เสียงระเบิดชี้จุดพลาดแผนความมั่นคงชายแดนใต้

 


 

ภาพประกอบ :บริเวณป้อมเฝ้าระวังบ้านโคกขี้เหล็ก จ.ปัตตานี ที่คร่าชีวิตอาสาสมัครไป 4 คน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน

 

หรือการโอนถ่ายอำนาจรักษาความปลอดภัยยิ่งผลักชาวบ้านไปในจุดสุ่มเสี่ยง

ยางรถยนต์ที่ตั้งซ้อนอย่างดีพร้อมแนวกั้นที่หล่อขึ้นแน่นหนาจากคอนกรีต ณ ป้อมเฝ้าระวังชั่วคราวแห่งนี้ควรทำหน้าที่ป้องภัยให้แก่ชาวบ้านอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กลุ่มเล็กๆ จากผู้บุกรุก แต่เมื่อระเบิดแสวงเครื่องแรงสูงลูกหนึ่งกลับระเบิดขึ้นภายในปราการกั้น คร่าชีวิตอาสาสมัครไปสี่คน บาดเจ็บอีกห้า ตัวป้อมนั้นพังพินาศ แรงสั่นสะเทือนย่อมแผ่ซ่านไปทั่วทั้งภูมิภาค

คนนอกโดยทั่วไปมององค์ประกอบของเหตุการณ์และสรุปว่าเป็นเรื่องเดิมๆ คือ กลุ่มกบฏมลายูมุสลิมฆ่ากองกำลังอาสาสมัครชาวพุทธโดยย่องมาติดตั้งระเบิดในป้อม แต่ในสายตาของเจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดกับความขัดแย้งนี้มานาน เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนนั้นต่างกันมากกับเหตุการณ์ความไม่สงบโดยฝีมือของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนมุสลิมลายูทั่วๆ ไปที่เกิดอยู่เป็นนิจ เพราะครั้งนี้เป้าหมายเป็นกองกำลังชาวบ้านอาสาที่ไม่เคยตกเป็นเป้าโจมตีเพราะกลุ่มก่อความไม่สงบไม่เคยถือว่าเป็นพิษภัยที่ต้องใส่ใจ 

ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย กลุ่มอาสา ชรบ. ได้รับการฝึกฝนใช้ปืนสั้นและอาวุธต่างๆ อาสาสมัครจะไม่ลาดตระเวนไปไกลจากเขตหมู่บ้านของตน และมีหน้าที่เฝ้าระวังในช่วงกลางคืนเท่านั้น แต่ละกลุ่มได้รับเบี้ยเลี้ยงก้อนเล็กๆ  เพียงพอแค่สำหรับค่ากาแฟหรือเครื่องดื่มจิปาถะรายเดือนให้พอผ่านแต่ละค่ำคืนไปได้ จึงเป็นที่สงสัยในวงกว้างว่าพวกเขากลายเป็นเป้าโจมตีในค่ำคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ที่คอยจับตาดูบรรดา ชรบ. อยู่อีกชั้น คือกลุ่มอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ. ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสม กลุ่มนี้เป็นเครือข่ายกองกำลังภาคพลเรือนชาวพุทธล้วน กระจายอยู่ทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้อันเป็นภาคพื้นที่หนาแน่นไปด้วยประชากรซึ่งพูดภาษามลายู และสี่เขตของจังหวัดสงขลา ขณะที่ ชรบ. จะยึดหมู่บ้านของตนเป็นที่มั่น อรบ. มีความคล่องตัวกว่ามากและคอยจับตาภาพรวมของสถานการณ์ทั่วภูมิภาคที่ความขัดแย้งจากอดีตยังคงร้อนระอุ

ชะอ้อน บัวเลิน สมาชิก อรบ. วัย 52 ปี ถึงกับพูดไม่ออกและไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเหตุผลของการโจมตีป้อม ชรบ. บ้านโคกขี้เหล็กคืออะไร  “สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ ไม่เคยเกิดมาก่อน” นายชะอ้อน กล่าว ขณะที่สมาชิกหมู่บ้านชาวพุทธกลุ่มหนึ่งยืนกวาดตาสำรวจป้อมระวังภัยที่กลายเป็นเหยื่อระเบิดอยู่อย่างเงียบๆ 

อาสาสมัคร ชรบ. ไม่เคยถูกประกาศข่มขู่เป็นเป้าก่อการร้ายเหมือนอย่างกลุ่ม อรบ. ที่กระจายอยู่ทั่วในพื้นที่ความขัดแย้ง ด้านเจ้าหน้าที่กองทัพเองต่างก็แสดงความกังวลอย่างเงียบๆ ต่อความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงานของ อรบ. และแนวโน้มที่กองกำลังเสริมหน่วยนี้จะกอบเอาหลายเรื่องมาเป็นธุระของตน

ผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธพยายามระวังที่จะสรุปอะไรจากเหตุการณ์วันที่ 12 พฤศจิกายน แต่โดยทั่วไปก็เห็นตรงกันว่ามันคือ “สาส์นที่ชัดมาก” จากกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการบอกว่ากองกำลังชาวบ้านจะต้องชดใช้เมื่อใดก็ตามที่ก้าวเกินบทบาทปกติของตนที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม

พูดได้อีกอย่างว่า การโจมตีครั้งนี้มุ่งไปที่แผนทุ่งยางแดงโมเดล กลยุทธ์ ‘คิดไม่เสร็จ’ ของทางการที่หมายจะปันภาระรับผิดชอบด้านความปลอดภัยไปยังชาวบ้านผ่านทางบรรดาอาสาสมัคร ชรบ. ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หรือ อปพร. ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น

เจ้าหน้าที่เชื่อว่ากลุ่มคนร้ายได้แอบนำระเบิดมาติดตั้งที่ป้อมในระหว่างที่ไม่มีอาสาสมัครเฝ้าอยู่ ถึงกระนั้นก็ยังนับเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงและอุกอาจเพราะป้อมตั้งอยู่โดดเด่นเห็นได้ง่ายในที่โล่ง

ชุมชนทั้งในและรอบๆ บ้านโคกขี้เหล็กมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่อาศัยปะปนกัน โดยมีจำนวนชาวพุทธมากกว่าเพียงเล็กน้อย ในคืนเกิดเหตุป้อม ชรบ. ดังกล่าวมีอาสาสมัครชาวพุทธซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นเฝ้าอยู่ โดยมีป้อมของอาสาสมัครมุสลิมอยู่ถัดไปเพียงหนึ่งกิโลเมตร

ชาวบ้านทั้งสองศาสนายังคงคบหาเป็นปกติ แต่มีชาวบ้านมุสลิมบางรายยอมรับว่าเหตุการณ์วันที่ 12 พฤศจิกายน บั่นทอนความสัมพันธ์ในทางจิตวิทยาระหว่างชาวบ้านสองฝั่งศาสนาอยู่ไม่น้อย เพราะการโจมตีเลือกพุ่งเป้าที่คนฝั่งเดียว

ระเบิดครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่ดึงทุกความสนใจไปยังทุ่งยางแดงโมเดล คล้อยเที่ยงคืนไปเล็กน้อยในวันที่ 31 กรกฎาคม กลุ่มคนร้ายราวๆ 20 คนพร้อมอาวุธปืนกลเปิดฉากยิงก่อกวนค่ายอาสาสมัคร อปพร. ในเขต อ. ยะหา จ. ยะลา จนมีผู้บาดเจ็บ 18 ราย โดยทั้งหมดเป็นชาวบ้านมุสลิมเชื้อสายมลายู

มีผู้สังเกตการณ์ในท้องถิ่นและแหล่งข่าวในขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ความเห็นว่ากลุ่มก่อความรุนแรงยังมีการออมมือในเหตุการณ์ที่ อ. ยะหา จ. ยะลา เพราะการคนร้ายจงใจยุติการโจมตีก่อนที่จะมีอาสาสมัคร อปพร. ล้มตาย เพราะเพียงแค่ต้องการส่งสัญญาณเตือนอย่างจริงจังถึงรัฐบาลไทยรวมถึงชาวบ้าน ให้เห็นว่ากองกำลังของตนมีศักยภาพอะไรบ้างที่จะตอบโต้แผนทุ่งยางแดงโมเดล

แหล่งข่าวจากกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่มายาวนานและกุมกองกำลังก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ของภูมิภาคชายแดนใต้กล่าวว่า งานปกติของเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งจากท้องถิ่นและอาสาสมัครรักษาปลอดภัยไม่เคยเป็นภัยต่อกิจกรรมของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมาก่อน แต่การเดินหมากของรัฐบาลที่ผลักดันพวกเขาสู่ด่านหน้า ย่อมทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าจู่โจม

เป้าหมายหนึ่งของกลยุทธ์ทุ่งยางแดงโมเดล คือการค่อยๆ ถอนกองทัพออกจากงานลาดตระเวนและแทนที่ด้วยทหารพรานอาสาสมัคร โดยเน้นการว่าจ้างคนในท้องถิ่นซึ่งรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งที่ จ. นราธิวาสรายงานว่าลูกบ้านชายหนุ่มมุสลิมเชื้อสายมลายูสองคนจากหมู่บ้านของตนได้เข้าร่วมเป็นทหารพรานอาสาสมัคร ซึ่งความชำนาญพื้นที่ของพวกเขาจะเป็นประโยชน์มากในการลาดตระเวนสืบหาแหล่งกบดานชั่วคราวและสนามฝึกของกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่ก็ใช่ว่านี่จะเป็นงานที่ง่าย เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบนั้นอยู่ไม่เป็นที่ อีกทั้งยังมีชาวบ้านใจดีที่คอยเป็นหูเป็นตาให้

เด็กหนุ่มทหารพรานทั้งสองได้ค่าตอบแทนที่ไม่เลว 15,000 บาทต่อเดือน แต่พวกเขาไม่กล้าที่จะกลับไปเยี่ยมครอบครัวเพราะรู้ดีว่าตนได้ก้าวมาเป็นศัตรูของกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว ความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มทั้งสองกับพ่อแม่และชุมชนของตนก็เริ่มแปลกแยก เข้าหน้ากันไม่ติด “พวกเขาเดินสวนกันแต่จะไม่พูดหรือมองหน้ากัน” ผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวเล่า

ชาวบ้านเชื้อสายมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ต่างก็คิดว่าทุ่งยางแดงโมเดลจะล้มเหลวในที่สุด เพราะพวกเขายังสงสัยว่าจะมีคนท้องถิ่นสักกี่คนที่จะเต็มใจเอาชีวิตไปอยู่ในเส้นสุ่มเสี่ยงเพื่อประเทศ อีกทั้งความไม่ไว้วางใจของประชาชนในท้องถิ่นที่มีต่อประเทศชาติไม่ต่างจากกลุ่มก่อความไม่สงบก็ยังเป็นปัจจัยน่าเป็นห่วง 

ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเองก็รู้ดีถึงความเปราะบางตรงนี้ “ทหารก็พยายามอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาขอให้เราเข้าร่วมกับทีมเฝ้าระวังก็จริง แต่จะแค่มอบหมายให้ประจำอยู่ที่บางจุดในบางเวลาเท่านั้น” เขากล่าว ทหารที่ประจำการในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งบอกว่าพวกเขาตระหนักดีว่าความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อประเทศและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้น เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงต่อแผนทุ่งยางแดงโมเดล 

อย่างไรก็ตาม บรรดาชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นกล่าวว่าแต่นี่ก็คือชีวิตปกติ ณ สุดแคว้นชายแดนใต้ที่ซึ่งความเป็นจริงในภาคสนามเป็นโลกอีกใบที่นโยบายจากกรุงเทพฯ ไม่เคยเอื้อมถึง