เสี้ยวหนึ่งของเยาวชนมลายูมุสลิมชายแดนใต้กับหน้าที่ชายไทย

เรื่องเล่าจากประสบการณ์วันตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารของชายไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 


ชายไทยทุกคนมีพันธะกับการรับใช้ชาติในฐานะพลเมืองของรัฐชาติที่มีชื่อว่า ราชอาณาจักรไทย การรับใช้ชาติคือการเข้าประจำการรับราชการทหารในฐานะทหารกองเกินหรือที่เราเรียกกันว่าทหารเกณฑ์ ที่ชายไทยทุกคนจะต้องทำการขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่อายุ 17 ย่าง 18 ปี ตามภูมิลำเนาทหารของบิดา และจะได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ที่เรารู้จักในนามว่า สด.9 ที่ระบุฐานะการเป็นทหารกองหนุนชั้นต่างๆไว้ ซึ่งจะต้องทำการขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนาทหารของบิดา เมื่อชายไทยที่ได้ขึ้นเบียนเป็นทหารกองเกินไว้แล้ว ถึงคราวที่จะต้องตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ก็จะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่จะต้องรับการตรวจเลือกให้ไปรับหมายเรียกการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ที่เรารู้จักในนาม สด.35 ซึ่งได้ระบุไว้แล้วว่าเจ้าตัวจะต้องไปรายงานตัวที่ไหน เมื่อไหร่และต้องนำเอาเอกสารสำคัญ ไปตามวันเวลาที่นัดหมายไว้ในใบนัดวันตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้าประจำการ[1]

ในต้นเดือนเมษายน ของทุกปี จะเริ่มต้นฤดูกาลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการราวๆ วันที่ 1-10 เมษายน หมายความว่า ผู้ที่ได้รับหมายเรียกและทำการขอผ่อนผัน จะมีนัดกับกองตรวจเลือกทหารกองเกิน ตามวันที่กำหนดไว้ สำหรับผู้ที่ขอผ่อนผันจะต้องไปรายงานตัวจนกว่าจะสละสิทธิขอผ่อนผันหรือจนครบกำหนดการขอผ่อนผันแล้ว หากใครฝ่าฝืนหมายนัดตามที่ระบุไว้ใน สด.35 ก็จะถูกเรียกว่า ผู้หลีกเลี่ยงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ จะมีความผิดและถูกยกเลิกสิทธิประโยชน์ต่าง ๆของทหารกองเกิน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการขอจับสลากใบดำใบแดง หรือสิทธิการได้รับการยกเว้นในฐานะบุคคลประเภท 2 [2]

           และทุก ๆ ปีจะมีผู้เข้ารับการตรวจเลือกจากทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย การเข้ารับการราชทหาร ในฐานะทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ซึ่งเป็นผลบังคับจากการข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องทหารกองเกิน พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีความหลากหลาย และความหลากหลายทั้งหมดของชายไทยนั้นอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องเหมือนกันคือ รับราชการทหาร ไม่ว่าชายไทยเหล่านั้นจะมีภาษาแม่เป็นภาษาอะไร แต่เมื่อเป็นพลเมืองของรัฐไทยแห่งราชอาณาจักรสยามแล้ว ไม่สามารถที่จะหลีกหนี กฎ ข้อระเบียบต่างๆที่กำหนดไว้สำหรับควบคุมพฤติกรรมของพลเมืองในรัฐ แล้วในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ ที่มีคนเชื้อสายมลายูอีกทั้งยังเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรง และเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ วิถีชีวิตที่ต่างจากคนเชื้อสายต่างๆในประเทศไทย แล้วเขาเหล่านั้นมีความคิดอย่างไรต่อการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร ทหารกองเกินเข้าประจำการ  ซึ่งอาจจะสามารถแบ่งออกได้กลุ่มความคิด

ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศในวันตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เนื่องจากตัวผู้เขียนได้ทำการยื่นคำร้องขอผ่อนผันการเข้ารับราชการทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการและได้สละสิทธิผ่อนผันเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงไปพบเจอกับความเห็นที่หลากหลายพอสมควร สำหรับผู้ที่เข้าตรวจเลือกในแต่ละปี

หลายคนให้คำตอบว่า ที่มาในวันตรวจเลือกเนื่องจากว่า ได้รับใบสำคัญ สด.35 และระบุว่าต้องมาทำการตรวจเลือกในวันและเวลาที่ระบุไว้ และทราบว่านี่คือการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเองในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐแห่งราชอาณาจักร การศึกษาเล่าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทำให้มีข้อมูลเหล่านั้น  และได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกประการ คือ ได้ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินตั้งแต่อายุ 17 ย่าง 18ปี และไปรับหมายเรียก สด.35 ณ ที่ว่าการอำเภอเมื่อทราบว่ามีรายชื่อของตนที่ต้องไปรับหมายเรียก บางคนได้รับจดหมายเตือนถึงการไปรับหมายเรียก บางคนทราบจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านที่มาแจ้งเตือนลูกบ้านถึงเรื่องดังกล่าว และตัดสินใจเดินทางมารับการตรวจเลือกตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในกฎหมาย

           หลายคนบอกว่า ที่มาในวันตรวจเลือกเนื่องจากมีหนังสือแจ้งเตือนมายังบ้านได้ดำเนินตามข้อกำหนด บ้างก็เนื่องจากว่า กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมาแจ้งเตือนถึงข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวกับการตรวจเลือกการเข้ารับราชการทหาร เมื่อถามถึงตัวเขาว่า วันนี้มาทำไม มาทำอะไร เขารู้ว่าต้องมาตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่อย่างไร รู้แค่เพียงว่าเมื่ออายุเท่านี้ หรือมีการแจ้งเตือนและทำตามขั้นตอนแล้ว ก็ต้องมาตรวจเลือกรับราชการทหาร

หลายคนเพิ่งทำการขึ้นทะเบียนทหารกองเกินเมื่ออายุใกล้ 21 ปีแล้ว เนื่องจากไม่เคยรู้ว่าต้องไปขึ้นทะเบียนตอนไหนเมื่อไหร่อย่างไร แต่เมื่ออายุใกล้ถึงวาระที่ต้องจับทหาร ผู้ปกครองรวมถึงตัวเองก็ไปไถ่ถามถึงกระบวนการต่างๆจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน บ้างก็เดินทางมาที่อำเภอด้วยตนเองหรือพร้อมผู้ปกครองเพื่อถามไถ่ถึงกระบวนการที่ต้องดำเนินการในการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร เมื่อนายอำเภอซักถามถึงสาเหตุที่มาขึ้นทะเบียนล่าช้า มักจะได้คำตอบว่า ไม่รู้ว่าต้องขึ้นทะเบียนตอนไหน หรือมักจะได้คำตอบว่า ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน หรือบางคนก็ละเลยที่จะสนใจ เนื่องจากการขึ้นทะเบียนไม่มีความสำคัญอะไร ก็แค่ไปเสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ

ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ผู้เขียนได้รายงานตัวขอผ่อนผันการเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการทหาร มีการสมัครเข้ารับราชการทหารเป็นจำนวนมาก บางปีของการตรวจเลือกนั้นต้องมีการจับสลากกันเองระหว่างการผู้ที่ร้องขอหรือสมัครเข้ารับราชการทหาร หมายความว่ามีคนขอสมัคร มากกว่าจำนวนที่กองทัพต้องการกำลังพลในเขตนั้น จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงมีความต้องการที่จะร้องขอหรือสมัครเข้ารับราชการทหาร ผมไม่แน่ใจว่าคำตอบที่ได้มานั้นจะส่งผลต่อความเห็นเรื่องนี้อย่างไร ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บางส่วนของผู้ที่ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหารในเขตพื้นที่เดียวกันกับผู้เขียน ให้ข้อมูลกับผู้เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า เพราะผู้ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหาร ไม่มีงานทำไม่รู้จะทำอะไร อยู่บ้านเฉยๆ ผู้ปกครองจึงให้ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหาร เพื่อให้ตัวเองนั้นมีวินัยมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็น บางคนเล่าให้ฟังว่า ไม่มีงานทำ จะไปหางานทำก็ยังไม่พ้น เกิดความกังวลว่าหากไม่เข้ารับราชการทหารเรื่องก็ยังคงคารังคาซังต่อไป จึงตัดสินใจเข้ารับราชการทหารโดยร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหาร คงจะหมายถึงว่า ทำให้พ้นๆและได้เงินเดือน ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆเตะฝุ่นไปมา

          ผู้ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหารบางคนที่ผมได้สัมผัส บอกเหตุผลถึงการร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหาร เนื่องจากว่า มีความกังวลต่อการติดตาม ของฝ่ายความมั่นคง แม้ว่าตนยังไม่เคยถูกเยี่ยมหรือเชิญตัวไปที่ใดโดยฝ่ายความมั่นคงก็ตาม แต่คิดว่าการที่ตนนั้นมีประวัติเคยรับราชารทหารมาแล้ว อาจจะส่งผลด้านบวกให้กับตน จากการติดตามหรือกดดันโดยฝ่ายความมั่นคง หากฝ่ายความมั่นคงจะมาตรวจค้นในเคหะสถานหรือตามด่านต่างๆ อาจจะทำให้การเคยรับราชการทหารส่งผลต่อความสงสัยในด้านบวกของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากคนในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั้นมีการติดตามเยี่ยมเยือนบ้านวัยรุ่นอยู่บ่อยๆ ทำให้ตนและผู้ปกครองของตนเห็นด้วยที่จะร้องขอสมัครการรับราชการทหาร เพื่อลดแรงเสียดทานจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้

แม้จะมีผู้ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหารมากพอสมควร แต่ก็ยังมีคนหลายคนที่ขอลุ้นกับการจับสลากใบดำใบแดง เนื่องจากไม่อยากเสียเวลาที่ต้องมารายงานตัวผ่อนผันทุกปี จึงเลือกที่จะเสี่ยงจับเพื่อให้ตัวเองพ้นจากพันธะนั้นให้เร็วกว่าที่ควร และหลายคนยังคงเลือกที่จะเสี่ยงจับใบดำใบแดง เนื่องจากไม่อยากเข้ารับราชการทหาร เพราะมองว่าการเข้ารับราชการทหารเป็นการเสียโอกาสในเรื่องของการหาเลี้ยงชีพ และเสียโอกาสในการทำงานที่ตนรักและต้องการ ราวกับว่าการเข้ารับราชการทหารอาจจะทำลายอนาคตของงานที่กำลังทำเพื่อหาเลี้ยงชีพอยู่ สองปีที่เสียโอกาสอาจจะหมายถึงชีวิตการงานทั้งชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่ยังคงคิดว่านี่คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นกฎหมายบังคับผู้ชายทุกคนภายใต้กฎหมายฉบับนี้ กฎเกณฑ์ของบ้านเมือง

ในมุมมองของผู้ปกครองที่มาลุ้นชะตากรรมของบุตรหลานในวันตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารนั้น ไม่ต่างจากผู้เข้ารับการตรวจเลือกมากนัก ผู้ปกครองหลายคนคาดหวังว่า การเข้ารับราชการทหารของบุตรหลานตนนั้น จะทำให้พฤติกรรมของบุตรหลานเปลี่ยนไป มีวินัยมากขึ้น มีระเบียบมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้นหลังจากทีได้รับการฝึกฝนเรื่องวินัยอย่างเคร่งครัดในค่ายทหาร 

          แต่ก็ยังมีมุมมองอีกหลายมุมมองที่สะท้อนความไม่ต้องการให้บุตรหลานต้องเผชิญกับภาวะที่กดดัน หรือยากลำบากจากการเข้าประจำการราชการทหารจากการตรวจเลือกเข้าประจำการ หลายคนมีการ Naza (หมายถึงการบนบานหรือสาบานไว้ต่อพระเจ้า) หากบุตรหลานของตนได้ใบดำ จะทำบุญด้วยการเชือดแพะเพื่อเลี้ยงอาหารชาวบ้าน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใด แต่ไม่อยากให้บุตรหลานต้องได้รับใบแดงและเข้าประจำการ บ้างก็มีการไปหาเหล่าบาบอ (โต๊ะครูหรือผู้มีความรู้) ที่มีวิชา ที่ว่ากันว่าสามารถเป่ากระหม่อม อ่านดุอาอฺ (ขอพรจากพระเจ้า) เพื่อให้จับได้ใบดำ แต่หากว่ากระบวนทั้งหมดที่ดำเนินการไปไม่ได้ผล ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ ชะตาถูกกำหนดมาแล้วทั้งสิ้น

บรรยากาศการจับสลากใบดำใบแดงของเหล่าบรรดาชายไทย ที่ต้องมาลุ้นกันว่าใครคือชายไทยที่ต้องไปรับใช้ชาติในฐานะทหารกองประจำการ ผมยังคงสัมผัสบรรยากาศทั่วไปที่มีความวิตกกังวลสำหรับผู้เข้ารับการตรวจเลือกและครอบครัวที่ไม่ประสงค์ที่จะได้ใบดำ แต่ไม่ได้วิตกกังวลถึงขนาดเป็นลมเป็นแล้งแต่อย่างใด ส่วนตอนจับหรือก่อนจะจับ ทุกคนจะมีความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายๆกันคือ จะขอพรจากพระเจ้าให้ได้ในสิ่งที่ตนหวัง ไม่ว่าจะหวังใบดำหรือใบแดงก็ตาม ครอบครัวหรือผู้ปกครองก็เช่นกัน จะย้ำเตือนบุตรหลาของตน เท่าที่จะย้ำเตือนได้ว่า “ขอให้นึกถึงอัลลอฮให้มากๆ” “ขอดุอาอฺให้อัลลอฮประทานในสิ่งที่เหมาะสมแก่บุตรหลานของตน” ราวกับว่า แม้อาจจะไม่อยากได้ใบแดง ก็เมื่อจับได้มาแล้วก็ต้องยอมรับว่านั่นคือสิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้เข้ารับการตรวจเลือกแล้ว  ผมเคยเห็นและสัมผัสแววตาขอผู้ที่ผิดหวังจากเป้าหมาย ใช่ว่าทุกคนที่จับใบดำได้จะสมหวังเสมอไป ยังคงมีความผิดหวังในตัวเองที่จับได้ใบดำ เขาเหล่านั้นอธิบายว่า เขาอยากได้ใบแดง เขาไม่อยากอยู่บ้านเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองใหม่ อยากเป็นคนใหม่ และในทางกลับกัน ผู้ที่ผิดหวังเมื่อได้ใบแดง ก็อธิบายว่า การศึกษาหรืองานที่กำลังทำ กำลังไปได้ดี สองปีที่ต้องไปเข้ารับราชการทหาร ใครจะดูแลที่บ้าน

          นี่คืออารมณ์ดราม่าที่ไม่ใช่สำหรับดารานักแสดง ไม่ใช่คนรวยมีรายได้สูง แต่เป็นเยาวชนชายไทยที่พูดภาษามลายู พูดภาษาไทยไม่ชัด เรียนจบ มัธยมปลายปีที่ 6 และเป็นหัวเรือในการหารายได้เข้าบ้าน

ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม แต่ทุกๆต้นเดือนของเดือนเมษายนจะเห็นภาพชายไทยเหล่านั้น มาชุมนุมตามหมายนัดที่ว่าไว้ ซึ่งได้ระบุพิกัดเวลาสถานที่ ให้มาชุมนุมเพื่อตรวจเลือกทหารกองเกิน มุมมองต่างๆที่สะท้อนออกมาในงานเขียนชิ้นนี้ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่ในเชิงโครงสร้างแล้ว คงจะมีแบบแผนที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประสงค์ร้องขอสมัครเข้ารับราชการทหาร หรือผู้ที่เสี่ยงเพื่อกำหนดชะตากรรมตนเองโดยการจับใบดำใบแดง หรือแม้แต่การตั้งเจตจะเลี้ยงทำบุญด้วยการเชือดแพะ หรือการสวดขอพรจากพระเจ้าเพื่อให้ได้ตามที่หวังไว้ ล้วนมีผลกระทบต่อเขาเหล่านั้นทั้งสิ้น

ท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนไม่อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้นั้นจะเป็นเช่นนั้นกับคนทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่นี่คือส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ประสบพบเจอกับบรรยากาศต่างๆในแต่ละปีที่ได้อยู่ในบรรยากาศเหล่านั้น และแน่นอนบรรยากาศเหล่านั้นคนที่จะเข้าใจได้มากที่สุดก็คือ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และเข้าร่วมกับกระบวนการทั้งหมดที่ผู้เขียนเล่ามา และแน่นอนผู้เขียนหวังไว้เพียงว่า ท่านผู้อาจจะได้รับหรือสัมผัสได้ถึง

กลิ่นอายของการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองเกินในเขตพื้นที่ของผู้เขียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และใช้ความรุนแรง เป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ยังคงสื่อสารด้วยภาษามลายู และคือส่วนหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าประจำการ และทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของกลิ่นอาย บรรยากาศของการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร

         


[1]  หากผู้ที่ติดภารกิจสำคัญไม่สามารถไปทำการตรวจเลือกในปีดังกล่าวหรือในช่วงเวลาที่ระบุไว้ในหมายเรียก สด.35 สามารถยื่นเรื่องขอผ่อนผันการเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้าประจำการได้ จะต้องติดต่อสัสดีจังหวัดอำเภอตามภูมิลำเนาทหาร แต่ในปัจจุบันผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา สามารถยื่นคำร้องขอผ่อนผันได้ที่หน่วยงานกิจการทหารในแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถทำการขอผ่อนผันได้ถึงอายุ 26 ปี

[2] ในการเข้าตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเป็นทหารประจำการนั้น จะมีการแบ่งประเภทบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินในวันตรวจเลือกออกเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทที่ 1,2,3 และ 4 แต่ละประเภทจะมีความหมายที่แตกต่างกันคือ
    ประเภทที่ 1 หมายถึง บุคคลที่มีร่างกายปกติ แข็งแรงตามเกณฑ์มาตรฐานของทหาร
    ประเภทที่ 2 ร่างกายมีความผิดปกติ ซึ่งรวมไปถึงสภาพร่างกาย(จิตใจ)ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งจะได้รับการยกเว้นการเป็นเข้ารับราชการทหาร ทหารประจำการ
    ประเภทที่ 3 คือผู้ที่มีอาการป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ใน 30วัน จะต้องกลับมาตรวจเลือกใหม่ในปีถัดไป
    และสุดท้ายประเภทที่ 4 คือผู้ที่เป็นอุปสรรคต่อการฝึก ไม่สามารถเป็นทหารได้ และมีสิทธิที่จะได้รับการยกเว้นการเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีกด้วย ซึ่งจะต้องมีเอกสารสำคัญทางการแพทย์ที่ออกโดยนายแพทย์และโรงพยาบาลทหาร

ภาพจาก
 nwnt.prd.go.th