คืนชีพห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
คืนชีพห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
แปลโดย กองบรรณาธิการปาตานีฟอรั่ม
ห้องสมุดอัล-กอรอวียีน (al-Qarawiyyin Library) เมืองเฟส ประเทศโมรอกโก ไม่เพียงแต่เป็นห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกา แต่ยังเป็นห้องสมุดที่ยังเปิดใช้งานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 859 ภายในบรรจุหนังสือโบราณที่เก่าแก่ถึง 12 ศตวรรษ ด้วยความที่อาคารสถานที่ทุดโทรมลงไปมาก ปี ค.ศ. 2012 กระทรวงวัฒนธรรมโมรอกโกจึงว่าจ้างสถาปนิกผู้เป็นสมาชิกโครงการ TED Fellows อซีซา เชานี เป็นผู้ทำการบูรณะเพื่อให้สาธารณะชนได้ใช้งานมันอีกครั้ง แม้ว่าอซีซาจะตกประหม่ากับงานใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์นี้ แต่มันก็สำเร็จลุล่วง ห้องสมุดอัล-กอรอวียีน กำลังจะเปิดตัวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2016 นี้
ห้องสมุดอัล-กอรอวียีน ยังมีแง่มุมประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งเพราะมันสร้างโดยหญิงมุสลิมผู้หนึ่ง เป็นความจริงที่ย้อนแย้งกับกรอบคิดเรื่องสตรีและสาธารณะกุศลในอารยธรรมมุสลิมในยุคนั้น นอกจากห้องสมุด ในพื้นที่เดียวกันยังมีมัสยิดและมหาวิทยาลัยอัล-กอรอวียีน ซึ่ง ฟาติมะฮ์ อัล-ฟิรีฮ์ยะ สตรีผู้ก่อตั้งเป็นบุตรสาวของพ่อค้ามหาเศรษฐีที่อพยพมาจากเมืองไครออาน (ตูนิเซีย ในปัจจุบัน) ด้วยเป็นหญิงที่ถึงพร้อมด้วยการศึกษาและศรัทธาต่ออิสลาม ฟาติมะฮ์ ปฏิญาณว่าเธอจะใช้มรดกทั้งหมดเพื่อการสร้างมัสยิดและศูนย์การศึกษาให้แก่สังคมมุสลิม จนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยอัล-กอรอวียีน ที่องค์การยูเนสโกยกให้เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังเปิดทำการ โดยมีรายชื่อศิษย์เก่าผู้โดดเด่นในประวัติศาสตร์ อาทิ กวีและนักปรัชญา อิบนุ อัล-อราบี ที่เข้าศึกษาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ นักประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ อิบนุ คอลดูน ที่เข้าศึกษาในศตวรรษที่ 14 อัล-กอรอวียีน เป็นแหล่งถ่ายโอนความรู้ระหว่างโลกมุสลิมและยุโรปที่สำคัญยิ่ง
โถงทางเข้าห้องอ่านหนังสือในห้องสมุด อัล-กอรอวียีน ภาพ: Aziza Chaouni
สภาพที่ทรุดโทรมของห้องสมุดหมายถึงหนังสือโบราณล้ำค่าที่ตกอยู่ในความเสี่ยง “ตอนไปที่นั่นเป็นครั้งแรก ฉันตกใจมากกับสภาพของสถานที่” เชานี เล่า “ห้องหับที่เก็บหนังสือมีค่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เพดานก็มีรอยแตกร้าว” ตำราเก่าแก่ครอบคลุมองค์ความรู้หลายศตวรรษทั้งด้านศาสนศาสตร์ กฎหมาย ไวยากรณ์ภาษา และดาราศาสตร์จึงนับว่าตกอยู่ในอันตราย ปกติแล้วห้องสมุดนี้อนุญาตให้นักวิชาการเท่านั้นสามารถเข้ามาค้นคว้าตำรา ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จึงไม่เปิดสำหรับคนทั่วไป จนเมื่อปี 2012 Arab Bank ของคูเวตได้ให้ทุนเพื่อการอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรมแก่กระทรวงวัฒนธรรมโมรอกโก ทางกระทรวงฯ จึงว่าจ้างสถาปนิกหญิง อซีซา เชานี ให้ปรับปรุงทั้งในส่วนของตัวอาคารและเอกสารล้ำค่าภายใน เตรียมให้มันกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่
น้ำพุและสวนหย่อมกลางแจ้งในระหว่างการปรับปรุง ภาพ: Aziza Chaouni
การฟื้นคืนชีวิตให้ห้องสมุดเก่าแก่ 1,157 ปีคืองานหินที่นำพาไปพบเรื่องน่าอัศจรรย์มากมาย หลายศตวรรษที่ผ่านมาห้องสมุดแห่งนี้มีการต่อเติมอาคารอย่างไม่มีแบบแผน แต่ละหลังตั้งอยู่ต่างระดับบนผาที่สูงชัน เชานี จึงต้องทำงานหนักในการเชื่อมโยงและปรับอาคารเหล่านั้นให้มีมาตรฐานเดียวกัน “ห้องสมุดนี้มีการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังมีปัญหาพื้นฐานอีกหลายอย่าง การขาดฉนวนกันความร้อน โครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุด เช่น ระบบระบายน้ำที่อุดตัน กระเบื้องที่แตก คานไม้ที่ปริแตก สายไฟที่ชำรุดมีลวดโผล่ และอื่นๆ” เชานี เล่าปัญหาในรายละเอียด
ทางเข้าห้องอ่านหนังสือหลักที่มีการซ่อมกระเบื้องปูพื้น ภาพ: Aziza Chaouni
การบูรณะไปพร้อมกับการคงเสน่ห์ดั้งเดิมของห้องสมุดโบราณทำให้ต้องพบปัญหาใหญ่ เช่น ความยากในการหาวัสดุซ่อมแซมที่เหมือนของเดิม อย่างกระเบื้องโมเสกวินเทจส่วนที่หลุดหาย ราวบันไดไม้และคานเพดานไม้ที่แตกร้าว ไปจนถึงการทำความสะอาดลายสลักปูนปลาสเตอร์ที่ละเอียดอ่อนไม่ให้เสียหาย โครงการนี้ยังนำไปสู่การค้นพบอันน่าตื่นเต้นหลายอย่าง “ความระทึกอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูอาคารที่เก่าแก่ขนาดนี้คือคุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะเจออะไรข้างในผนัง คุณอาจจะลอกมันออกและเจอกับภาพเขียน เอาภาพเขียนออกแล้วเจอประตู และอื่นๆ เราเจอบางอย่างที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะที่ใต้ดินอย่าง ระบบระบายน้ำเสียที่เก่าแก่หลายร้อยปี”
ฟื้นอดีต มองอนาคต นอกจากมุ่งสงวนของเดิม เชานี ยังคำนึงถึงการใช้งานของผู้คนในศตวรรษที่ 21 เป็นหลักด้วย “ฉันไม่ได้อยากให้อาคารกลายเป็นศพอาบยา!” เธอกล่าว “มันจะต้องมีความสมดุลระหว่างการรักษาพื้นที่ดั้งเดิมที่ใส่ใจความต้องการของผู้ใช้งานปัจจุบัน ทั้งนักเรียน นักวิจัย และนักท่องเที่ยว กับการนำเอาเทคโนโลยีพลังงานที่ยั่งยืนมาใช้อย่าง แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และการผันน้ำมาใช้ในสวน และอื่นๆ”
อีกส่วนที่นับว่าโหดหินคือการซ่อมแซมน้ำพุ ด้วย อัล-กอรอวียีน ตั้งอยู่ใน ‘เมดีนาแห่งเฟส’ เขตเมืองเก่ามรดกโลกของยูเนสโกที่แน่นขนัดและจอแจ น้ำพุแห่งต่างๆ เชื่อมโยงกับระบบน้ำของเมืองที่เก่าแก่ซับซ้อน เชานี จึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการปรับปรุงน้ำพุในสวนหย่อมที่มีมาแต่เดิม และต้องต่อเติมจากศูนย์ในบางส่วนโดยใช้วัสดุและเทคนิคก่อสร้างของท้องถิ่น และนำเอาระบบประหยัดพลังงานมาใช้
ห้องอ่านหนังสือหลักมีการปรับแสงให้สว่างขึ้นด้วยการวางระบบแสงใหม่และเพิ่มโคมระย้าขนาดใหญ่ที่กลางห้อง ภาพ: Aziza Chaouni
กว่าสามปีกับงานบูรณะแห่งประวัติศาสตร์ ห้องสมุดแห่งนี้กำลังจะเปิดตัวขึ้นใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2016 และต่อไปนี้สาธารณชนจะสามารถเดินเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ที่มีทั้งห้องอ่านหนังสือ ห้องประชุม ห้องแลปสำหรับซ่อมแซมหนังสือโบราณ และชุดหนังสือที่หายาก พร้อมออฟฟิศปฏิบัติการและร้านกาแฟที่สร้างขึ้นใหม่ เชานี ใช้ชุดเฟอร์นิเจอร์จากช่างฝีมือท้องถิ่น ที่ใช้ไม้จากท้องถิ่น และยังเพิ่มร่มในสวนหย่อมเพื่อกันน้ำค้างและแสงแดดในฤดูร้อน ส่วนของห้องใต้โดมจากศตวรรษที่ 12 จะใช้เป็นที่จัดนิทรรศการทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เชานี ที่ทั้งเหนื่อยล้าและภาคภูมิใจกำลังอยู่ในช่วงเก็บงานในโค้งสุดท้าย และรอคอยที่จะได้ต้อนรับแขกหน้าใหม่ของห้องสมุดอัล-กอรอวียีน “ทั้งชาวโมรอกโกและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้ยลหนังสือโบราณที่หายากและน่าทึ่งบางส่วน และยังได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมไปด้วย”
แหล่งที่มา http://ideas.ted.com/restoring-the-worlds-oldest-library/