เหนือกว่าขันติ คือ ‘เคารพ’ ในความต่าง

เหนือกว่าขันติ คือ ‘เคารพ’ ในความต่าง

เรืยบเรียง/แปล ปาตานีฟอรั่ม 

 

 

พหุนิยม คือ สภาวะของความถ่อมตนและการป้องกันความเกินพอดี อิสลามได้ยืนยันแนวคิดอันมีจุดร่วมตรงกันนี้โดยสอดประสานสองมิติเข้าด้วยกัน

 

จอห์น ล็อค เขียนจดหมายว่าด้วยขันติธรรม (Letter on Tolerance) ขึ้นในปี 1689 เขาโต้แย้งเพื่อยืนยันความจำเป็นที่สังคมมนุษย์ต้องยอมรับความเป็นพหุทางศาสนา (นอกเหนือจากที่ได้ชี้ว่า ความไร้ศาสนา มิอาจยอมรับและอันตราย) เขาพยายามแยกความต่างระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจศริสตจักร โดยอำนาจทางโลกหรือรัฐ มีหน้าที่กำหนดกฎหมาย ดูแลเรื่องสัญญาประชาคมและสันติสุขของประชาชนที่จะต้องมีเสรีภาพในการเลือกศาสนาและชุดหลักการที่ตนศรัทธา ระหว่างสองขั้วอำนาจ 

 

จอห์น ล็อค แจกแจงว่ารัฐจะต้องบริหารจัดการกับความหลากหลายของประชาชน พร้อมปกป้องเสรีภาพในฐานะปัจเจกและพลเรือนของพวกเขา ขณะที่ศริสตจักรท่ามกลางประชาสังคมจะต้อง ‘มีขันติ’ ต่อศาสนาอื่น และยอมรับเสรีภาพส่วนบุคคลของพวกเขา เหตุนี้ ขันติ จึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้แยกส่วนและควบคุมอำนาจต่างๆ ที่ในบางครั้งก็หันมาผนึกกำลังและจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มคนหนึ่ง และเสี่ยงที่จะมีมากเกินจนอันตราย

 

ร้อยปีถัดมา วอลแตร์ มีแรงผลักดันเดียวกัน เขาได้เขียนสนธิสัญญาว่าด้วยขันติธรรม (The Treaty on Tolerance) ที่มุ่งยับยั้งการใช้อำนาจอย่างเกินพอดี พร้อมเรียกร้องมโนธรรมในใจมนุษย์ ระบุถึง รัฐ โบสถ์ และพระเจ้า เพื่อกระตุ้นให้สามขั้วอำนาจช่วยส่งเสริมให้การยอมรับในความแตกต่างและขันติธรรมจารึกเป็นหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ข้อเสนอและข้อโต้แย้งของ วอลแตร์ ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ผ่านการขบคิดด้วยเหตุผลจนปรุโปร่ง ปิดทุกช่องโหว่ 

 

เช่นเดียวกัน วอลแตร์ มองว่าการใช้อำนาจในทางมิชอบจะต้องถูกยับยั้ง ผู้มีอำนาจจะต้องถูกทัดทานด้วยสารที่ฟังขึ้น หนักแน่น และมีอำนาจของเหตุผลและสามัญสำนึกหนุนนำ จึงสามารถยับยั้งความไร้ซึ่งขันติ สงคราม ความตาย และความอยุติธรรมนานาที่ตามมา เหตุผลที่แยบยลไม่ขึ้นต่ออำนาจใดสามารถทัดทานอำนาจเบ็ดเสร็จ รวมถึงกฎบีบบังคับใช้ ความมั่นใจ และการอ้างความจริงประสามนุษย์อย่างหลับหูหลับตาที่ตามมาเป็นพรวน เหตุผลอันประณีตใช้เตือนมนุษย์ที่เถลิงอำนาจจนหลงลืมนึกว่าตนคือพระเจ้าหรือกระทำสิ่งต่างๆ โดยอ้างพระเจ้า ว่าแท้จริงพวกเขายังเป็นเพียงมนุษย์เดินดินและการอ้างว่ารู้แจ้งแต่ผู้เดียวจะนำพาโศกนาฏกรรมที่เหลือรับและความยุติธรรมที่ล้มเหลว ตรงข้ามกับสารแห่งความดีงามที่ตนอ้างจะปกป้อง เช่นเดียวกับ ล็อค นักปรัชญาอย่างวอลแตร์ (และอีกหลายคนในยุคเรืองปัญญา) ที่โจมตีหอคอยแห่งอำนาจทั้งทางการเมืองและศาสนาที่กัดฟันเลือกขันติวิธีก็เมื่อภัยมาอยู่ตรงหน้า

โดยสำนึกพื้นฐาน จะในทางการเมือง ศาสนา สังคม หรือเหตุผล อำนาจจะต้องรู้จักทนต่อการดำรงอยู่ของสิ่งอื่น พูดใช้ชัดคือ ‘ทนทุกข์’ กับมันได้ ทนได้ต่อความเป็นพหุของสังคม


การแข็งขืนประจันหน้ากับอำนาจ (ที่หนุนหลังโดยคนหมู่มาก คนชั้นสูง หรือคนรวย ฯลฯ ก็ตามแต่) และการยืนหยัดเรียกร้องขันติธรรมอย่างกล้าหาญ ทุกวันนี้มีความหมายและสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปเมื่อมีความสัมพันธ์แบบเสมอภาค ความเป็นมนุษย์เสรี สภาพพลเรือนของประชาสังคม หรือความสัมพันธ์ระหว่างหลากวัฒนธรรมและอารยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง หัวใจของการเรียกร้องขันติธรรมจากอำนาจ คือ การร้องขอให้อำนาจประเมินความแข็งแกร่งของตนและจำกัดความสามารถในการทำอันตราย มันบอกใบ้ถึงการยอมรับเกมแห่งอำนาจและความสัมพันธ์แบบเหลื่อมล้ำอำนาจ (เช่นระหว่างรัฐและบุคคล ตำรวจและประชาชน ผู้ครองและผู้อยู่ใต้อาณานิคม) ซึ่งความเบี่ยงเบน ความประพฤตินอกลู่ และความแตกต่างน้อยประการ ยังพอถูก ‘จำทน’ หรือ ‘ทุกข์ทน’ ได้ แต่เมื่อใดที่หลุดประเด็นการแข็งขืนหรือการจำกัดอำนาจไป มิติบวกของขันติธรรมจะกลับตาลปัตร ขันติ กลายเป็นเพียงความใจกว้างที่เปล่าเปลืองจากผู้ควบคุมที่ถืออำนาจการเมือง ศาสนา อำนาจเชิงสัญลักษณ์ อำนาจทางตัวเลขและ/หรือเงิน ขันติ แท้จริงคือการกุศลที่ผ่านการขบคิดของผู้มีอำนาจ แต่ในหมู่ผู้คนที่เสมอภาค คนเราไม่คาดหวังให้ใครยอมรับหรือจำทน ความคิดที่ว่าคนอื่นๆ ควร ‘ทุกข์ทน’ กับการมีอยู่ของบุคคลหนึ่งไม่เพียงพอสำหรับบุคคลนั้น และฟังไม่เข้าหูสำหรับคนอื่นๆ เช่นกัน


ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติที่เท่าเทียมและเสรี ระหว่างรัฐชาติที่อิสระมีอำนาจเหนือตน หรือระหว่างอารยธรรม ศาสนา และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่มีใครสามารถเรียกร้องขันติจากกันได้ ในความเสมอภาค การยอมรับขันติธรรม หรือการยอมทนต่อกันหาใช่สาระอีกต่อไป แต่มันคือการเรียนรู้และยกระดับตนสู่ความเคารพ

 

หัวใจและสมองของมนุษย์มีธรรมชาติที่ค่อนข้างแตกต่าง มนุษย์เริ่มจากการรับรู้ความจริงที่ว่า จำเป็นต้องมีคนอื่นมาเติมเต็มมโนทัศน์เกี่ยวกับโลกของตน ประเพณีเอเชียและแอฟริกาในยุคแรกๆ รวมถึงไปศาสนาฮินดู พุทธ และตามมาด้วยความเชื่อเอกเทวนิยม ต่างยอมรับความจำเป็นที่จะต้องมีหนทางอื่นๆ จะตีความจากการที่ลัทธิ/ศาสนาเหล่านั้นบอกชัดว่ามีหลายหนทางไปสู่ความจริง หรือที่บอกว่าการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ส่งผลและก่อร่างวิถีแห่งความเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวฉันกับความเป็นจริงของฉัน ก็ตามแต่


พหุนิยม ณ จุดนี้จึงเป็นสภาวะของความถ่อมตนและการป้องกันความมากเกินไป อิสลามยืนยันแนวคิดที่มีจุดร่วมนี้โดยสอดประสานทั้งสองมิติ ข้อความที่ว่า ‘หากว่าเป็นพระประสงค์ พระเจ้าคงสร้างสังคมเดียวให้กับสูเจ้า(ไปแล้ว)’ ขานรับโดยลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่ต่างก็พูดถึงความสำคัญที่ไม่อาจเป็นอื่นของความแตกต่างหลากหลาย ‘หากว่าพระเจ้ามิได้ตรวจสอบมนุษย์ [ชาติ, สังคม, ศาสนา] บางกลุ่ม ด้วยกลุ่มอื่น โลกคงจะฉ้อฉล อารามก็คงถูกโค่นลง เช่นเดียวกับโบสถ์ของยิว คริสต์ และมัสยิด’ ความหลากหลาย ซึ่งสร้างดุลยภาพทางอำนาจ แท้จริงอาจต้องแลกด้วยการดิ้นรนและความขัดแย้ง แต่นั่นก็คือธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน การดำรงอยู่ การเรียนรู้ที่จะเทียบวัด และความถ่อมตน 

 

ด้วยเหตุนี้การมองออกไปยังโลกและหลากสังคมอย่างพินิจพิเคราะห์ให้เห็นจริงดังที่มันเป็น จะช่วยดึงมโนธรรมกลับสู่ระบบเหตุผล ผลักให้เราใคร่ครวญอีกครั้งถึงแนวโน้มที่ตนจะเข้าข้างตน ถือความจริงของตนเท่านั้นว่าแน่แท้ เราต่างถูกครอบงำอย่างสลัดไม่หลุดโดยสัญญาณเตือนถูก-ผิดตามศรัทธา ตามติดมาด้วยความกระหยิ่มยโสในตัวเรา ที่คอยสั่งให้คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับบุคคลอื่นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราหว่านล้อมให้เขาเชื่อได้ในความจริงชุดเดียวของเรา การดำเนินบทสนทนาจึงเป็นเรื่องของการพูด หาใช่การฟังเลยสักครั้ง อีกฝ่ายเป็นเพียงแขกพิเศษในวงล้อมแห่งชักจูงของฉัน ความจริงของฉันจึงกลายเป็นปรารถนาอันมัวเมามืดบอดที่ขังตัวฉัน มันควรจะปลดปล่อยฉัน กลับกีดกันฉัน

 

เหตุและผลจึงต้องทำงาน ก่อนอื่นเพื่อสอนเราให้เป็นคนที่ใช้เหตุผล การยอมรับเส้นทางที่หลากหลายและความเท่าเทียมของมนุษย์เป็นเงื่อนไขสองข้อแรกที่ก่อเกิดความเคารพ (ที่ก้าวข้ามเกมแห่งอำนาจในความสัมพันธ์แบบจำทนต่อกัน) ในการยอมรับอย่างมีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานความจริง ควรติดตั้งอีกหนึ่งตรรกะให้แก่สมองที่ว่า ‘ถ้าฉันยอมทนหรือ ทนทุกข์กับการมีอยู่ของสิ่งที่ฉันไม่รู้จักได้ ฉันคงเคารพคนอื่นไม่ได้ หากไม่พยายามรู้จักพวกเขาเสียก่อน’ 

 

คงเห็นแล้วว่า ความเคารพ ต้องการทัศนคติที่ไม่เกียจคร้าน แต่ตื่นตัวและรุกคืบไปสู่ผู้อื่น ทัศนคติแห่งความอยากรู้ถึงการมีอยู่ และความเป็นอยู่ของพวกเขา และเมื่อรู้แล้วพยายามทำความรู้จักกับพวกเขา การยอมรับ ความสงสัยที่กระหาย และความรู้ จะนำพาสมองและหัวใจของเราลงสู่จักรวาลแห่งความซับซ้อนของคนอื่น ที่นี่เอง เราจึงจะได้เข้าสู่หลักการ ความหวัง ความกดดัน ความขัดแย้ง และแนวโน้มร้อยพันที่วิ่งวุ่นอยู่ในจักรวาลแห่งการอ้างอิงของเขาผู้นั้น ขันติ หรือ การจำทน ลดคุณค่าคนอื่นให้เหลือเพียงการมีอยู่บนโลก ในขณะความเคารพเปิดโลกแห่งความซับซ้อนของการดำรงอยู่ของเขา มันเหมือนกับกระจก มันหมายถึงการยอมรับว่าคนอื่นสลับซับซ้อนไม่ต่างจากเรา ว่าเขาคือความเท่า คือกระจก คือคำถาม เขาอยู่ในเรา และเราอยู่ในเขา

 

แต่ไม่มีสิ่งใดบรรลุได้โดยสมบูรณ์ การปฏิเสธ การไร้ซึ่งขันติ การเกลียดกลัวคนที่ต่าง การเหยียดทั้งแบบเดี่ยวและหมู่ การถูกเป่าให้เข้ารีต ความปรารถนายึดครอง ความจริงที่ยัดเยียด ความทะนงตนหมู่ที่มัวเมา (ถ้ายังไม่ถึงกับบ้าคลั่งและมืดบอด) จะยังคงคุกคามมนุษย์ต่อไปไม่ว่าจะยากดีมีจน รวมถึงสังคมไม่ว่าจะก้าวหน้าทางวัตถุหรือไม่ มนุษยชาติไม่มีวันปลอดภัยเต็มร้อยจากด้านมืดของความเป็นมนุษย์ หลากลัทธิทางจิตวิญญาณ ปรัชญา และศาสนา เลาะแล่นมาเรื่อยในประวัติศาสตร์เพื่อเตือนเราถึงความเปราะบาง จุดอ่อน และความเสี่ยงเหล่านั้น เครื่องเตือนมากมายเหลือเกินในรอยทาง ความมากไปของพวกมันเองก็สอนเรา บุคคลควรที่จะสำรวจโลก สำรวจตัวเอง ไปพร้อมกับความถ่อมตนจากกลุ่มคนที่สัมผัสได้และรู้แน่แก่ใจแล้วว่า สำคัญเพียงใดที่มนุษย์จะต้องพันธนาการตนเองด้วยการศึกษาและมนุษยธรรมที่ผ่านการทบทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไร้ที่สิ้นสุด สำคัญแค่ไหนที่จะต้องหัดฟังผู้อื่น ฟังเสียงของตนเองในทุกๆ วัน ตลอดไป นี่คือความจริง ไม่มีสิ่งใดบรรลุได้โดยสมบูรณ์ ไม่ว่าความเคารพ หรือความรัก

 

แหล่งที่มา http://tariqramadan.com/english/2013/09/17/respect-beyond-tolerance/