ข้อสังเกตุกรณีรพ.เจาะไอร้อง

 

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันนี้นักข่าวโทรศัพท์มาหาผม 2 สาย เพื่อสัมภาษณ์ว่าด้วยกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่รพ.เจาะไอร้อง ทว่าทั้งสองครั้งผมกลับติดธุระเรื่องการเรียนการสอนและกำลังเดินทางกลับบ้านจึงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงจะสะดวกที่จะคุยแต่ผมก็ไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้มากอยู่ดี เนื่องจากไม่ได้ติดตามข่าวสารอะไรมากนักในช่วงนี้ ข้อสังเกตต่อไปนี้จึงเป็นเพียงข้อสังเกตจากระยะห่างๆ ละกันนะครับ

คำถามสำคัญของผมคือ ทำไมต้องเป็นโรงพยาบาล

1. ในงานศึกษาทางมนุษยวิทยาชิ้นหนึ่งของหลุยส์ โกลอมบ์ ช่วงปลายปี 1980 ในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย โกลอมบ์ให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลและการรักษาโรคเป็นพิเศษ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทยในการพยายามเข้าควบคุมและทำมวลชนในพื้นที่เป็นสำคัญ แน่นอน การรักษาพยาบาลก็นับว่ามีคุณูปการยิ่งต่อการช่วยเหลือคน ทว่า ความขัดแย้งระหว่างคติการรักษาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นตัวแทนของโลกมลายูกับการรักษาแบบสมัยใหม่อันเป็นตัวแทนของรัฐได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งประเภทหนึ่ง คนจำนวนมากไม่อยากเข้าโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากการไม่อยากยุ่งกับรัฐไทย และบุคคลากรในโรงพยาบาลจำนวนมากก็เป็น "สิแย" ไม่ใช่ "นายู" ปัญหาในช่วงเวลานั้น อาจเป็นเพราะความเป็นธรรมที่คนมลายูจำนวนมากได้รับจากรัฐไทย

2. เหตุการณ์ผ่านไป 30 กว่าปี โรงพยาบาลได้กลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งอีกครั้งและเป็นความขัดแย้งและรุนแรงทางตรงเสียด้วย คำถามคือ ความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลในสามจังหวัด ข้อสังเกตคือ หลังจากปี 2547 เป็นต้นมา ความพยายามด้านหนึ่งของรัฐไทยในการทำงานมวลชนหรือชนะใจชนมลายูในพื้นที่ก็คือ การส่งเสริมให้คนมลายูมีพื้นที่มากขึ้นในโรงพยาบาล โดยเฉพาะสัดส่วนของบุคลากร, ทุนสนับสนุนด้านการเรียนการศึกษา ตลอดจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ยังมีหน่วยงานทางการแพทย์ได้ถูกก่อตั้งโดยมุสลิมเพื่อทำการสนทนาทางความรู้ว่าด้วยหลักการทางศาสนากับแพทย์สมัยใหม่ โรงพยาบาลได้เริ่มกลายเป็นสถานที่ของคนมุสลิม/มลายูมากขึ้น โดยเฉพาะคนมลายูที่ทันสมัย และ "อาจ" เป็นมลายูที่จินตนาการถึงรัฐไทยในแง่สร้างสรรค์ (ในความหมายที่บอกไม่ได้ว่าต่อต้านรัฐหรือสนับสนุนรัฐ) และมองว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่แห่งความหวังประเภทหนึ่ง

3. ทำไมผมจึงให้จุดเปลี่ยนเป็นปี 2547 แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดแบบฉับพลัน แต่ 2547 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าคิด เท่าที่ทราบ ก่อนช่วงเวลานี้ โรงพยาบาลยังคงมีภาพของความอึมครึมอยู่มาก ชาวบ้านในชุมชนยังคงเลือกที่จะไปสถานีอนามัยที่เจ้าหน้าที่เป็นคนนายูก่อนเป็นอันดับแรก แต่หลังจากการสนับสนุนมากมาย การไปโรงพยาบาลเริ่มถือว่าเป็นปกติมากขึ้นและลดทอนความเกร็งและความกลัวลงไปได้มาก นั่นจึงหมายความว่าระยะเวลา ประมาณหนึ่งทศวรรษของความรุนแรงที่ผ่านมา สงครามแย่งชิงมวลชนได้ทำให้ความหมายของคำว่ามลายูเริ่มมีลักษณะที่แตกกระจายมากขึ้น มลายูไม่จำเป็นต้องตรงข้ามกับรัฐ และมลายูก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนรัฐ ทุกวันนี้พื้นที่ระหว่างกลางความขัดแย้งนี้ได้ขยายตัวมากขึ้น โรงพยาบาลในความคิดของคนมลายูจำนวนมากมายคือพื้นที่ของความหวังและความสร้างสรรค์ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและคนกลุ่มนี้ก็อาจจะยังเชื่อในการแพทย์พื้นบ้านเสียด้วยซ้ำ เพราะต่างก็เป็นพื้นที่ของโอกาสทั้งสิ้น

 

                    

                                                                             แหล่งที่มาของภาพ : http://daily.khaosod.co.th/

4. แน่นอน ผมไม่อาจสรุปได้ชัดๆ ถึงสาเหตุความรุนแรงที่รพ.เจาะไอร้องครั้งนี้ ทว่า สิ่งหนึ่งที่พอมั่นใจได้คือ โรงพยาบาลได้กลายเป็นพื้นที่แบบ Contact Zone อันหมายถึงพื้นที่สังคม/กายภาพแบบหนึ่งซึ่งมีการประลองกำลังหรือแย่งชิงการนำทางอำนาจทางวัฒนธรรม จากข้อสังเกตแรก โรงพยาบาลมีลักษณะคล้ายพื้นที่ในการครอบงำของอาณานิคมสยาม ทว่า ในปัจจุบันโรงพยาบาลก็ได้กลายเป็นพื้นที่ของความหวังสำหรับคนมลายูหลายจำนวนมาก ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงในสามจังหวัดมากมายและที่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือ การที่ทั้งรัฐและคนในพื้นที่ต่างใช้โรงพยาบาลเพื่อการรักษาเยียวยามากขึ้น กระทั่งส่งผลให้ความหมายของการเป็นพื้นที่ของเจ้าอาณานิคมสยามจางหายไป ผู้คนในพื้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงความหมายได้มากขึ้น

5. หากเราเชื่อในแบบนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลที่เจาะไอร้องจึงมิใช่ความรุนแรงในรัฐเพียงอย่างเดียว หากเป็นการส่งสัญญาณต่อคนมลายูมุสลิมที่หันไปมีจินตนาการแบบอื่นและสร้างพื้นที่แห่งความหวังในแบบอื่นๆ ที่มิใช่การต่อต้านรัฐ แต่สัญญาณแบบนี้เองก็นับว่าเป็นยุทธวิธีที่ผิดพลาดและไร้ยุทธศาสตร์ที่มั่นคง การกระทำเช่นนี้ของกลุ่มผู้ก่อการ ก็จะยิ่งเป็นการผลักดันในมวลชนที่เค้าเชื่อว่าเป็นมวลชนตีตัวออกห่างมากขึ้น และกลุ่มผู้ก่อการก็จะกลายเป็นฝ่ายถูกโดดเดี่ยวเสียเอง เช่นเดียวกัน ท่าทีของรัฐไทยหลังจากนี้คือสิ่งที่น่าจับตา หากรัฐไทยยังคงพิจารณาผู้คนในพื้นที่ด้วยความหวาดระแวงเหมือนเดิม สักแต่จะใช้อำนาจในการควบคุมและตรวจค้นเหมือนเดิม รัฐไทยก็ไม่ต่างอะไรไปจากผู้ก่อการ

6.ปัจจุบัน เราควรเปลี่ยนมุมมองเรื่องมวลชนในสงครามเสียใหม่ เพราะทุกวันนี้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยทั้งการกระทำของรัฐไทยและกลุ่มผู้ก่อการเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้นและปรากฏในพื้นที่แบบ Contact Zone มากมาย หลักประกันเดียวที่จะทำมวลชนสำเร็จก็คือการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางชีวิตให้กับกลุ่มคนที่อยู่ระหว่างกลางนี้เท่านั้น ให้ชีวิตของพวกเขาได้มีโอกาสสร้างสรรค์และดำเนินสืบต่อไป การทำลายชีวิตและพื้นที่แบบนี้จึงเท่ากับเป็นการทำลายตนเองโดยสิ้นเชิง ในกรณีนี้ ผมค่อนข้างสนับสนุนประเด็นที่ให้มีการทบทวนที่ตั้งของทหารทั้งหมดในภาคใต้ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการและโรงพยาบาล เพราะมันจะเป็นการกระพือให้พื้นที่ Contact Zone มีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น

ลดการใช้ความรุนแรงและกองกำลัง หันมาใช้การเจรจาทางการเมือง

หมายเหตุ : ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นผู้เขียนหนังสือ "มลายูที่รู้สึก"  ซึ่งจัดพิมพ์่ครั้งแรกโดย โครงการจัดพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม