ศรัทธา วิทยาศาสตร์ และจริยธรรม
ภาพ: นักฟิสิกส์ในยุคออตโตมาน
บทวิเคราะห์ที่เรากำลังจะนำเสนอต่อไปนี้ มีขึ้นเพื่อตอบคำถามสำคัญในโลกมุสลิมยุคใหม่ โลกที่เราสุขเมื่อได้ย้อนระลึกถึงเมื่อครั้งที่มุสลิมมีส่วนอย่างมหาศาลในการขับเคลื่อนโลกแห่งวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไกล เราคอยเตือนความจำของโลกว่ามุสลิมผลักดันศาสตร์ต่างๆ ที่สำคัญให้รุดหน้า มีบทบาทเหนือกว่าอารยธรรมใดๆ แม้เรื่องราวเหล่านี้อาจใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าความชะงักงันและถดถอยในทางวิทยาศาสตร์ของโลกมุสลิมทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาจากอิสลาม เราก็ควรจะระลึกไว้ด้วยว่าอดีตอันรุ่งเรืองน่าภาคภูมิหาได้ช่วยแก้ปัญหาของปัจจุบันได้
ในประเทศที่มีความเจริญสูงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม มุสลิมยิ่งถูกกวนใจจากความไม่ลงรอยของหลักจริยธรรมบางอย่างของเรา กับวิทยาศาสตร์ ที่บางครั้งก็ขัดแย้งรุนแรง ซ้ำร้ายคือทำให้ศรัทธาและสำนึกในการประเมินดี-ชั่วของเรามุสลิมเองเกิดพร่ามัว ถ้าเช่นนั้นความสัมพันธ์แบบใดกันเล่าที่เราควรยึดถือธำรงรักษาระหว่างศรัทธา เนื้อหาอัลกุรอาน จริยธรรมแห่งอิสลาม กับศาสตร์ด้านมนุษย์ (Human Sciences เช่น มนุษยศาสตร์) และศาสตร์แข็ง (Hard Science เช่น กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ) ของโลก
มุสลิมต่างก็เกิดคำถามนี้กับตัวเอง แต่ไม่เคยพบคำตอบที่แน่ชัด เราคลางแคลงว่า มีส่วนในกระบวนการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ของโลก หรือ มีตัวศาสตร์ใดบ้างหรือไม่ที่ “ขัดต่ออิสลาม” ภายใต้แรงกดดันของโลกสมัยใหม่ เราสงสัยว่าจะอธิบาย ลักษณะ “ครอบจักรวาล” และความเป็นสากลแห่งอิสลามได้อย่างไม่ครั่นเนื้อครั่นตัวอย่างไรในโลกแห่งความรู้และความก้าวหน้ายุคนี้ ทำไมเราจึงครั่นคร้ามและเราจะอุดช่องว่างแห่งความขัดแย้งที่เห็นโจ่งแจ้งได้อย่างไรกัน
ชัดเจนว่า งานของนักคิดแห่งโลกอิสลามที่พยายามแยกแง่มุมคำสอนจากพระคัมภีร์เป็นแขนงย่อยในการศึกษานั้นสำคัญยิ่งนัก เนื้อหาที่อัดแน่นของอัลกุรอาน ความยากในการศึกษามัน และคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ซัดมาไม่หยุดหย่อนในประวัติศาสตร์ ล้วนแต่มีบทบาทบีบบังคับให้นักคิดแบ่งการศึกษาศาสนาอิสลามออกเป็นหลายแขนง เกิดเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยอัลกุรอาน (อุลูม อัล-กุรอาน) ศาสตร์ที่ว่าด้วยจริยธรรมของนบีมูฮัมมัด (อุลูม อัล-หะดีษ) ศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักศรัทธา (อิลมุน อัล-อะกีดะฮฺ) ศาสตร์ที่ว่าด้วยกฎหมายและนิติศาสตร์แห่งอิสลาม (อิลมุน อูศูล อัล-ฟิกฮฺ) และอื่นๆ
มีประเทศราวๆ 10-11 ประเทศ ที่ยึดแผนการศึกษาอิสลามโดยแยกศาสตร์ตามแผนภาพ 2.1 ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์เพราะช่วยให้ขอบเขตและวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ศาสตร์แต่ละด้านมีความชัดเจน และถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าในศาสตร์อื่นๆ จากเหตุผลอย่างน้อยสามประการ ประการแรก อัลกุรอานและจริยธรรมของท่านนบี(อัล-หะดีษ) ส่งเสริมให้จิตวิญญาณของมนุษย์ทุกผู้นามใฝ่หาคำตอบเกี่ยวกับโลก ประการที่สอง เพราะวิชา/ศาสตร์ในทางศาสนาเองมักจะอ้างอิงการค้นพบในทางวิทยาศาสตร์ (เช่น ในขอบข่ายการแพทย์และดาราศาสตร์) ประกอบการกำหนดวิถีปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ประการที่สาม กรอบอ้างอิงทางศาสนาอุดมไปด้วยคำตอบที่โยงใยจริยธรรมเข้ากับวิทยาศาสตร์อย่างกลมเกลียวแนบแน่น และเป็นธรรมชาติ มิได้ถูกกีดกันออกจากกันเหมือนในทุกวันนี้ที่หลายสถานการณ์ถูกมองเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องระวังในการอรรถาธิบาย
เมื่อยุคเรอเนสซอสซ์ ลัทธิมนุษยนิยม และการปฏิรูปศาสนา (ที่อารยธรรมอิสลามก็มีส่วนผลักดันอีกเช่นกัน) เริ่มแสดงบทบาทของตนเองและผนึกกำลังกันในยุโรป ในกระบวนการโลกิยานุวัติ (Secularization) ที่ปลดปล่อยเหตุผลให้เป็นอิสระจากศาสนา และเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น อารยธรรมอิสลามก็เริ่มชะงักงัน ความสัมพันธ์ที่เคยสอดประสานเป็นธรรมชาติระหว่าง “ศาสตร์แห่งอิสลาม” กับแขนงความรู้อื่นๆ (รวมถึงกูรูอิสลามผู้เชี่ยวชาญศาสตร์สองโลก) ในขณะนี้ได้ ‘ปิดกิจการ’
การเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ในร่องทางจริยธรรมอย่างเป็นธรรมชาติอันเป็นความโดดเด่นของมุสลิมตกอยู่ในฐานะลำบากขึ้นทุกขณะ เมื่อความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ครั้งแล้วครั้งเล่าในโลกตะวันตกก่อตัวเป็นศาสตร์ที่แยกห่างจากบรรทัดฐานทางศีลธรรมไปทุกที สะสมขุมพลังด้วยการถอนตัวจากอำนาจของศาสนา การเกาะเกี่ยวมั่นคงในหลักจริยธรรมแห่งอิสลาม การไม่สามารถอธิบายถึงสายใยอันมีพลวัตรระหว่างกรอบอ้างอิงทางศีลธรรมกับความเป็นเอกเทศของเหตุผล ผนวกกับความรู้สึกว่าตนกำลังมีภัยในพลวัตรนิยมและการขยายตัวของยุโรป ทำให้เหล่าอูลามะฮ์ผู้อุทิศตนต่อศาสตร์ภายในศาสนาอันเปี่ยมอานุภาพเลือกที่จะปล่อยมือจาก “ความรู้อื่น” โดยไม่มีทางผละจากศาสนา กว่าหกร้อยปีมาแล้ว
นักวิชาการมุสลิมเรามิได้เคยออกมาประกาศค้านวิทยาศาสตร์ แต่เลือกที่จะกระตุ้นเตือนถึงอดีตอันรุ่งเรืองของอิสลามกับศาสตร์นานา กับเนื้อหาพระคัมภีร์ที่เน้นย้ำเชิญชวนให้ขับดันวิทยาศาสตร์ให้รุดหน้า แต่ภายใต้ความถวิลหาอดีตและความฝันอันเป็นอุดมคติ มีความเจ็บปวดเกาะกินลึกภายในใจของมุสลิม เพราะเราไม่รู้…บอกไม่ได้อีกต่อไปว่าเราจะเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์ขึ้นใหม่ในลักษณะใด ที่จะทำให้คำสอนด้านจริยธรรมแห่งศาสนาให้ศักดิ์ศรีและสิทธิ์ขาดต่อวิทยาศาสตร์โดยไม่ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อย่างบิดเบือน และไม่กีดขวางความเจริญรุดหน้าของมัน
โดยภาพรวม การแบ่งศาสตร์ในอิสลามเคยมีประโยชน์อย่างมากในยุคกลาง แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคขวากหนามเมื่อมันยังไม่ละทิ้งมุมมองเรื่องลำดับขั้นความรู้ (Hierarchy of Knowledge) มรดกตกทอดจากแนวคิดกรีก ที่มีการตัดสินศักดิ์ศรีและคุณค่าของความรู้หลากรูปแบบลดหลั่นกัน อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะยังไม่พ้นเรื่องกวนใจเมื่อพบว่า “ลักษณะครอบจักรวาลของสาส์นอันศักดิ์สิทธิ์” กำลังเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในโลกที่ตรงกันข้าม ที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่ตรงกันข้ามอย่างไม่อาจกลมกลืนกับสาส์นสำคัญ
มุสลิมใช้ทางออกหนึ่งคือการทุ่มสุดตัวสุดหัวใจให้กับกิจกรรมที่จะช่วยชี้แจ้งต่อโลกว่า อัลกุรอานได้กล่าวเกี่ยวกับความจริงทางวิทยาศาสตร์เอาไว้อย่างไร ปัญญาคือการที่เฝ้ารวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากหนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้ ความพยายามที่จะเชื่อมสายใยสองโลกด้วยวิธีนี้ ย่อมทำให้อัลกุรอาน/พระวัจนะเปิดเผยความจริงลดศักดิ์ศรีลงไปเป็นเพียงแบบเรียนวิทยาศาสตร์ ล้มเหลวเพราะโจทย์คือการชักนำผู้คนเข้าสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์โดยไม่ลดทอนเกียรติแห่งพระคัมภีร์ อีกหนึ่งทางออกที่น่าสนใจนั้น นำเสนอไว้โดย อิสมาอิล อัล-ฟารุกี นักคิดอิสลามผู้โด่งดัง ตั้งรกฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนสิ้นชีวิต ผู้ร่วมก่อตั้ง the International Institute of Islamic Thought (IIIT) อัล-ฟารุกี เสนอแนวคิดการผนวกจริยธรรมอิสลามเข้าในศาสตร์ร่วมสมัย (Islamization of Knowledge) และเสนอให้มีการถกเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ที่เป็นฐานของศาสตร์อื่นๆ ที่ถือว่า “ลบหลู่อิสลาม” แต่แนวคิดดังกล่าวกลับพบทางตันและเดินทางไปไม่ถึงความคาดหวังของบรรดานักคิดที่สนับสนุนมัน จนแล้วจนรอด มุสลิมก็หนีไม่พ้นคำถามเดิม “จะสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นใหม่ได้อย่างไร”
คงไม่เกินคาดเดา การกลับมาพิจารณาโองการอันเป็นลายลักษณ์อักษรของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้เราเห็นเค้าโครงคำตอบได้ จากเนื้อหาคำสอนในแหล่งข้อมูลดังกล่าว อาจนำเสนอสมมติฐานสำคัญได้สองข้อ:
ความเป็นหนึ่งของแหล่งข้อมูล (เพราะเป็นคำตรัสของพระเจ้าทั้งสิ้น) ซึ่งเป็นฐานอันลงตัวของจริยธรรม มิได้สื่อนัยยะว่ารูปแบบและระเบียบวิธีศึกษาสิ่งใดจะต้องเป็นแนวเดียวตายตัวไปด้วย
ระเบียบวิธีศึกษาหลายแนวทางถูกออกแบบบนฐานของเหตุผล ใช้สิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา (object of study) เป็นจุดเริ่มต้น มิใช่ความสัมพันธ์กับ ‘ผู้ทรงอยู่เหนือกฎเกณฑ์’ หรือระบบความรู้ที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้ว
การย้อนดูตัวบททางพระคัมภีร์ (ในฐานะสิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา) ทำให้ค้นพบระเบียบวิธีศึกษา (methodologies) ที่หลากหลาย พบ “ศาสตร์แห่งอิสลาม” มากมายหลายแขนงซึ่งมีระเบียบวิธีศึกษา พื้นที่ที่สนใจสืบค้น รวมถึงขีดจำกัดที่แตกต่างเฉพาะตน ดังนั้นตรรกะนี้ก็ควรจะนำทางเราในทุกขอบข่ายความรู้อื่นได้เช่นกัน
ศรัทธาคือสิ่งผูกสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้เชื่อ” กับ “ผู้สร้าง” ในทุกแง่มุมของชีวิต และชีวิตควรยึดเตาฮีด (การให้ความเป็นหนึ่งเดียวแก่พระเจ้า) อันเป็นหัวใจแห่งอิสลามให้หนักแน่นที่สุด สมองที่ยึดมั่นในเตาฮีดและบัญญัติแห่งพระคัมภีร์จะช่วยวางระบบจริยธรรมบนฐานคิดเรื่องความหมายและการสิ้นสุดของชีวิต แก่นสำคัญแห่งอิสลามเช่นกัน การใช้ปัญญาในเงื่อนไขดังกล่าวยังทำให้เราพบกฎและวิธีการอันเหมาะสมที่จะช่วยเป็นกรอบให้การศึกษาศาสตร์อื่นๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล เหมาะสมแก่กรณี และสอดคล้องกับสิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา กล่าวอีกอย่างได้ว่า เหตุผลเมื่อเชื่อมเข้ากับ ‘แหล่งกำเนิด’ (พระเจ้าและคัมภีร์) จะทำงานในสองทาง ทางหนึ่งก่อเกิดเป็นแนวทางจริยธรรม และในอีกทางพันธนาการอย่างซื่อตรงกับสิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา เกิดเป็นชุดของกฎและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่พึ่งเหตุและผลอย่างเต็มตัว ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ศาสตร์นานา “กลายเป็นอิสลาม” ไม่จำเป็นต้องพยายามเชื่อมและสลับที่วิธีการทางจริยธรรมและวิทยาศาสตร์อย่างสะเปะสะปะ ความเป็นสากลอย่างสมบูรณ์แห่งอิสลามวางแนวทางอันเชื่อมโยงไร้ความสับสนเอาไว้แล้ว ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะต้องนำเสนอจักรวาลทางวิทยาศาสตร์ในแผนผังใหม่ หากต้องการหลีกเลี่ยง “ทางตัน” แห่งความไม่บรรจบอันเกิดจากแผนผังแรก (2.1) ที่สร้างขึ้นจากมันสมองของมุสลิมยุคกลาง แผนผังใหม่อาจมีรูปร่างหน้าตา
ตามแผนภาพที่ 2.2
แผนภาพ 2.1 การจัดรูปแบบและประเภทของศาสตร์ในอิสลาม
แผนภาพ 2.2 เตาฮีด จริยธรรม และศาสตร์ต่างๆ
ในแผนภาพที่ 2.2 จากเตาฮีดซึ่งเป็นจุดศูนย์กลาง ลูกศรที่ชี้ออกหมายถึงคำสอนทางจริยธรรมจากโองการในพระคัมภีร์ วงกลมแต่ละวงที่ซ้อนกันอยู่ คือศาสตร์หลากหลายแขนง แต่ละศาสตร์มีระเบียบวิธีศึกษา (methodology) เฉพาะตนที่พัฒนาขึ้นจากการใช้เหตุและผล บนความเหมาะกับสิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา (object of study) (เช่น เนื้อหาคัมภีร์ในกรณีของศาสตร์ทางศาสนา ร่างกายของมนุษย์ในกรณีของแพทยศาสตร์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมในกรณีสังคมศาสตร์ เป็นต้น) วงกลมที่ถูกแยกชั้นแสดงถึง ‘ระยะห่าง’ ที่แตกต่างของศาสตร์เหล่านั้นกับเนื้อหาพระคัมภีร์ (โดยมิได้มีนัยยะเชิงลำดับชั้นความสำคัญ) ชุดของศาสตร์ที่ถือเป็นศาสตร์แห่งอิสลาม (Islamic Sciences) จึงวางตัวอยู่ในวงชั้นใน ถัดออกมาลำดับที่สองคือศาสตร์ในขอบข่าย มนุษยศาสตร์ (Humanities) ที่อิงการตีความ มุมมองปัจเจก และฐานอุดมคติอยู่มาก (ยังได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์อย่างใดอย่างหนึ่ง) สุดท้าย คือ ศาสตร์บริสุทธิ์/ศาสตร์แข็ง (Pure/Hard Sciences) ถูกจัดวางไว้ในวงนอกเนื่องด้วยระเบียบวิธีของศาสตร์เหล่านี้อิงหลักเหตุผลอย่างเต็มตัว เค้าโครงการวิธีการศึกษาถูกกำหนดโดยสิ่ง/วัตถุที่มุ่งศึกษา ทั้งนี้ จะเห็นว่าสาส์นด้านจริยธรรมแห่งอิสลามที่ครอบคลุมบริบูรณ์ได้เจาะทะลุผ่านศาสตร์ทุกศาสตร์อย่างไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้ศีลธรรมมีบทบาทอย่างเสมอภาค โดยมิได้รบกวนศาสตร์วงนอกที่ใช้วิถีทางวิทยาศาสตร์ (ที่มิได้มีค่าศีลธรรมเป็นบวก-ลบในตัว) อย่างเต็มตัว
พูดได้ว่า เหตุผลของมนุษย์พบได้ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างหนังสือสองเล่ม แต่ละเล่ม (ในฐานะสิ่งที่มุ่งศึกษา) จะเป็นตัวเลือกและบังคับใช้ระเบียบวิธีศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับ ‘หนังสือของพระเจ้า’ เราพยายามหาข้อสรุปและจัดระเบียบไวยากรณ์ แผนผังกฎเกณฑ์ หรือเนื้อหาหลักศรัทธา สำหรับ ‘หนังสือแห่งธรรมชาติ’ (จักรวาลรอบกาย) เราจะต้องค้นหากฎ หน้าที่ แบบแผนการจัดระเบียบที่มีตรรกะของมัน เกิดเป็นศาสตร์การแพทย์ วิชาเคมี และฟิสิกส์ จริยธรรมคือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การอ่านหนังสือทั้งสองเล่มเป็นไปอย่าง “ซื่อสัตย์” บังคับให้มนุษย์ต้องเข้าใจกฎและเคารพในดุลยภาพของสรรพสิ่งไปพร้อมๆ กัน
แผนผังใหม่นี้จะช่วยให้เราผละจากกระบวนทัศน์เก่าและค้นพบจุดบรรจบอีกครั้ง ในประเด็นขององค์ประกอบที่ก่อเกิดเป็นมนุษย์ เราได้เห็นแล้วว่ามนุษย์ก็หาได้มีค่าบวกหรือลบในตนเอง คะแนนทางศีลธรรมเกิดจากระดับความใส่ใจ ระเบียบวินัย การควบคุมตนเอง และความถ่อมตนเท่านั้น ศาสตร์ต่างๆ ก็เช่นกัน คนเราจะถือว่า ‘ซื่อสัตย์’ ต่อแก่นความรู้ในสาขาก็ต่อเมื่อได้ใช้ทั้งวิธีทางวิทยาศาสตร์อันแม่นยำและจริยธรรมควบคู่กันไป เช่น เดียวกับองค์ประกอบที่ก่อเกิดเป็นมนุษย์ วิธีทางวิทยาศาสตร์ทั้งมวล (ซึ่งถูกกำหนดโดย ‘สิ่งถูกสร้าง’ ต่างๆ ในจักรวาล) ย่อมเป็นอิสลามโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และเมื่อมนุษย์ซึ่งมีคุณค่าสูงสุดแห่งชีวิตอยู่ในใจเป็นผู้กำกับใช้งาน วิถีแห่งวิทยาศาสตร์จะต้องมี ‘อิสลาม’ อยู่ในห้วงสำนึกเสมอ
และเพื่อบรรลุแนวทางดังกล่าว จิตสำนึกของผู้ศรัทธาจะต้องตอบคำถามทางศีลธรรมสำคัญ 3 ข้อต่อไปนี้ในทุกกิจกรรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการนำผลวิจัยนั้นไปใช้ประโยชน์
ความมุ่งหมาย (อัล-นิยยะฮฺ) ของฉันในการทำงานในศาสตร์นี้คืออะไร? มันย่อมต้องมีจุดเชื่อมโยงอันสำคัญกับเตาฮีด
ฉันต้องอยู่ในกรอบจริยธรรมใด ? การปฏิบัติตามคำสอนทางจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องสอดคล้องกับบัญญัติในพระคัมภีร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล
วัตถุประสงค์หลักในการวิจัยของฉันมีอะไรบ้าง? กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์จะต้องบูรณาการอยู่ใน “ลู่ทางแห่งความซื่อสัตย์” ต้องอยู่ใน “ลู่ทางสู่แหล่งกำเนิด” (พระเจ้า/อัลกุรอาน)
ถึงตรงนี้จะต้องเข้าใจแจ่มชัดแล้วว่า หลักการเรื่องความเบ็ดเสร็จบริบูรณ์ของสาส์นแห่งอิสลามนั้น ครอบคลุมในทุกสิ่งโดยมิได้สร้างความสับสนใดๆ ในประเด็นการแบ่งประเภทของความรู้ และในอีกสุดสายปลายทาง อิสลามมิได้แบ่งแยกศาสตร์เหล่านั้นในลักษณะใดที่จะทำให้มนุษย์เกรงกลัวไปได้ว่าจะเกิดกรณี “ศาสตร์ที่ไร้สำนึก” (ตามคำของนักคิดฝรั่งเศส ฟรองซัว ราเบอแล) แท้จริงแล้ว มันก็อยู่ภายใต้ตรรกะเดิมที่เราใช้มานานเมื่อมองความสัมพันธ์ระหว่าง อัลกุรอาน มนุษย์ หรือหลักการบูรณาการ เมื่อมนุษย์เริ่มต้นจากเตาฮีด ศรัทธาจะบอกให้เหตุผลรวมตัว สอดประสาน และสุขสงบในความซื่อสัตย์ เหมือนกับจิตที่ปฏิญาณมั่นต่อพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้า
ทั้งหมดนี้บอกใบ้เราด้วยว่าแนวคิดเรื่อง “ครอบคลุมบริบูรณ์” แห่งอิสลามนั้นวางภาระงานอันใหญ่หลวงเพียงใด เพราะมันหมายถึงว่า ในทางปฏิบัติมุสลิม (ผู้มีความถนัดช่ำชองในขอบข่ายที่แตกต่างกันไป) จะต้องทำงานในกระบวนการขัดเกลาทางวิชาชีพแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในทุกแขนงความรู้ร่วมสมัย โดยไม่ถูกความรู้นั้นชักนำไปผิดทิศทางหรือคลั่งไคล้ยกย่องมัน ‘ไอดอล’ แห่งโลกยุคใหม่ พร้อมกันนี้มุสลิมยังจะต้องคอยตอบคำถามทางจริยธรรมที่ผุดขึ้นในความรู้แขนงต่างๆ
สรุปแล้วภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่มุสลิมในกรอบคิดใหม่ ที่มุ่งเคลื่อนไหวจาก ‘วงใน’ มิใช่จากชายขอบของสังคมหรือศาสตร์ใดๆ จะต้องลงมือคือ การใช้กฎและวิธีการในแขนงศาสตร์ทางมนุษยศาสตร์และศาสตร์บริสุทธิ์อย่างซื่อสัตย์ชาญฉลาด ถกให้แตกเรื่องสมมติฐานและการนำไปใช้ ผลักดันชุดมุมมองใหม่ๆ แต่งานที่ยากและท้าทายที่สุด คือการรักษาความแกนกลางของสิ่งสำคัญ นั่นคือความผูกพันกับแหล่งกำเนิด (พระผู้เป็นเจ้า) สำนึกแห่งความรับผิดชอบ จิตที่ ‘ต้องการพระเจ้า’ อย่างไม่โอนเอน อันก่อเกิดเป็นความถ่อมตน แม้แต่…โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์
ที่มา http://tariqramadan.com/english/faith-science-and-ethics/