เสียงหลงจากภรรยา“อับดุลลายิ” และ ย้อนดูความเคลื่อนไหวบนหน้าสื่อสาธารณะ

นับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 58 ข่าวสารเหตุการณ์การตายปริศนาของนาย อับดุลลายิ  ดอเลาะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทำให้ได้รับความสนใจจากสาธารณะไม่ใช่แค่ในพื้นที่ 3 จชต.เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงสังคมไทยไปด้วย ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาก็มีความเคลื่อนไหวของฟากเจ้าหน้าที่ อีกฟากหนึ่งก็มาจากครอบครัวอับดุลลายิโดยมี นางกูรอสเมาะ   ตูแวบือซา ผู้เป็นภรรยาเดินสายติดตามความคืบหน้า และขณะเดียวกันก็มีภาคประชาสังคมชูเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนก่อนจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเราลองมาเริ่มย้อนดูความเคลื่อนไหวสำคัญๆที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกๆของ กูรอสเมาะ ผู้เป็นภรรยา ภายหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของสามี ก่อนจะปิดท้ายด้วยเสียงหลงความในใจของเธอ

 ‘กูรอสเมาะ’ โอดขอความเป็นธรรม เชื่อ ‘อับดุลลายิ’ตายผิดปกติ

กูรอสเมาะ บอกว่า สามีของเธอเป็นคนดีที่ขยันทำงานตามประสาชาวบ้านที่มีฐานะยากจน อาชีพสุจริต ทำนาทำไร่ ส่วนเธอก็ขายของชำ ขนม ให้กับเด็กนักเรียนพอมีรายได้จุนเจือครอบครัว วันๆได้แต่ทำงานเลี้ยงครอบครัว มีลูก 3 คน และเลี้ยงหลานอีก 1 คน ซึ่งเป็นเด็กกำพร้า พอสามีถูกจับข้อหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงทำให้ครอบครัวได้รับความเสียหาย เดือดร้อน

“โดนปิดล้อมบ้าน 4 ครั้ง มาตั้งแต่ปี 2556 ปี 2557 และปี 2558 จำนวน 2 ครั้งๆหลังสุด คืนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558ในการตรวจค้นครั้งแรกอ้างว่ามียาเสพติด ต่อมาปีที่แล้วบอกว่ามีการเชื่อโยงเบอร์โทรศัพท์ที่ฉันเองใช้และได้ควบคุมตัวฉันเองไปสอบสวนแล้วถูกปล่อยมาในวันเดียวกัน พอมาปี 2558 นี้ มาค้นอีกก็ไม่เจออะไรที่เป็นหลักฐานหรือสิ่งผิดปกติ แต่ได้ควบคุมตัวสามีไป บอกว่ามีการซัดทอดถึงสามี ฉันจึงขอความเป็นธรรมให้กับครอบครัวด้วย เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง” กูรอสเมาะเล่าย้อนเหตุการณ์ และร้องขอความเป็นธรรม”

กูรอสเมาะ เชื่อว่าการตายของสามีเป็นการตายที่ไม่ปกติ เพราะสามีมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวใดๆเธอจึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานอื่นๆ ได้ตรวจสอบเพื่อเปิดเผยความจริงว่าอับดุลลายิเสียชีวิตจากสาเหตุใด

ขณะที่ญาติผู้ใกล้ชิดของ‘อับดุลลายิ’ อีกคน บอกว่า ผลการชันสูตรเบื้องต้น จากแพทย์ชันสูตรศพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้บอกกับเขาว่า ผลจากการตรวจภายนอกร่างกายและเอกซเรย์ พบว่าไม่มีการบวม และกระดูกไม่ได้หัก

“แต่ปรากฏว่าพบข้อมือขวาของ ‘อับดุลลายิ’ช้ำและพบเลือด จึงได้ขออนุญาตตัดเนื้อเยื่อส่วนข้อมือไปตรวจอย่างละเอียดสภาพมือทั้งสองข้างไม่เหมือนกันคือข้างหนึ่งสีออกเหลืองๆ ส่วนอีกข้างเป็นฟกช้ำเขียวๆ”ญาติผู้ใกล้ชิดของ ‘อับดุลลายิ’เผย  (MGR Online , 5 ธันวาคม 2558 ,15:26, โอด! ภรรยาเหยื่อผู้เสียชีวิตในค่ายทหารร้องขอความเป็นธรรม ระบุเป็นการตายที่ผิดปกติ)

แพทย์ตั้งข้อสังเกตอาจตายตั้งแต่ตี 2-4 ทหารแจงผลการชันสูตรเบื้องต้น

ต่อมามีนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่)  ซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) เป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมรับฟังการชี้แจงผลการชันสูตรเบื้องต้น จากแพทย์ชันสูตรศพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกต และข้อสันนิษฐานเบื้องต้น

ฮากีม  เจะโด บอกว่า เย็นวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เขาได้รับอนุญาตจากญาติของผู้ตายเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงผลการชันสูตรเบื้องต้น พร้อมๆ กับญาติคนหนึ่งของผู้ตาย ในโควตาญาติของผู้ตาย หลังจากที่แพทย์อนุญาตให้มีผู้รับฟังผลการชันสูตรเบื้องตน 4 คน คือ ญาติของผู้ตาย 2 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 2 คน

ทว่าหลังจากนั้นฮากีมกลับเห็นเจ้าหน้าจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)1 คน และเจ้าหน้าที่ทหาร2 นาย ถือวิสาสะเข้ามาร่วมรับฟังการชี้แจงผลการชันสูตรเบื้องต้นด้วยและมีการโต้เถียงกันขึ้นระหว่างแพทย์ผู้ชันสูตรศพ กับเจ้าหน้าที่ทหาร

ฮากีม เล่าว่า แพทย์ผู้ชันสูตรศพ กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐถกเถียงกันในเรื่องของท่าการตายของผู้ตาย ทหารพยายามบอกว่าผู้ตายนั้นก้มนอนฟุบตายในท่าขอดุอาอ์ตายในขณะขอดุอาอ์(ท่าเอามือ2ข้างหงายประกบกันเพื่ออ้อนวอนขอพรจากพระเจ้า) แต่หมออธิบายว่าโดยทั่วไปคนตาย หรือเกิดอาการเป็นลม มือที่กำลังทำท่าทางต่างๆ อยู่จะตกลงข้างตัวโดยปริยายโดยแทบไม่มีอาการเกร็งค้างอยู่ ถ้าจะมีอาการเกร็งค้างมีโอกาสแค่นิ้วมือเท่านั้นที่เกร็งค้าง ไม่มีทางที่มือทั้ง 2 จะเกร็งค้างได้ แต่ทหารพยายามย้ำว่า ผู้ตายตายท่าดุอาอ์แล้วชี้ให้หมอดูในรูปที่ถ่ายสภาพศพไว้

“ทหารบอกว่าเวลา 05.30 น.เห็นผู้ตายกำลังละหมาดซุบฮิ์อยู่ และไปพบว่าผู้ตายเป็นศพในเวลา 06.00 น. หมอสันนิษฐานว่าศพได้ตาย 10-12 ชั่วโมง ณ เวลาที่หมอชันสูตรเวลา 14.33 น. แสดงว่าผู้ตาย ตายตั้งแต่เวลา 02.00-04.00 น. ก็เป็นได้” ฮากีม เล่าถึงประเด็นผลการชันสูตรเบื้องต้นของหมอแล้วนำไปสู่การที่ทหารถกเถียงกับหมอ”

หมอสังเกตสีนัยน์ตาสันนิษฐานถูกทำให้ตาย  พบเลือดปริศนาทั้งที่ศพไม่มีบาดแผล

ฮากีม บอกถึงผลการชันสูตรเบื้องต้นของแพทย์ ขณะที่เขาร่วมรับฟังอยู่ด้วย ว่า ผู้ตายเป็นชายฉกรรจ์ ไม่มีโรคประจำตัวร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าอยู่ๆ มาเสียชีวิตไม่มีทางเป็นไปได้ การตายต้องมาจากสาเหตุอะไรบางอย่างพบรอยฟกช้ำที่ข้อมือด้านซ้าย พบรอยช้ำตามร่างกายอันเนื่องมาจากเลือดตกตามธรรมชาติของผู้เสียชีวิตทุกราย

“หมอให้ข้อสังเกตว่ามีรอยหยดเลือดปริศนาหลายจุดมากตามร่างกายศพตรงลิ้นปี่ ตรงข้อพับแขน ที่ไหล่ และตรงถุงครอบมือที่เจ้าหน้าที่ทหารเก็บในเล็บมือ ทั้งที่ศพไม่มีรอยบาดแผลเลย แล้วตกลงเลือดนั้นเป็นเลือดของใคร ถ้าเลือดนั้นไม่ใช่เลือดของผู้ตาย ตกลงเลือดนั้นเป็นเลือดของใคร

“หมอตั้งขอสังเกตจากสีของดวงตาว่ามีนัยยะบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง หมอสังเกตุเห็นว่าตาทางด้านซ้ายของศพมีจุดเลือด คราบสีขาวๆ และเส้นเลือดที่บ่งชัดในดวงตา หมอสันนิษฐานว่าถ้าถ้าดวงตาแสดงอย่างนี้แสดงว่าผู้ตายถูกทำให้ขาดอากาศหายใจ อาจจะมาจากการบีบคอก็ได้ แต่ไม่เห็นรอยที่คอ อาจจะตายจากการปิดปากปิดจมูกก็ได้ แต่ก็ไม่เห็นร่องรอยการปิดปาก ปิดจมูก การตายอาจเกิดจากการถูกสารพิษก็ได้ หรืออาจตายจากการถูกซ้อมจากหลายๆ วิธีการสะสมเป็นระยะเวลานานๆ”

ฮากีม ซึ่งเป็นสักขีพยาน ณ เวลาที่แพทย์โรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่ชี้แจงผลการชันสูตรศพเบื้องต้นต่อหน้าเขา ญาติผู้ตาย 1 คน ทหารอีก 4 นาย และจากศอ.บต.อีกคนหนึ่ง  ระบุ

คปส. เสนอรัฐคลี่คลายข้อกังขา-หากตั้งคณะกรรมการฯ ต้องให้ญาติเชื่อใจ

2 วันถัดมาของ เช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2558 เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เผยแพร่แถลงการณ์กรณี เหตุการณ์ประชาชนเสียชีวิตในค่ายทหารจังหวัดปัตตานีผ่านเพจเพสบุค‘เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ-คปส.’

คปส.มีความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศความมุ่งมั่นที่จะเห็นสันติภาพของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเสนอให้

1.รัฐต้องมีกระบวนการสำรวจรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการคลี่คลายข้อกังขาใจของสังคม โดยรับฟังจากญาติและองค์กรประชาสังคมซึ่งญาติมีความไว้เนื้อเชื่อใจ

2.หากรัฐเห็นควรจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อแสวงหาความจริงนั้น ที่มาและลักษณะรูปแบบของคณะกรรมการดังกล่าวจะต้องมาจากผลของกระบวนการสำรวจรับฟังความคิดเห็นจากญาติและองค์กรประชาสังคมซึ่งญาติมีความไว้เนื้อเชื่อใจ

คปส. ได้ถอดบทเรียนจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายชุดหลายกรณี ที่ผ่านมาพบว่าชาวบ้านและสังคมไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ สุดท้ายก็ไม่เกิดการยอมรับในผลของการทำงานโดยคณะกรรมการฯ สาเหตุหลักเพราะที่มาของคณะกรรมการฯนั้นไม่ยึดโยงกับชาวบ้านและสังคมตั้งแต่แรก เมื่อไม่เกิดการยอมรับของสังคมส่วนใหญ่ ก็ส่งผลให้ให้เกิดบรรยากาศของกระแสสังคมไม่ไว้ใจรัฐ เมื่อสังคมไม่ไว้ใจรัฐก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสนทนาโดยปริยาย

3.ก่อนจะมีข้อสรุปใดๆต่อเหตุการณ์นี้ รัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากญาติและองค์กรประชาสังคมซึ่งญาติมีความไว้เนื้อเชื่อใจให้ลุล่วงเสียก่อน

ญาติและครอบครัวตั้งข้อสงสัย‘อับดุลลายิ’ อาจตายจากการซ้อมทรมาน

7 ธันวาคม 2558 ช่วงค่ำ เว็บไซต์ครอบครัวข่าว 3 เผยแพร่รายการข่าว 3 มิติ ซึ่ง ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ ลงสัมภาษณ์ ‘กูรอสเมาะ’ ที่คอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อันเป็นบ้านของ ‘กูรอสเมาะ’

กูรอสเมาะ ตั้งข้อสังเกตุถึงการตายของ ‘อับดุลลายิ’ ผู้เป็นสามี ผ่านรายการข่าว 3 มิติ ว่า อาจตายจากการซ้อมทรมานแม้การชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุจะมีสักขีพยานและผลเบื้องต้นไม่พบร่องรอยการบาดเจ็บ ครอบครัวจึงยินยอมให้ไปชันสูตรที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยให้แพทย์ตรวจจุดสำคัญเพื่อคลี่ปมข้อสงสัย

‘กูรอสเมาะ’ เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการตายของ ‘อับดุลลายิ’  ระหว่างการถูกควบคุมตัวเพราะพบข้อพิรุธหลายประเด็น และจะต้องมีผู้รับผิดชอบไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก (ฐปณีย์ เอียดศรีไชย,รายการข่าว 3 มิติ, 7 ธันวาคม 2558 , 22:12 ,ร้องเรียนสาเหตุการเสียชีวิตผู้ต้องสงสัยในค่ายทหาร จ.ปัตตานี)

ภาพข่าว:ประชาไท

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า  แถลง ชี้แจงสื่อ ระวังนำเสนอชี้นำ เพราะยังไม่มีผลพิสูจน์

เช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2558 สำนักปฏิบัติการข่าวสารและประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) เผยแพร่การแถลงข่าวของ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าในเวลา 10.30 น. เตือนการนำเสนอข่าวการตายของ ‘อับดุลลายิ’ ในค่ายทหาร ของสื่อแขนงหนึ่ง โดยระบุว่าเป็นการนำเสนอข่าวมีลักษณะชี้นำ ทั้งที่ความจริงที่ยังไม่มีผลการตรวจพิสูจน์ และทำให้สังคมเกิดความสงสัย

กอ.รมน. แจงผลการชันสูตรเบื้องต้นของแพทย์รพ.มอ.หาดใหญ่

ต่อมา บ่ายวันที่ 8 ธันวาคม 2558 สำนักข่าวผู้จัดการ MANAGER ONLINE เผยแพร่ข่าว พาดหัว ‘กอ.รมน.แจงเหตุ “อับดุลลายิดอเลาะ” ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตในค่ายทหาร’

พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในเบื้องต้นว่า

1.การตรวจดวงตา ถ้ามีการคั่งของเลือดจะบอกได้ว่าผู้ตายมีโรคหัวใจ หรือหัวใจวาย ซึ่งก็สามารถเป็นไปได้ การตรวจรูม่านตา ถ้ามีการขยายของรูม่านตาเล็กกว่า 3 มม. จะบ่งบอกว่าได้รับสารพิษ แต่ของ นายอับดุลลายิดอเลาะ มีขนาด 5 มม. ซึ่งถือว่าปกติ ไม่ได้รับสารพิษใดๆ

2.แพทย์ได้ตั้งคำถามว่ามีการอุดปากเพื่อทำให้ขาดอากาศหายใจหรือไม่ ผลการตรวจก็ไม่มีปรากฏบาดแผลใดๆ เนื่องจากถ้าโดนกระทำในลักษณะนี้จะเกิดการต่อสู้ จะทำให้เกิดบาดแผลขึ้นตามร่างกาย และบริเวณริมฝีปาก

3.การตรวจบริเวณรอบลำคอเพื่อดูว่ามีการรัดคอหรือไม่ ผลการตรวจไม่มีปรากฏร่องรอย

4.บริเวณทรวงอก ถ้าไม่มองให้ชัดเจนจะไม่เห็น แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดพบรอยเป็นคราบสีแดง ซึ่งแพทย์ได้นำไปตรวจ DNA เพิ่มเติมต่อไป

5.ตรวจบริเวณลำคอ โดยใช้ทฤษฎีทางการแพทย์คือ กดจาง กดไม่จาง คือถ้ากดแล้วจาง จะไม่ใช่รอยช้ำ สรุปผลการตรวจคือกดแล้วจางจึง ไม่พบว่ามีรอยช้ำ

6.การตรวจร่างกายซีกซ้าย โดยทั่วไปปกติไม่พบร่องรอย หรือบาดแผลจากการต่อสู้แต่อย่างใด ส่วนของนิ้วมือซ้าย ตรงซอกเล็บนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง พบคราบแดงๆ ด้านในสุด ซึ่งแพทย์พยายามเช็ดแล้วแต่ไม่ออก น่าจะเป็นรอยสีจากการทำอาชีพ ในส่วนของอวัยวะท่อนล่างขาซ้าย ข้อเท้า ส้นเท้า ไม่พบร่องรอยใดๆ สำหรับในส่วนของคราบเลือดที่ตรวจพบบริเวณใต้หัวไหล่ด้านซ้ายมีลักษณะเป็นจุดเลือดเล็กๆ และบริเวณใต้ข้อพับแขนด้านซ้ายตรวจพบเป็นคราบเลือด และกรณีการตรวจพบคราบเลือดที่ติดอยู่ที่ถุงพลาสติก แพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจพิสูจน์ต่อไป

7.การตรวจร่างกายซีกขวา ผลการตรวจปกติ แต่จะพบคราบเลือดเล็กน้อย แพทย์ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจ DNA ต่อไป พบรอยผิวหนังถลอกประมาณ 1 ซม. ที่บริเวณข้อศอกขวา คาดว่าน่าจะเกิดตอนเคลื่อนย้ายศพของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เตรียมนำส่งมายัง รพ.ม.อ. ส่วนของนิ้วมือขวาจมูกเล็บด้านข้าง มีรอยแดงๆ อยู่นอกเล็บ เช็ดถูไม่ออกซึ่งไม่ใช่คราบเลือด น่าจะเกิดจากการประกอบอาชีพเช่นเดียวกับมือข้างซ้าย ที่สำคัญได้ตรวจบริเวณชายโครงขวาพบรอยแผลเป็น ซึ่งจากการที่แพทย์ได้สอบถามญาติ และญาติให้ข้อมูลว่า เคยมีประวัติการรักษาโรคของแพทย์ด้วยการเจาะปอด แต่ขั้นนี้แพทย์ผู้ชันสูตรไม่ได้ซักประวัติการรักษา จึงสรุปโดยรวมว่าร่างกายปกติ

8.จากการตรวจเฉพาะที่ บริเวณศีรษะไม่ปรากฏร่องรอยฟกช้ำ การทำร้ายร่างกายหรือการกระทบกับของแข็งใดๆ เช่นกันจึงมีสภาพปกติ

9.รอยปลิ้นแดงด้านหลังที่ปรากฏ เป็นการตกสู่เบื้องต่ำของเลือดเป็นปกติทั่วไป

10.การตรวจบริเวณอวัยวะเพศ ตามที่ญาติได้ค้างคาใจ และสอบถามแพทย์ ประเด็นคือ พบรอยคราบสีขาว ซึ่งจากการตรวจของแพทย์พบว่า อวัยวะเพศมีการฝังมุก 1 เม็ด สำหรับคราบขาวๆ ที่พบเป็นคราบอสุจิ ซึ่งเป็นสภาวะปกติของผู้ชายที่จะหลั่งอสุจิออกมา ส่วนอื่นๆ ไม่พบเจอร่องรอยการทำร้าย ถุงอัณฑะปกติ รูทวารหนักไม่มีบาดแผล ไม่มีเลือดออก

11.ผลการเอกซเรย์ทุกส่วนของร่างกายไม่ปรากฏร่องรอยการแตกหักของกระดูกแต่อย่างใด แต่แขนซ้ายมีร่องรอยเหมือนมีโลหะฝังใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้เสียชีวิตเคยประสบอุบัติเหตุ ทั้งนี้ แพทย์ผู้ชันสูตรจะทำการปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านรังสีเทคนิค เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

12.ข้อสังเกตของญาติผู้เสียชีวิตที่พบเห็นสภาพศพมีลักษณะการเสียชีวิตคือ มือขวาตั้งชู แพทย์คาดว่าอาจเสียชีวิตในท่านอนตะแคงก็เป็นได้ จะต้องเทียบภาพถ่ายในที่เกิดเหตุของ จนท.ตร.ให้ชัดเจนอีกครั้ง

13.ผลการตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) จะทราบผลประมาณ 1 เดือน และการตรวจหาสารพิษในร่างกายเสร็จประมาณ 1 สัปดาห์ (สำนักข่าวMANAGER ONLINE,8 ธันวาคม 2558 ,14:57,กอ.รมน.แจงเหตุ อับดุลลายิดอเลาะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตในค่ายทหาร)

‘กูรอสเมาะ’ ร้องรัฐไม่ให้กดดัน-คุกคามญาติคนอื่นถ้าข้องใจประสานตรง

ต่อมาในตอนเย็น วันที่ 8 ธันวาคม 2558 กูรอสเมาะ ภรรยาอับดุลลายิ ดอเลาะ พร้อมลูกชายทั้ง 3 และญาติอีก 1 คนเข้าปรึกษาถึงแนวทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้ ‘กูรอสเมาะ’ ได้แถลงจุดยืนต่อหน้าสื่อมวลชนว่า สิทธิเรียกร้องความเป็นธรรมของสามีคนในสังคมย่อมสามารถจะร่วมกันเรียกร้องได้ แต่ขอว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายขอเป็นสิทธิของตัวเธอเอง และไม่อยากให้ภาครัฐเข้าไปกดดัน คุกคาม สร้างความเดือดร้อนให้กับญาติคนอื่น หรือภาครัฐเข้าไปต่อรองเอาผลประโยชน์ไปให้ญาติคนอื่นๆ เพื่อแลกกับการหยุดเรียกร้องความเป็นธรรมให้การตายของ ‘อับดุลลายิ’ นอกจากเสียจากว่าจะได้รับมอบอำนาจจากตัวเธอเองเท่านั้น

เมีย ‘อับดุลลายิ’ สงสัยทำไมทหารพูดแทนแพทย์ เธอรับไม่ได้

‘กูรอสเมาะ’ อยากให้มีผลการชันสูตรศพอย่างเป็นทางการออกมาก่อน ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการอะไรใดๆ ทั้งนั้นและเธอรับไม่ได้กับการที่ทหารออกมาแถลงผลการตรวจพิสูจน์เบื้องต้นเอง ทั้งที่ควรจะเป็นของแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่เป็นผู้แถลง เธอสงสัยทำไมทหารพูดแทนแพทย์

“เรื่องที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า บอกว่า แพทย์ได้สอบถามญาติ และญาติให้ข้อมูลว่า เคยมีประวัติการรักษาโรคด้วยการเจาะปอดนั้น ไม่จริงแน่นอน ก๊ะ (แปลว่าพี่สาว-กูรอสเมาะ เรียกแทนตัวเอง) อยู่กับอาแบ (สามี) มา 16 ปี อาแบเป็นคนที่มีสุขภาพดี ไม่เคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเลยสักครั้ง ไม่รู้ว่าทหารต้องการอะไรถึงได้บิดเบือนความจริงได้ถึงขนาดนี้

ผิดหวังสามีตายในค่ายแล้วทหารเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการฯกังวลแพทย์มีอิสระแค่ไหน

จากการที่แม่ทัพภาคที่ 4 ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ได้สั่งการให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดปัตตานี ตั้งคณะกรรมการอิสระที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อตรวจสอบความจริง นั้น ‘กูรอสเมาะ’ ก็ไม่สามารถรับได้

“ก๊ะเองรับไม่ได้ที่อาแบ (สามี) ตายในค่ายทหาร แล้วทหารเป็นคนตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอง ก๊ะต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด คนทำผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด คนทำถูกก็ว่ากันไปตามถูก สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ชี้วัดสาเหตุการตายของอาแบ  คือการชันสูตรของหมอแต่ก็กังวลอยู่เหมือนกันว่าหมอจะมีอิสระในการให้ข้อมูลตามความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

“เรื่องเงินเยียวยา 7-8 ล้านบาทนั้นไม่ต้องมาถามก๊ะ เรื่องการให้ความเป็นธรรมแก่คนภายในรัฐเป็นหน้าที่ของรัฐ การเยียวยาให้กับเหยื่อที่ไม่ได้รับ ความเป็นธรรมเป็นยิ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ทั้งนี้ต้องเกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐได้สะสางความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับอาแบแล้ว

‘กูรอสเมาะ’ หวังพึ่งภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ

“ก๊ะกลัวเหมือนกัน กลัวมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อนำเสนอต่อสาธารณะ กลัวถูกคุกคามจากทางภาครัฐ ก็ได้แต่หวังขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่พอพึ่งได้ ช่วยชี้แนะให้กับก๊ะด้วยว่าก๊ะจะดูแลความปลอดภัยของตัวเองยังไงให้รอดพ้นจากการคุกคามของภาครัฐ

“องค์กรที่ก๊ะไว้ใจ คือศูนย์ทนายความมุสลิม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สหประชาชาติ  (UN) เพราะก๊ะไม่ไว้ใจภาครัฐเลย แต่ถึงอย่างไรก๊ะก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างไร ก็ได้แต่หวังว่าองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่พอพึ่งได้จะให้ความช่วยเหลือประสานงานให้

“รัฐต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ก๊ะไม่ยอม ก๊ะจะสู้ให้ถึงที่สุด หากกลไกกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับอาแบได้แล้ว ก๊ะก็หวังที่จะพึ่งกลไกกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ก๊ะจะสู้จนกว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับอาแบได้แล้ว ก๊ะถึงจะยอมจำนนแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของพระเจ้าที่จะให้ความเป็นธรรม

“ที่แน่ๆ ถ้ารัฐไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับกรณีการตายของอาแบ สามีก๊ะได้ ก๊ะคิดว่าทั้งสังคมมลายู สังคมมุสลิม รวมถึงสังคมไทยคงไม่พอใจแน่ และความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐจะแผ่ขยายไปทุกหย่อมหญ้า”กูรอสเมาะ ตูแวบือซาสะท้อน

ปริศนาการตายของนายอับดุลลายิ จะมีปลายทางเป็นอย่างไร คงต้องเกาะติดกันต่อไป เพราะ “เรื่อง” อยู่บนหน้าสื่อและสาธารณะ ความคืบหน้าของเหตุการณ์ก็มีอยู่ต่อเนื่อง และความสนใจของสาธารณะชนก็จับตาไม่เว้นวันแล้ว ณ ขณะนี้