ภารกิจพิทักษ์ ‘บันทึกโบราณแห่งมาลี’ ให้พ้นจากไฟก่อการร้าย

ภารกิจพิทักษ์ ‘บันทึกโบราณแห่งมาลี’ ให้พ้นจากไฟก่อการร้าย

แปลและเรียบเรียงปาตานีฟอรั่ม

 

บันทึกโบราณใน เจนเน เมืองพี่เมืองน้องของทิมบุกตู ประเทศมาลี ที่รวบรวมมาได้และกำลังจะถูกแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอล สนับสนุนโดย Endangered Archives Programme ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (ภาพโดย โซฟี ซาริน)

 

นับจากปี ค.ศ. 2012 หลังจากที่มุสลิมกลุ่มสุดโต่งได้เข้ายึดหลายเมืองสำคัญของประเทศมาลีที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ในแอฟริกาตะวันตก บันทึกเก่าแก่นับพันปีที่เขียนด้วยลายมือ ถ่ายทอดวิถีอันดีงามของอิสลามได้ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง

ขณะที่ชาวมาลีกว่าครึ่งล้านกำลังหนีภัยความรุนแรง ปฏิบัติการลับในการเคลื่อนย้ายบันทึกเก่าแก่จำนวนมหาศาลไปสู่ที่ปลอดภัยก็เริ่มเคลื่อนไหวเช่นกัน ด้วยเกรงว่าผู้พวกอ้างตัวเป็น ‘นักรบจีฮาด’ จะทำลายม้วนสาส์นล้ำค่าเหมือนที่ใช้ระเบิดเผาผลาญวัตถุโบราณที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไปมากมาย มีบรรณารักษ์ที่พยายามหาเส้นทางลำเลียงหลบหนีอย่างลับๆ สารจากอดีตหลายต่อหลายตั้งถูกขนไปบนหลังลาและเรือพายเล็กๆ ล่องไปตามแม่ไนเจอร์ข้ามประเทศไปยังที่ปลอดภัย

นี่เป็นภารกิจที่คอลัมนิสต์ของ Washington Post เรียกว่า “การกอบกู้ที่กล้าหาญ” เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงนักวิชาการหรือไม่ก็คนธรรมดา มีตั้งแต่คนขับแท็กซี่ไปจนถึงภารโรง ที่ยอมเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อปกป้องบันทึกศักดิ์สิทธิ์

แล้วบันทึกโบราณของเมืองมาลีสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงต้องกอบกู้อย่างเร่งด่วนตราบจนนาทีนี้ ?

ก็เพราะสารโบราณที่บันทึกด้วยลายมือเหล่านี้ได้เล่าถึงวิวัฒนาการของธรรมเนียมปฏิบัติของอิสลามในสายกลางที่ให้คุณค่าการประนีประนอมและสันติภาพ ปฏิเสธความสุดโต่งและความโหดร้ายทารุณ ทั้งยังบรรยายถึงธรรมเนียมสำคัญที่ชาวมาลียึดถือ ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของการให้อภัยและการหันหน้าพูดคุยกัน ชาวมาลีปลูกฝังวิถีอันดีงามในการยุติความขัดแย้งให้แก่เยาวชน เช่นธรรมเนียมปฎิบัติที่เรียกว่า “วงกลมแห่งความรู้” (Circle of Knowledge)

เมื่อมีความขัดแย้ง คนที่เกี่ยวข้องจะรวมตัวกัน ณ บริเวณที่เรียกในเชิงสัญลักษณ์ว่า “ต้นไม้แห่งการเจรจา” (Palaver tree) ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบตามวัฒนธรรมแอฟริกัน สำหรับชาวมาลี มักจะนั่งล้อมวงที่ต้นโกงกางขนาดใหญ่และจะไม่สลายตัวหากความขัดแย้งยังไม่พบทางออก


เหล่า “ทูตสันติภาพ” ชาวมาลีกำลังนั่งล้อมวงใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อหาทางออกความขัดแย้งและจะไม่สลายตัวหากยังไม่พบทางออกร่วมกัน (ภาพโดย เดวิด เวสต์ ให้กับมูลนิธิ Malian Manuscript Foundation)

 

มื่อความรุนแรงคุกคามไปทั่วภูมิภาค แถมเพิ่งจะเกิดเหตุก่อการร้ายไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในบูร์กินาฟาโซ ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งผู้นำศาสนาและนักวิชาการมุสลิมสายประนีประนอมมองว่าการเผยแพร่แก่นสารในบันทึกแห่งมาลีเป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกแล้ว 

 

หลังจากที่กองทัพฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงและนำสันติภาพกลับมาสู่มาลีได้บ้างในปี 2013 ความพยายามระดับนานาชาติที่จะเสาะหา ปกป้อง และแปลงสารโบราณของมาลีไปสู่รูปแบบดิจิตอลได้เร่งฝีเท้าขึ้น มีหลายโครงการที่กำลังเตรียมนำสารเหล่านั้นเผยแพร่แบบออนไลน์ ภารกิจนั้นรุดหน้าไปได้เรื่อยๆ แม้จะมีการก่อการร้ายระลอกใหม่ปะทุขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนในภาคพื้นดังกล่าว อย่างเหตุการณ์กลุ่มมือปืนบุกโรงแรมเรดิสันใน บามาโก เมืองหลวงของมาลีเมื่อเดือนพฤศจิกายน

 

“ตามที่บันทึกเหล่านั้นบอก ความขัดแย้งจะต้องไม่แก้ไขด้วยความรุนแรงและสงคราม แต่ด้วยความสันติ ผ่านการสนทนา การประนีประนอม ความเข้าใจ และการให้อภัย” ไมเคิล โควิทท์ กล่าว เขาผู้นี้คือนักลงทุนและนักสร้างหนังชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Manuscript Foundation ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและระดมทุนเพื่อการอนุรักษ์บันทึกโบราณ

 

โควิทท์ กำลังอยู่ระหว่างโปรเจ็ครีเมคหนังสารคดีปี 2010 เรื่อง “333” ซึ่งตั้งตามฉายาหนึ่งของเมืองทิมบุกตูอันลือเลื่องของมาลี ที่ถูกเรียกว่าเมืองแห่ง 333 นักบุญ หนังเรื่องนี้เผยถึงบทบาทของบันทึกโบราณในการสงวนรักษาธรรมเนียมเก่าแก่หลายร้อยปีของชาวมาลีที่ใช้สันติวิธียุติความขัดแย้ง ด้วยวิธีการพูดคุยและยอมรับความแตกต่าง สารคดีเรื่องนี้เคยถูกฉายที่สำนักงานของสหประชาชาติและที่อื่นๆ แบบส่วนบุคคล โควิทท์ กล่าว

 

บันทึกที่คาดว่ามีถึง 800,000 ฉบับทั่วประเทศนั้น ส่วนใหญ่ถูกนำมาเก็บจึงปลอดภัยจากการถูกทำลายในช่วงที่ความไม่สงบรุมเร้ามาลีปี 2012 – 2013 แต่กองกำลังติดอาวุธก็ได้เผาทำลายบันทึกไปประมาณ 4,200 ฉบับ/เล่ม ที่ห้องสมุดแห่งหนึ่งในทิมบุกตูตามรายงานของ UNESCO กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มที่เข้ายึดเมืองสำคัญสามเมืองรวมถึง ทิมบุกตู พยายามบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์รูปแบบที่เข้มงวดจัดและพยายามกำจัดหลักฐานใดก็ตามที่ขัดแย้งกับมุมมองอิสลามในแบบของตน

 

บันทึกโบราณของมาลีครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลายอย่างน่าทึ่ง ทั้งดาราศาสตร์ สิทธิสัตว์ กฎหมายและหลักปฏิบัติของอิสลาม ปรัชญา ไปจนถึงสิทธิสตรี บันทึกเหล่านี้โดยมากเขียนขึ้นโดยครูและนักเรียนศาสนาที่เดินทางติดต่อกับเมืองทิมบุกตูช่วงราวๆ คริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 18 

 

ในอดีตทิมบุกตูเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลาม นักปราชญ์ การแลกเปลี่ยนความคิดที่เจริญรุ่งเรืองมาก บันทึกซึ่งส่วนใหญ่เขียนด้วยภาษาอาหรับ มีบางส่วนที่ใช้ภาษาแอฟริกันท้องถิ่นต่างๆ มันถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ถูกคัดลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และบ้างถูกเก็บอยู่ในห้องสมุดส่วนบุคคล บ้างถูกฝังไว้ในทะเลทรายสะฮาราเพื่อความปลอดภัย หลายฉบับใช้หมึกคัดเป็นตัวอักษรวิจิตร (บ้างใช้อักษรสีทองอร่าม) ลงบนผืนหนังสัตว์ กระดานไม้ หรือกระดาษที่ยับย่นทันทีเมื่อถูกสัมผัส

 

ในปี 2003 หอสมุดรัฐสภา ของอเมริกาได้จัดแสดงบันทึกโบราณบางส่วนที่ขอยืมมาจากห้องสมุดในทิมบุกตู มีผู้ให้ความเห็นต่อภาพรวมของงานแสดงนี้ว่า “นักวิชาการในแขนงอิสลามศึกษาและแอฟริกันศึกษาเชื่อว่าการวิเคราะห์บันทึกเหล่านี้จะช่วยให้ประวัติศาสตร์ของอิสลาม ของแอฟริกาตะวันตก และของโลกถูกใคร่ครวญใหม่อีกครั้ง” 

 

มีสารฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า “การถกเถียงเพื่อสันติ” (หรือ An Argument for Peace ขณะนี้ยังมีให้อ่านบนอินเตอร์เน็ต) ตามบทแปลมีข้อความที่กล่าวว่า “ผู้เขียนซึ่งเป็นทั้งปราชญ์และผู้นำศาสนาส่งเสริมการถกเถียงเพื่อสงบศึกและอยู่อย่างสันติ เขาได้ยืนยันทรรศนะของตนด้วยข้อความจากอัลกุรอานและข้ออ้างอิงถึงแบบแผนปฏิบัติของศาสดามูฮัมหมัดและสหายที่สั่งให้ผู้ศรัทธาหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง ปรองดอง และอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติและประนีประนอม”

 

เอกอัครราชทูตมาลีประจำสหรัฐอเมริกา เทียนา คูลิบาลี ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลของเขา “มุ่งมั่นอย่างมาก” ในการปกป้องบันทึกอันล้ำค่า เผยด้วยว่าตัวเขาเองรู้สึกขอบคุณที่องค์การสหประชาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแอฟริกาใต้ รวมถึงรัฐบาลและองค์กรอีกหลายแห่ง ได้ให้ความสนใจยื่นมือเข้าช่วยในภารกิจพิทักษ์บันทึกโบราณของมาลีมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ไม่ต้องสงสัย เมื่อถูกส่งขึ้นโลกออนไลน์แล้ว รัฐบาลที่ยึดหลักศาสนาแบบเข้มงวดอาจมีการแบนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลในบันทึกมาลี แต่พวกมันจะไม่ถูกเผาทิ้งอีกต่อไป

 

 

นักเรียนในทิมบุตูกำลังศึกษาบันทึกโบราณที่ครอบคลุมหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่ดาราศาสตร์ ไปจนถึงหลักศาสนาอิสลาม ปรัชญา และสิทธิสตรี (ภาพโดย เดวิด เวสต์ ให้กับมูลนิธิ Malian Manuscript Foundation)

 

“ผมคิดว่าความพยายามทั้งหมดในตอนนี้ที่มุ่งแปลงบันทึกไปสู่ลักษณะของห้องสมุดที่มีชีวิต ซึ่งทั้งผมและคุณสามารถค้นคว้าได้ มันหมายถึงเราเดินมาถูกทางแล้ว” เอกอัครราชทูต กล่าว 

 

นักสร้างหนังอย่าง โควิทท์ ก็พยายามหาแนวร่วมมาโดยตลอด หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนงานของเขาก็คือ พลเอก ริชาร์ด บี. ไมเออร์ส อดีตประธานเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่เข้ารับตำแหน่งนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์ 9/11 เพียงไม่กี่สัปดาห์และดำรงตำแหน่งอยู่สี่ปี

 

“ผลงานเช่นหนังเรื่องนี้คงจะช่วยให้คนที่มีมุมมองว่ามุสลิมคือศาสนาแห่งความรุนแรง และมุสลิมที่กำลังใคร่ครวญที่จะใช้ความรุนแรงได้เปิดมุมมองใหม่” ไมเออร์ส กล่าว “ในความคิดของผมเราจำเป็นต้องทุ่มเทในประเด็นเหล่านี้ มันจะช่วยแก้ปัญหาความหิวโหยในโลกหรือเปล่า ก็ไม่ใช่หรอก แต่การสนทนาเป็นไปในเชิงบวกได้ ไม่ต้องเป็นการปะทะคารมแบบที่เราเห็นในทีวี”

 

อิหม่ามไฟซอล อับดุล ราอุฟ ผู้ก่อตั้งและประธาน Cordoba Initiative องค์กรที่นิยามตนเองว่าเป็นตัวเชื่อมสะพานระหว่างอิสลามกับโลกตะวันตก ได้ปรากฏในหนัง “333” ด้วย เขาได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องมีคำสอนโบราณที่เป็นรากฐานชีวิตโดยชูความสันติและการประนีประนอมก่อนสิ่งอื่น ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับวิสัยทัศน์อิสลามแบบกระหายสงครามที่เป็นแรงขับเคลื่อนของพวกหัวรุนแรงติดอาวุธในทุกวันนี้

 

“หลายคนคิดว่าเพียงเพราะตนเองสามารถอ่านอัลกุรอานซึ่งเป็นภาษาอาหรับได้ จึงมีสิทธิที่จะออกความคิดเห็น” อิหม่ามกล่าว “แต่ในกระบวนนั้นเอง พวกเขาได้กลับประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และความคิดเห็นกระแสหลักของบรรดาปราชญ์ที่คงอยู่มากว่าพันปี” 

 

อีกหนึ่งองค์กรที่ยื่นมือเข้าช่วยปกป้องบันทึกแห่งมาลี ได้แก่โครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่ใกล้สาบสูญ Endangered Archives Programme ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (ด้วยเงินสนับสนุนจากกองทุน Arcadia Fund) ที่ให้การสนับสนุนทีมงานในเมืองเจนเนซึ่งอยู่ห่างจากทิมบุกตูราวๆ 320 กิโลเมตรไปทางตอนใต้ เพราะที่นั่นกำลังมีการป้อนเอกสารโบราณที่รวบรวมได้ไปสู่รูปแบบดิจิตอล ณ ห้องสมุดท้องถิ่นแห่งหนึ่ง มีการเชิญชวนให้ครอบครัวที่มีเอกสารล้ำค่าในคลังส่วนตัวนำเอกสารของตนมาให้เจ้าหน้าที่แปลงไฟล์และอัพโหลดสู่โลกออนไลน์

 

โซฟี ซาริน ผู้บริหารโครงการดังกล่าวเผยว่าจำนวนครอบครัวในเจนเนที่ช่วยนำเอกสารเก่าแก่มายังห้องสมุดนั้นเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน จนในเวลานี้ มีถึง 60 ครอบครัว อำนวยเอกสารคิดเป็นจำนวนกว่า 4,000 ฉบับ/เล่มแล้ว เธอบอกว่าขณะนี้เอกสารลายลักษณ์อักษรเป็นไฟล์ภาพราวๆ 90,000 ภาพถูกอัพโหลดออนไลน์เป็นที่เรียบร้อย ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ที่ห้องสมุดแห่งดังกล่าวในเมืองเจนเน ซารินเองกำลังดำเนินโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องอีกเป็นเวลาสองปี

 

อย่างไรก็ตาม หนทางยังอีกยาวไกล

 

องค์การยูเนสโกได้จัดการประชุมนานาชาติในหัวข้อสถานะและอนาคตของบันทึกโบราณแห่งมาลีไปเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดยได้ข้อสรุปว่าการปกป้องบันทึกเหล่านี้จะต้องเป็น “ปฏิบัติการเร่งด่วน” มีเอกสารราวๆ 350,000 ฉบับแล้วที่ได้รับการเคลื่อนย้ายจากทิมบุกตูไปยังเมืองหลวงของมาลีในปฏิบัติการปี 2013 แต่การเคลื่อนย้ายเอกสารที่เก่าแก่และเปราะบางจากเมืองที่มีอากาศแห้งไปสู่เมืองที่มีความชื้นสูงก็ยังเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวล

 

นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการต่างเห็นตรงกันว่าบันทึกโบราณแห่งมาลีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการศึกษาอิสลาม

 

“ชาวแอฟริกันตะวันตกได้ใช้อำนาจของถ้อยคำเพื่อสร้างสังคม ขับเคลื่อนการเมือง ธำรงรักษาความเชื่อทางศาสนา และต่อสู้กับความอยุติธรรม” นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม กัส เคสลีย์-เฮย์ฟอร์ด จากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษอธิบาย “ชาวมาลีเรียนรู้มาแต่ไหนแต่ไรเรื่องของการประสานผู้คนเข้าด้วยกัน การทำให้ผู้คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และรู้ด้วยว่าต้องมีความผ่อนปรนที่เพียงพอจึงจะเกิดการยอมรับความแตกต่าง” 

 

แหล่งที่มา https://www.washingtonpost.com/news/inspired-life/wp/2016/01/21/the-race-to-save-ancient-islamic-manuscripts-from-terrorists-who-want-them-destroyed/