อิบนุ รุชด์ VS อัล-ฆอซาลี: ก้าวใดที่ผิดพลาดในโลกมุสลิม

เราจำเป็นต้องฟื้นคืนจิตวิญญาณแห่ง อิบนุ รุชด์ และเริ่มต้นยุคเรอเนสซองซ์ในกระบวนคิดของอิสลาม

 

เรียบเรียงโดยปาตานีฟอรั่ม

 

กระผมเชื่อว่าในทุกวันนี้มีมุสลิมมีนและมุสลิมมะฮ์ผู้มีเหตุผลจำนวนไม่น้อยที่สงสัยอยู่บ่อยครั้งว่าเหตุใดประเทศต่างๆ ที่มีมุสลิมเป็นประชากรหลักจึงถดถอยในด้านเทคโนโลยี การทหาร และการเมืองเมื่อเทียบกับชาติในตะวันตก สงสัยว่าเหตุผลที่ยุโรปและอเมริกา พัฒนากว่านั้นคืออะไร และเราจะกำจัดหรืออย่างน้อยลดความไร้สมดุลนี้ได้อย่างไร

 

ย้อนไปเพียงไม่กี่ร้อยปี ในโลกตะวันออกที่มุสลิมเรืองอำนาจและโลกตะวันตกของชาวคริสต์ สองสังคมนั้นทัดเทียมในระดับของความพัฒนา แต่แล้วโลกมุสลิมกลับหยุดชะงักในขณะที่ตะวันตกยังคงบุกบั่นไปข้างหน้าและกลายเป็นผู้ครองโลก

 

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 เกิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (หรือ Renaissance ที่แปลตรงตัวว่า ‘การเกิดใหม่’) ขึ้นในโลกตะวันตก มันคือการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง ศาสนา เทคโนโลยี แนวคิดและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และอีกหลายด้าน คือการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนโฉมหน้าตะวันตกในสามร้อยปีถัดมา นำพาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 แต่จนแล้วจนรอด “Renaissance” หรือการเกิดใหม่ไม่เคยเยี่ยมเยือนในสังคมมุสลิม


นอกเหนือจากการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวแล้ว โลกตะวันตกเดินทางมาถึงความพลิกผันด้านความคิดเชิงปรัชญา ซึ่งจะเรียกว่ายุคเรอเนสซองซ์ทางปรัชญาก็คงจะไม่ผิด 

 

การสอนศาสนาแบบอิสลามดั้งเดิมไม่ได้สนับสนุนวิชาปรัชญานัก อันที่จริงต้องเรียกว่าชัดเจนว่าไม่ส่งเสริม เนื่องจากวิชาปรัชญามีธรรมชาติส่งเสริมการตั้งคำถาม การโต้แย้ง และการใช้เหตุผล ซึ่งเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับความเชื่อในเรื่องพระเจ้าผู้เปี่ยมพลานุภาพและรู้แจ้งในทุกสิ่ง


ครั้งหนึ่งโลกตะวันตกเองก็เคยมีทัศนคติที่ปฏิเสธปรัชญาและการใช้เหตุผลทำนองนี้เช่นกัน

 

การทะยานขึ้นสู่อำนาจของโลกตะวันตกดำเนินแบบคู่ขนานกับการศึกษาวิเคราะห์ผลงานและวิธีการของบรรดานักปรัชญากรีก กระผมจึงเชื่อแทบจะสนิทใจว่าหากไม่เกิดสิ่งนี้ ก็คงไม่เกิดยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ อีกทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ได้ผลักโลกตะวันตกไปไกลกว่าโลกตะวันออกหลายช่วงตัวก็คงจะไม่เกิดขึ้น

 

แต่แท้จริงแล้วโลกตะวันตกอาจไม่เข้าถึงหรืออาจไม่มีองค์ความรู้ด้านปรัชญากรีกเลยก็เป็นได้หากไร้ซึ่งนักปรัชญาอาหรับ/มุสลิมหลายต่อหลายท่าน แปลกแต่จริงคนที่ควรได้รับการยกย่องสูงสุดในฐานะผู้จุดประกายเรอเนสซองซ์ของโลกตะวันตกกลับเป็นนักปรัชญามุสลิมนามว่า อิบนุ รุชด์ หรือที่ตะวันตกรู้จักในนาม อเวอร์โรอีส ในขณะที่ชาวมุสลิมไม่ยอมรับและไม่ให้ความสำคัญกับปราชญ์ผู้นี้ ผลงานของเขาได้รับการแปลและอ่านกันอย่างกระตือรือร้นในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรปตะวันตก ซึ่งในความคิดของกระผมความแตกต่างในเปิดรับงานของ อิบนุ รุชด์ ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อความแตกต่างที่เราเห็นระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก

 

อิทธิพลของ อิบนุ รุชด์ เป็นตัวเร่งการปฏิรูปแนวคิดของทั้งศาสนาคริสต์และยิว เขาผู้นี้เองที่นำแนวคิดแบบเหตุนิยมมาสู่ศาสนา ในโลกอิสลามเขาถูกกีดกันโดยนักคิด อัล-ฆอซาลี กับแนวคิดการปกครองด้วยศาสนา (ชารีอะฮ์) ด้วยพฤติการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นแล้วในโลกมุสลิมช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ผลคือการที่โลกตะวันตกดำเนินไปสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตามมาด้วยการปฏิรูปการเมืองและสุดท้ายคือการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ในขณะที่โลกมุสลิมไม่หยุดอยู่กับที่ ก็ถดถอย 


อาณาจักรออตโตมัน มหาอำนาจแห่งโลกมุสลิมที่รุ่งเรืองในตอนที่ในยุโรปเกิดยุคเรอเนสซองซ์ (และยิ่งใหญ่ในโลกมาจนถึงศตวรรษ 18) เป็นตัวอย่างสำคัญของความล้มเหลวในการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจยุคใหม่ (การเมืองสร้างเศรษฐกิจ) ที่จำเป็นต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจอันจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

 

ปรัชญา หรือ ฟัลซะฟะฮ์ มาถึงโลกมุสลิมตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 9 พร้อมด้วยศาสตร์ของกรีกอื่นๆ ทั้งการแพทย์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างคำสอนของวิชาปรัชญากับอิสลามเกิดขึ้นตามมาแทบจะทันที เพราะปรัชญาไม่เพียงย้ำความจำเป็นของการตั้งคำถาม แม้ในหัวข้อที่ถือเป็นบัญญัติจากพระเจ้าและการตั้งคำถามถือเป็นสิ่งต้องห้าม ปรัชญายังอ้างตัวว่าสามารถเปิดเผยความเป็นจริงของโลกจากการพิสูจน์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ผู้คนถือว่าเป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น  


บรรดานักปรัชญามุสลิมได้ศึกษาแนวคิดของมหาปราชญ์ของกรีกทั้งเพลโตและอริสโตเติลมาตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 9

 

อัล-ฟาราบี (อัลฟาราบีอุส ตามชื่อเรียกของชาวตะวันตก ค.ศ. 872-950) จากกรุงดามัสกัส และ อิบนุ ซีนา (เอวิเซนนา ค.ศ. 980-1037) จากกรุงไคโร คือผู้ส่องสว่างที่ไม่เพียงทำหน้าที่แปลแนวคิดปรัชญากรีกไปสู่ภาษาอาหรับ/เปอร์เซีย แต่ยังได้เพิ่มเติมคำบรรยายประกอบ และเสนอแนวคิดปรัชญาใหม่ๆ ที่ใช้ตรรกะและเหตุผลเป็นพื้นฐานอย่างขยันขันแข็ง

 

เป็นเวลานานทีเดียวที่ความคิดปรัชญาในแบบมุสลิมซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก (ฟัลซะฟะฮ์) ได้รับอนุญาตให้ดำรงอยู่โดยไม่ถูกรบกวนจากอิสลามสายอนุรักษ์นิยม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดาปราชญ์มุสลิมนำเสนอแนวคิดของตัวเองในรูปแบบที่ไม่เป็นการท้าทายอย่างโจ่งแจ้งต่อแนวคิดยึดธรรมเนียมเคร่งครัด และเพราะโลกมุสลิมในยุคนั้นยังค่อนข้างเปิดกว้างและผ่อนปรนให้แนวคิดเหล่านั้นดำรงอยู่ได้ แต่แล้วการก่อเกิดของระบบการสอนอิสลามตามสำนักคิดอัชอารี
(Ash'ari theology) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1040 เป็นต้นมา การโอนอ่อนผ่อนปรนนั้นก็ระเหยไปในอากาศทีละน้อย

 

ไม่ช้าปรัชญา (ฟัลซะฟะฮ์) ก็พบศึกหนักจากปราชญ์นามว่า ฆอซาลี ในปี 1095 ฆอซาลีเสร็จสิ้นผลงานเขียนชื่อว่า Tahafut al Falasifa (ความไม่เชื่อมโยงของเหล่านักปรัชญา) หนังสือเล่มนี้และงานเขียนอีกหลายชิ้นของเขาโจมตีแนวคิดของ อัล-ฟาราบี และ อิบนุ ซีนา อย่างรุนแรงโจ่งแจ้ง เพียงเท่านั้นได้กล่าวประณามปราชญ์ทั้งสองด้วยว่าเป็นพวกนอกศาสนา (กาเฟร) ไม่ใช่มุสลิม!

 

ฆอซาลีเองเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาและความรู้ที่ล้ำเลิศ แต่งานเขียนของเขาได้ผลักไสการพัฒนาในเชิงวิทยาศาสตร์และปรัชญาออกจากหนทางของมุสลิม

 

ราวปี ค.ศ.1150 หนังสือชื่อว่า Tahafut al Tahafut (ความไม่เชื่อมโยงในความไม่เชื่อมโยง) ของ อิบนุ รุชด์ เสร็จสมบูรณ์ มันใช้ตอบโต้หนังสือของฆอซาลี  รุชด์ ยังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มมาโต้แย้ง ฆอซาลี และปกป้องบรรดาปราชญ์ชาวกรีกกับวิธีการของพวกเขา

 

อิบนุ รุชด์ เป็นนักเขียนคนสำคัญที่ถกเถียงเกี่ยวกับงานของอริสโตเติลและเพลโตอย่างปรุโปร่ง งานเขียนของรุชด์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาแนวคิดของ โทมัส อไควนัส และโมเสส ไมโมนิเดส สองปราชญ์ที่โลกยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเกิดยุคเรอเนสซองซ์ในกระบวนคิดของศาสนาคริสต์และยิว (ตามลำดับ)

 

ถ้าเช่นนั้น อะไรกันแน่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างฆอซาลี และ อิบนุ รุชด์ ที่ถึงกับแยกโลกตะวันตกออกจากโลกตะวันออก 

 

ทั้ง อิบนุ รุชด์ และฆอซาลี ต่างก็ยอมรับความสำคัญของคัมภีร์อัลกุรอานว่าเป็นเครื่องนำทางที่สำคัญยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาจะมีชีวิตที่มีความหมาย เติมเต็ม และผลิดอกออกผล ที่น่าสนใจคือทั้งสองยังเห็นตรงกันด้วยว่าในอัลกุรอานนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นความหมายโดยตรงและความหมายแฝง โดยรวมแล้วเนื้อหาส่วนที่กล่าวถึงหลักการพื้นฐานในการมีชีวิตที่ดี และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริงเป็นปกติของโลกมักจะตีความตรงตัวได้ แต่อีกหลายส่วนที่พูดถึงเรื่องเหนือธรรมชาติหรือพูดเป็นนัยนั้น ต้องการการตีความในกรอบคิดของการเปรียบเปรย ไม่ใช่ตามถ้อยคำ 

 

อิบนุ รุชด์ และฆอซาลี ยังเห็นพ้องในประเด็นที่ว่ามุสลิมทั่วๆ ไป ควรสนใจเฉพาะเนื้อหาในส่วนที่ชัดเจนตรงตัวของอัลกุรอาน ในส่วนที่เป็นความหมายแฝงควรให้กลุ่มนักคิดมุสลิมที่ตื่นรู้และทรงภูมิที่ได้รับการคัดสรรแล้วเป็นผู้ตีความเท่านั้น

 

ที่แตกต่างก็คือ ในขณะที่ฆอซาลีเชื่อว่าความตื่นรู้ของผู้ที่ผ่านการคัดสรรดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน แต่ อิบนุ รุชด์ กล่าวว่าความรู้และความช่ำชองจากวิธีทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างหากที่จะช่วยให้บุคคลค้นหาและพบขุมทรัพย์ล้ำค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในอัลกุรอาน

 

กล่าวได้ว่า อิบ นุรุชด์ นำเสนอหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาการโดยใช้คัมภีร์กุรอานเป็นสถานีตั้งต้น ในขณะที่ฆอซาลีสนับสนุนการใช้วิถีที่ลึกลับเหนือธรรมชาติค้นหาความรู้และความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ ด้าน อิบนุ รุชด์ เชื่อว่าหนทางเดียวที่จะทำได้คือใช้วิธีการเชิงประจักษ์ที่ทดสอบได้ นั่นก็คือวิธีทางตรรกะศาสตร์และวิทยาศาสตร์

 

ให้ชัดไปกว่านั้นอีก ฆอซาลีเชื่อว่าด้วยวิถีลึกลับทางศาสนาบุคคลจะสามารถบรรลุ (ด้วยพระเมตตาของพระเจ้า) ความเข้าใจในระดับที่ต่างไปจากการใช้เหตุผล และด้วยความเข้าใจอีกระดับนี้เองความหมายโดยนัยในอัลกุรอานจึงจะเข้าถึงได้ ส่วน อิบนุ รุชด์ เชื่อว่าการขบคิดด้วยเหตุและผลเท่านั้นจึงจะไขปริศนาเหล่านั้นได้ 

 

ความสำคัญอยู่ที่ว่า แม้ว่าทั้งสองวิธีการจะถูกใช้และอาจนำพาไปสู่ความจริงแท้ได้ แต่วิธีการทางเหตุผลเท่านั้นที่จะก่อเกิดผลพลอยได้อันเป็นที่ปรารถนา ซึ่งก็คือการพัฒนารุดหน้าของวิทยาศาสตร์และมนุษยชาติเอง ถ้าเช่นนั้น (หากจะมีสักสิ่ง) อะไรกันคือสิ่งสำคัญต่อพวกเราในขณะนี้

 

ในความคิดของกระผม ประสบการณ์ในทางลึกลับและศาสนานั้น สำคัญต่อการพัฒนาโลกแห่งจิตภายในตัวเราและเตรียมเราให้พร้อมเผชิญโจทย์ต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง และด้วยการน้อมรับวิถีของเหตุผลนิยมเท่านั้น เราจึงจะกอบกู้สถานการณ์ความขาดพร่องของประชาชาติมุสลิมได้

 

เราจำเป็นต้องฟื้นคืนจิตวิญญาณแห่ง อิบนุ รุชด์ และเริ่มต้นยุคเรอเนสซองซ์ในกระบวนคิดของอิสลาม

 

แหล่งที่มา : http://nation.com.pk/blogs/22-Feb-2016/ibn-rushd-vs-ghazali-did-the-muslim-world-take-a-wrong-turn