โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 1 พฤศจิกายน ผลการสำรวจพบชาวตุรกีเสียงแตก
โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 1 พฤศจิกายน ผลการสำรวจพบชาวตุรกีเสียงแตก
หมายเหตุ ทางกองบรรณาธิการปาตานี ฟอรั่ม เห็นว่า รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนตรุกี จัดทำโดยสำนักวิจัยพิว ( Pew Research Center) ชิ้นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์การเมืองในประเทศตุรกี
ที่มาของภาพ http://www.insightturkey.com
ตุรกีพบทางตันทางการเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตามที่ทราบกันประธานาธิบดี เรเจบ ตอยยิบ แอรโดว์อาน กำหนดการเลือกตั้งใหม่สายฟ้าแลบในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ก่อนหน้ามีโพลสำรวจพบว่าชาวตุรกีมีความเห็นแตกกันเกี่ยวกับประชาธิปไตยของประเทศ ส่วนทัศนคติเชิงบวกต่อ เออร์โดอัน ก็ตกต่ำที่สุดในรอบสี่ปี ทั้งนี้ ชาวตุรกีส่วนใหญ่ก็ยังเห็นว่ารัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยดีกว่าอำนาจในมือของผู้นำคนเดียว
สำนักโพลล์ Pew Research Center สำรวจช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม 2015 พบว่า ชาวตุรกีครึ่งต่อครึ่งที่พอใจและไม่พอใจในสถานภาพประชาธิปไตยของประเทศ ณ ปัจจุบัน โดยมีสัดส่วน 49% เท่ากัน สัดส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ตอบว่าพึงพอใจได้แก่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลของ แอรโดว์อาน ได้แก่ กลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป (50 ปีขึ้น) กลุ่มที่มีการศึกษาระดับต่ำ (ต่ำกว่าระดับมัธยมต้น) กลุ่มที่สนับสนุนพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรคอัค (AK Party) ของเออร์โดอัน และกลุ่มที่เคร่งศาสนา (ละหมาด 5 ครั้งขึ้นไปต่อวัน) ส่วนกลุ่มที่รู้สึกผิดหวังกับประชาธิปไตยของประเทศได้แก่ กลุ่มคนอายุน้อย กลุ่มที่มีการศึกษาสูงขึ้น กลุ่มสนับสนุนพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP) และกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาน้อยกว่า ทั้งนี้ พบว่าความนิยมต่อตัวประธานาธิบดี แอรโดว์อาน ลดลงจากปีก่อน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 39 % มีทัศนคติดีต่อ แอรโดว์อาน ในปีนี้เทียบกับ 51% เมื่อปีที่แล้ว และ 62 % ในปี 2013 กลุ่มใหญ่ที่สนับสนุนประธานาธิบดีอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ กลุ่มใหญ่ที่ยังเหนียวแน่นก็คือ กลุ่มสนับสนุนพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรคอัค (AK Party) กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มการศึกษาในเกณฑ์ต่ำ และมุสลิมตุรกีที่ละหมาด 5 เวลาเป็นอย่างต่ำต่อวัน
สำหรับทิศทางโดยรวมของประเทศ ชาวตุรกี 54% ตอบว่าไม่พอใจ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนสูงสุด ส่วนใหญ่ของกลุ่มที่ตอบว่าพอใจ (44%) ก็เป็นไปตามคาดคือ กลุ่มสนับสนุนพรรคอัค (AK Party) ของแอรโดว์อาน ตามตัวเลขนับว่าชาวตุรกีมีความหวังมากขึ้นกับทิศทางของประเทศเทียบกับช่วงปี ค.ศ. 2002 -2010
ด้านปัญหาที่ชาวตุรกีกังวลอันดับแรกคือ ปัญหาเงินเฟ้อ ตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรม ความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวยและคนจน และปัญหาการว่างงาน ตามลำดับ ร้อยละ 52 คิดว่าลูกหลานจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การเงินที่แย่กว่าตนในอนาคต ขณะที่ร้อยละ 40 เห็นตรงกันข้าม ที่น่าสนใจอีกประการ ชาวตุรกีตอบว่าทหารเป็นสถาบันระดับชาติสถาบันเดียวที่ได้รับคะแนนเชิงบวกชัดเจนว่ามีอิทธิพลที่ดีต่อประเทศ ส่วนความรู้สึกต่อตำรวจ รัฐบาล ผู้นำศาสนา และหน่วยงานยุติธรรม นั้นปะปนหลายทิศทาง ขณะที่ความรู้สึกต่อสื่อเป็นไปในทางลบ
ในประเด็นสงครามซีเรียและอิรักที่คุกครุ่นอยู่ที่ชายแดนตุรกี ส่วนใหญ่ร้อยละ 67 บอกว่าตุรกีควรอ้าแขนรับผู้อพยพให้น้อยลง และในช่วงเก็บข้อมูล พบว่ามีเพียงร้อยละ 36 ของผู้ตอบ ต้องการร่วมมือกับกองกำลังนานาชาติต่อต้านไอเอส ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ขณะที่ร้อยละ 44 คิดว่าไม่ควรร่วมมือ ซึ่งรัฐบาลตุรกีก็ได้ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการหลังจากนั้น
นอกจากนี้ โดยรวมผู้ตอบมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่มมหาอำนาจที่หยิบยกขึ้นมาสำรวจ เช่น ร้อย 58 มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงร้อยละ 50 และ 49 สำหรับนาโต้และสหภาพยุโรปตามลำดับ ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนผู้ตอบว่าชอบน้อยที่สุดได้แก่ ประเทศจีน (18%) อิหร่าน (17%) และรัสเซีย (15%) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ร้อยละ 55 เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแนวโน้มลักษณะเดิมในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา
น่าสนใจอีกประการคือ ชาวตุรกีส่วนใหญ่ร้อยละ 47 มีความคิดขัดกับข้อตกลงที่ 5 ในสนธิสัญญานาโต้ คือ ไม่สนับสนุนให้ตุรกีใช้กำลังทหารปกป้องประเทศสมาชิกนาโต้ หาประเทศนั้นๆ ถูกรุนรานจากรัสเซีย ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับร้อยละ 42 ของสมาชิกนาโต้ประเทศอื่นๆ ที่หยิบยกมาสำรวจ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา และอีกหกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 54 เห็นว่าตุรกีควรได้รับความเคารพจากทั่วโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่ร้อยละ 36 มองว่าความเคารพที่ได้รับในขณะนี้ก็เพียงพอแล้ว
เหล่านี้เป็นผลสำรวจที่สำคัญโดย Pew Research Center จัดทำเมื่อวันที่ 5 เมษายน-15 พฤษภาคม 2015 โดยใช้ผู้ตอบทั้งหมด 947 คนในตุรกี ด้วยวิธีสัมภาษณ์โดยตรง การสัมภาษณ์ใช้ภาษาตรุกี โดยวิธีการศึกษาให้น้ำหนักกับผู้ตอบคำถาม ทั้งด้านเพศสภาพ อายุ การศึกษา ภูมิภาคและเมือง ก่อนการเลือกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ตามมาด้วยความวุ่นวายไม่ลงรอยทางการเมือง รวมถึงก่อนเหตุการณ์ที่ตุรกีใช้ปฏิบัติทางการทหารโจมตีกลุ่มไอเอสและกองกำลังเคิร์ดของพรรค(PKK)บริเวณชายแดนของประเทศและเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่เมืองอังการาเมื่อไม่นานมานี้
แหล่งที่มา http://www.pewglobal.org/2015/10/15/deep-divisions-in-turkey-as-election-nears/
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมคลิก www.pewglobal.org