ส่องประวัติศาสตร์: มุสลิม…เอกภาพหรือพหุภาพ ?

ส่องประวัติศาสตร์: มุสลิม…เอกภาพหรือพหุภาพ ?

แปลและเรียบเรียง ทีมปาตานีฟอรั่ม 

 

ช่วงนี้ที่เวทีประชันวาทะของเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คงไม่มีใครคิดกล่าวโทษหากจะมีใครสักคนตื่นกลัวขึ้นมาว่าอิสลามกำลังจะเป็นภัยคุกคามจริงๆ สำหรับสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสถานีวิทยุ NPR ช่วงเดินสายหาเสียงที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ โดนัลด์ ทรัมพ์ ตอกผนึกข้อเสนอให้สั่งห้ามมุสลิมเข้าประเทศของตนด้วยคำกล่าวที่ว่า “มันต้องมีอะไรสักอย่าง” ในหมู่คนมุสลิมกับ “วัฒนธรรมของพวกเขา” อีกหนึ่งตัวแทนรีพับลิกันอนาคตสดใสอย่างประสาทศัลยแพทย์ เบ็น คาร์สัน บอกกับสถานี NBC ว่า “ผมไม่สนับสนุนให้คนมุสลิมมาดูแลประเทศนี้ ผมไม่เห็นด้วยอย่างที่สุด”

 

ไม่ใช่แค่ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน นางฮิลลารี คลินตัน เองที่เคยวิพากวิจารณ์ทรัมพ์กับวาทะปลุกระดมความเกลียดกลัวอิสลามของเขาไว้อย่างน่าฟังก็ถูกสงสัยว่าเป็นหนึ่งในโต้โผสำคัญที่ร่วมผลักดันนโยบายต้านการก่อการร้าย หรือ “war on terror” อันมีส่วนสถาปนาโรคเกลียดกลัวอิสลาม หรือ ‘Islamophobia’ ทั้งในระดับนโยบายและแผนปฏิบัติงาน และดูจากประวัติบนเส้นทางการเมืองฮิลารีเองก็มิได้ระมัดระวังนัก ย้อนไปในปี 2000 ฮิลลารีซึ่งอยู่ในฐานะผู้สมัครชิงที่นั่งในวุฒิสภาขณะนั้นได้คืนเช็คบริจาคทั้งหมดที่ได้มาจากองค์กรมุสลิมที่สนับสนุนเธอคิดเป็นเงิน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ มาแล้ว

 

ไม่เพียงเท่านั้น สหายรักผู้สนับสนุนสำคัญของฮิลลารี อย่างนายพลเกษียรราชการ เวสลี่ย์ คลาร์ค เพิ่งจะเรียกร้องให้มีการควบคุมชาวอเมริกันที่ “ไม่ภักดี” และ “ถูกเป่าหูให้เป็นพวกหัวรุนแรง” ไว้ในค่ายกักกันแบบที่เคยทำกับชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม องค์กรหัวก้าวหน้าหลายองค์กรขอให้นางคลินตันอย่าเอาแผนหาเสียงของตนไปเกี่ยวข้องกับแนวคิดที่อันตราย “ในเวลาที่ชาวอเมริกันมุสลิมกำลังเผชิญกับอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่ถาโถมเข้ามา” แต่ก็ยังไร้การขานรับใดๆ

 

สำนักข่าว CNN รายงานว่าปี 2015 ถือเป็นอีกหนึ่ง “ช่วงเวลาแห่งการต่อต้านมุสลิมที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา” และจากข้อมูลของ the Council on American-Islamic Relations (CAIR) มัสยิดและศูนย์ต่างๆ ที่ทำงานด้านอิสลามในอเมริกาได้ตกเป็นเหยื่อของการทำลายทรัพย์สิน การก่อกวนให้เสียขวัญ และความคิดเห็นเปี่ยมด้วยอคติ อย่างน้อย 63 ครั้งในปีที่แล้ว เป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่กลุ่มปกป้องสิทธิมุสลิมอย่าง CAIR เริ่มติดตามสถานการณ์เมื่อปี 2009 และเพิ่มขึ้นสามเท่าตัวในปีที่แล้ว

 

แต่ถ้าหากนักการเมืองกระแสหลักไม่ว่าจะขั้วอุดมการณ์ใดต่างก็มีความหวั่นเกรงเดียวกันต่อกลุ่มชน “ชาวมุสลิม” ที่ถูกเชื่อว่าเหมือนกันไปหมด องค์กรก่อการร้ายอย่าง เช่น ไอเอส ก็สามารถใช้ประโยชน์จาก “มุสลิม” ที่ถูกมองว่าเป็นเอกภาพไร้ซึ่งความแตกต่างหลากหลายเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของพวกตนได้เช่นกัน

 

หลังเหตุก่อการร้ายอันสะเทือนขวัญในกรุงเบรุตและปารีส นักข่าวเจาะลึกชาวอังกฤษอย่าง นาฟีซ อาห์เหม็ด ได้เขียนบทความที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับไอเอส โดยอาห์เหม็ดได้แสดงมุมมองอันเฉียบคมที่ว่าพวกดาอิช (อีกชื่อเรียกแทนกลุ่มไอเอส)ไม่เพียงแต่ใช้ภาพความรุนแรงที่เร้าใจโหมกระพือคลื่นความตระหนกและตื่นกลัว แต่ยังสลักเสลาแผนการเมืองในหลักการใหม่ที่มุ่งดึง “โลกตะวันตกเข้าสู่สงครามแห่งอารยธรรมครั้งสุดท้ายกับ ‘อิสลาม’”

 

เมื่อดูเหมือนว่าทั้งโดนัลด์ ทรัมพ์ และไอเอส เห็นตรงกันว่ามีกลุ่มชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวที่เรียกว่า “มุสลิม” มาแต่ก่อนกาล ฉันอยากจะขอใช้เวลาไม่มากในบทความนี้พูดถึงความแตกต่างหลากหลายอันใหญ่หลวงในความเป็นอิสลามและมุสลิม ความจริงที่ว่าเราไม่เคยมี สิ่งๆ เดียวที่เรียกว่า “อิสลาม” ในประวัติศาสตร์โลก และหากจะพูดถึงอิสลามละก็ จะต้องจำเพาะเจาะจงถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ณ จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น เช่น เราสามารถพูดถึงผู้นำศาสนานิกายซุนนีในจักรวรรดิออตโตมันช่วงศตวรรษที่ 15 หรือ ผู้หญิงซุนนีในหมู่เกาะมัลดีฟส์ช่วงศตวรรษที่ 16 หรือ ชาวบ้านที่เข้ารับนิกายซุนนีในแคว้นเบงกอลในศตวรรษที่ 17 และ 18 ทั้งนี้ เราจะต้องถกด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นมองตนเองเช่นไรในฐานะ “มุสลิม” และอะไรคือจุดร่วมที่มิอาจแยกได้ของกลุ่มชนเหล่านั้น

 

ในการจะแก้ไขเรื่องเล่าอันราบเรียบว่ามุสลิมคือกลุ่มชนเดียวไปสู่มุสลิมที่แตกต่างหลากหลาย ฉันต้องขอรื้อฟื้นเรื่องราวที่โลกกำลังลืมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลามที่ทั้งรุ่มรวยและสลับซับซ้อน อิสลามได้ผสานรวม ปรับเปลี่ยน และเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่างๆ ขึ้นใหม่ และในกระบวนการนั้นมันก็ได้ปรับเปลี่ยนและเขียนตัวเองขึ้นใหม่เช่นกัน

 

อิบนุ บัตตูตา กับอาณาจักรอิสลาม: เอกภาพ หรือ พหุภาพ ?

 

ช่วงคริสต์ศักราช 1325 – 1354 ที่โลกยังไม่มีเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องบิน ปราชญ์มุสลิมจากแอฟริกาเหนือนามว่า อิบนุ บัตตูตา ออกเดินทางไป-กลับจากโมรอกโคบ้านเกิดทางผืนแผ่นดินและทะเลไกลถึงเมืองจีน ซึ่งกว่าจะสิ้นสุดการเดินทางเขาได้พบพานชนชาติต่างๆ เทียบเท่ากับ 44 ชาติในยุคใหม่ ครอบคลุมระยะทางถึง 73,000 ไมล์ (เกือบ 118,000 กิโลเมตร) ปราชญ์ผู้นี้จึงได้รับสมญานามจากบรรดานักเขียนตะวันตกว่า “มาร์โค โปโล แห่งตะวันออก” แต่แม้ว่าบัตตูตาจะเดินทางไกลและไปยังหลายสถานที่กว่าพ่อค้าจากเวนิสอย่าง มาร์โค โปโล นักวิชาการได้อธิบายความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างบัตตูตา และมาร์โค โปโล ว่ามาร์โค โปโล ซึ่งเป็นชาวอิตาลีเป็นคนแปลกหน้าในดินแดนที่เขาท่องไป ในขณะที่บัตตูตานั้นไปยัง “โลกที่มีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียว” คือ อาณาจักรแห่งอิสลาม (Dar al-Islam) หรือมิเช่นนั้น ก็ดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม หรือปกครองโดยกษัตริย์มุสลิม

 

ดังนั้นไม่ว่าจะไปถึงที่ใด สมาคมที่อ้าแขนรับปราชญ์มุสลิมผู้นี้คือหมู่พ่อค้า นักปราชญ์ และเจ้าชายมุสลิมที่มิได้แปลกแยกสำหรับเขาเลย เขายังสามารถใช้ภาษาอาหรับสื่อสารแลกเปลี่ยนกับสมาคมเหล่านั้นในนานาประเด็น ทั้งแต่ศาสนา กฎหมาย การเมือง ไปจนถึงวิทยาศาสตร์

 

ดังนั้นในบางมุมก็อาจกล่าวได้ว่า อาณาจักรอิสลาม (Dar al-Islam) คือ โลกแห่งอิสลามหรือความเป็นมุสลิมที่เป็นหนึ่งเดียว

 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือ อาณาจักรอิสลาม (Dar al-Islam) ในยุคของบัตตูตานั้นครอบคลุมพื้นที่ภูมิศาสตร์กว้างไกลตั้งแต่แอฟริกาเหนือไปจนถึงแผ่นดินจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่รวมบางประเทศที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญอย่างสเปนและแอฟริกาแถบศูนย์สูตรบางส่วน ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มชนที่กระจายตัวอยู่กว้างขวางหมู่มนุษยชาติ ประกอบด้วยหลายเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภาษา และเหตุการณ์ในอดีต จะเป็นกลุ่มชนที่ ‘เหมือนกันไปหมด’

 

ถึงยุคของเรา เราจึงจำเป็นจะต้องหยิบยกภาวะ 'culture shock' ที่ อิบนุ บัตตูนา ต้องเผชิญแม้ในดินแดนที่เป็นของมุสลิมมาพูดถึง เพราะมันเป็นเครื่องยืนยันว่าพหุภาพทางวัฒนธรรมที่หยั่งลึกในอาณาจักรอิสลามอันกว้างใหญ่ในโลกใบนี้มีอยู่จริง

 

อิสลามบางกลุ่มที่ต่อต้านสุลต่าน


ความหลากหลายทางประเพณีภายในอิสลามเป็นสิ่งที่กวนใจปราชญ์นิกายซุนนีที่เห็นโลกมามากอย่าง อิบนุ บัตตูตา อยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะมีสายใยความเป็นซุนนี บัตตูตา สนใจอย่างมากในลัทธิซูฟีย์ซึ่งเป็นอิสลามในมุมที่เน้นทางจิตวิญญาณ ในการเดินทางหลายครั้งเขาจึงหาเหตุไปเยี่ยมยังสำนักปฏิบัติฌานแห่งต่างๆ ของมุสลิมซูฟีย์อยู่เสมอ เช่น การเดินทางอันโด่งดังในค่ำคืนหนึ่งยังหมู่บ้านอัมม์ อุไบดะห์ เพื่อเยี่ยมหลุมฝังศพของผู้ก่อตั้งลัทธิซูฟีย์ เชค อาห์หมัด อิบนุ อัล-ริฟาอี เป็นที่รู้กันในขณะนั้นว่าผู้ถือลัทธิซูฟีย์จะไม่เลื่อมใสผู้ปกครองในทางโลกไม่ว่าผู้ปกครองนั้นจะนับถือศาสนาใด เพราะชาวซูฟีย์มองว่าการข้องเกี่ยวใดๆ กับราชาหรือสุลต่าน เป็นการแทรกแซงพันธสัญญาที่บุคคลมีต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

จึงไม่แปลกที่พวกซูฟีย์จะไม่เป็นที่พอใจนักของบรรดากษัตริย์และสุลต่าน และได้เกิดปัญหาขึ้นกับตัวของอิบนุ บัตตูตา ที่รักการคบหาสมาคมกับมุสลิมซูฟีย์ ขณะที่เขาทำงานเป็นผู้พิพากษาที่กรุงเดลี ของอินเดียภายใต้การปกครองของสุลต่านมูฮัมหมัด บิน ตุฆลัค (ค.ศ. 1325-51) ในฐานะผู้ปกครอง มูฮัมหมัดตุฆลัคเป็นที่เลื่องลือด้านความเผด็จการ ดำริโครงการที่เพ้อฝัน และความขัดแย้งในตนเอง เมื่อองค์สุลต่านได้ล่วงรู้ว่ามีสมาชิกซูฟีย์อาวุโสคนหนึ่งปฏิเสธอำนาจสูงสุดในแผ่นดินของตน พระองค์ได้สั่งให้จับกุมตัวเชคคนดังกล่าว ลงโทษโดยการดึงเคราของเขาออกทีละเส้น และประหารชีวิตในที่สุด

อิบนุ บัตตูตา ซึ่งบังเอิญเป็นสหายรักของเชคผู้นี้ ก็ได้ถูกองค์สุลต่านจับกุมตัวเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยที่ความเป็นซุนนีนิกายเดียวกับพระองค์มิได้ช่วยให้พ้นภัย สำหรับสุลต่านผู้นี้อำนาจแห่งกษัตริย์มาก่อนความเป็นมุสลิม แม้พระองค์จะตรัสต่อสาธารณชนในทางตรงกันข้าม

 

เพศในอาณาจักรอิสลาม

อิบนุ บัตตูตา ผ่านทั้งพิธีฮัจญ์และประสบการณ์ในดินแดนอันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมและการศึกษาของอิสลามอย่าง นครมักกะฮ์ และมาดีนะฮ์ มาแล้ว นั่นหมายถึงเขาผู้นี้ถูกหล่อหลอมโดยอิสลามกระแสหลักที่เป็นแกนกลาง มิใช่อิสลามที่ก่อตั้งตามแถบชายขอบอาณาจักรอิสลาม ดังนั้นคงพอเดาได้ถึงความรู้สึกตื่นตระหนกของปราชญ์ผู้นี้เมื่อเขาเหยียบย่างถึงหมู่เกาะร้อนชื้นอันวิจิตรพิสดารอย่างมัลดีฟส์ และได้พบกับหญิงชาวมุสลิมที่มีศรัทธาเคร่งครัดแต่มีวิถีปฏิบัติที่ต่างออกไปอย่างน่าตกใจ:

 

เหล่าสตรีบนหมู่เกาะนี้ไม่คลุมศีรษะ ราชินีของพวกนางก็เช่นกัน พวกนางสางผมและรวบไว้ข้างหนึ่ง ส่วนใหญ่นุ่งห่มเพียงท่อนล่างจากเอวลงมาถึงเท้าโดยที่ปล่อยให้ท่อนบนเปลือยเปล่าเช่นนั้น ถึงกระนั้น พวกนางเดินไปมาในตลาดและทุกหนทุกแห่ง หลังจากที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาที่นั่น ข้าพเจ้าได้พยายามล้มเลิกธรรมเนียมปฏิบัติเช่นนั้น และออกคำสั่งให้สตรีสวมเสื้อผ้า แต่ก็ไม่สำเร็จ (จาก The Rihla of Ibn Battuta translation and commentary, Oriental Institute, Baroda, India 1976)

 

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ความ ‘ช็อก’ ของบัตตูตามีเหตุคือความละเลยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ตัวเขาคงยากจะยอมรับในฐานะปราชญ์ ในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อกระแสหลักทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์อิสลามเต็มไปด้วยเรื่องราวของสตรีเพศผู้ทรงอิทธิพล บทบาทเศรษฐีนีผู้ถือครองที่ดินในจักรวรรดิออตโตมันที่มีต่อเศรษฐกิจของเมืองหลวงนั้นเป็นที่รู้กันดี ผู้หญิงในฮาเร็มของราชสำนัก อย่างเช่น เฮอร์เร็มสุลต่าน นั้นมีบทบาททั้งต่อนโยบายของราชสำนักและราชอาณาจักร แม้ว่าจะเป็นสุไลมานพระสวามีของพระองค์ที่ประวัติศาสตร์ขนานนามว่า “สุไลมานผู้เกรียงไกร” (Suleiman the Magnificent)

 

ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของผู้หญิงชนชั้นปากกัดตีนถีบในเมืองหลวงและในชนบทก็ยังขัดกับภาพหญิงมุสลิมที่ยอมจำนนและเก็บเนื้อเก็บตัว นักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านสตรีและเพศในโลกอาหรับอย่าง จูดิธ ทัคเกอร์ ที่พยายามชี้ให้โลกเห็นภาพ ‘เวิร์กกิ้งวูแมน’ ในโลกมุสลิมมานานระบุไว้ว่า:

 

ในกรุงไคโรที่ยึดครองโดยออตโตมัน ผู้หญิงผูกขาดการค้านมและแพนเค้ก ทำงานอยู่ในโรงอาบน้ำสาธารณะ เป็นนักดนตรีและนักเต้นในวงสังสรรค์ของทั้งชายและหญิง ผู้หญิงชนชั้นล่างจะคอยให้บริการแก่ผู้หญิงที่สูงศักดิ์ในฮาเร็ม…คอยให้ความบันเทิง เร่ขายของ เป็นนักจักรวาลวิทยา เป็นพยาบาลผดุงครรภ์ พวกเธอเชื่อมโยงฮาเร็มเข้ากับโลกการค้า ทักษะความรู้ และข่าวซุบซิบจากท้องถนนของเมืองหลวง ข้อมูลที่มีการรวบรวมอย่างดีเผยบทบาทของผู้หญิงชั้นกรรมาชีพในศาลยุติธรรมของอิสลาม ที่ซึ่งพวกเธอใช้ร้องทุกข์จากผู้เป็นสามี เพื่อนบ้าน หุ้นส่วนกิจการ ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของสตรีเพศในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการตระหนักรู้เกี่ยวกับสถาบันสาธารณะอย่างศาลของสตรีเหล่านั้น (Tucker 1993, "Gender and Islamic History")

 

สารแห่งความคับข้องใจบัตตูตาพรรณนาถึงอิสลามในแบบเดียว คือที่เป็นลายลักษณ์อักษร นั่นคืออิสลามแบบที่ใช้กล่อมเกลานักเทววิทยา นักปราชญ์ และนักนิติศาสตร์ในสถานศึกษาอย่างมาดราซาห์หรือมักตับมาแต่โบราณหลายร้อยปี หรืออิสลามแบบที่บัตตูตาได้ศึกษาและยึดถือเป็นต้นแบบอันเป็นนามธรรม

 

แต่อิสลามหาได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียนหรือราชสำนักเท่านั้น มันเดินทางลงเรือข้ามมหาสมุทรอินเดีย มันถูกแบกไปบนหลังอูฐข้ามทะเลทรายสะฮารา มันแพร่กระจายไปผ่านทั้งทางบทกวีและคมดาบทั่วทวีปเอเชีย

 

ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากอิสลามในลายลักษณ์อักษร เราจึงต้องพูดถึงอิสลามในชีวิตจริงด้วย อิสลามที่ทั้งนักปราชญ์และนักบวช ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง พ่อค้าและช่างศิลป์ถักทอเข้ากับบริบททางประวัติศาสตร์ของตน จนมักจะได้ผลลัพธ์เป็นผืนพรมวิจิตรแห่งวัฒนธรรมที่กฎหมายชารีอะฮ์ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับความต้องการแห่งอาณาจักร (ดังกรณีจักรวรรดิออตโตมัน) ที่บรรทัดฐานทางเพศที่อยู่มานานได้รับอนุญาตให้อยู่รวมในสังคมอย่างสงบสุข (ดังกรณีของหมู่เกาะมัลดีฟส์)

 

ในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาซึ่งอาจหมายถึงอิสลามที่ผ่านมือของปราชญ์นักท่องโลก พ่อค้านักผจญภัย หรือนายพลที่มุ่งขยายจักรวรรดิ อิสลามก็มีสองภาคที่โยงใยกันอยู่เสมอ (ที่เป็นอักษรและที่มีชีวิต) ซึ่งนั่นก็คืออิสลามที่กำหนดโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค

 

หากกลุ่มไอซิสหรือไอเอสสามารถยกคำกล่าวจากหะดีษมาฆ่าฟันมุสลิมกลุ่มอื่น และหากทรัมพ์สามารถประณาม “ชาวมุสลิม” อย่างหนักหน่วงเช่นนั้น เรายังจำเป็นต้องเพ่งมองต่อไปให้ลึกซึ้งถึงสังคมหลากวัฒนธรรมอย่างในอิสตันบูล ปารีส และเบรุต ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติในช่วงชีวิตของพวกเรา เป็นประสบการณ์อันเปี่ยมชีวิตชีวาในชุมชนหลากศรัทธาที่เราจำต้องปกป้องและแผ่ขยายต่อไป

 

อ้างอิงแหล่งที่ http://www.huffingtonpost.com/tithi-bhattacharya/adventures-in-islam-is-th_b_8920010.html