ความฝันอันสูงสุดของปาตานีกับบทบาทของโอไอซี ?

 

ดอน ปาทาน
ปาตานี ฟอรั่ม


วาระสำคัญสำหรับผู้แทนระดับสูงขององค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation - OIC) หรือ โอไอซีในการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้คือเรื่องความยุติธรรมสำหรับชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลยืนยันว่าคณะผู้แทนได้ถามถึงเรื่องการใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

คณะผู้แทนของโอไอซีนี้นำโดย นาย Sayed Kassem El-Masry อดีตเอกอัครราชทูตชาวอียิปต์  เขาได้มาเยือนประเทศไทยครั้งสุดท้ายในปี 2548  แม้ว่าจะมีการเว้นช่วงไปนานระหว่างการเยือนในครั้งก่อนและครั้งนี้  ทางโอไอซีก็ได้พยายามที่จะมองหาลู่ทางในการเข้ามามีบทบาทต่อปัญหาความรุนแรงในพื้นที่และได้พูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มเก่าที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงผู้สังเกตการณ์ ความขัดแย้ง/รุนแรงและสถานการณ์ในภาคใต้ของไทย

รัฐบาลไทยในหลายๆ ชุดที่ผ่านมาไม่ต้องการที่จะให้โอไอซีหรือองค์กรใดๆ มาเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ เพราะเกรงว่าเรื่องนี้จะถูกทำให้เป็นประเด็นในระดับสากล  แต่ว่าการปฏิเสธไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงดีขึ้นแต่อย่างใด

โอไอซีได้ยอมรับให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในช่วงปลายของทศวรรษ 1990 ในช่วงสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย   ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลไทยในครั้งนั้นเป็นวิธีการเพื่อกีดกันไม่ให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากโอไอซี

เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากสำหรับรัฐบาลไทยที่ในช่วงปลายปี 2553 โอไอซีได้จัดการประชุมสองวันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มเก่าทั้งในกรุงริยาร์ด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย การประชุมทั้งสองแห่งนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 30 กันยายน –  1  ตุลาคม 2553  เลขาธิการโอไอซี  Prof. Dr. Ekmeleddin Ihsanoglu เป็นประธานการประชุมที่กรุงริยาร์ด  ส่วนในกรุงกัวลาลัมเปอร์นั้นมี นาย Tatal A Daous ผู้อำนวยการแผนกชุมชนและคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม (OIC's Director of Muslim Minorities and Communities Department) เป็นประธาน
ข้อมูลของแหล่งข่าวในวงการทูตและคนมลายูมุสลิมในต่างประเทศ ระบุว่าโอไอซีได้ผลักดันให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหม่ ชื่อ “สภาประชาชนปาตานี” United Patani People Council (UPPC)  สำหรับการหาฉันทามติจากประชาชน  Patani People Congress (PCC) จะเป็นเวทีในการแสวงหาความชอบธรรมจากคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนประเด็นว่าการดำเนินการของ PCC จะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่นั้นก็ยังคงเป็นคำถามที่สำคัญ

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงท่าทีเมินเฉยต่อข้อเสนอที่จะให้โอไอซีเข้ามาเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ  ทางโอไอซีก็จำเป็นต้องถอยออกไป

วันนี้ เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ที่หาดใหญ่และยะลาซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิตกว่าสิบคนและบาดเจ็บร้อยกว่าคน  ประเทศไทยกำลังถูกกดดันที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้  การที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะย้ำประเด็นเดิมๆ อย่างที่เธอกล่าวในการเยือนภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ก็คงจะไม่น่าเป็นที่พอใจนัก

การมาเยือนของโอไอซีในครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ผลักให้ประเทศไทยได้แสดงถึงความกล้าหาญและการดำเนินการในเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้

แม้ว่ารัฐบาลไทยอาจจะไม่อนุญาตให้โอไอซีเป็นตัวกลางในการพูดคุยอย่างเป็นทางการ  แต่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายๆ ส่วน  โดยเฉพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อยู่นอกประเทศก็คงยินดีที่จะให้โอไอซีนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลไทยกังวลก็คือโอไอซีอาจจะมีความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากเกินไป แต่ว่าผู้นำคนสำคัญของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งได้ติดต่อกับโอไอซีในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมากล่าวว่าโอไอซีนั้นเคารพในหลักการบูรณภาพแห่งดินแดนและไม่สนับสนุนให้มีการแยกพื้นที่ในชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมออกจากประเทศไทย

“พูดตามจริงแล้ว โอไอซีนั้นมีสถานะเป็นรัฐ  การให้โอไอซีเข้ามีบทบาทในการพูดคุยนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเอง แต่ว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาหวาดกลัวเกินไปที่เปิดโอกาสเช่นนั้น ” จากทรรศนะของผู้นำชาวมลายูมุสลิมที่อาศัยอยู่นอกประเทศซึ่งไม่ประสงค์จะเอ่ยนามกล่าว
แม้ว่ากระทรวงต่างประเทศจะเป็นหน้าด่านในการตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้กับประชาคมโลก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว  กองทัพและรัฐบาลเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการจัดการกับกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐในภาคใต้

ในช่วงสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำหนดนโยบายการจัดการกับปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ แม้ว่ากองทัพจะไม่ค่อยที่จะชื่นชอบนโยบายของสมช. เท่าไหร่  แต่ก็ได้ส่งนายทหารอาวุโสเข้าไปสังเกตการณ์ในกระบวนการพูดคุยที่นำโดย สมช.   ส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทัพมีท่าทีให้ความร่วมมืออาจเป็นเพราะว่ากองทัพกับรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

แต่ว่าเมื่อรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นสู่อำนาจ  นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้การนำของทวี สอดส่อง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ทวีเป็นข้าราชการที่มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นแฟ้น

แต่แทนที่ทวีจะพยายามจัดการในประเด็นต้นเหตุของปัญหา ทวีกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเตรียมการที่เสมือนการจัดประชุมสุดยอดผู้นำให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร  ทักษิณได้พบกับผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศประมาณ 16 คนในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ว่าก็ไม่ได้มีข้อสรุปที่มีสาระสำคัญใดๆ จากการประชุมในครั้งนั้น  หากแต่ทว่าการประชุมในครั้งนั้นกลับถูกฝ่ายค้านและกองทัพนำไปเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองอย่างรุนแรง ทวีและพรรคเพื่อไทยจึงต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญสำหรับการประชุมกับทักษิณในครั้งนั้นอาจจะอยู่ที่ว่าใครไม่ได้เข้าร่วมมากกว่าใครที่เข้าร่วม กลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนท (BRN-Coordinate) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ดีที่สุดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมนั้น พวกเขาบอกว่าไม่เคยให้อภัยทักษิณสำหรับ “สิ่งที่เขาทำกับคนมลายูในปาตานี”  พวกเขาหมายถึงการใช้วิธีที่เด็ดขาดรุนแรงซึ่งทักษิณได้อ้างว่าเป็นเพราะข้าราชการให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับเขา

แต่ว่าทางกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนทนั้นไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยอย่างสิ้นเชิง ตราบเท่าที่มันไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มของทักษิณ ผู้อาวุโสคนหนึ่งในขบวนการยังกล่าวด้วยว่าพวกเขายังไม่สามารถที่จะจัดตั้งสายการบังคับบัญชากับกลุ่มที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ นี้คือเหตุผลประการหนึ่ง ที่พวกเขายังไม่สามารถจัดการบริหารสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ และหากมีการจัดการที่ดีพอ สำหรับการพูดคุย คาดว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนท ก็พร้อมที่จะพูดคุย

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะขอให้ทางโอไอซีคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนทให้ลืมเรื่องที่ผ่านไปแล้วและตอบรับกับท่าทีโอนอ่อนของทักษิณและพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่  แต่ถ้าหากว่าเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์ในยะลาและหาดใหญ่จะบ่งบอกอะไรบางอย่าง สิ่งนั้นก็คือขบวนการอาจไม่อยู่ในภาวะอารมณ์ที่ต้องการจะพูดคุยหมายเหตุ : สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเรื่องความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม 

โปรดดู http://seasiaconflict.com/