ชาร์ลี เอ็บโด เสรีภาพคนละขั้ว
Charlie Hebdo เป็นกระแสหน้าหนึ่งของการพูดถึงอีกครั้ง โดยบทความหนึ่งชิ้นเป็นตัวจุดชนวนเรื่องอิสลามเช่นเคย
ปลายเดือนมีนาคม Charlie Hebdo ที่ผ่านมา นิตยสารล้อเลียนชื่อดังของฝรั่งเศส ที่ถูกข่มขู่โดยมือปืนก่อการร้ายไปเมื่อเดือนมกราคม 2015 ได้ออกนิตยสารฉบับที่ใช้บทบรรณาธิการชื่อว่า “How Did We End Up Here?” (เรามาลงเอยตรงนี้ได้อย่างไร) ในควันหลงจากอีกสองเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ตามมาในปารีส เดือนพฤศจิกายน และในบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 22 เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บทบรรณาธิการดังกล่าวสานต่อการโจมตีอิสลามว่าเป็นศาสนาที่ดูหมิ่นคติความเป็นฆราวาสนิยมที่ฝรั่งเศสเชิดชู
“ผ่านมาสัปดาห์หนึ่งแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญจากทุกแขนงพยายามทำความเข้าใจเหตุผลของการโจมตีกรุงบรัสเซลส์” นี่คือประโยคขึ้นต้นของบทความดังกล่าว ต่อด้วยการยิงคำถามว่ามันคือ “ตำรวจขาดความสามารถ? พหุวัฒนธรรมที่คุมไม่อยู่? คนรุ่นใหม่ตกงาน?” อิสลามนิยมที่เสรีเกินไป?” กระนั้นหรือ ซึ่งในมุมมองนักเขียนการ์ตูน โลร็อง ซูรีโซ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ริสส์” ผู้เขียนหลักของบทความฟังธงว่าเหตุผลต่างๆ ที่มักจะถูกเอ่ยอ้างเหล่านี้ล้วนนอกประเด็นทั้งสิ้น “ก้าวแรกที่ผิดพลาดคือการโทษผู้บริสุทธิ์” เขาเขียนไว้ในส่วนถัดไป
ริสส์ มองปัญหานี้เป็นปัญหาส่วนบุคคล ไม่ใช่ปัญหาโครงสร้างแต่อย่างใด บทความจึงมุ่งเป้าไปที่ตัวละครมุสลิม 4 ตัว หนึ่งในนั้นมีตัวตนจริง อีกสามคนเป็นมุสลิมชาย-หญิงที่ถูกสมมติขึ้นเป็นสัญลักษณ์
ที่มีตัวตนจริงก็คือ ฎอริค รอมาฎอน อาจารย์คนดังผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามร่วมสมัยศึกษา จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ที่เพิ่งจะบินไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ Sciences Po วิทยาเขต แซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล ของฝรั่งเศส “ฎอริค รอมาฎอน” ตามเนื้อหาในบทความ “คงไม่ลุกขึ้นมาคว้าปืนอาก้ากราดยิงนักข่าวในวงประชุมบรรณาธิการ หรือทำระเบิดไปถล่มสนามบินที่ไหน…นั่นคงไม่ใช่บทบาทของเขา”แต่ “บทบาท” ของเขาคือการ “หันเหผู้คนจากการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของเขาในทุกๆ ทาง”
บทความกล่าวต่อว่า “นักศึกษารัฐศาสตร์ที่เข้าฟังเขาบรรยายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อใดที่ได้ก้าวมาเป็นนักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นย่อมไม่กล้าที่จะเขียนหรือพูดเชิงลบใดๆ เกี่ยวกับอิสลาม รอยกะเทาะในความเป็นฆราวาสนิยมที่เกิดกับพวกเขาในวันนั้นจะผลิดอกออกผลเป็นความกลัวที่จะวิจารณ์สิ่งใดที่แสดงถึงโรคกลัวอิสลาม”
ในทำนองเดียวกัน ตัวละครสมมติในบทความอย่าง “หญิงคลุมฮิญาบ” และชายขายขนมปังชาวมุสลิม ก็มีบทบาทของตน คือการทำให้ผู้คนรู้สึกกระอักกระอ่วนบนท้องถนน และให้คนไม่กล้าที่จะซื้อแซนด์วิชอบชีส กับ แซนด์วิชบาแกตต์ไส้แฮม ทั้งที่มันเป็นเมนูพื้นฐานของชาวฝรั่งเศส “เขาจะชินกับมันได้ไม่ยาก” บทความค่อนแคะ “ก็เหมือนที่ ฎอริค รอมาฎอน แนะนำ เราจะปรับตัว”
ตัวละครสมมติที่สามคือ “เด็กหนุ่มนักเลง” ชาวมุสลิมที่ขึ้นแท็กซี่ไปยังสนามบินบรัสเซลส์กับกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตามท่อนสำคัญของบทความคือการเปรียบเทียบ รอมาฎอน กับหญิงคลุมฮิญาบ คนขายขนมปัง และเด็กหนุ่มหัวรุนแรงที่ว่า “สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นที่สนามบินหรือสถานีรถไฟใต้ดินของบรัสเซลส์จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยหากไม่มีส่วนร่วมจากทุกคน(ที่กล่าวมา)”
ในตอนท้าย บทความสรุปว่าเด็กหนุ่มมุสลิมหัวรุนแรงกลุ่มนั้น ไม่ได้โจมตีคนบริสุทธิ์ที่กำลังจะบินกลับบ้านหรือขึ้นรถไฟไปทำงาน แต่สิ่งที่พวกเขาเจาะจงโจมตีคือนามธรรม คือ “ความคิดเรื่องโลกวิสัย” บทความดังกล่าวยืนยันว่าอิสลามต่อต้านฝรั่งเศส ต่อต้านความเป็นยุคใหม่ ต่อต้านการใช้สติปัญญา อิสลามห้ามการบรรยาย แลกเปลี่ยน และที่สำคัญคือการโต้แย้ง
ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นประเทศยุโรปที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุด และบทบรรณาธิการของ Charlie Hebdo ชิ้นนี้นับว่าเป็นการแสดงครั้งใหม่ล่าสุดถึงความหวาดวิตกหมู่ที่ถูกโหมกระพือในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มันคือกระแสความกลัวว่าอนาคตจะเกิด “ฝรั่งเศสแบบอิสลาม” เป็นภาวะวิตกจริตอันเป็นแก่นของนิยายขายดีปี 2015 ชื่อว่า “Soumission” ของ มิเชล ฮูเวลเบค และเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดเสียงเตือนอย่างต่อเนื่อง เช่นจากนักปรัชญา อแลง ฟิงเคลครอท ที่ยืนกรานว่า การกล่าวหาคนว่าเป็นโรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) เป็นรูปแบบที่อันตรายที่สุดของแนวคิดต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ (anti-racism) ในทรรศนะของฟิงเคลครอท การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ “จะเป็น(สิ่งบั่นทอน)ศตวรรษที่ 21 เหมือนกับที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นในศตวรรษที่ 20”
ความหวาดวิตกระลอกใหม่แสดงออกล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน เมื่อสายการบิน Air France ประกาศให้พนักงานหญิงบนเครื่องต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะในเที่ยวบินตรงปารีส-เตหะราน ที่เปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากระงับไปนานหลายปี ทั้งนี้สมาพันธ์สำคัญแห่งหนึ่งได้กล่าวประณามว่านโยบายนี้ถือเป็นการ “โจมตีสตรี”
ไม่ได้ต่างจากทุกครั้ง บทบรรณาธิการชิ้นนี้ของ Charlie Hebdo จุดกระแสถกเถียงร้อนแรงทั้งในและนอกประเทศ สำหรับบุคลากรบางส่วนขององค์กรสื่อดังกล่าว จุดที่น่าขันที่สุดคือการที่บทความจากนิตยสารล้อเลียนที่แสบสันที่สุดในหมู่สิ่งพิมพ์หยิบยกคำถามเรื่องการปิดปาก แต่กรณีนี้ใครกันแน่คือผู้ที่ ‘ถูกปิดปาก’ ผู้คนสมมติที่แวะไปยังคาเฟ่และไม่ได้แซนด์วิชแฮมสมใจ หรือตัวของ ฎอริค รอมาฎอน
“มีใส่ร้ายการไปปรากฏตัวของผมโดยหวังผลที่กว้างกว่า มันถูกใช้เพื่อสื่อว่า ‘อะไรที่พวกเราไม่ต้องการ’” รอมาฎอนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ “ผมคือตัวแทนของอิสลามแบบที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม”
สามเดือนแรกของปี 2016 รอมาฎอน (ซึ่งมักถูกกล่าวหาเรื่องการ “พูดสองแบบ” เมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชนในยุโรป กับเมื่ออยู่ในโลกอิสลาม) ถูกแบนไม่ให้บรรยายในหลายเมืองของฝรั่งเศสอย่าง เบซิเยร์ อาร์จองเตย ออร์เลอ็อง และบอร์โดซ์ ไม่เว้นแม้แต่ที่สถาบัน Arab World Institute ในปารีส “คนเหล่านั้นที่อยู่ฝั่ง ‘ฉันคือชาลี’ อย่างชัดเจน มักจะห้ามไม่ให้ผมพูดได้อย่างสบายใจ”
นักวิชาการชื่อดังของฝรั่งเศส 4 คนได้แสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ Le Monde ฉบับวันอาทิตย์ สืบเนื่องจากบทบรรณาธิการที่เป็นกระแสนี้ว่า “ในประเทศที่ผู้คนนับล้านแห่กันไปยังท้องถนนเพื่อปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น” ตามข้อความระบุ “ใครจะห้าม ฎอริค รอมาฎอน คนที่เราเลือกจะเกลียดไม่ให้พูดก็ย่อมได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายมารับรอง”
สำหรับ รอมาฎอน มองว่าเป็นปรากฏการณ์ฝรั่งเศสแท้ที่ไม่มีใครลอกเลียนได้ “เป็นไปได้อย่างไร” เขากล่าว “ที่ที่นั่นจะเป็นประเทศเดียวที่ผมไม่สามารถบรรยายในมหาวิทยาลัยได้”