มลายูจาก“กาแว” ถึง “แดมอ” ; มิติภาษาในม่านฟ้าอาเซียน (ตอนจบ)

 

             

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม[1]

 

“เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ” น่าจะเป็น “สัญญานเตือน” อย่างดี

ที่รัฐบาลไทยควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้กับคนในชาติเข้าใจและเท่าทัน

ด้วยการรู้ภาษาและความเป็นอื่นของคนอื่น อย่างน้อยก็เพื่อเข้าใจมิติแห่งวัฒนธรรม

แม้ชีวิตคนกลายเป็นเดิมพัน แต่บทเรียนครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นยาขนานสำคัญในการจัดการ

หรือบางทีอาจ “รอให้ตาย” มากกว่านี้ก็เป็นได้ถึงจะทำอะไรสักอย่าง”

 

สังคมไทยยังจับต้นชนปลายไม่ถูกกับกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กำลังโหมกระหน่ำเข้ามา โดยเฉพาะ “กระแสการทำให้เป็นประชาคมอาเซียน” ในขณะบางที่ บางแห่งยังไม่พร้อมที่จะรับในสิ่งเหล่านี้ ประเทศไทยอาจเป็นหนึ่งในกระแสเหล่านั้นที่เวียนว่ายไม่ถึงไหนในโคลนตมและจมปลักใน “มิติความเป็นไทยแบบเดิม”  จนวัฒนธรรมไทยแบบเดิม ๆ นั้นก็ต้องปรับและเปลี่ยนบางอย่างที่คนไทยพอจะกระดิกได้นับเป็นเรื่องยากที่ (เกือบ) เกินตัว จนในที่สุด มุมหนึ่งของการไม่เท่าทันผ่านกระบวนการปรับกลยุทธ์นั่นก็คือ “กระแสการกลัวการเป็นอาเซียน” หรือ Asiano Forbears นั่นเอง

เมื่อกล่าวถึง “ความเป็นมลายู“ แล้ว เป็นรอยกรีดบางอย่างที่กัดกินสังคมไทยและ “ความเป็นไทย” มาโดยตลอดเริ่มฉายแสงขึ้นมาอย่างกะทันหัน เพราะครั้งหนึ่งมีการคลั่งชาติของ “ความเป็นไทย” สูง กระทั่ง การใช้ภาษาอื่น  ชีวิตแบบอื่น วัฒนธรรมอย่างอื่น ขนบอันอื่น  จนกลาย “เป็นอื่น” หรือ “คนนอก” (The Outsider)

นโยบายที่ยังฝังความเป็นไทยให้เป็น “ไท” นั่นก็คือ การไม่ยอมรับความต่างที่ปกคลุมความเป็นไทย จนครั้งหนึ่งรัฐมนตรีเคยซึมรากเหง้าตัวเองออกมาผ่านนโยบายของรัฐที่โด่งดัง จนความเป็นอื่นเริ่มเดือดพล่านผ่าน “รัฐนิยม 12 ฉบับ” นับเป็นหนึ่งใน “ความบ้าคลั่งที่เป็นทุนเดิมและติดตัวคนไทยมาอย่างเข้มข้น” โดยเฉพาะ เรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ขนบ ประเพณี

“รัฐนิยม” หรือแนวคิดชาตินิยมแบบไทยนับเป็นนโยบายของรัฐที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2482 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 การสร้างแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้คนไทยสำนึก “ความเป็นพลเมืองที่ดี” และชาตินิยมแบบไทย ๆ จนกระทั่งสร้างชาติไทยให้ฮึกเหิมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กระทั่งกระแสการสร้างและปลุกสำนึกได้อึกกระทึกขึ้นผ่าน รายการทีวี  เพลงปลุกใจ  วิทยุกระจายเสียง  ภาพยนตร์

ความเป็นไทยของเรา “แบบไม่ฟังใคร” เลย “ฝังแน่นผิดปกติ” กระทั่งชาติไทยเป็นชาติที่ “นิยมความรุนแรงแบบแปลก” ไม่ต่างจาก เราแบ่งฝ่ายและเผาเมืองกันเมื่อกลางปีที่แล้วผ่านนิยาม “ความเป็นไทย” ของแต่ละฝ่ายที่เรามีนี่แหละ

การแหวกขนบบางอย่างที่รากฐานเราตอกยึดไว้แน่นก็กลายเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะกำหนดระยะทางเดินแบบใหม่ในกระแสความเป็นไทยแบเดิม ประชาคมอาเซียนไม่ได้นิยมความเป็นไทยและประเทศไทยก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของ (จักรวาล)อาเซียนในมิติของภาษาอีกต่อไป  นั่นก็หมายความว่า “ประเทศไทยต้องหาทางรับมือภาษาที่สองและสามรับการพัฒนาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน”

เพราะ ภาษาไทยนั้น ประเทศไทยได้มองว่า การไม่เข้าใจภาษาของตัวเองเป็นที่มาของการทะเลาะเบาะแว้งกัน และการเรียนรู้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ไทย นั้นนับเป็นวิถีแห่ง “ความไม่เป็นไทยหรือเป็นพลเมืองที่ไม่ดี” อย่างที่ รัฐนิยม ฉบับที่  9  ได้กำหนด “เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองที่ดี” ซึ่งกำหนดให้ชนชาติไทย ถือเป็นพลเมืองดีที่จะต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติอย่างน้อยต้องให้อ่านออก เขียนได้ และถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้รู้ภาษาไทยหรือหนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้ ทั้งนี้เพื่อ ไม่ให้เกิดความแตกแยกและความแตกต่างของท้องที่ถิ่นกำเนิด

ภาพวัฒนธรรมแบบเดิมกับหน้าที่พลเมืองที่ดีไม่สามารถแยกสันปันส่วนได้ มายาคติเดิมทำให้คนไทย “เดินช้า” ในมิติของภาษาอื่นโดยเฉพาะภาษามลายู หากคำนึงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งรายวันที่เกิดมายาวนานกว่า 8 ปีด้วยแล้ว ประเทศไทยควรหาทางออกเรื่องมิติภาษาตั้งแต่ต้น

ยิ่งกรณี “การญิฮาด(ต่อสู้)ที่ปัตตานี” เป็นหนังสือที่กลุ่มก่อความไม่สงบนำเสนอเมื่อเมษายน ปี 2547 “เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ” น่าจะเป็น “สัญญานเตือน” อย่างดีที่รัฐบาลไทยควรปรับหลักสูตรการศึกษาให้กับคนในชาติเข้าใจและเท่าทันด้วยการรู้ภาษาและความเป็นอื่นของคนอื่น อย่างน้อยก็เพื่อเข้าใจมิติแห่งวัฒนธรรม แม้ชีวิตคนกลายเป็นเดิมพัน แต่บทเรียนครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นยาขนานสำคัญในการจัดการ หรือบางทีอาจ “รอให้ตาย” มากกว่านี้ก็เป็นได้ถึงจะทำอะไรสักอย่าง

กระนั้นรัฐและความเป็นไทยก็ยิ่งกดทับตัวเอง จนมองภาษาอื่น โดยเฉพาะมลายูเป็น “ภาษาของศัตรู” ไปในที่สุด

ขณะเดียวกันเมื่อประเทศต้องเปิดรับประชาคมอาเซียน มลายูคือภาษาที่พลเมืองมากกว่า 300 ล้านคนต้องใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่แถบนี้ ภาษามลายูเป็นภาษาในตระกูลภาษามเลโย-โพลิเนเซียน (MaLayo Polynesian) หรือ ออสโตรเนเซียน (Austronesian) แขนงภาษาสุมาตรา ซึ่งจัดอยู่ในสาขาภาษาหมู่เกาะแถบ “โลกมลายู” (Nusantara) ดังนั้นภาษามลายูจึงเป็นเพียงหนึ่งในจำนวน 200 ภาษาที่มีอยู่เท่านั้นเอง

คำถามที่รัฐบาลควรตั้งประเด็นต่อนั่นก็คือ “ภาษามลายูกับความเป็นไทย” จะจัดการอย่างไรให้เข้ากัน  หากมองลึกถึงทรัพยากรหลักและวัตถุดิบที่เรามี ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าที่อื่นโดยเฉพาะบางส่วนของไทยได้ใช้ภาษานี้กันมานานแล้ว

ประเทศไทยต้องปรับทัศนคติอย่างมากมายเกี่ยวกับการเข้าสู่ความเป็นอาเซียนโดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ภาษาอื่นด้วยเหตุเพราะความเป็นไทยและประเทศไทย ที่ไม่ใช่เพียงแต่ “ภาษาไทย” อย่างที่เราเคยเชื่อกันมาแบเดิม ๆ  ไม่ใช่ความคลั่งแบบไทย ๆ

หากเรานำความเชื่อแบบเดิม ๆ และความคลั่งแบบเดิม ๆ มาปรุงแต่ง แน่นอนความเป็นไทยของเราก็ไม่มีวันสมบูรณ์แบบเพราะคนไทยไม่ได้มีบนแผ่นดินไทยจริง ๆ นอกจาก ความเป็นอื่นที่บานสะพรั่งและเราก็ได้กำหนดว่า “ชาวไทยและพลเมืองไทย”

ไม่ต่างที่ อ.นิธิ  เอียวศรีวงค์ได้บอกว่า “ชาติไทยที่แท้จริง ต้องมีพื้นที่สำหรับคนมลายู, คนกะเหรี่ยง, คนเขมร, คนมอญ ฯลฯ สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างเสรี ไม่ใช่มีได้แต่อัตลักษณ์ของไทยและเจ๊กกับปาหี่ไว้ขายนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้คือ ที่มาของคำว่า “ชาวไทยและพลเมืองไทย”

อิทธิพลของภาษามลายูเข้ามาประเทศตั้งแต่ครั้งอดีต ไม่ต่างจากคำหนึ่งที่เพื่อนข้าพเจ้าเดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อพบข้าพเจ้าและถามว่า  Sembileh หรือ “ชำแหละ” นั้นคือภาษาที่ยืมมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย จนเพี้ยนมาเป็นไทยคือ ชำแหละ(ภาษากลาง)  แหละ (ภาษาใต้) แหมะ (ภาษาใต้บางสำเนียงและพื้นที่)

“ประเทศไทยรับคำเหล่านี้มานานมาก แต่ความเป็นไทยก็แคบเสียจนมองไม่เห็นและวิเคราะห์ไม่ออก”  ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด น้อยหน่า องุ่น  จำปาดะ ลิงอุรังอุตัง กอและ กริช กำยาน ปาเต๊ะ  โสร่ง โกดัง กูลี มัสยิด เบตง ภูเก็ต ตะเบ๊ะ สตูล ตรัง ทั้งหมดเหล่านี้คือ ภาษามลายูในความเป็น “ชาตินิยมแบบไทย”

ด้วยเหตุนี้ “การมองอย่างใจกว้าง” จะเห็นความเป็นโลกมลายูยืนค้ำยันความเป็นไทยให้สมบูรณ์ เพราะความเป็นไทยมักรองรับชาติอื่นไว้อย่างเปิดใจมาโดยตลอดในฐานะพื้นที่และภูมิศาสตร์ กระนั้นเมื่อประเทศต้องกลายเป็นอาเซียน “สำนึกแรกของไทย” ก็คือ สร้างระบบการศึกษาที่เด่นชัดในการพัฒนาภาษามลายูผ่านวัตถุดิบและทรัพยากรบุคคลที่เรามีพร้อมแล้วตั้งแต่ต้น

ในงานเขียนที่เคยตีพิมพ์ในมติชนรายสัปดาห์ ผ่านการหารือร่วมระหว่างสกว.ภาคใต้กับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา , วิทยาลัยอิสลามยะลา , คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี, ชุมชนวิจัยและแกนนำชาวบ้านในเขตปัตตานี ที่มีข้อสรุปดังนี้

อย่างแรกคือ ควรทำนุบำรุงภาษามลายูท้องถิ่นให้เข้มแข็งเป็นมาตรฐาน โดยความร่วมมือของชุมชนและสถาบันวิชาการ  เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภาษามลายู ฟื้นฟูอัตลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นคนมุสลิมที่พูดภาษามลายูในประเทศไทย 

อย่างที่สองคือการนำภาษามลายูเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบ รวมทั้งสื่อมวลชน ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กควบคู่ไปกับการเรียนภาษาไทย เพื่อช่วยลดปัญหาการเรียนที่ไม่ได้ผลเชิงคุณภาพของเด็กตามหลักการศึกษาถ้วนหน้าของ UNESCO ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาในระบบ Bilingual Education/Multilingual Education ที่กำลังรณรงค์อยู่ในระดับโลก โดยเน้นภาษาแม่เป็นหลักเพื่อให้ได้ฐานการรู้หนังสือที่มีคุณภาพ สามารถต่อยอดสู่การศึกษาในระดับสูง และสู่ภาษาอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น…

การปรับทัศนคติของงานวิจัยครั้งนี้ได้เล็งเห็นไว้อย่างหนึ่งนั่นก็คือ

1) ให้ความสำคัญกับการรู้จักของเขตการใช้ภาษาที่เหมาะสมเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การฟื้นฟูศักดิ์ศรีของกลุ่ม และยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้นและกระบวนการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เรียนรู้และพูดภาษามลายูถิ่นได้

2) กระบวนการส่งเสริมให้ชาวบ้านฟื้นฟูอัตลักษณ์ของตนเอง โดยการส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และยกมาตรฐานภาษาพูดให้มีความสมบูรณ์ มีภาษาเขียน เริ่มจากการกำหนดตัวเขียนและพัฒนาระบบเขียน จากนั้น จึงตรวจสอบประสิทธิภาพและความเหมาะสม ในการนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนเด็กเล็กๆ นำไปสู่การขยายผลในรูปการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น โดยการจัดทำหนังสือเรียนและจัดกระบวนการเรียนการสอน

3) การขยายศัพท์มลายูจากคัมภีร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาทักษะการอ่านภาษามลายูของคนในท้องถิ่น

ประเทศไทยยืมจมูกเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหายใจมาช้านาน กระทั่ง ฐานทำกินส่วนหนึ่งของความเป็นไทยคือ พื้นที่ในเขตแดนแห่งมลายู ไม่มีใครกล้าปฏิเสธความเป็นมลายูเมื่อ “ทีมงานข่าวสามมิติ” นำทีมโดยมนตรี อุดมพงษ์[2] ได้นำเสนอข้อมูลบางอย่างไว้อย่างน่าสนใจว่า

ในประเทศมาเลเซียแรงงานจากประเทศไทยได้ไหลทะลักเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย โดยแรงงานทั้งหมดที่ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ชุบเลี้ยงปากท้อง ฝากอนาคตและหารายได้ มากกว่า 196,787 คน โดยในจำนวนนี้นับเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายประมาณ 1๙0,000  คนและแรงงานถูกกฎหมายประมาณ 6,787 คน  สถานการณ์ปี 2553 ร้านต้นยำกุ้งในมาเลเซียได้เพิ่มเป็น 600 กว่าร้าน และแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียก็เพิ่มเป็นมากกว่า 200,000  คน จากจำนวนแรงงานดังกล่าวได้กอบโกยกำไรและเงินตราเข้าประเทศมากกว่า 400 ล้านบาท / เดือน

แนมโน้มสำหรับแรงงานที่พยายามหาทางรอดจากระบบเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และสถานการณ์ชายแดนใต้ที่ยังไม่นิ่งนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นมุสลิมในชายแดนใต้ด้วยแล้ว พื้นที่ใหม่กลายเป็นทางเลือกต้น ๆ ที่จะฝากชีวิตและอนาคตไว้ด้วย วัฒนธรรมแห่งความเป็นไทยที่ไม่ใช่มลายู จะอยู่ในวงจรแบบไหน ?

ด้วยประการทั้งหมดรัฐไทยต้องเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาที่กำลังคืบคลานเข้ามาเพราะพลเมืองของไทยส่วนหนึ่งฝากตัวตนไว้กับ “โลกมลายู” ที่มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับภาษามลายูมาตั้งแต่เดิม และรัฐไทยก็กำลังฝากการพัฒนาของประเทศตัวเองไว้กับ “โลกมลายู” หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

หากรัฐคำนึงถึงสัญญาณเตือนอย่างเอกสารลึกลับที่กรือเซะด้วยแล้ว รัฐควรไม่ปล่อยให้ประเด็นเหล่านี้ผ่านไป นอกจากเท่าทัน จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจำต้องหาทางออกดังกล่าวด้วยการ “แหวกขนบแบบเดิม” ที่เคยมีมา



[1] นักศึกษาสำนักอาลีกัรมุสลิม ประเทศอินเดีย รัฐศาสตร์ – ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  12   เมษายน  2555

[2] ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข้อมูลผ่าน “ข่าวสามมิติ” ออกอากาศช่อง 3 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555โดยอ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแรงงานมาเลเซีย