ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แปลและเรียบเรียง อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด


ภาพจาก asean community

การแพร่หลายของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงหนีมิพ้นไปจากบทบาทของพ่อค้าวาณิชที่มาจากคาบสมุทรอาหรับและเปอร์เซียในอดีต ที่ได้นำเอาศาสนาอิสลามมาพร้อมกับวัฒนธรรมของพวกเขามาเผยแพร่ ​​ปัจจุบันเราจะเห็นได้จากหลายๆ สังคม ชุมชนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นชนส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งชนกลุ่มน้อยในที่ต่างๆ  การเปลี่ยนแปลงจำนวนของชุมชนมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบางประเทศและมักจะเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ถึงแม้จะมีสาเหตุของปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เพราะชุมชนมุสลิมในบางพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกันกับชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ในขณะที่คนมุสลิมที่เป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ส่วนใหญ่จะทำให้สังคมมุสลิมได้มีที่ยืนทางการเมืองที่แข็งแกร่งทั้งในแง่ของการเมืองและรัฐบาล นอกจากนี้ยังพบว่ามีการก่อตั้งองค์กรมุสลิมต่างๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก เช่น องค์กรนะฮ์ฏอตุลอูลามาอ์ (Nahdlatul Ulama)และ มูฮัมมาดียะฮ์ (Muahammadiyah)ในอินโดนีเซีย

ในขณะที่ในประเทศมาเลเซียที่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยกับประเทศอินโดนีเซีย ที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ถึงแม้ว่าศาสนาอื่นๆ จะมีคนนับถือและเป็นที่ยอมรับด้วยแล้วก็ตาม สิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดพรรคการเมืองอิสลามจำนวนมากและค่อนข้างมีความใหญ่โตและมีบทบาทสำคัญในการปกครองของรัฐบาล อย่างเช่นพรรคอัมโน (United Malays National Organization; UMNO) และพรรคปาส (Partai Islam se-Malaysia; PAS) ในประเทศมาเลเซีย ที่มาเลเซียศาสนาอิสลามได้เป็นหลักฐานในชีวิตประจำวันของผู้คนและก่อเกิดความสามัคคีระหว่างรัฐบาลมาเลเซีย สิ่งที่ประสบความสำเร็จในการให้คุณค่าของความเป็นรัฐ  ความยิ่งใหญ่ของศาสนาอิสลามในมาเลเซียไม่ใช่เพราะอื่นใด นอกจากเพราะอิทธิพลของบรรดาสุลต่านของมาเลเซียเอง ซึ่งในที่สุดได้ทำให้ศาสนาอิสลามเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในดินแดนแห่งนี้

สถานการณ์ที่แตกต่างกันที่ต่อมาได้นำมาซึ่งปัญหาที่เกิดกับสังคมมุสลิมในประเทศที่มีมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เกือบจะทั้งหมดของพวกเขาจะถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลกลาง ที่ถูกปกครองโดยผู้มีอำนาจที่ไม่ใช่มุสลิมอีกทั้งยังมีความพยายามในการกลืนกลายวัฒนธรรม  ซึ่งสิ่งนี้เองได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดต่างๆ ตามมา สิ่งที่อาจเกิดขึ้นและมีมากที่สุดคือ การก่อเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนโดยชาวมุสลิม เพียงเพราะความปรารถนาที่จะให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทั้งในทางการเมืองและในชีวิตประจำวัน ด้วยการแยกตัวออกจากประเทศแม่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการนองเลือด เพื่อให้เป็นที่สนใจของประชาคมระหว่างประเทศ

ชอล์ก (2001) ได้วิเคราะห์สามปัจจัยหลักที่เป็นรากเหง้าของการเกิดขบวนการเพื่อการปลดปล่อย (แบ่งแยกดินแดน) ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยแรกคือ ความอ่อนไหวของรัฐบาลกลางในการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ความสนใจของรัฐบาลมักจะมุ่งเน้นในการพัฒนาและจัดลำดับความสำคัญให้กับภูมิภาคส่วนกลางเท่านั้น จนมีความละเลยต่อสังคมที่เป็นชนกลุ่มน้อยโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่อยู่ตามพื้นที่แนวชายแดน ปัจจัยที่สองคือการดำรงอยู่ของนโยบายทางการทหารในการปราบปรามผู้ที่พยายามคิดจะต่อสู้กับรัฐบาลกลาง และปัจจัยที่สามคือ แรงผลักดันของศาสนาอิสลามเอง ที่มีการยืนหยัดในอุดมการณ์และคำสอนของมันเอง โดยไม่ให้ความสนใจต่อทัศนะของคนอื่นๆ (Chalk, 2001)

โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย จนทำให้คนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ถูกเลือกปฏิบัติในสังคมภาคใต้ ซึ่งสังคมที่นี่ค่อนข้างมีความผูกพันใกล้ชิดกับรัฐมลายูแห่งกลันตันของมาเลเซียมากกว่ารัฐบาลส่วนกลาง(กรุงเทพ)ที่อยู่ทางเหนือของประเทศ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคมที่ต่อมาได้กลายสภาพเป็นการเลือกปฏิบัติ ต้องกลายเป็นสังคมที่ฝักใฝ่ต่อแนวคิดที่ต้องการปลดปล่อยเป็นอิสระ ซึ่งสิ่งนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ได้เริ่มปรากฏมีการจัดตั้งองค์กรการต่อสู้ขบวนการต่างๆ ของมุสลิมในประเทศไทยขึ้นมา เช่น ขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization; PULO) เป็นต้น ที่ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของชนชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนของประเทศมาเลเซียนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศมาเลเซียอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะว่าจะมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศมาเลเซียอย่างมากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งอื่นๆ อีกมากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามมา นั่นก็คือการขาดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และรัฐบาลไทยยังมีความปรารถนาที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่ง ภายใต้หลักนิยม หนึ่งภาษา และหนึ่งศาสนา ซึ่งถูกต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศไทยอย่างรุนแรง

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นที่อื่น อย่างเช่นค​​วามขัดแย้งของบังซาโมโรในฟิลิปปินส์  ซึ่งจำนวนประชากรมีอยู่ 4 ล้านคนโดยประมาณ นับถือศาสนาอิสลาม และเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วย  นอกจากนี้ยังมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ที่ทำให้อิทธิพลของศาสนาอิสลามที่นั่นยิ่งมีความเคร่งครัดมากขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบจะเหมือนกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปาตานีในประเทศไทย คือการมีอยู่ของการเลือกปฏิบัติและเป็นเมืองชายขอบของรัฐบาลกลาง ซึ่งต้องการการบูรณาการในการนับถือศาสนาและภาษา และต้องการที่จะเปลี่ยนประชาชนฟิลิปปินส์ให้เป็นสังคมเสรี (ชอล์ก, 2001) จากนั้นสังคมดังกล่าวได้ก่อตั้งกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front; MILF) ที่ต้องการนำกฎหมายอิสลามมาใช้เฉกเช่นหลักธรรมและญิฮาดในฐานะเป็นกฎหมายของชาติ ด้วยการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามมินดาเนา (Mindanao Islamic Republic: MIR) และนับวันความเคลื่อนไหวของขบวนการปลดปล่อยและกลุ่มต่อต้านที่ต่อมาได้นำไปสู่​​ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลประธานาธิบดีอาร์โรโย นอกจากกลุ่ม MILF แล้วยังมีองค์กรอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก ที่มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านรัฐบาล นั่นก็คือกลุ่มเคลื่อนไหวอาบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf Group: ASG) ที่ยังคงยึดหลักเดิมโดยที่ไม่ลังเลที่จะใช้กฎหมายอิสลามในการปกครอง ที่ต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามมินดาเนา Islamic Theocratic State in Mindanao หรือ MIS (Chalk, 2001)

กรณีที่สามสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย ประชาชนชาวอาเจะห์ได้จัดตั้งขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka:GAM) ขึ้น ที่มีความต้องการที่จะแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย GAM ต้องการที่จะตั้งรัฐที่มีความเป็นธรรม ที่วางอยู่บนพื้นฐานของอิสลาม การกำเนิดขึ้นของพวกเขาสันนิษฐานกันว่าเป็นเพาะรัฐบาล ที่ได้มุ่งเน้นพัฒนาแผ่นดินชวาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญอย่างเดียว

นอกจากนี้มีการหลอมรวมที่ไม่สอดรับกับศาสนาอิสลามมากนัก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาเจะฮ์ต้องการปลดปล่อยตัวเอง ในขณะที่คนอาเจะห์เองต้องการที่จะให้ใช้กฎหมายอิสลาม นอกจากนี้ยังพบว่าชาวอาเจะห์มีความอิจฉาตาร้อนต่อคนชวา ที่ได้มีการพัฒนาบ้านเมืองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะที่เมืองอาเจะห์และภูมิภาคอื่นๆ ไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเท่าไหร่ และปัจจัยสุดท้ายที่เป็นสาเหตุของการก่อเกิดขบวนการปลดปล่อยก็คือความเกลียดชังที่มีต่อกองทัพอินโดนีเซีย ที่มักจะดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรง (Chalk, 2001)

บทบาทของอาเซียนสำหรับปัญหากลุ่มปลดปล่อยอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก เหตุนี้เป็นเพราะมาจากท่าทีของอาเซียนที่ไม่แทรกแซงปัญหาภายในของประเทศสมาชิก จนบางครั้งส่วนใหญ่ของปัญหาและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกแก้ไขโดยการไกล่เกลี่ย

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าการแพร่หลายของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาการเผยแพร่และแผ่ขยายจนถึงยุคของพ่อค้าวาณิชได้สิ้นสุดลง แต่ขึ้นอยู่กับว่าอิสลามนั้นจะเป็นชนส่วนใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยเท่านั้นเอง  อย่างเช่น ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เช่น อิน​​โดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน อิทธิพลของศาสนาอิสลามมีความมั่นคง และจะเห็นได้จากในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม การเมือง และการปกครอง จนบางครั้งกลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและการประกาศใช้นโยบาย ในขณะที่ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และลาว อิสลามถูกมองว่าเป็นการแพร่หลายของแนวคิดอุดมการณ์การก่อการร้าย ที่ได้ก่อกำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อยต่างๆ ที่นำไปสู่​​ความขัดแย้งและการคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ

 

ที่มา http://indira-a--fisip10.web.unair.ac.id/artikel_detail-48250-MBP%20Asia%20Tenggara-Separatisme%20Islam%20di%20Asia%20Tenggara.html