สัมผัสมลายูโพ้นทะเลเลียบเกาะสมุย ตอนที่ 1
การเดินทางของใครหลายๆคน คงจะมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป และแน่นอน ย่อมต้องประสบพบเจอกับสิ่งต่างๆ ที่เราอาจจะเรียกได้ประสบการณระหว่างทาง ที่แตกต่างกันไปเช่นกัน หลายคนอาจจะกล่าวว่า เป้าหมายของการเดินทางไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของการเดินทาง แต่ระหว่างการเดินทางต่างหากที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราจะได้พบเจอในหลายๆสิ่งที่เราไม่เคยได้พบเจอเลย แต่บางครั้งการเดินทางไปสู่เป้าหมาย ด้วยความตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะพบเจอกับเป้าหมาย คงจะกล่าวได้เช่นกันว่า เป้าหมายที่เราไม่เคยพบเจอนั้นคือประสบการณ์และหมุดหมายสำคัญของการเดินทาง
ผมได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับทีมงาน ปาตานี ฟอร์รัม เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมในจังปัตตานี ที่ทำงานด้านการสื่อสารและเป็นพื้นที่กลางสำหรับการตื่นรู้ในระดับประชาชนรากหญ้า ในการเดินทางครั้งมีจุดปลายทางที่ ชุมชนหัวถนน หมู่ที่1 ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎธานี เราได้พบกับชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นชุมชนที่สร้างความน่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ภาพแรก ที่เราได้เห็นด้วยโสตประสาททางสายตา คือภาพป้ายบอกชื่อร้านอาหาร ที่มี่ชื่อร้านที่มีชื่อว่า “มลายู ซีฟู๊ดแอนด์รีสอร์ท” นี่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎธานี แต่เราพบเจอคำสำคัญซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางในครั้งนี้
ถัดไปอีกหน่อยเราพบกับศาสนสถานหลังหนึ่ง ตั้งตระหง่าน เด่นชัดอยู่ในชุมชนแห่งนี้ มัสยิดอันหมายถึงชุมชนแห่งนี้คือชุมชนมุสลิมแน่ๆ และอาคารชั้นเดียวแบ่งเป็นห้องเรียงรายเป็นระเบียบในรั้วเดียวกันกับ มัสยิดหลังนั้น นี่คือภาพที่คุ้นชินกับสายตาของเราที่ได้พบเห็นภาพคล้ายๆกันในพื้นที่อื่นๆที่เป็นชุมชนมุสลิม อาคารที่แบ่งห้องเรียงรายกันนั้นคือ อาคารเรียน ตาดีกาที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน ศาสนาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชน ผมนึกย้ำอีกครั้งว่า ที่นี่คือเกาะสมุย แต่ทำไมภาพที่สายตาผมสัมผัสได้ จึงมีความคุ้นชินมากมายนัก ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างที่คณะเดินทางกำลังสนทนากับตัวแทนชุมชนอยู่นั้นมีเสียงเจี้ยวจ้าว ของเด็กๆที่กำลังวิ่งเล่นซุกซนตามประสาของเด็ก เสียงเหล่านั้นดึงความสนใจทั้งหมดของผมไปยังต้นเสียง โสตประสาทสัมผัสด้านการได้ยินของผม กลับรู้สึกคุ้นชินในภาษาที่เด็กๆเหล่านั้นกำลังสื่อสารท่ามกลางอารมณ์ความรู้สึกที่สนุกสนานยิ่งนักและท่ามกลางความมึนงงของผมอีกด้วย ผมพยายามย้ำเตือนตัวเองอีกครั้งว่า ผมมาเยือนเกาะสมุย ผมได้พบกับร้านอาหาร “มลายูซีฟู๊ดแอนด์รีสอร์ท” ผมได้พบเจอมัสยิดและอาคารเรียนสำหรับการเรียนการสอนตาดีกา และผมได้ยินการสื่อสารของเด็กๆเหล่านั้น เป็นภาษามลายูถิ่นปาตานี ภาษาที่ผมใช้สนทนากับเพื่อนๆในร้านน้ำชา ภาษาที่ผมใช้สนทนากับเพื่อนบ้าน ผมย้ำเตือนตัวเองอีกครั้งว่า ผมกำลังยืนอยู่ที่มัสยิดบนเกาะสมุย
จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า เด็กๆเหล่านี้คือลูกหลานของใครกัน แล้วใครกันที่พร่ำสอนภาษามลายูให้แก่เขา แล้วใครกันคือคู่สนทนาของเด็กๆเหล่านั้น คำถามเหล่านั้นดังกึกก้องให้หัว ราวกับว่าผมยังคงมึนงงภาพภาพ เสียง และตัวละครที่ผมกำลังพบเห็น นี่คือเรื่องจริง หรือผมนั่งรถผิดคัน หรือคนขับรถเลี้ยวผิดเส้นทางทำให้ผมและคณะเดินไปไม่ถึงเกาะสมุย แต่ไม่ใช่เลย ผมยังคงยืนอยู่ที่เกาะสมุย และคณะเดินทางของเราก็มาถูกที่ ไม่มีการเลี้ยวผิดเส้นทางแต่อย่างใด
เราเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าชุมชนเป้าหมายหรือเป้าหมายที่เราเดินทางจากปัตตานีไปสู่เกาะสมุยนั้น คือการมาเยือนชุมชนคนมลายูที่มาตั้งรกราก ถิ่นฐานที่นี่ แต่เราไม่คาดคิดว่าการรักษาอัตลักษณ์ความเป็นคนมลายูในเรื่องของการใช้ภาษามลายู มีความเข้มแข็งอย่างมาก ในขณะเดียวกันเรากลับรู้สึกว่าเด็กๆที่วิ่งเล่นตามสนามเด็กเล่นในเมืองปัตตานี ยะลา กลับมีวามอ่อนแอในการใช้ภาษามลายู ซึ่งต่างจากเด็กๆที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ในลานหน้ามัสยิดแห่งนี้
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกันว่าชุมชนที่นี่มีกระบวนการอะไรบ้างที่ทำให้การรักษาอัตลักษณ์ด้านการใช้ภาษามลายูเข้มแข็งมากๆ ผมมีเรื่องที่ตะลึงงึงงันอีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้ทุกท่านรับทราบผ่านตัวอักษรที่เรียงรายเป็นประโยคบอกเล่า
คณะเดินทางและทีมงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้อาวุโสในชุมชนแห่งนี้ เปาะจิแว ผู้อาวุโสที่ได้รับความนับถืออย่างสูงในชุมชน ได้เล่าเรื่องราวที่ผมและอีกหลายๆคนคาดไม่ถึงว่าจะมีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้ในชุมชมมลายูต่างถิ่น
เปาะจิแว ผู้อาวุโสท่านนี้ได้เดินทางจากปัตตานีบ้านเกิด ไปอยู่ที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เกาะสมุยในตอนหลัง จากนั้นย้ายทะเบียนราษฎร์มาอยู่ที่นี่สมัยที่พายุพดถล่มแหลมตะลุมพุก บ้านที่ท่าศาลาพังหมดเลย
“เดิมผมคนปัตตานี แม่มาทำงานที่เกาะ ผมนี่อายุราวๆ82 ตอนที่ผมย้ายสำเนามาที่ก็ตอนที่พายุเข้าแหลมตะลุมพุก บ้านที่ท่าลา พังหมด”
ท่านเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของคนมุสลิมที่มาอยู่ที่นี่ สุสาน(กุโบร์)เมื่อก่อนโน้น ใช้ที่ดินร่วมกับวัดเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ไปเอื้ออำนวย ในช่วงเกิดโรคระบาด มีคนตายหลายต่อหลายคน แต่ไม่มีที่จะทำเป็นสุสานได้ ถือเป็นมิติที่อยู่ร่วมกันอย่างเข้ากันระหว่างผู้คนที่มีความต่างกันในมิติของความศรัทธา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม
“ผมทราบและเล่าได้รุ่นถึงรุ่น ผมทราบจากคนแก่ สมัยที่โรคอหิวาระบาด คนที่เป็นโรคนั้นต้องไปอยู่ในป่า สมัยนั้นยังไม่มีสุสาน จึงไปขอที่วัดสีละงู เพื่อทำเป็นสุสาน สุสานเดิมที่เคยใช้ครั้งแรกมีหินเยอะขุดลำบากและมักจะขุดได้ตื้นๆ จึงไปขอพื้นที่จากอาจารย์มี(เจ้าอาวาส)”
“ตอนแรกๆนั้นสุสานเราเหมือนจะใช้ร่วมกัน จนมาตอนหลังๆที่พื้นที่สุสานถูกใช้งานมากขึ้น ทำให้มีการแบ่งเขตกันระหว่างสุสานของพี่น้องมุสลิมและป่าช้าของพี่น้องพุทธศาสนิกชน เราไม่ล้ำเส้นต่อกัน”
ตำนานที่เล่าขานกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่คนรุ่นใหม่อาจจะฟังได้ยาก และคนรุ่นหลังอาจจะยากที่หาอ่านเพื่อความเข้าใจถึงที่มาของชุมชนมุสลิมที่ยังคงใช้ภาษามลายูจนถึงทุกวันนี้ เรื่องเล่าต่างๆ ที่มีมายาวนาน เปาะจิแวเล่าให้ฟังเกี่ยวกับตำนานของเกาะสมุย เป็นเรื่องเล่าฉบับชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่มาของชื่อ ก่อนที่จะได้ชื่อเกาะสมุย ยังรวมไปถึงเรื่องราวที่เคยผ่านมาในหน้าประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เปาะจิแวเล่าให้ฟังว่า เดิมเกาะนี้เรียกตามชื่อชายหนุ่มคนหนึ่งเดินจากกลันตัน มาเลย์เซียเพื่อทำมาค้าขายตามเส้นทางเดินเรือในแถบนี้ และได้หลงทางมาเจอเกาะนี้
“ที่นี่เคยมีชื่อเรียกว่า เกาะซาเล็ม มีคนชื่อซาเล็ม ทำมาค้าขายตามเส้นทางเดินเรือ ซาเล็มได้ทำมาค้าขายไปถึงรัฐ กลันตัน และได้พบเจอสาวนางหนึ่งและแต่งงานด้วยกัน โดยที่นายซาเล็มนั้น ได้โอ้อวดว่า บ้านของเขานั้นใหญ่โต ร่ำรวย ทั้งที่นั่นไม่จริงเลย จนวันหนึ่งภรรยาของนายซาเล็มก็ชวนนายซาเล็มกลับบ้าน นายซาเล็ม ส่งขาวกลับไปยังแม่ว่า จะกลับบ้านแล้ว เตรียมต้อนรับการกลับมาของลูกชาย แต่เมื่อลูกชายกลับมาเทียบท่า ได้พบเจอกับแม่ที่แก่ชรา ทำให้ลูกชายไม่ยอมรับว่านี่คือแม่ตัวเอง นายซาเล็มได้ทำร้ายแม่ของตัวเอง และซาเล็มก็ได้เดินทางกลับกลันตัน แม่ของซาเล็มก็สาปแช่งลูกชาย ทำให้ซาเล็ม เดินทางกลับแล้วหลงทาง นี่คือชื่อเกาะตามเรื่องเล่านั้น”
การตั้งชื่อเกาะต่างๆ มักจะมาพร้อมกับการเดินเรือของเหล่านักเดินเรือจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเดินเรือด้วยเป้าประสงค์อะไร มีเป้าหมายการเดินทางอยู่ที่ไหน แต่ระหว่างการเดินทางมักจะพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆเสมอ เปาะจะเล่าให้ฟังถึงอีกที่มาของคำว่าเกาะสมุย เกาะนี้ได้ถูกค้นพบโดยชาวไหลหลำที่เดินทางตามเส้นทางเดินเรือแล้วมาเจอเข้ากับนี้เมื่อสมัยสงคราม และเรียกชื่อเกาะนี้ว่า เกาะเพิ่งค้นพบ ปูลาบารูตืมมุง แล้วก็เพี้ยนมาเป็นเกาะสมุยในปัจจุบัน
“คนจีนเข้ามาจากเกาะไหหลำหนีสงคราม และวันนึงเรือได้มาพบกับเกาะนี้ และคิดว่าได้กลับบ้านเกิดแล้วจึงเทียบท่าเรือขึ้นฝั่ง แต่พบว่านี่ไม่ใช่เกาะไหลหลำ จึงได้ตั้งรกรากที่นี่ เกาะสมุย มาจากคำว่า ปูลาบารูเตอมุง ”
คนรุ่นแรกๆที่เดินทางมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่มาจากคนที่อยู่ในพื้นที่ติดทะเล ทางตอนใต้ของประเทศไทย และมีอาชีพทำประมงเป็นทุนเดิม บ้างก็เดินทางมาแวะพักระหว่างออกทำการประมง บ้างก็เดินทางมาที่นี่เลย เปาะจิแวให้ข้อมูลที่ถูกบันทึกเก็บไว้ในความทรงจำว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีนักเดินเรือเข้ามาอาศัยมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ด้วย ส่วนใหญ่คนกลุ่มแรกๆที่มา จะมาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
“คนรุ่นแรกที่มาอยู่คือคนจากกลันตัน คนเทพาก็มีแต่มีน้อยน้อย และคนจากหนองจิก ส่วนมากจะมาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยนั้นมาบ้านสร้างบ้านอยู่เลย แรกๆมาอยู่แถวๆ ละไม แถวๆ ฉเวง”
ในท้ายที่สุดชุมชนนี้ก็เกิดมา เมื่อประชากรคนมุสลิมต่างย้ายมาอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ เมื่อชุมชนมุสลิมเริ่มเติบโตขึ้นก็ทำให้คนมุสลิมจากที่อื่นๆย้ายกันมาอยู่ในชุมชนนี้ด้วย ไม่ว่าจะมาจากละไม จากฉเวง เองก็ตามก็ย้ายมาที่นี่กัน เปาะจิแวเล่าว่าที่ดินที่เป็นของท่านขุน ซึ่งเป็นนายอำเภอที่นี่ในสมัยนั้น สมัยนั้นหมู่บ้านที่นี่มีชื่อเรียกว่าหมู่บ้านหน้าค่าย
“ที่ดินนี้ที่นี่เป็นของท่านขุนซึ่งเป็นนายอำเภอที่นี่ สมัยนั้นเรียกว่าหมู่บ้านหน้าค่าย มาจากคำว่า บ้านหน้าค่ายเนื่องจากมีค่ายทหารมาตั้งอยู่ เมื่อทหารถอนกำลังออกจากที่นี่ นายอำเภอจึงปลูกต้นมะพร้าวเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เมื่อตอนที่มะพร้าวออกผล มะพร้าวเหล่านั้นถูกกระรอกกินหมดเลย แล้วก็เรียกคนมลายูมาอยู่มาอาศัย คนมลายูที่ย้ายมาอยู่ในตอนนี้ก็คือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผม สร้างบ้านด้วยฝาผนังที่ด้วยจาก หลังคาทำด้วยทางมะพร้าว”
ชุมชนนี้เคยประสบกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและเกิดรงปะทะระหว่างชาวบ้านในชุมชนกับอำนาจ เมื่อชาวบานถูกร้องขอให้แสดงหลักฐานเรื่องกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน ในขณะที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเพื่อทำมาหากิน โต๊ะแว ผู้อาวุโส อดีตโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดในชุมชน ให้ข้อมูลกับคณะเดินทางของเราว่า ที่นี่รัฐจะยึดคืนเป็นของรัฐ แต่เราอยู่มานานเป็นสิบๆปี จนเกิดปัญหากัน ในท้ายที่สุดเราก็หาทางออกร่วมกันจนได้ เทศบาลได้ระดมทุนเพื่อซื้อที่ดินจากรัฐ และแบ่งขายให้กับชาวบ้านในชุมชน
“เราอยู่มาตั้งแต่เด็กๆจนวันนี้เราอายุปูนนี้ รัฐกลับมาบอกว่า ที่ดินตรงนี้เป็นที่ของรัฐ เราไม่ยอมย้ายไปไหน จนในที่สุด เทศบาลเข้ามาช่วย เทศบาลเข้ามาซื้อที่ดินคืนจากรัฐ แล้วมาแบ่งขายให้ชาวบ้าน ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านมีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย”
อะไรคือแรงดึงดูดให้คนจากที่ต่าง หมายถึงคนมลายูมุสลิมจากบ้านเกิดไปสู่การตั้งรกราก ถิ่นฐานที่เกาะสมุย คำถามสำคัญที่ผมรู้สึกสงสัยและอยากได้คำตอบ ทำไมต้องย้ายไปอยู่ที่สมุย ทำไมไม่กลับบ้านเกิด หรือวิถีมันเปลี่ยนไป โต๊ะแว ผู้อาวุโส อดีตโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดในชุมชนได้บอกกับเราถึงสภาพความสมบูรณ์ สมัยก่อนที่อุดมสมบูรณ์มาก มีปลาชุกชุม สะดวกในการทำมาหากินในอาชีพประมง จึงทำให้มีการย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่
“ปลาที่นี่ชุกชุม สมบูรณ์มาก ออกเรือไม่ไกลเท่าไหร่ก็เจอปลาแล้ว ทำให้หลายๆคนมาถึงที่นี่แล้วย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่ สมัยนั้นมีการทำประมง ทำประมง ทำวันนี้ได้วันนี้ ถ้าสวนยาง ทำวันนี้อีกหลายปีกว่าจะได้”
รากฐานที่สำคัญของชุมชนแห่งคือการยังมีอยู่ของคนรุ่นก่อนที่ตระหนักถึงสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญหน้าในอนาคต และการยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อยังคงอยู่ของศรัทธา ตัวตนของตัวเอง ด้วยการอุ้มชูของสังคมทั่วไปในชุมชน ด้วยการอุ้มชูสิ่งเหล่านั้นด้วยคนในชุมชนเอง กล่าวคือ การย้ายมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่ของมนุษย์นั้นคงมิใช่เรื่องที่แปลกไปจนเกินที่จะทำความเข้าใจ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ต้นตอของการย้ายรกรากหาถิ่นฐานใหม่นี่สิ จากการที่รับฟังเรื่องราวที่มาของชุมชนแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตรของสังคมมนุษย์ที่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย และการเปลี่ยนแปลงนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความต้องการและการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงไว้ซึ่งชีวิต เผ่าพันธุ์มนุษย์นั่นเอง การย้ายถิ่นฐานของมนุษยชาติในหน้าประวัติศาสตร์มากมาย บันทึกไว้คล้ายๆกันและปัจจัยที่หนุนเสริมต่อการย้ายถิ่นฐานมนุษย์นั้นคือเครื่องยังชีพ เพื่อรักษาชีพไว้ ดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของตน ประเด็นที่น่าสนใจของชุมชนแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การดำรงชีพและยังคงสามารถดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เดิมของตนเองไว้ได้ท่ามกลางความเป็นไปของสังคมรอบข้าง การรักษาไว้ซึ่งการสื่อสารด้วยภาษามลายู ยังคงไว้มัสยิดซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน โรงเรียนตาดีกาที่ยังเป็นสถานอนุบาลเพื่อหล่อหลอมให้เยาวชนเป็นหน่วยสำคัญของสังคม ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่มีพลังและเข้มแข็ง
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับชุมชนแห่งนี้ คือการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นไปในวิถีของความเป็นสังคมสมัยใหม่ แน่นอนว่าทุกๆสังคมนั้นย่อมต้องพบเจอกับปัญหาที่ตามมากับความเป็นสังคมสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงไปของสังคม สำหรับชุมชมแห่งนี้ ตัวผมเองยังคงงงงัน ทำไมคนที่นี่จึงยังคงรักษาความเป็นตัวเองได้ ในสภาวะที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของสังคมสมัยใหม่ อะไรที่ทำให้ความเป็นคนมลายูมุสลิมยังคง อะไรที่ทำให้ภาษามลายูยังถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ในชุมชนแห่งนี้ แล้วกระบวนใดบ้างที่ทำให้ชุมชนแห่งนี้ ยังคงเป็นเช่นนี้ดั่งทุกวันนี้
เด็กๆวิ่งเล่นอย่างสนุกสนานเต็มลานมัสยิดเป็นภาพที่ประทับใจเมื่อเห็นเยาวชนใกล้ชิดกับบ้านของอัลลอฮ ทำให้ผมได้สัมผัสบรรยากาศที่รู้สึกยากอีกครั้ง นานมากแล้วที่ผมไม่ได้สัมผัสด้วยอารมณ์หวงหาและปิติเช่นนี้ ลานมัสยิดฟื้นขึ้นอีกครั้งที่ ตาดีกา นูรุลอิซซาน เกาะสมุย หากหวนคืนถิ่นเดิมของผมแล้ว ปัจจุบัน ตาดีกา โรงเรียนอนุบาลที่จะขัดเกลาให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีตามแบบฉบับอิสลาม เริ่มห่างไกลมัสยิดมากขึ้น ในตัวเมืองบางจังหวัดหรือตาดีกาในเมืองบางแห่ง ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งห่างไกลจากมัสยิดมาก ทำให้ลานมัสยิดเงียบเหงา ขาดรอยยิ้มของเด็กๆไป รู้สึกหม่นหมองอย่างเศร้าใจ แทนที่เด็กๆเหล่านั้นจะซึมซับกับมัสยิดที่มุสลิมทุกคนยอมรับว่านั่นคือศูนย์กลางของสังคม
นี่คือเกริ่นเรื่องเล่าที่ได้พบเจอกับความอัศจรรย์ใจ ณ เกาะสมุย ระหว่างการเดินทางร่วมกับปาตานีฟอร์รัม
อ่านต่อตอน 2 http://www.pataniforum.com/single.php?id=565