5 ข้อที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับชาวไวกิ้งและอารยธรรมมุสลิม

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                         แปลและเรียบเรียงปาตานีฟอรั่ม

                                                                             แหล่งที่มา  http://www.1001inventions.com/node/1672

 


แหวนสลักภาษาอาหรับที่พบในสวีเดน ในหลุมศพของหญิงชาวไวกิ้งจากคริสต์ศตวรรษที่ 9

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 สำนักข่าวระดับโลกพากันประโคมข่าวเกี่ยวแหวนวงหนึ่งที่ขุดพบในหลุมศพของหญิงชาวไวกิ้ง ณ สุสานเก่าแก่ แหวนวงนั้นสลักภาษาอาหรับคำว่า ‘แด่อัลลอฮ์’

บ้างเรียกแหวนดังกล่าวว่า “แหวนลึกลับ” บ้างขบคิด ถกเถียง กันอย่างจริงจัง พร้อมเสนอสมมติฐานต่างๆ ว่ามันเดินทางไปถึงสวีเดนได้อย่างไรและเพราะเหตุใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่หลักฐานเดียวที่บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์ระหว่างชาวไวกิ้งและอารยธรรมมุสลิมที่โลกเคยบันทึกไว้

เรามาดูกันว่า 5 ข้อเกี่ยวกับชาวไวกิ้งและอารยธรรมมุสลิมอันน่าทึ่งมีอะไรบ้าง:

 

หน้าจากสมุดบันทึกการเดินทางของ อิบนุ ฟัดลัน และ อัล- อิดรีซี ที่เล่าถึงพวกรุส/ชาวไวกิ้ง และภาพวาดเจ้าชายโอเลกแห่งนอฟโกรอด ฝีมือของศิลปิน วิกเตอร์ วาสเน็ทซอฟ

 

คาดกันว่าบันทึกที่น่าจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายและมีเนื้อหาขนาดยาวที่สุดน่าจะเป็นบันทึกของนักเดินทางจากอารยธรรมมุสลิมนามว่า อาห์เหม็ด อิบนุ ฟัดลัน  จากคริสต์ศตวรรษที่ 10 อย่างไรก็ตามยังมีปราชญ์มุสลิมยุคโบราณอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น มูฮัมหมัด อัล-อิดรีซี (ค.ศ. 1100-1165) อิบนุ คอร์ดัดเบ (820-910) อัล-ตอตุชี (1059-1127) อัล-มัซอูดี (896-956) อัล-มุคัดดาซี (940-991) อิบนุ รุสตา (ศตวรรษที่ 10)  มิซกะวายฮ (932-1030) อิบนุ ฮอคอล (ศตวรรษที่ 10) อะห์หมัด อัล-ยะกูบี (897-898) อิบนุ กุติยา (ศตวรรษที่ 10) ยากุต อัล-รูมี (1179-1229) ยะห์ยา อิบนุ ฮากัม อัล-บะกรี (772 - 866) อัล-มักกอรี (1578-1632) และ อิบนุ อัล-อะษีร  (1160-1233) ที่ได้พรรณนาไว้ถึงพวกซาคอลีบะฮ์ (saqalibah) ซึ่งเป็นคำที่เริ่มใช้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 10 หมายถึง “ประชากรยุโรปกลาง ตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีผมสีอ่อน ใบหน้าแดงเรื่อ”

ยกตัวอย่างเช่น ในบันทึกของนักสำรวจและภูมิศาสตร์จากคริสต์ศตวรรษที่ 10 อิบนุ รุสตา มีการพรรณนาถึงเผ่าไวกิ้งเอาไว้ว่าเขาเหล่านั้น “หล่อเหลา สะอาดสะอ้าน และแต่งกายดี” ไม่เพียงเท่านั้นยังแสดงความชื่นชมด้วยท่อนความพรรณนาที่ว่า

" เครื่องนุ่งห่มของพวกเขาสะอาดอยู่เสมอ บุรุษประดับกายด้วยปลอกแขนทองคำ… พวกเขาเอื้อเฟื้อต่อกัน ให้เกียรติแก่อาคันตุกะ และปฏิบัติอย่างดีต่อผู้ที่มาขอพำนักหลบภัย และใครก็ตามที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน จักมิให้ผู้ใดมาก่อกวนหรือทำอันตรายคนเหล่านั้น และหากใครหาญมากระทำอยุติธรรมต่อคนเหล่านั้น พวกเขาจะออกหน้าช่วยเหลือปกป้อง " 

แม้แต่ อิบนุ ฟัดลัน ที่ไม่ได้ชื่นชมในประเด็นความรักสะอาดเหมือนรุสตา ยังออกปากว่าพวกไวกิ้งเป็น “ตัวอย่างของกายาที่สมบูรณ์แบบ” ทั้งยังพรรณนาว่าพวกเขานั้น “สูงเหมือนต้นอินทผาลัม”  ซึ่งการเปรียบเปรยเช่นนี้ถือเป็นการยกย่องอย่างสูงที่ไม่ได้ออกจากปากชาวอาหรับง่ายๆ ในยุคนั้น 

 

แผนที่อธิบายการการรุนรานยุโรปของชาวมุสลิม แมกยาร์ และไวกิ้ง ช่วงศตวรรษที่ 10

 

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่  8-11 เป็นที่ทราบกันดีว่าชนเผ่าไวกิ้งเป็นนักท่องโลกที่แผ่ขยายครอบคลุมหลายพื้นทวีป ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่านี่เป็นความเก่งกล้าสามารถที่ไม่เคยมีชนชาติใดทำได้มาก่อน

การเดินทางของชาวไวกิ้งว่ากันว่ากินระยะทางไกลจากยุโรปตอนเหนือมาจนถึงเอเชียกลาง จากจุดนี้มีแหล่งข้อมูลที่ระบุลึกลงไปอีกว่าชาวไวกิ้งมีสายสัมพันธ์กับอารยธรรมมุสลิมตื้นลึกเพียงใดในโบราณกาล แม้ว่าชาวไวกิ้งจะรุกรานแย่งชิงหลายเมืองทั้งในยุโรปตะวันตกและตะวันออก มีนักประวัติศาสตร์ระบุว่าในดินแดนของมุสลิม เช่น แว่นแคว้นต่างๆ ที่ปกครองโดยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์  ชาวไวกิ้งได้พบกับ “ย่านการค้าที่เหนือความคาดฝัน”

แม้ว่าในแคว้น อัล-อันดาลุส ผู้คนจะไม่ได้ชื่นชอบพวกไวกิ้งนัก แต่การรุกรานของไวกิ้งก็บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งและกลการศึกที่มีอานุภาพ มีแหล่งข้อมูลระบุข้อความแก้ต่างของนักโบราณคดี บียอร์น เมียร์ ให้กับชาวไวกิ้งที่ว่าจริงๆ แล้ว “พวกเขา [ไวกิ้ง] ไม่ใช่พวกป่าเถื่อนกักขฬะ พวกเขารู้ดีถึงแรงกดดันทางการทหารและระบบความคิดที่ตนกำลังเผชิญอยู่”

มีท่อนความหนึ่งจากบทความของ โอมาร์ มุไบดิน ที่บรรยายว่า “ไวกิ้งทัพหนึ่งได้บุกตีเมืองลิสบอน เซบียา กาดิซ และอัลเจซิราซ ของอาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบา และอซิลาฮ์ ของโมรอกโก กองทหารขององค์อามีรโต้ตอบด้วยการล้อมจับทัพไวกิ้งนั้นที่แม่น้ำกวาดัลกีบีร์ ทำลายเรือ 30 ลำ และฆ่าพวกไวกิ้งไป 1,000 ชีวิต…”  

 

วัตถุโบราณจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติฟินแลนด์: เหรียญกษาปณ์ของชาวมุสลิม อังกฤษ เยอรมัน และเหรียญรุ่นล่าสุดที่ผลิตในช่วงปี 1006-1029 

 

ชาวไวกิ้งและมุสลิมได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์กลางการค้า เช่น เคียฟ และนอฟโกรอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางการค้าวอลกา” (ตามชื่อแม่น้ำ) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ซึ่งชนชาติมุสลิมได้เริ่มบันทึกเรื่องราวของชาวไวกิ้ง หรือพวก รุส ตามการเรียกในภาษาอาหรับ

เชื่อกันว่าขุมทรัพย์เหรียญกษาปณ์อาหรับที่ถูกเก็บเป็นความลับนั้นคือ “พลังขับเคลื่อนของยุคไวกิ้ง” ยิ่งไปกว่านั้น ว่ากันว่าเหรียญอาหรับมีอิทธิพลมากจนกระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-12 ถูกใช้เป็นหน่วยเงินกลางในเมืองยอร์คและดับลินที่ถูกยึดครองโดยชาวไวกิ้ง

อันที่จริงความปรารถนาในเหรียญเงินอาหรับอันมีค่าเหล่านี้เอง ที่ทำให้ชาวสแกนดิเนเวียจำต้องดั้นด้นไปทางบูรพาทิศแต่แรก บันทึกของ มัซอูดี เล่าไว้ว่าพ่อค้าวาณิชจากอารยธรรมมุสลิมโบราณกระหายที่จะ “ครอบครองหมวกและเสื้อคลุมทำจากขนจิ้งจอกดำ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเสื้อขนสัตว์ที่มีค่าสูงสุด”  

พวกไวกิ้งยังต้องเผชิญหน้ากับ “พวกเติร์กโดยเฉพาะเผ่ากาซาร์และบัลการ์ ที่กุมอำนาจอยู่ในภูมิภาคในขณะที่พวกรุส [ไวกิ้ง] ไปถึง บันทึกมักระบุว่าพวกเติร์กนั้นแข็งแกร่งเพียงใด พวกรุสหาใช่จะเหวี่ยงดาบและยึดเอาได้ง่ายๆ” โจนาธาน คลีเมนส์ ระบุว่า “พวกไวกิ้งไม่ยุ่งกับโลกมุสลิม แต่เลือกที่จะทำงานเป็นทหารรับจ้างให้กองทัพมุสลิม หรือแลกเปลี่ยนสินค้าที่สูงค่าระหว่างกัน…. พวกเขา [ไวกิ้ง] อาจเป็นผู้รุกรานที่ปลายเส้นทางการค้าทางฝั่งยุโรป แต่ที่ฝั่งตะวันออกกลาง พวกเขาคือพ่อค้า…” 

" ข้าพเจ้าได้พบกับพวกรุส [ไวกิ้ง] ครั้งที่พวกเขาเดินทางมาค้าขายและตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่ริมแม่น้ำ(วอลก้า)…” (อิบนุ รุสตา)  “พวกเขา [ไวกิ้ง] ปฏิบัติอย่างดีต่อข้ารับใช้ และแต่งกายได้น่าชมนัก เนื่องด้วยพวกเขาเป็นวานิชที่เก่งฉกาจ” (อาห์เหม็ด อิบนุ ฟัดลัน) "

 

 รำลึกถึงนักแสดง โอมาร์ ชาริฟ (ซ้ายมือ) ที่เพิ่งล่วงลับ นี่เป็นภาพจากหนังเรื่อง “The 13th Warrior" ปี ค.ศ. 1999 ที่เล่าถึงนักเดินทางชาวอาหรับนามว่า อาห์เหม็ด อิบนุ ฟัดลัน ซึ่งแสดงโดย แอนโตนิโอ แบนเดราส มีการประกาศอุทิศหนังเรื่องสุดท้ายของ ชาริฟ “1001 Inventions and the World of Ibn Al-Haytham” เป็นเกียรติแก่คุณนานุคุณที่เขาทิ้งไว้ให้แก่วงการภาพยนตร์ ( www.1001inventions.com/omar_sharif)

 

หนึ่งในหลักฐานที่ระบุเรื่องชาวไวกิ้งเข้ารับอิสลาม คือบันทึกของ นักภูมิศาสตร์จากอารยธรรมมุสลิมในศตวรรษที่ 16 นามว่า อามิน ราชี แหล่งข้อมูลระบุว่าราซี ได้กล่าวไว้ว่า 

" เขาเหล่านั้น [พวกไวกิ้ง] ชื่นชอบเนื้อสุกรมาก แม้แต่คนที่เข้ารับอิสลามแล้วก็ยังเฝ้าฝันถึงมัน และยังคงชอบเนื้อสุกรเป็นอย่างมาก "

 

บทความของ โอมาร์ มุไบดิน ระบุไว้ว่า “พวกไวกิ้งจู่โจมอาณาจักรมุสลิมและคริสต์นับครั้งไม่ถ้วน ในที่สุดพวกไวกิ้งที่เข้ารับอิสลามและมาปักหลักอาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเซบียากลับเป็นที่เลื่องลือในฐานะแหล่งผลิตเนยแข็งให้กับกอร์โดบาและเซบียา"”

สารคดีของ BBC ชุด “History of the World: Into the Light” โดย แอนดรูว์ มาร์ เล่าว่าพวกไวกิ้งในรัสเซียนั้นเกือบจะพากันเข้ารับอิสลามในช่วงแรกๆ ที่กษัตริย์ของตนยังตัดสินใจไม่ได้ว่าศาสนาของโลกศาสนาใดจะเหมาะสมที่สุดกับชนชาติตน

 

                                    แหวนจารึกภาษาอาหรับที่พบในหลุมศพของหญิงเผ่าไวกิ้ง (แหล่งที่มา)

 

ตามข้อมูลในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2015 กลุ่มนักโบราณคดีในอดีตสังเกตเห็นว่าในบริเวณที่ขุดพบซากของหญิงที่น่าจะถูกฝังช่วงราวๆ ศตวรรษที่ 9 นั้น มีแหวนเงินวงหนึ่งซึ่งประดับหัวแหวนด้วยหินสีม่วงฝังอยู่ด้วย อันที่จริงแหวนวงนี้ถูกพบตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่สิ่งสลักบนหัวแหวนนั้นเพิ่งจะได้รับการยืนยันเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นภาษาอาหรับเขียนในแบบเหลี่ยม ใจความว่า “อิล-ลัล-ลอฮ์” ซึ่งแปลว่า “แด่อัลลอฮ์” ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าของหญิงที่ขุดพบจะเสื้อผ้าในแบบชาวสแกนดิเนเวียโบราณทั่วไป แต่ซากร่างกายที่ผุกร่อนทำให้นักวิจัยและนักโบราณคดีไม่สามารถชี้ชัดถึงเชื้อชาติศาสนาของเธอ ทำให้เกิดข้อฉงนสนเท่ ว่าแหวนนี้คือของที่ยึดมาจากสงคราม คือของขวัญ หรือเป็นเครื่องแต่งกายปรกติของเธอผู้นั้น หรือเธอได้หันมาเข้ารับอิสลาม เป็นสิ่งที่เรายังไม่พบคำตอบ

แหวนวงนี้ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สวีเดน - historiska.se

เป็นที่ทราบกันว่าหญิงเผ่าไวกิ้งนิยมสวมใส่เครื่องดับหลายชิ้น มีข้อมูลระบุว่า อิบนุ ฟัดลัน เองก็เคยเล่าถึงหญิงเผ่ารุส (ไวกิ้ง) ซึ่งสวมกำไลคอทองคำและเงิน:

 

" [นางมี] กำไลคอ 1 วง ต่อทรัพย์สินจำนวน 10,000 เหรียญอาหรับของสามี บางคนมีหลายวง เครื่องประดับที่มีค่าสูงสุดคือลูกปัดดินสีเขียวใสที่พบบนเรือ พวกเขาค้าขายลูกปัดในหมู่พวกเดียวกัน และจ่าย 1 เหรียญ         ต่อลูกปัดหนึ่งลูก เอาไว้ร้อยเป็นสร้อยคอ…"

 

ทั้งแหวนปริศนา เหรียญอาหรับที่ขุดพบ อีกทั้งหุ่นปั้นนักดาราศาสตร์มุสลิมที่ประดับอยู่บนนาฬิกาดาราศาสตร์ในมหาวิหารลุนด์ และที่อื่นๆ ในยุโรป เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าควรจะต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อค้นหาโบราณวัตถุที่จะช่วยบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับมุสลิม

ตัวอย่างการค้นพบที่กล่าวถึงข้างต้น แสดงถึงสายสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนที่ร้อยโยงอารยธรรมมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมมาหลายต่อหลายศตวรรษ และยังชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เบ่งบานในสถานที่ที่ถูกมองข้าม และสะท้อนในภาษาที่ถูกมองข้าม

การศึกษาต่อยอดในประเด็นนี้ ยังจะช่วยจุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับอารยธรรมต่างๆ ในอดีตต่อไป สิ่งค้นพบอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้มีที่มาที่ไป ความเข้าใจผิดและการขาดข้อมูลของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคนั้นๆ ต่างหาก ที่ทำให้เรานิ่งเฉย ไม่ขุดค้นแสวงหาสมบัติทางประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งอื่นๆ ที่อาจอยู่แค่ปลายจมูก
 

จิตรกรชาวโปแลนด์ เฮนดริค ไซมิราดสกี เขียนภาพพิธีศพตามธรรมเนียมไวกิ้งในดินแดนที่ปัจจุบันคือรัสเซีย ตรงกับคำบรรยายของ อาห์หมัด อิบนุ ฟัดลัน มีบทวิเคราะห์ใหม่หลายชิ้นชี้ว่าบันทึกของฟัดลันและชาวอาหรับคนอื่นๆ เป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมของพวกไวกิ้งที่เดินทางไปยังตะวันออกชั้นเยี่ยม

 

หากเราค้นพบประเด็นการค้า การทูต สงคราม และการโยกย้ายถิ่นฐานและอื่นๆ ได้ เราก็อาจพบลักษณะความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ระหว่างชาวไวกิ้งและอารยธรรมมุสลิมได้เช่นกัน เช่นที่แหวนจารึกอักษรอาหรับของหญิงไวกิ้งกำลังบอกใบ้เรา ความตื่นตระหนกและคำถามต่างๆ ที่มีต่อแหวนวงนี้ วิเคราะห์ได้ว่า อาจเกิดจากการที่โลกยังไม่ได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างเพียงพอ หรือ ประวัติศาสตร์ที่จงใจเลี่ยงประเด็นนี้

เราขอสรุปบทความนี้ด้วยความคิดเห็นของ ดร. แอนน์-มาเรีย เบรนแนน ประธาน CE4tF ที่ว่า : 

" แหวนนี้ค้นพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่อักษรสลักภาษาอาหรับเพิ่งถูกสังเกตเห็นเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้คุณสงสัยว่า วัตถุโบราณอีกมากมายเพียงใดที่ยังไม่ถูกค้นพบ ยังมีบันทึกอีกนับพันหรืออาจหลายล้านฉบับที่ยังไม่มีการแปลและนำไปวิเคราะห์ อัญมณี ข้อมูลอันมีค่า ข้อคิดเห็นเชิงลึกทางประวัติใดบ้างที่ยังซุกซ่อนอยู่ในเอกสารเหล่านั้น ยุโรปผูกพันแนบแน่นกับวัฒนธรรมอิสลาม แต่คนอีกมากกลับยังเห็นว่าสองโลกนั้นแยกจากกัน ลองมองให้ใกล้อีกนิด เราจะเห็นปราสาทงาม น้ำพุ หนังสือ ถ้วยโถกระเบื้อง เครื่องมือเครื่องใช้ และอีกหลายสิ่งที่กระจายอยู่ทั่วยุโรป ล้วนเป็นเครื่องเตือนอันงดงามให้ระลึกถึงยุคทองของอิสลาม การมีอยู่ของแหวนวงนี้บ่งบอกเราว่าวัฒนธรรมอิสลามเคยสมบูรณ์พูนสุขเพียงใด ครั้งหนึ่งการค้าและการศึกษาคือสิ่งดึงดูดให้คนทั่วโลกในเดินทางมาสู่อารยธรรมอิสลาม เหรียญอาหรับเคยเป็นหน่วยเงินที่แข็งแกร่งมากที่สุด การค้นพบแหวนวงนี้คือของที่ระลึกอันล้ำค่าจากช่วงเวลาที่ผู้คนต่างภูมิหลังและความเชื่ออยู่อาศัยและทำการงานร่วมกันอย่างกลมเกลียว "

 

เอซา ฮัลเลน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แวร์มลันส์ เลียนา แอเดอซอน ลิเลโรธ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมสวีเดน และ เจ้าฟ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดน หรือ ดยุคแห่งแวร์มลันด์ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2013 ครั้งที่มีการจัดแสดงนิทรรศการชื่อ “1001 Inventions "Discover Muslim Heritage” ขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แวร์มลันส์ สวีเดน  www.1001inventions.com/sweden

 

ภาพเขียนบอกเล่าถึงการเดินทางที่นำโดย อิบนุ ฟัดลัน  ไปยังแถบยุโรปเหนือชิ้นนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในโนรอด ประเทศรัสเซีย              (www.muslimheritage.com/node/758)

ปกหนังสือเรื่องเล่าโดย อิบนุ ฟัดลัน เกี่ยวกับการเดินทางสู่รัสเซีย ที่ตีพิมพ์ล่าสุดในภาษาอาหรับสี่เล่ม

ปกในของหนังสือที่แปลบันทึกของ อิบนุ ฟัดลัน เป็นภาษาเยอรมัน ตรวจแก้โดย อาห์เหม็ด เซกิ วาลิดี โทแกน 

ปกหนังสือชื่อ Ibn Fadlan's Journey To Russia: A 10th Century Traveler From Baghdad to the Volga River
ตรวจแก้โดย ริชาร์ด เอ็น. ไฟรย์ 

                                              www.muslimheritage.com/article/scandinavia-and-ibn-fadlan

เข็มทิศของพวกไวกิ้งทำโดยทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแรน  ฝรั่งเศส ดัดแปลงมาจากคำอธิบายในบันทึกศตวรรษที่ 13  
ชื่อว่า ‘St Olaf’s Saga’
เข็มทิศสลักภาษาอาหรับด้วยความประณีตขั้นสูง

ภาพวาดเข็มที่ที่นักเดินทะเลมุสลิมใช้ในศตวรรษที่ 13

                                   (ที่มาwww.muslimheritage.com/article/origins-islamic-science#ftnref108

                       ภาพเขียนปี ค.ศ. 1913 ชื่อ ‘Trade in the East Slavic Camp’ โดยศิลปิน เซอร์เก อีวานอฟ
                                                     www.bbc.co.uk/programmes/b00vrx8g

                                                                         View image | gettyimages.com

เหรียญเงินอาหรับจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 ที่พบโดยสองพี่น้องอาร์วิด และ เอ็ดวิน แซนด์บอร์ก บนเกาะก็อทลันด์ของสวีเดน

เอมีร์ (ผู้ครองนคร) แห่งกอร์โดบาและเหล่าขุนนาง จากบันทึกเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 16 “เอมีร์แห่งกอร์โดบา อับดุลอัรรอฮ์มานที่ 2 ได้ขับไล่ผู้บุกรุกเผ่าไวกิ้งออกจากเซบียา และสร้างปราการให้แก่เมืองเพื่อป้องกันการรุกรานครั้งต่อไป การโจมตีแขกมัวร์ในสเปนของพวกไวกิ้งหลายครั้งส่งผลกระทบเพียงน้อยนิดในระยะยาว”
www.muslimheritage.com/article/tale-two-civilisations-viking-and-muslim-world