ล้านนาตะวันตก ( บริบทลุ่มนํ้าสาละวิน ) หลากชาติพันธุ์ หลายศรัทธา ตอนที่ 2 รู้เขารู้เรา


สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของการเดินทางไปแม่สะเรียงครั้งนี้คือ การเสวนาที่มีขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 23 เมษายน ณ มัสยิดญามีอฺอิสลามแม่สะเรียง ซึ่งเป็นมัสยิดประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวเรากับชาวแม่สะเรียงหลากหลายภูมิหลัง ชาติพันธุ์ ศาสนา หน้าที่การงานเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่หนึ่ง การประสานงานอย่างดีเยี่ยมของท่านฮัจญีสุริยา (อุสมาน) อร่ามวงศ์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการตอบรับจากชาวแม่สะเรียงจนคณะของเราคาดไม่ หากจะพูดถึงจำนวนผู้เข้าฟังหรือผู้ที่เข้าร่วมเสวนาอาจไม่มากนัก แต่ก็เต็มพอดีกับปริมาณที่ห้องประชุมจะรับได้ แถมยังเป็นผู้เข้าร่วมที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ไปจนถึงผู้นำระดับจังหวัด ที่ล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม ในเวทีเสวนาไม่มีเลยแม้แต่คนเดียวที่อ้าปากหาว ทำท่าจะหลับ หรือแอบหนีออกไปจากห้องประชุมเพื่อไปทำธุระส่วนตัว


ผู้นำชาวคริสต์จักรแม่สะเรียง

การที่คณะของเราได้เดินทางไปถึงแม่สะเรียงล่วงหน้ามากกว่าหนึ่งวันก่อนจะถึงกำหนดงานเสวนา ทำให้มีเวลามากพอสมควรที่จะลงสนาม พบปะผู้คน เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลในหลายๆด้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ รู้เขารู้เรา win win situation จึงเกิดขึ้น ไม่ต้องรบถึงสิบครั้งเพื่อที่กำชัยชนะสิบครั้ง ดังนั้นเสน่ห์ของการเสวนาครั้งนี้คือ การที่ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ยอมที่จะรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหัดแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่เป็นประธานการเสวนาได้กล่าวอารัมภบท เล่าถึงความเป็นมาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอำเภอแม่สะเรียงซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูเพราะอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ดึงดูดผู้คนจากแทบทุกทิศเพื่อเข้ามาเสี่ยงโชค ผู้คนจากอนุทวีปที่ตั้งถิ่นฐานในพม่า ก็โยกย้ายกันเข้ามาค้าขายที่แม่สะเรียง และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ คุณพ่อของท่านคือ อิหม่าม อับดุรรออูฟ (abdur raouf) ผู้มีเชื้อสายเบงกาลี (บังคลาเทศในปัจจุบัน) อพยพมาตั้งถิ่นฐานในพม่า ประมาณปี พ.ศ.2480-2490 ท่านได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งแห่งใหม่ที่แม่สะเรียงพร้อมๆกันกับกัลยาณมิตรชาวพม่าของท่าน คือครูบาเจ้าเซ๋งปาน ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าคณะอำเภอแม่สะเรียงนั่นเอง เรื่องราวต่างๆ และความสนิทชิดเชื้อของทั้งสองท่าน ยังเป็นที่เล่าลือกันมาจนถึงปัจจุบัน

นิมิตร ฮาซัน หรือ abdul hameed ทายาท maulana abdul hashim ซึ่ง เมาลานา ท่านนี้เมื่อประมาณสัก 40-50 ปีที่แล้วคือครูผู้สอนภาษาบาลีให้กับ พระคุณเจ้า วัดหม้อคำตวง วัดเชียงยืน วัดพระสิงห์ ในจังหวัดเชียงไหม่

ท่านเจ้าอาวาสเอง เมื่อมีเวลาว่างก็จะหิ้วมะละกอมาจากวัด เพื่อมาเยี่ยมท่านอิหม่ามที่มัสยิด ในทำนองเดียวกัน ท่านอิหม่ามก็จะไปเยือนท่านเจ้าอาวาสที่วัด โดยมีหมากพลูทื่จีบมาเสร็จสรรพใส่ลงในกล่องติดมือไปด้วย

ท่านประธานได้กล่าวต่อไปว่า หลังจากเหตุการณ์ 911 เครื่องบินถล่ม World Trade Center จากแผนอันแยบยลของอเมริกา ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ามุสลิมคือปิศาจ ฉะนั้นถ้าพูดถึงงานมวลชนสัมพันธ์ มุสลิมจะเป็นผู้ตั้งรับต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มุสลิมต้องก้าวพันรั้วกำแพงมัสยิด เพื่อออกไปทำความเข้าใจกับสังคม ท่านจึงเดินหน้าทุกอย่าง แม้กระทั่งการจัดบู๊ทนิทรรศการภายในวัด งานกีฬาสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา และผลตอบรับจากสังคมเป็นที่น่าพอใจมากๆ

จากนั้นชาวคณะจาก Patani Forum ก็ได้นำเสนอเรื่องราวและข้อมูลต่างๆจากชายแดนใต้ให้ชาวแม่สะเรียงได้รับรู้ เริ่มด้วย คุณนาญิบ อาแวบือซา ได้พูดในหัวข้อ ที่ทางของมลายูปาตานีอยู่ตรงไหนของประเทศไทย จากนั้น คุณฮาดี หะมิดง พูดในหัวข้อ องค์กรและนักกิจกรรมตะวันตกมาทำอะไรในสามจังหวัด ต่อด้วยคุณปรัชญา โต๊ะอิแต พูดในหัวข้อ มลายูกับมุสลิม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และคุณอับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ พูดในหัวข้อ อิสลามกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ในสามจังหวัด


ผู้เขียนและวิทยากรจากปัตตานี

และปิดท้ายด้วยผู้เขียนในหัวขัอ กลุ่มชาติพันธุ์คร่อมเขตแดนระหว่างประเทศไทยและมาเซีย บริเวณสองฝั่งแม่นํ้าสุไหงโกลก ซึ่งเป็นหัวข้อที่ใด้รับความสนใจจากชาวแม่สะเรียงมากพอสมควร เพราะเหตุการณ์และเรื่องราวในบริบทที่พูดนั้นคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแม่นํ้าสาละวิน ว่ากันว่า ราชอาณาจักรปาตานีในยุคที้รุ่งเรื่องที่สุดนั้น ต้องปกครองดูแลหัวเมืองน้อยใหญ่ถึงกว่าสี่สิบหัวเมืองตั้งแต่จะนะไปจนถึงตรังกานู ชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณคือชาติพันธุ์มลายู (ทั้งที่เป็นมลายูมุสลิมและมลายูพุทธ และต่อมาภายหลัง ด้วยอิทธิพลด้านศาสนาและภาษา มลายูพุทธเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์ไทยอย่างกลมกลืน) ผู้คนจากภาคกลางที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งในอำเภอตากใบที่มีวัฒนธรรมและภาษาถิ่นของตัวเอง ชาวจีนอพยพ ชาวพึ้นเมืองที่เรียกกันว่า โอรัง อัสลี ( ที่เรียกกันว่าซาไก ถ้าพบโอรัง อัสลีในมาเลเซีย ห้ามเรียกซาไก เพราะเขาถือว่าเป็นการเรียกแบบดูถูก ดีไม่ดี อาจจะได้ลิ้มรสชาตลูกดอกอาบยาพิษ) การอพยพโยกย้ายไปมาเพื่อหาแหล่งที่ทำกินจึงเกิดขึ้นมาตลอดโดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องพรมแดน จนกระทั่งปี

คริสต์ศักราช 1909 หลังจากมีสนธิสัญญา Bangkok Treaty เกิดขึ้น ปาตานีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร สยาม เขตแดนสากลระหว่างสยามกับอังกฤษที่ปกครองมลายาในขณะนั้นจึงชัดเจนขึ้นในบริบททางกฏหมาย แต่ว่าสำหรับคนในพึ้นที่แล้วการปักปันเขตแดนเป็นแค่เรื่องสมมุติเท่านั้น การโยกย้ายไปมายังคงเกิดขึ้นมาจนกระทั่งยุคปัจจุบัน คนมลายู สยาม (คือคนที่พูดเจ๊ะเหสองฝั่งแม่นํ้าสุไหงโกลก)ดั้งเดิม โอรังอัสลี ยังคงโยกย้ายไปมา ส่วนชาติพันธุ์ที่ถึงจุดอิ่มตัว ไม่มีการอพยพข้ามไปมาและปักหลักอย่างถาวร น่าจะมีเพียงชาวจีนพวกเดียวเท่านั้น ในส่วนชาติพันธุ์ที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับชาติพันธุ์มลายู

รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สะเรียงและผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน (ขวา)

แต่กลุ่มที่มักไม่มีการพูดถึงนักก็คือ โอรัง อัสลี ในประเทศมาเลเซียจะมีหน่วยงานที่มีฐานะเป็นกรม คือ jabatan hal ehwal orang asli เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลโอรัง อัสลีโดยเฉพาะ โอรัง อัสลี ได้สัญชาติและได้สถานะภูมิบุตรในประเทศมาเลเซีย เพราะฉะนั้น ชนเหล่านี้ที่มีถิ่นพำนักในบริเวณรอยตะเข็บชายแดนฝั่งไทย จึงได้รับส่วนบุญอันนี้ด้วย ทำให้เขาเหล่านั้นมีสิทธิเท่าเทียมกับภูมิบุตรอื่นๆ หรือบางทีอาจจะเหนือกว่าในบางกรณี เช่นสิทธิในการเข้ารับราชการชั้นประทวนในกรมตำรวจ ชาติพันธุ์อื่นๆ ต้องจบการศึกษามัธยมปลายเป็นอย่างตํ่า ในขณะที่โอรัง อัสลีนั้น ระเบียบระบุแค่ให้อ่านออกเขียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบชั้นใดๆ เพราะฉะนั้น เราจึงพบเห็น หน่วย pasukan gerak am ( ในอดีตเรียกหน่วยนี้ว่า field force police เทียบได้กับ หน่วย ตชด. ของไทย) โดยเฉพาะในหน่วยคอมมานโด แบเร่ต์แดง จะมีโอรัง อัสลี เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราฉันใด วงเสวนาของเราก็ถึงเวลาต้องยุติเมื่อเวลาเที่ยงวัน ภายหลังจากมีการถามตอบข้อสงสัย องค์กรน้อยๆกับกำลังพลจำนวนน้อยนิดก็ได้ทำงานในส่วนที่คิดว่าตัวเองต้องทำ เพื่อความเข้าใจร่วมกัน...อ่านต่อตอนสุดท้ายได้ในเร็วๆนี้  


 

ภาพโดย : Abdulloh Mad-adam และ محمد لاذم بن چئقوب