ผ่าวิกฤตอัตลักษณ์ในโลกมุสลิม

ในชีวิตท่ามกลางแบบแผนอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ซับซ้อน และย้อนแย้งกันอย่างทุกวันนี้ ในบางครั้งกระผมเองก็รู้สึกว่าการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของตัวเองเข้ากับผืนผ้าใบใหญ่แห่งวิถีอิสลามนั้นไม่ง่ายเลย และต่างก็พูดพล่ามแบบไม่เห็นภาพชัดนักถึงความแปลกแยกของมุสลิมยุคใหม่ที่ล้มเหลว หรือไม่ก็พยายามแต่ไม่เคยสำเร็จในการวางตัวอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘อิสลาม’ หรือ ‘ความเป็นอิสลาม’ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แปลกแต่จริงที่ความแปลกแยกนั้น กับอิสลามที่หายไปจากวงเสวนาของสังคมแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกของอัตลักษณ์ของหมู่เราเอง

 

เมื่อพิจารณาให้ถึงแก่นคำถามก็เกิดขึ้นว่านี่คือวิกฤติของการ “นำเสนออิสลาม” หรือแท้จริงคือวิกฤติ “ในตัวอิสลาม” เองกันแน่ หากแม้ว่าทั้งสองข้อจะรอดตัวไปได้ก็ยังมีอีกคำถามว่า เหตุใดเราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือในสังคมมุสลิมยุคใหม่ ที่ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองอิ่มไปด้วยบรรพชนผู้สามารถแสดงอัตลักษณ์อิสลามในที่สาธารณะได้อย่างมั่นใจจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 หรือเราควรโทษสงครามเงียบทางความเชื่อที่เกิดขึ้นกับผู้ครองอาณานิคมเขาเรา หรือ การถ่ายทอดแบบแผนชีวิตอันทรงอิทธิพลของตะวันตกที่ค้านกับแก่นแท้ของอิสลามอย่างสุดขั้ว หรือการที่มุสลิมได้พบกับยากล่อมประสาทชนิดใหม่ที่โหยหา คือกัญชา หรือหนังสืออย่าง God Delusion ที่พระเจ้าเป็นแค่สิ่งลวงตา  หรือการยึดตนในทางโลกแบบสุญนิยม หรืออิสลามที่ลดร่างมาเป็นแบบ “minimalist” ที่มาช่วยปลดปล่อยเราจากความยุ่งยากของฐานคิดแบบเดิมที่โดยธรรมชาติเป็นอภิปรัชญาและเกินกรอบของเหตุผล หรือมันคือของขวัญจาก “ภารกิจสร้างอารยะ” จากลัทธิอาณานิคมที่มาแยกร่างตัวตนในสังคมมุสลิมที่เต็มไปด้วยรอยร้าวอยู่แล้ว จนเกิดเป็น “อัตลักษณ์ปลอม” ที่ผละจาก “การแสดงถึงศรัทธา” ไปหา “การแสดงออกทางโลก” ในทุกๆ เสี้ยวของชีวิต

 

นักปรัชญาชาวเยอรมัน ไฮเด็กเกอร์ (Heidegger) เชื่อว่าวัฒนธรรมการ “ไม่คิด” เรื่องสภาวะการมีอยู่ของตน (Being) ได้กลายเป็นปรากฏการณ์สากล โดยเฉพาะในยุคแห่งการเชิดชูมนุษย์ที่เราอาศัยอยู่นี้ ไฮเด็กเกอร์ กล่าวใน Being and Time งานเขียนชิ้นเอกของเขาว่า ความคิดในโลกตะวันตกได้สูญเสียแก่นสารเรื่องตัวตนไปเสียแล้ว และเมื่อใดที่คุณก้าวเข้าสู่สถานะ “พร้อมทุกเมื่อ” ที่จะเปิดรับชุดสมมติฐานเชิงภววิทยา (ทฤษฎีว่าด้วยการมีตัวตน/ดำรงอยู่) แบบตะวันตก ความคิดเรื่อง “การมีตัวตนอยู่” และ “ความจริง” ที่เคยแจ่มชัดในใจของเราจะค่อยๆ สันสนและพร่ามัวลง

 

มูฮัมหมัด กุฏบ (Muhammad Qutb) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาในโลกมุสลิม อธิบายในหนังสือ “Mafaheem an yambagi an tasahuh” ของเขาว่า อิสลามรูปแบบใหม่จากการปรับเปลี่ยนลดทอนที่เรียกว่า “Minimalist Islam” ซึ่งอยู่บนฐานทฤษฎีฉาบฉวยที่ขาดความเข้าใจประเด็นสำคัญเรื่องการก่อร่างและการสำแดงตัวในเชิงภว-ญาณวิทยา (onto-epistemological) ของอิสลาม เป็นต้นตอของปัญหา ‘ตัวตนอิสลามที่หายไป’ ในโลกมุสลิม ความสับสนในอัตลักษณ์ของเรา และเงาของลัทธิอื่นที่คอยจะควบกลืนเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ในยุคนี้  แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์นั้นผูพันใกล้ชิดอย่างมากกับอุดมคติ อัตลักษณ์ทั้งเผยตัวในอุดมคติและกำหนดแนวโน้มที่คุณจะยึดถืออุดมคติแบบใดแบบหนึ่ง สิ่งที่เรามองว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของศาสนา คือการช่วยให้เราตระหนักถึงเหตุผลของการมีตัวตนอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติมันจะผันตัวไปสู่จิตที่จำนนต่อประสงค์ของพระเจ้า แต่การจำนนก็มิใช่แค่การเอ่ยวาจาว่าเชื่อในทรรศนะอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโลก

 

การประกาศตนว่าเป็นมุสลิมและปฏิบัติตามน้ำไปกับสิ่งที่เคยเป็นมาย่อมไม่เพียงพอ เช่นเดียวกัน การกล่าวว่า “ฉันเป็นมนุษย์” ที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้เป็นมนุษย์เต็มมนุษย์ เฉกเช่นที่มหาปราชญ์เพลโต (Plato) กล่าวไว้ว่าการเป็นมนุษย์บังคับให้คุณต้องบริหารการใช้เหตุและผล หากเลือกที่จะไม่ทำก็หมายความว่าคุณเป็นมนุษย์แค่ในนามเท่านั้น หลายคนบอกว่าการเป็นมุสลิมเป็นเรื่องง่าย แต่มุสลิมและนักวิชาการอีกมากมาย เช่น อิหม่ามอัลฆอซาลี (Imam Ghazali) ที่ย่อมแย้งว่าความเรียบง่ายยังไม่เพียงพอ เหล่านี่เป็นคำถามที่ลึกล้ำทางศีลธรรม มุสลิมที่ดีประกอบไปด้วยอะไร เราจะเป็นคนดีกว่านี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าหากเรามองจากมุมของอัลฆอซาลี การจะเป็นมนุษย์เต็มมนุษย์จะต้องมีความรู้ในรูปแบบที่เยี่ยมยอด รูปแบบที่ดีงาม และการจะรู้ได้ว่าอะไรดีงาม จะต้อง “เป็น” คนที่ดีงาม ที่รู้ถึงเจตจำนงของพระเจ้า จำนนและตอบสนองต่อเจตจำนงนั้น นี่เองประกอบขึ้นเป็นมุสลิมที่ดีงาม กล่าวเช่นนี้ ความยุ่งยากก็ย่อมเกิดขึ้นอีก อับดับแรกคือ จะรู้ได้อย่างไรถึงเจตจำนงของพระเจ้า อันดับถัดมาคือ ความจำนนจะถูกรับรู้เข้าใจได้อย่างไร หากว่าการจำนนเป็นอีกเรื่องที่ต่างไปจากการบอกว่าเชื่อ ก็ย่อมมีอะไรมากไปกว่าการจำนนเพียงด้วยวาจา

 

แซมมวล ฮันทิงตัน (Samuel Huntington) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิกฤตในโลกมุสลิมไว้ในหัวข้อ “Islam: Consciousness without cohesion” ในหนังสือของเขาว่า “การขาดจิตสำนึกในทางอิสลามเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งทั้งภายในและนอกตนเองที่กำลังแผ่ขยายภายในสังคมมุสลิม” ทั้งยังระบุด้วยว่า “จิตสำนึกที่ไม่เชื่อมโยงเป็นเหตุแห่งความอ่อนแอในอิสลาม” อัตลักษณ์ (Identity) เป็นเรื่องของความเชื่อและจิตสำนึกรู้ว่าคุณเป็นใคร มีที่ยืน ณ ที่ใดในจักรวาล จะตอบสนองต่อความรับผิดชอบที่ติดมากับอัตลักษณ์และการมีตัวตนอยู่อย่างไร ในฐานะผู้ถูกสร้างตามแบบแผนของพระเจ้าที่ทรงเป่าลมหายใจศักดิ์สิทธิสู่ตัวตนของเรา เรามักจะลืมความจริงที่ว่า เรามีเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครเป็นเราได้ และเรามิอาจเป็นใครอื่นได้นอกจากเรา อัลลอฮ์สร้าง “คุณ” ที่ไม่มีใครเหมือน นั่นแสดงถึงฐานะอันอัศจรรย์ของตัวคุณ ฟริตจอฟ คาปร้า (Fritjof Capra) นักฟิสิกส์ควอนตัม (เจ้าของหนังสือดัง The Tao of Physics) อธิบายไว้อย่างน่าสนใจมากในหนังสือภาคต่อชื่อ The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture  เกี่ยวกับวิกฤติในฐานะที่เป็น “จุดหักเห เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ/ชี้ขาด และขั้นพัฒนาการในความเป็นไปของสิ่งต่างๆ” คาปร้า ศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับวิกฤตของอารยธรรมยุคใหม่ที่เขาให้คำจำกัดความว่าเป็น “วิกฤติทั้งในมิติของสติปัญญา ศีลธรรม และจิตวิญญาณ วิกฤตในขนาดและระดับความรุนแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์" คาปรา มองว่าวิกฤติของอารยธรรมยุคใหม่นี้โดยเนื้อแท้คือ “วิกฤตทางความคิด” และ “วิกฤตทางอัตลักษณ์” ที่เกิดจากการหันเหของเราจากการเป็นสิ่งถูกสร้าง “อันศักดิ์สิทธิ” ไปเป็นสิ่งถูกสร้างที่ใฝ่ “ทางโลก” (ในอัลกุรอานใช้คำว่า ผู้คลั่งไคล้ที่ฟุ่มเฟือยหิวกระหาย) เทียบเคียงได้กับผู้ถือลัทธิมนุษยนิยม (Humanism) ที่ทุกคนเป็น “พระเจ้า” เป็นนายเบ็ดเสร็จของปรารถนาแห่งตน 

 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาคือ “การเปลี่ยนแปลงในอัตวิสัยและอัตลักษณ์” เรื่องของการมีอยู่ของตัวตนของเรา หากคนเราผละออกจากภาระผูกพันเดิมๆ ของชีวิตให้ไกลพอแล้วย้อนมอง เราจะตระหนักได้ถึงสิ่งที่หายไป “ฉัน” ได้หายไป “ฉัน” คนเดิมที่ควรจะมีสำนึกผูกพันและมั่นคงอยู่ที่ผู้สร้าง และการสร้างสรรค์ของพระองค์  แต่ภารกิจของโลกสมัยใหม่กลับแยก “ศรัทธา” ออกจาก “ปัญญา” และเปลี่ยน “ฉัน” จากการเป็น “สิ่งถูกสร้างที่ชอบสังคม สร้างสรรค์ มีศรัทธา และเปี่ยมเสน่ห์” ไปสู่  “พลเมืองที่ใฝ่ทางโลก สงบปากสงบคำ ไม่นำพาต่อสิ่งรอบกาย” ฉันไม่อยากจะเป็นตัวฉัน เพราะ “ฉัน” ขณะนี้สุขสมบูรณ์อยู่ใน “สำนึกใหม่” ที่เปรียบได้กับมัลแวร์ที่เจาะเข้าสู่ฮาร์ดไดรฟ์ของคอมพิวเตอร์คุณ ซึ่งถ้าหากไม่มีโปรแกรม anti-virus ละก็ “ฉัน” จะเริ่มถูกบงการและเสื่อมถอยทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว จากการเจาะทำลายที่ตั้งเวลาไว้ของเจ้าไวรัสนั้น และท้ายสุดไวรัสร้ายก็บรรลุความตั้งใจด้วยการทำลายทั้งระบบปฏิบัติการ 

 

นี่คือการเปลี่ยนของกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ในเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “อัตลักษณ์” ที่อันตรายในโลกมุสลิมหลังยุคอาณานิคม เป็นการเปลี่ยนที่แยกร่าง/บิดเบือนจิตสำนึกที่เคารพเคร่งครัดต่อ “อัตลักษณ์แห่งอิสลาม” ไม่เว้นแม้ในหมู่มุสลิมรุ่นใหม่ในแคชเมียร์หลังยุค 90 ที่ไถลอย่างเร็วไปตามคลื่นวัฒนธรรมใหม่ที่ไหลบ่า ไปสู่สังคมที่ต่ำกว่าโลกาภิวัฒน์ในทางอุดมการณ์ และเหนือกว่าสากลโลกในธรรมชาติที่โงนเงนสู่หุบเหวชั่วร้ายของความเป็นสมัยใหม่

 

การได้สัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของกระบวนทัศน์ดังกล่าวในวงสนทนาที่เข้าใจลึกซึ้งเรื่องคลื่นวัฒนธรรมใหม่ อย่างเช่นใน มหาวิทยาลัยแคชเมียร์ และจากการได้แลกเปลี่ยนเชิงลึกกับนักวิชาการจากหลากหลายสาขาในมหาวิทยาลัยทำให้กระผมเองได้เข้าใจและสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงนี้ ที่ผละจาก ‘จิตสำนึกที่มีพระเจ้าเป็นแกนกลางแบบสารัตถนิยม’ ไปสู่ร่องทางไร้ศาสนาที่มีมิติซับซ้อนและดำรงอยู่ได้ด้วยอิทธิพลของคตินิยมใหม่ นั่นคือการให้เสรีภาพ และการตีความเทวนิยมไปในแบบก้าวหน้า อันทำให้แก่นของเรื่องเล่าหลัก (grand narrative) เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเข้าใจเหตุผลการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ กลายเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้าน

 

แม้จะหาทางเอาตัวรอดได้ในยุค “สงครามล้างโลก” ทางอุดมคติ มุสลิมผู้เปี่ยมเหตุผลโดยเฉพาะบรรดาอูลามะฮ์ซึ่งเป็นชนชั้นอุดมความรู้จำนวนมาก ยังไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่โลกสมัยใหม่นำพามาอย่างเป็นเหตุเป็นผล นักต่อสู้/ครูในโลกอิสลาม (อูลามะฮ์และชนชั้นอุดมปัญญาหัวก้าวหน้า) ยังคงหมกมุ่นอยู่กับการพยายามนิยามเปลือกนอกที่ซับซ้อนของการเป็นมุสลิมในขณะที่ “เป้าหมาย” (มะอ์รีฟะฮ์แห่งพระเจ้า) อันสำคัญยิ่ง กลายเป็นสิ่งเลื่อนลอยหลุดมือภารดามุสลิมทั่วไป บรรดาตัวแทนเหล่านั้นเฝ้าดำดิ่งในวงถกเถียงที่หยิบยกเรื่องแคบๆ วนอยู่ภายในศาสนาตน มองโลกหมองหม่น และลงรายละเอียดเกินจำเป็น จนลืมไปว่าศาสนิกที่พวกเขาต้องนำทางได้ผละออกห่างจากการผูกพันตนเชิงบวกกับศาสนาไปเสียแล้ว มีคำกล่าวของท่านคอลีฟะห์อาลี (Hazrat Ali [r.a]) อันเป็นหลักสำคัญหนึ่งของระเบียบวิธีแบบดะวะห์ว่า “ตุกาลิมุน นาซู อลา ฆอดรี อุคูลิฮิม” หมายถึง การผูกพันตนกับภาษา (คตินิยม) แห่งยุคสมัย ฉะนั้นเราไม่ควรหรือที่จะหันเหพลังงานที่ทุ่มเทไปกับวาทศิลป์โต้เถียงภายในศาสนา ไปมุ่งที่ความเป็นปรปักษ์กับอิสลามที่เกิดแล้วในหมู่ของมุสลิมยุคใหม่และกำลังลุกลามต่อเนื่อง ศาสนายังคงเป็นเรื่องเล่าที่เหือดหายไร้พลังในวาทกรรมสาธารณะและหากไม่รีบแก้ไขจะเกิดเป็นสุญญากาศขนาดใหญ่ที่เปิดให้เรื่องเล่าอื่นๆ เข้ามาช่วยดับกระหายให้แก่สมาชิกผู้โหยหาศาสนาจากนานา “ลัทธิ” 

 

น่าสนใจที่แนวคิดแบบไร้ศาสนาบนฐานทฤษฎี การทดลองกับสังคม เสรีทางความคิด และเรื่องเล่าเสรีนั้นได้แข็งแกร่งขึ้นมาและก่อเกิด ‘อัตลักษณ์สองขั้ว’ ในสังคมที่มีความเคร่งครัดในศาสนามาแต่แรก นักวิชาการคนสำคัญท่านหนึ่งในแคชเมียร์เคยกล่าวไว้ว่า อิสลามในแคชเมียร์กำลังเผชิญปัญหาใหญ่สองเรื่อง เรื่องแรกคือการที่คนรุ่นใหม่หันเหจากศาสนา และเรื่องที่สองคือความคิดและการตีความที่กลายเป็นแบบสุดโต่งอันเป็นบ่อนทำลายหัวใจแห่งอิสลาม ยังเหลืออีกสองข้อที่เขาไม่ได้พูดถึงนั่นคือ การจับต้องศาสนาในแบบเสรี ‘minimalist’ ที่ลดทอนตนเอง กับจิตศักดิ์สิทธิ์ที่บิดเบี้ยวในความยึดนัฟซู ของมนุษย์ สี่เส้นทางนี้ล้วนแต่เป็นเหตุให้ศาสนาต้องตายไปจากพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเรารับรู้ได้ไม่ยากทั้งในพื้นที่ทางวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม

 

นักคิดชาวสโลวีเนีย สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) บอกว่า จะไม่มีเรื่องเล่าอื่นใดเกี่ยวกับโลกมาแทนที่เรื่องเล่าตามแนวคิดทุนนิยมยุคหลัง (late-capitalism) ส่วน ส่วนริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins เจ้าของหนังสือ God Delusion ที่เราพูดถึงข้างต้น) เชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยเปิดเผยเหตุผลและตอบคำถามเรื่องการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ ทว่าเรื่องเล่าทั้งสองแบบก็ทำได้แค่เพียงเปลี่ยนมนุษย์จากสิ่งถูกสร้างศักดิ์สิทธิ์ไปเป็นมนุษย์หมาป่าแห่งสุญนิยมที่เหยียดหยันโลกและกลวงโบ๋ สิ่งที่เราควรสื่อสารในแนวใหม่และเผยแพร่ออกไปก็คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของมนุษย์บนรากฐานของพระคัมภีร์ซึ่งไม่ขึ้นต่อเงื่อนไขประวัติศาสตร์และเป็นอภิปรัชญาโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับ การเปิดเผยความจริง (Revelation) ของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเรื่องเล่าหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะช่วยฟื้นคืนตัวตนที่หายไปของเรา ในช่วงเวลาอันชวนสับสนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นสภาพไฮเด็กเกอร์คงจะเลือกอธิบายว่าเป็นวิกฤติแห่ง ‘อัตวิสัยนิยมมนุษย์เป็นศูนย์กลาง’ ที่คนต้องครุ่นคิดว่าจะคิดอะไรซึ่งมีค่าเท่ากับการ “ไม่คิด” ส่วนอิหม่ามฆอซาลีคงเรียกว่ามันคือวิกฤติจากลัทธิเสี่ยงภัยทางปัญญาอันลวงหลอก ผนวกกับวิญญาณที่บิดเบี้ยวอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

ข้อเสนอ

เพลโต กล่าวว่า ความคิดคือองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ หากตัดแนวคิดเรื่องความคิดออกไปแนวคิดเรื่องการมีตัวตนอยู่ก็พังครืน ในโลกร่วมสมัยที่ในส่วนลึกมีการก่อร่างอย่างเงียบๆ ของคติสุญนิยมที่ค่อยๆ เจือจางบทบาทของศาสนา ประชาคมมุสลิมมีภารกิจทางปัญญาที่จะต้องอธิบายเหตุผลในเชิงปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ของอัตลักษณ์อิสลามที่หายตัวไปจาก “การมีตัวตนอยู่” ของมุสลิม ค้นคำตอบให้ได้โดยน้อมนำถ้อยแถลงในพระคัมภีร์ช่วยค้นหา ปรากฏการณ์วิทยา (ศาสตร์ที่ว่าด้วยความจริงกับการรับรู้ของมนุษย์) ในกรอบคิดของฮัสเซิร์ล (Husserl) โดยหลักแล้วพูดถึงการใคร่ครวญอย่างเป็นระบบและการศึกษาถึงโครงสร้างของการรับรู้ของมนุษย์ และการตีความปรากฏการณ์ต่างๆ จากการรับรู้ของตน การปฏิรูปนัฟซู (ตัวตน) เป็นเรื่องสำคัญในอัลกุรอานส่วนที่แจกแจงเรื่องวิกฤตในมุมมองแบบอภิปรัชญา ในเรื่องนี้ ไฮเด็กเกอร์ เองก็สนับสนุนให้เปลี่ยนจุดสนใจจากภววิทยา (Ontology) แบบที่ใช้ตัวบ่งชี้ต่างๆ เป็นฐาน ไปสู่การอธิบายเชิงภววิทยาในแก่นแท้เรื่องการมีตัวตนอยู่บนโลกของมนุษย์โดยรวม ไม่เจาะจงเป็นรายกลุ่ม สิ่งที่ควรจะทุ่มเทพลังสติปัญญาหยิบยกมาเป็นวิกฤตเร่งด่วนคือการเชื่อม “ตัวตน” ที่บิดพลิ้วไปให้ต่อติดที่ทางเข้าของอุดมคติแบบ ‘ภว-เทววิทยา’ (onto-theological) สุญนิยมที่หยั่งรากอยู่ในคำอธิบายเรื่องการมีตัวตนแบบตะวันตกนั้น ปรากฏชัดในการตีความเชิงญาณวิทยา (ทฤษฎีความรู้) เรื่องชีวิตมนุษย์ในบริบทวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งตรงข้ามแบบสุดขั้วกับแนวคิดการมีตัวตนอยู่ในโลกทัศน์ของอิสลาม ภววิทยา (ที่ว่าด้วยธรรมชาติของความจริง) ในโลกทัศน์ของอิสลามมุ่งอธิบายความหมายของการมีตัวตนอยู่ให้กระจ่างชัด เมื่อมองผ่านกล้องของอิสลาม ภววิทยา นั้นแตกต่างกันมากกับวิธีวิเคราะห์ของนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาอย่าง เดต์กาส์ (เจ้าของประโยคดัง ‘ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่’) ที่มองโลกเป็นวัตถุ เป็นกลุ่มของวัตถุ และวัตถุที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกัน

 

การฝ่าขีดจำกัดของกรอบคิดเรื่องการมีตัวตนอยู่โดยผละจากการตีความเชิงปฏิฐานนิยม (Positivism) ของ ออกุสต์ กองต์ (Auguste Comte) จะช่วยให้เรากลับสู่ฐานคิดแบบ ภว-ญาณวิทยา (onto-epistemological) ในลู่ทางแห่งอิสลามที่จะช่วยให้พบความหมายอันศักดิ์สิทธิของการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์แบบถึงแก่น อิสลามคือกระบวนการปลดปล่อย และการปลดปล่อยตัวเราจากฐานความรู้ต่างๆ อันแปรเปลี่ยนไปตามกาลสมัยในกรอบคิดของฟูโก (Foucault) จะช่วยให้เราได้สัมผัสถึงสิ่งที่ทุกชีวิตที่มีสำนึกและยึดมั่นในคำตรัสของพระผู้เป็นเจ้าได้เคยสัมผัส เมื่อมีความเชื่อในเรื่องเล่าหลักอันครอบคลุมจักรวาล (meta-narrative) ไม่แปรผันตามกาล และไม่อาจหยุดยั้งด้วยวิกฤติทางปัญญาครั้งใดในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ยากที่จะลงรอยกับ “ภาษาใหม่” ที่ก่อตัวจากเหตุผลนิยมเชิงมานุษยวิทยาเน้นโลกวิสัยในทรรศนะของคอมเต มุสลิมผู้ทรงปัญญาจึงกำลังหาทางพัฒนา “ภาษาใหม่” จากฐานคิดแบบ ภว-ญาณวิทยา มาตอบปัญญาเรื่องอัตลักษณ์และอัตวิสัยที่สับสนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้

 

ที่มา http://tariqramadan.com/english/the-crisis-of-muslim-identity-by-mehraj-bhat/