7 วิธีดึงตุรกีกลับสู่ ‘อิสลาม’ ของประธานาธิบดีตอยยิบ แอร์โดอาน

 

 

 

ตุรกียุคใหม่เกิดมาจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันและระบบรัฐคอลิฟะฮ์ เคมาล อตาเติร์ก ซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งประเทศตุรกีได้นำพาการปฏิรูปหลากหลายด้านที่มีผลลดทอนบทบาทของศาสนาอิสลาม โรงเรียนระบบมาดรารอซาห์ถูกยกเลิก มีการห้ามแต่งกายตามธรรมเนียมศาสนา เสียงอาซานถูกเปลี่ยนจากภาษาอาหรับเป็นภาษาตุรกี ทั้งยังเกิดกฎหมายตามครรลองโลกวิสัยอีกมากมายที่ขับเคลื่อนตุรกีมาหลายทศวรรษจนทุกวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีในปัจจุบัน นายรอยยิบ ตอยยิบ แอร์โดอาน (Rayip Tayyib Erdoğanกำลังคร่ำเคร่งกับภารกิจหมุนกลับกฎหมายที่วางรากฐานไว้โดย อตาร์เติร์ก อันมีอิทธิพลมากต่อชาวตุรกี ทำให้ตุรกีกลับสู่ความเป็นอิสลามที่เข้มข้นอีกครั้ง

 

 

  • 1. สร้างมัสยิดนับพันแห่ง

โครงการ Çamlıca Mosque Complex ที่จุคนถึง 35,000 คน กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 

ภาพ: Ali Aksoyer/สำนักข่าว DHA อิสตันบูล

 

ตามรายงานของนิตยสาร The Atlantic ช่วงปี 2002-2013 มีมัสยิดที่สร้างเสร็จไปแล้วถึง 17,000 แห่งโดยรัฐบาลตุรกี และยังมีอีกหลายแห่งทั่วประเทศที่อยู่ในแผนงานปัจจุบัน ทั้งนี้มีการทุ่มเงินอย่างมหาศาลเพื่อซ่อมบำรุงมัสยิดเก่าแก่จากยุคออตโตมัน


2. เลิกแบนฮิญาบ

 

 

ฮิญาบเคยเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในส่วนราชการ สำหรับบุคคลในอาชีพครู นักกฎหมาย สมาชิกรัฐสภา และตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรภาครัฐ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาพรรคยุติธรรมและการพัฒนาได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทั้งในโรงเรียนและองค์กรรัฐ จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ไอแซง กูร์จัง ได้กลายเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่สวมฮิญาบ (ข้อมูลจาก Al Arabiya)

 

 

3. นักเรียนหลักล้านเข้าโรงเรียนศาสนา

 

 

โรงเรียนระบบอิมาม-ฮาทิป (Imam-Hatip School) ในตุรกีเป็นสถาบันประเภทอาชีวศึกษาสำหรับการเรียนการสอนศาสนา และยังเป็นสถาบันฝึกหัดสำหรับอิหม่ามที่แพร่หลายอย่างมากในตุรกี มัสยิดในตุรกีล้วนได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐบาลและมีอิหม่ามจำนวนมากผ่านการฝึกทักษะจาก อิมาม-ฮาทิป โรงเรียนแนวนี้เกิดขึ้นหลังจากโรงเรียนระบบมาดราซาห์หมดไปจากตุรกี อันเป็นผลการปฏิรูปครั้งใหญ่ของอตาเติร์ก 

 

ปี 2002 มีนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียนระบบอิมาม-ฮาทิปจำนวน 65,000 คน ตัวเลขเติบโตไปอยู่ที่ 658,000 ในปี 2013 และเมื่อเร็วๆ นี้ นายบิลาล แอร์โดอาน (บุตรชายนายรอยยิบ ตอยยิบ แอร์โดอาน (Rayip Tayyib Erdoğan) หัวหอกในการขยายจำนวนของโรงเรียนอิมาม-ฮาทิป ได้ประกาศว่าตัวเลขนักเรียน ณ ปัจจุบันถึงหนึ่งล้านคนแล้ว (ข้อมูลจาก The Turkey Analyst)

 

4. ให้ศาสนาเป็นวิชาบังคับ


(สำนักข่าว Agence France-Presse /Getty Images)

 

รัฐบาลตุรกีได้บรรจุวิชาศาสนาภาคบังคับในโรงเรียนทั่วประเทศ จึงเกิดการเรียนการสอนวิชาอย่าง “ชีวิตของศาสดามูฮัมหมัด” และ “อัลกุรอาน” (ข้อมูลจาก The Turkey Analyst)

 

ประธานาธิบดีตรุกี กล่าวว่า  “เราต้องการสร้างเยาวชนที่ยึดมั่นในศาสนา”

 

“คุณคิดว่าพรรคอนุรักษ์นิยมประชาธิปไตยอย่างพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AK Parti) จะสร้างยุคของคนที่ปฏิเสธพระเจ้างั้นหรือ ? นั่นมันธุระของคุณ ภารกิจของคุณ ไม่ใช่ของเรา สำหรับเราจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและมีหัวอนุรักษ์ ที่เชิดชูค่านิยมและหลักการของชาติ”

 

5. เด็กเล็กเรียนกุรอานได้

 

 

ก่อนหน้านี้ในตุรกีเยาวชนจะต้องมีอายุอย่างต่ำ 12 ปีจึงจะสามารถเข้าชั้นเรียนวิชาอัลกุรอาน แต่รัฐบาลปัจจุบันได้ยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว โดยในปี 2013 ได้เกิดโครงการมารองรับแนวคิด “กุรอานสำหรับวัยอนุบาล” ของรัฐบาล (ข้อมูลจาก The Turkey Analyst) 

 

6. กระชับพื้นที่ขาย/โฆษณาสุรา

 

 
(ภาพ: Cihan/Ria Novosti)

 

ตุรกีในครรลองโลกวิสัยที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมิได้ห้ามการค้าสุรา แต่เมื่อปี 2013 พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา ได้ผ่านพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะ 100 เมตรจากมัสยิด หรือ โรงเรียน

 

ทั้งนี้ยังมีการให้เบลอภาพเครื่องดื่มมึนเมาในโทรทัศน์และภาพยนตร์ (ข้อมูลจาก Reuters) และไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มมึนเมาในบริเวณหอพักนักศึกษา สถาบันส่งเสริมสุขภาพ สปอร์ตคลับ สถานศึกษา และปั๊มน้ำมัน และห้ามขายสุราหลังสี่ทุ่มในทุกที่ (ข้อมูลจาก Hurriyet Daily News)

 

 

7. ขยายธนาคารอิสลาม

 

 

 

ธนาคารระบบอิสลามในตุรกีเติบโตอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา โดยธนาคารของรัฐอย่าง Ziraat Islamic Bank นั้นคาดว่าจะขยายเป็น 170 สาขาในปี 2018 (ข้อมูลจาก Daily Sabah) ในการปาฐกถาเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีนายรอยยิบ ตอยยิบ แอร์โดอาน (Rayip Tayyib Erdoğanเรียกธนาคารระบบดอกเบี้ยว่าเป็นความ ‘โหดร้าย’และกล่าวถึงข้อได้เปรียบของธนาคารระบบอิสลามว่า 

 

“หากเราต้องการก้าวกระโดดไปข้างหน้า เราจะต้องเติบโตในระบบที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ระบบที่โหดร้าย การเงินแบบอิสลามแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบธนาคารในปัจจุบันในแง่ของโครงสร้างที่ใช้หลักทรัพย์หนุนหลัง การตั้งอยู่บนหลักกระจายความเสี่ยง และโครงสร้างที่ป้องกันการเก็งกำไร ผมเชื่อว่าระบบนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจตุรกี”