสวนาอย่างเงอะๆ เงิ่นๆ อธิบายไม่ถูกว่าจะทำให้ความหวังพุ่งหรือพังกันแน่
ด้วยเกรงจะถูกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านสันติภาพ รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันตัดสินใจปลุกชีพสิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการสันติภาพ’ อีกครั้ง แต่มันก็กลับกลายเป็นการตัดสินใจที่เผยให้เห็นถึงความไม่อยากเดินหน้าและความไม่เต็มใจจะหยิบยื่นปัจจัยที่จำเป็นต่อความคืบหน้าของกระบวนการ
พล.ท.นักรบ ซึ่งเริ่มทำงานในโต๊ะสันติภาพมาตั้งแต่สมัย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และหลบไปพำนักในต่างประเทศหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้ถูกเรียกกลับมาเพื่อทำงานในสภาวการณ์ที่ช่างสับสน มึนงงอยู่ตรงกลางระหว่างองค์กรร่ม มารา ปาตานี ที่กำลังหาความชอบธรรมและที่ยืนในเวทีนานาชาติด้วยหนทางของตน กับรัฐบาลทหารจากส่วนกลางที่นอกจากไม่เต็มใจจะให้สิทธิใดๆ กับอีกฝ่าย แล้วยังไม่ยอมแม้แต่จะเรียกชื่อของอีกฝ่าย
เครือข่ายงานที่วางให้ พล.ท.นักรบ จึงกว้างเสียจนไม่อาจบรรลุได้ ต้องเป็นทั้งเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุข โฆษกกระบวนการสันติภาพโดยรวม และหัวหน้าคณะทำงานที่ต้องคอยวางกรอบเงื่อนไขในการเจรจาแต่ละครั้ง
อันที่จริงเขาผู้นี้มีส่วนผลักดันการเคลื่อนไหวของ มาราปาตานี ตั้งแต่ก่อนที่องค์กรจะใช้ชื่อนี้ เมื่อกลุ่มคิดต่างยังถูกเรียกรวมว่าเป็น “Plan B” ในกระบวนการสันติภาพของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่มี ฮาซัน ตอยยิบ เป็นตัวแทนเจรจา
พล.ท.นักรบ ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ผู้มีส่วนได้เสียต่างก็ยื้อความคืบหน้าโดยไม่ยอมเสียสละสิ่งใด ฝั่งแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น ที่อยู่มายาวนานและมีกองกำลังกว้างขวางที่สุดประกาศว่าจะไม่ยอมร่วมโต๊ะพูดคุยตราบใดที่โต๊ะนั้นยังไม่จัดแจงอย่างเหมาะสมและตนมีความพร้อมจริง บอกด้วยว่า รัฐบาลไทยก็สนใจแค่การลดตัวเลขเหตุรุนแรงเพื่อความสงบภายในประเทศเท่านั้น ไม่ได้คิดจะถกต้นตอที่แท้จริงของปัญหา
รัฐบาลปฏิเสธที่จะขุดค้นรากของความเก็บกดแต่ประวัติศาสตร์ของชายแดนใต้ เพราะนั่นหมายถึงการต้องรอมชอมให้สิทธิในหลายๆ อย่าง
ผู้สังเกตการณ์อิสระต่างมองว่า สัญญาณจากทางรัฐบาลทหารนั้นช่างสับสน ขณะที่ พล.ท.นักรบถูกสั่งให้นำพาคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ไปพบ มาราปาตานี กลับถูกสั่งห้ามด้วยว่า ไม่ให้ใช้คำว่า “มาราปาตานี” ในการสนทนา เพราะผู้ใหญ่ทางฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการให้ความชอบธรรมกับกลุ่มเห็นต่างกับรัฐไทย นอกจากนี้ มีรายงานจากแหล่งข่าวในรัฐบาลว่า รัฐบาลเองก็ยังไม่เชื่อนักว่า มาราปาตานี กุมกองกำลังและมีอำนาจสั่งการที่ชายแดนใต้จริง
บีอาร์เอ็น ยังคงยืนยันว่าไม่พร้อมเข้าสู่วงพูดคุย และบอกด้วยว่า โอไอซี ก็แค่องค์กรข้ามชาติอีกองค์กรที่พยายามแทรกตัวเข้ามาในกระบวนการสันติภาพในดินแดนของบรรพบุรุษตน คำถามในตอนนี้ก็คือ ในที่สุดแล้วทางการจะนึกสนุกด้วยหรือไม่ กับแนวคิดที่เปิดให้องค์กรข้ามชาติเข้ามาร่วมเล่นเกมสันติภาพที่ปลายด้ามขวานของไทย