ความไม่สงบชายแดนใต้: เมื่อรัฐหันมาพุ่งเป้าที่โรงเรียนสอนศาสนา

 

 

(ประกอบภาพ)

โรงเรียนญิฮาดวิทยาที่ถูกศาลสั่งยึดให้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

 

เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาศาลยุติธรรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีคำพิพากษายึดพื้นที่จำนวน 14 ไร่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา บ้านท่าด่าน จ.ปัตตานี ให้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เป็นคำสั่งที่สร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชาวบ้านมุสลิมในปัตตานีทั่วหัวระแหง 

 

โรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นปอเนาะ (หรือ Pondokในภาษามลายูกลาง) ที่มีชื่อเสียง เป็นโรงเรียนประจำแบบดั้งเดิมที่เด็กชายมุสลิมแทบทุกคนในพื้นที่ถูกส่งมาเรียนรู้หลักศาสนาอิสลามและความเป็นมลายู ปอเนาะแต่ละแห่งดูแลโดยครูใหญ่หรือที่เรียกว่าโต๊ะครู ผู้มักเป็นที่เคารพรักอย่างสูงของชุมชน

 

นักประวัติศาสตร์ต่างให้ความเห็นว่าสถาบันที่คงอยู่มานานอย่างโรงเรียนปอเนาะมีบทบาทหลอมรวมจิตใจชาวปาตานีเพราะปอเนาะเปรียบเสมือนเปลที่ช่วยกล่อมเกลาอารยธรรมอิสลามแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 

 

จนถึงทุกวันนี้ มนเสน่ห์แห่งปอเนาะและขุมความรู้ด้านอิสลามจากสถาบันดังกล่าวยังคงดึงดูดนักเรียนทั่วภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ญิฮาดวิทยาก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนประจำแบบดั้งเดิมหลายร้อยแห่งในถิ่นชายแดนใต้ที่กรำศึกแย่งชิงมาแต่อดีต

 

มาวันนี้ ศาลได้ใช้ตัวบทในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิพากษายึดที่ดินของโรงเรียนญิฮาดวิทยามาเป็นของแผ่นดิน โดยอ้างคำให้การที่ว่าปอเนาะแห่งนี้ถูกใช้สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

ทั้งนี้นิยามของคำว่า “สนับสนุนกิจกรรมก่อความไม่สงบ” ของแผ่นดินไทย ยังคลุมเครืออยู่มาก อีกทั้งการพบปะหรือการจัดโต๊ะสนทนาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ก็มักจะมีหัวข้อเรื่องความเป็นอิสระอยู่เสมอ

 

บรรดาโต๊ะครูต่างก็พยายามให้ความมั่นใจแก่หน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติอยู่เสมอว่าปอเนาะไม่ได้สอนแนวคิดแบ่งแยกดินแดน และการที่หัวข้อเรื่องความเป็นอิสระถูกถักทออย่างเหนียวแน่นในวาทกรรมสาธารณะทั่วชุมชนชายแดนภาคใต้ การจะหยิบเอาสถาบันเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งมาโจมตีย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม

 

เราได้เห็นแล้วในตัวอย่างเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมวัยรุ่นนักฟุตบอล 19 คน ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ อ.สะบ้าย้อย ในเหตุการณ์จลาจลวันที่ 28 เมษายน 2004 เยาวชนจากทีมฟุตบอลท้องถิ่นที่ถูกสงสัยว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนเหล่านั้นก็มิได้มาจากโรงเรียนเดียวกัน และหากว่าทีมฟุตบอลวางตัวเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนได้ละก็การพบปะกลุ่มกันเอง โดยสังคมก็น่าจะถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุมได้เช่นกัน หากสมาชิกที่มาร่วมวงต่างมีแนวคิดเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ว่าปาตานีเป็นดินแดนบ้านเกิดที่ถูกรัฐไทยยึดครองอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ตามคำร้องของพนักงานอัยการในนามของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผู้ก่อความไม่สงบจำนวนสองคนรับสารภาพว่าได้รับการฝึกฝนในโรงเรียนปอเนาะแห่งนี้ โดยโต๊ะครูอับดุลเลาะห์ แวมะนอ และคนอื่นๆ ซึ่งอับดุลเลาะห์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเปาะสูเลาะนั้น ได้หลบหนีการจับกุมออกจากชายแดนใต้ไปเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยทางการยังไม่พบแหล่งหลบซ่อนตัว แต่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยคาดว่าน่าจะอยู่ในประเทศมาเลเซีย

 

เชื่อกันว่าเปาะสูเลาะเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งแบบลับๆ ของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งกุมกองกำลังก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ในชายแดนใต้

 

อันที่จริงโรงเรียนญิฮาดวิทยาถูกสั่งปิดตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2005 และตลอดสิบปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็คอยจับตาดูปอเนาะแห่งนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบุคคลที่ยังเดินเข้า-ออกโรงเรียน ซึ่งการจับตาดังกล่าวสะท้อนชัดว่าเจ้าหน้าที่ปักใจเชื่อว่าเปาะสูเลาะมีอิทธิพลขับเคลื่อนความขัดแย้งในปาตานี ที่กว่า 6,000 ชีวิตแล้วที่ต้องดับสูญจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ซึ่งปะทุมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2004

 

ระยะเวลาอันยาวนานที่รัฐมัวรีรอก่อนจะตัดสินใจยึดโรงเรียนญิฮาดวิทยาได้สร้างความคลางแคลงแก่หลายฝ่าย ด้านแหล่งข่าวจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐจึงเพิ่งจะมาดำเนินการในสิ่งที่น่าจะทำไปแล้วเมื่อสิบปีก่อน

 

ทั้งกองทัพไทยและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงต่างก็ยืนยันว่าได้เคยพยายามติดต่อขอให้เปาะสูเลาะยื่นมือเข้าช่วยในกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซียช่วยจัดแจงสถานที่ให้และยังไม่สิ้นสุด แต่ก็คว้าน้ำเหลว

 

การพูดคุยสันติภาพที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2013 ที่มีการรับช่วงต่อต่อแบบกึ่งยิงกึ่งผ่านจากรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันนั้น ทำให้ตัวแทนเจรจาจากส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ได้เผชิญหน้าแบบตาต่อตากับแกนนำแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่มายาวนานถึงหกกลุ่ม ซึ่งรวมตัวเฉพาะกิจภายใต้องค์กรร่มที่เรียกว่า ‘มาราปาตานี’ 

 

ทางการไทยอ้างว่าที่ร่วมโต๊ะสนทนามีสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็นสองคนร่วมอยู่ด้วยก็จริง แต่ชัดเจนว่าตัวแทนดังกล่าวที่มาร่วมสนทนาในนามมาราปาตานี ไม่ได้มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการกองกำลังติดอาวุธแต่อย่างใด

 

รัฐบาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั่นเองที่หันหลังให้กับตัวแทนไกล่เกลี่ยจากนานาชาติที่ช่วยงานสนทนาสันติภาพระยะ “อุ่นเครื่อง” ช่วงปี 2005-2011 และโยนหน้าที่อำนวยสะดวกให้กับกัวลาลัมเปอร์

 

ทราบกันอย่างเป็นทางการแล้วว่าการสนทนาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานียังอยู่ในช่วงอุ่นเครื่องและไม่เป็นทางการ ถึงแม้ตัวแทนเจรจาจากทั้งสองฝ่ายจะเริ่มแสดงบทบาทต่อหน้าสื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มมาราปาตานีได้ยืนยันแล้วว่าทางการไทยจะต้องให้ผลักดันการสนทนาสันติภาพชายแดนใต้เป็นประเด็นระดับชาติ นั่นหมายถึงรัฐสภาจะต้องให้การรับรอง ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับมาราปาตานีให้เป็นตัวแทนเจรจาอย่างชอบธรรมในนามของชาวมลายูชายแดนใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดมาช้านาน โดยเน้นย้ำว่ากฎหมายไทยจะต้องคุ้มครองกลุ่มตัวแทนในการแสดงบทบาทดังกล่าว

 

ถึงกระนั้นทางการไทยก็ยังไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะเปิดทางให้แก่มาราปาตานีมากนักในทางกฎหมาย มีแหล่งข่าวซึ่งเป็นที่ปรึกษาระดับสูงด้านความมั่นคงกล่าวว่า ในทรรศนะของรัฐบาลซึ่งมาจากกองทัพนั้น การยอมสนทนากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตนมองว่าเป็น “อาชญากร” ก็เท่ากับได้ให้ความชอบธรรมในทุกๆ ทางแก่กลุ่มดังกล่าว อันที่จริง รัฐบาลเองก็ยังปฏิเสธที่จะเรียกชื่อมาราปัตตานีเสียด้วยซ้ำ เพราะเกรงว่าจะไปกระตุ้นเตือนถึงประวัติศาสตร์ของดินแดนซึ่งเคยเป็นของชาวมลายู โดยพยายามเลี่ยงไปใช้ชื่ออื่นที่ฟังดูกลางๆ อย่าง "Party B" แทน

 

ด้านเจ้าหน้าที่ความมั่นคงบางส่วนให้ความเห็นว่าที่ทางการไทยยังมีท่าทีสองจิตสองใจกับกลุ่มมาราปาตานีก็เพราะยังไม่ปักใจเชื่อว่าองค์กรร่มนี้มีอิทธิพลควบคุมกองกำลังติดอาวุธจริง 

 

ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไทยยังเลือกวิธีจับมือแบบ ‘หลังไมค์’ ต่อไป เช่นกับแกนนำที่ถูกเนรเทศอย่าง สะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ที่ถือเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณคนสำคัญคนหนึ่งของชาวบ้านและมีอำนาจสั่งการกองกำลังติดอาวุธ  แต่แล้วเหตุการณ์สั่งยึดโรงเรียนญิฮาดวิทยาย่อมนำพาสายสัมพันธ์ลับๆ มาถึงจุดจบ อย่างน้อยก็สำหรับอับดุลเลาะห์ แวมะนอ 

 

ทั้งสมาชิกบีอาร์เอ็นและผู้สังเกตการณ์หลายคนให้ความเห็นว่า จริงอยู่ที่ผู้นำในท้องถิ่นเหล่านี้มีอิทธิพลในแบบของตน แต่ความขัดแย้งชายแดนใต้โยงใยไปไกลกว่าบุคคลเหล่านี้มากนัก มีปัจจัยร่วมอื่นๆ ทั้งความไม่ไว้วางใจซึ่งเป็นแผลเป็นมาแต่อดีต และระบบยุติธรรมซึ่งมาคั่นกลางระหว่างรัฐไทยและชาวมลายูปาตานีที่ยังคลอนแคลน เหล่านี้ย่อมอยู่เหนือการควบคุมของผู้นำด้านกองกำลังหรือจิตวิญญาณคนใดคนหนึ่ง

 

นักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นต่างเห็นว่าการยึดปอเนาะญิฮาดวิทยานั้นเข้าทางขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเหมาะเจาะเพราะมันจะยิ่งขยายรอยร้าวระหว่างรัฐบาลไทยและชาวบ้านปาตานีที่รัฐพยายามชนะใจมานาน หลายฝ่ายห่วงในประเด็นที่ว่า คำตัดสินยึดพื้นที่ของศาลครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดกรณีต่อๆ ไปกับโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆ ในท้องถิ่น เพียงด้วยข้อกล่าวหาว่าร่วมเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในแผ่นดิน