ความท้าทายของตุรกีในการต่อต้านการก่อการร้าย

 

         ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัดรุสลัน มูฮัมหมัดนูร

แปลและเรียบเรียง  อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด

                          untitled.jpg

ภาพจาก

อีกครั้งที่รัฐบาลตุรกีต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างสาหัส ในการรับมือกับกลุ่มที่มีแนวคิดศาสนาที่สุดโต่ง เหตุการณ์ระเบิดอย่างรุนแรงในเมืองอังการาล่าสุด แสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการก่อการร้ายและความคลั่งไคล้ทางศาสนาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างดี แน่นอนเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวโลก กลุ่มปฏิบัติการพยายามที่จะหาเป้าหมายที่เป็นหน่วยงานความมั่นคง ด้วยการโจมตีขบวนกองทัพตุรกี นอกจากนี้ยังมีพลเรือนที่พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

เหตุการณ์ระเบิดที่เมืองอังการาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีความเกี่ยวโยงกับการมีส่วนร่วมของตุรกีในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในประเทศซีเรียอีกด้วย ด้วยการปราบปรามกลุ่มดาอิซ(ไอเอส) ซึ่งในเดือนนี้อีกครั้งหนึ่งที่อังการาต้องกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี

ปรากฏการณ์การวางระเบิดในครั้งนี้ดูลักษณะมีความต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่แล้ว ที่มีการจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตายในย่านแหล่งท่องเที่ยวในกรุงอิสตันบูล ทำให้นักท่องเที่ยว 10 คนตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน เพราะทางรัฐบาลตุรกีออกมาเปิดเผยว่าการโจมตีดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส

เนื่องจากตุรกีมีพรมแดนติดกับประเทศซีเรีย ตุรกีถูกมองว่าเป็นประเทศกึ่งกลางที่เปิดโอกาสให้กับใครก็ตามที่ต้องการไปยังประเทศซีเรียไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม กลุ่มที่เห็นว่าตุรกีเป็นภัยคุกคามสำหรับกิจกรรมทางทหารของพวกเขา แน่นอนย่อมต้องหาช่องทางที่จะโจมตีและสร้างความสับสนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าว

ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้นำตุรกีที่จะจัดการกับความรุนแรงของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประธานาธิบดีของตุรกีรอยั๊บ ฏอยยิบ อัรดูฆอน และนายกรัฐมนตรีอาห์เหม็ด ดาวูโตกลู ถูกมองว่ามีความพยายามที่จะจัดการกับการกระทำใดๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังมีศัตรูของตัวเองเกิดขึ้น  อย่างเช่นในกรณีเหตุการณ์การลอบวางระเบิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่กลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรียหรือหน่วยพิทักษ์ประชาชนชาวเคิร์ด(YPG) ได้อ้างความรับผิดชอบในการวางระเบิดดังกล่าว

ในขณะเดียวกันสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ตุรกีมองว่าพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน(PKK)เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ถึงแม้ว่าปีกการเมือง PKK ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งเคร์ด (PYD) ได้ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมดังกล่าว

ส่วนการเมืองภายในของตุรกี ณ  ปัจจุบัน ค่อนข้างมีความวุ่นวายอยู่พอสมควร ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกรัฐบาล จำเป็นที่จะต้องจัดขึ้นจำนวนสองครั้ง เพราะพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ไม่สามารถที่จะจัดตั้งพรรคในช่วงการเลือกตั้งครั้งแรกได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคืออิทธิพลของชาวเคิร์ดที่มาแรงมากเกินไป ในขณะที่พวกเขาให้คะแนนโหวตแก่พรรคที่สนับสนุนชาวเคร์ดนั่นก็คือพรรคประชาชนประชาธิปไตย(HDP)

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่สอง ได้เกิดระเบิดขึ้นในสถานที่ชุมนุมของพรรคการเมืองชาวเคร์ด ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ชาวเคิร์ดมองว่ามันเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล(พรรคยุติธรรมและพัฒนา) AKP ในการรับรองความปลอดภัย  และสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการตอบโต้กับสิ่งที่เกิดกับพวกเขา

หลายฝ่ายมองว่าตุรกีเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นทางยุทธศาสตร์สำหรับสภาวะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย เช่นเดียวกันกับความหวังของประเทศมุสลิมจำนวนมาก ที่จะเห็นตุรกีมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ที่พวกเขาเคยมีอิทธิพลในโลกเกือบ 6 ศตวรรษที่แล้ว ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน ที่ครอบคลุมไปถึง แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง คาบสมุทรบอลข่าน และยังสามารถให้ความคุ้มครองกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ประสบการณ์นี้ทำให้พวกเขาย่อมเป็นที่น่าเกรงขามของชาติตะวันตก และตลอดจนประเทศมุสลิมต่างๆ ซึ่งดูได้จากความกล้าหาญของพวกเขา ที่สามารถยิงขับไล่เครื่องบินรัสเซียและยิงตกได้อย่างสำเร็จ

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าตุรกีไม่ได้หวาดกลัวต่อประเทศใดๆ ที่พยายามจะบ่อนทำลายประเทศของเขา ถึงแม้ว่าจะมีบางข้อกล่าวหาที่ถูกโยนไปยังตุรกี แต่ว่าบทบาทของพวกเขาจะไม่มีใครปฏิเสธได้ แม้ในการเจรจาเพื่อหาทางออกในการแก้ไข​​ความขัดแย้งนี้ ตุรกีมิอาจที่จะละทิ้งได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหลายๆ แห่ง รวมถึงการประชุมที่จัดขึ้นในกรุงเจ​​นีวา ตุรกีจะเป็นสมาชิกในการเจรจากระบวนการสันติภาพตามความเหมาะสม

จุดยืนของตุรกีบางครั้งถูกมองว่าไม่มีความชัดเจน เพราะบางครั้งพวกเขาสนับสนุนสหรัฐอเมริกา และมีบางครั้งพวกเขาไม่ให้ความเห็นใดๆ แต่สิ่งที่มีความชัดเจนก็คือ ตุรกีมีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อต้านกลุ่มไอเอสอยู่เสมอ เขายอมให้ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด Pashmegar ข้ามพรมแดนไปยังประเทศซีเรีย เพื่อต่อต้านกลุ่มไอเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตโคบานี ความตั้งใจของตุรกีในการให้ความร่วมมือกับกลุ่ม PAshmegar นี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า พวกเขาได้เห็นชอบร่วมกันในการต่อต้านกลุ่มไอเอสเช่นเดียวกัน

แต่ในกรณีทั้งสองที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มที่โจมตีตุรกีก็เป็นกลุ่มชาวเคิร์ดเช่นเดียวกัน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลตุรกี ด้วยหลักการบางอย่างที่ไม่ได้รับการสนับสนุน จนทำให้พวกเขาได้ก่อขบถต่อประเทศดังกล่าวและปฏิบัติการโจมตีที่ทำให้พลเรือนเสียชีวิต

ในฐานะที่เป็นมุสลิม แน่นอนเราปรารถนาที่จะเห็นโลกใบนี้อยู่ในความสงบ ไม่มีมีความขัดแย้ง เคยมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศ (มาเลเซีย) ได้ให้หัวข้อหนึ่งที่สำคัญในโครงการวิจัยที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง นั่นก็คือ”โลกปราศจากความขัดแย้ง” ช่างมีความวิเศษยิ่งนัก หากความขัดแย้งสามารถหลีกเลี่ยงได้ มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ และอะไรก็ตามที่สามารถแปลกแยกระหว่างเรา แน่นอนนี่เป็นความหวังของทุกคน

อย่างไรก็ตามในหลายๆ กรณี มนุษย์มิอาจที่จะยอมรับความแตกต่างได้ ความขัดแย้งถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น จนทำให้ปัญหาเล็กๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่และยากที่จะแก้ไข

ในบริบทสิ่งที่เกิดขึ้นในอังการา เรามีความรู้สึกร่วมกันพร้อมกับการกล่าวประณามอย่างรุนแรงต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ที่ทำให้เกิดความสูญเสียต่อเพื่อนมนุษย์ พวกเขาคิดว่าเป็นการโจมตีในนามของความยุติธรรม แต่พึงรู้เถิดว่าการกระทำเช่นนั้น ไม่ได้มีแม้แต่อณูหนึ่งในศาสนา มันจำเป็นที่จะต้องมีการห้ามปรามเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น จะเป็นการดีหากสามารถประสานความขัดแย้งนั้นได้

นี่คือเป็นสิ่งที่ศาสนาปรารถนา ผ่านคู่มือในการใช้ชีวิตของมุสลิม อย่างที่พระองค์ได้ตรัสไว้ที่มีใจความว่า “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย......”(อัลหุญร๊อต:9) และอีกโองการหนึ่ง “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย....”(อัล อัมฟาล: 61) นี่คือหลักการที่มุสลิมจะต้องเข้าใจ เพื่อให้เราสามารถสร้างสังคมที่มีความสงบสุขบนหน้าของแผ่นดิน โดยไม่จำเป็นต้องมีการนองเลือดในหมู่ชาวมุสลิมด้วย

สุดท้ายนี้ เพื่อให้เราปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ฉะนั้นในการสร้างโลกที่ปราศจากความขัดแย้งนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาคิดใคร่ครวญอย่างจริงจังโดยมนุษย์ทุกคน เราอย่าได้ติดกับดักของศัตรูอิสลาม ที่อยากจะเห็นประชาชาติมุสลิมนี้แตกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างไม่สิ้นสุด


เกี่ยวกับผู้เขียน เป็นรองผู้อำนวยการ (การวิจัยและการพัฒนา) สถาบันการศึกษาอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยมาลายา

ที่มา http://www.utusan.com.my/rencana/cabaran-turki-banteras-keganasan-agama-1.203622