เล่าเรื่อง เมื่อครั้งจิบชาและสนทนาปาตานี ณ โรงน้ำชาสนิมทุน(บ้านดิน) เชียงใหม่ ตอนที่หนึ่ง
“การสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้” เพื่อสร้างสังคมแห่งสติ สังคมแห่งปัญญา และทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ต่อผู้คนในสังคมไทยจนนำไปสู่การลดความขัดแย้ง ความหวาดระแวงของกันและกัน นับเป็นภารกิจสำคัญของปาตานี ฟอรั่ม ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปี โดยมีความพยายามเฟ้นหาประเด็นเสวนา พูดคุยที่ค่อนข้างจะมีความสนใจร่วมของปาตานี และพื้นที่ต่างๆ เพื่อชวนให้ได้เห็นข้อคิด บทเรียนที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อพลเมืองในการทำความเข้าใจ เช่นเดียวกับเวทีเสวนาเมื่อครั้งไปเยือนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ หัวข้อที่น่าสนใจคือ เรื่องของ สถาการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองในสังคมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน อะไรคือแรงจูงใจ ทำให้คนเกิดการตื่นตัว แล้วทิศทางปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วในฐานะพลเมือง นักกิจกรรม นักศึกษา ควรเรียนรู้อะไรจากสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นที่มาของเสวนา หัวข้อ พลเมืองสามัญชนเปลี่ยน (ไม่) ผ่าน ร่วมสนทนา จิบชา แบบสบายๆ ที่โรงน้ำชา สนิมทุน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นร้านน้ำชาที่มีกิจกรรมเสวนา และกิจกรรมวัฒนธรรมเป็นประจำ
เริ่มเล่าบทสรุปสำคัญเรื่องปาตานี
การไปครั้งนี้ปาตานี ฟอรั่มได้ร่วมเดินทางไป กับ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานกับชาวบ้านที่สนใจปัญหาสังคม สนใจการมีบทบาทร่วมในการสร้างสรรค์ โดยแนวทางการทำงานหลักๆ คือ เปิดพื้นที่การเมือง ใช้เวทีสาธารณะ เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย การใช้สันติวิธีในระดับชุมชน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านไปใช้วิธีการที่รุนแรง และไม่หันหลังกับกลไกสันติวิธีที่มีอยู่ ไม่ว่ากลไกของความยุติธรรม กลไกของสิทธิมนุษยชน โดยใช้เวทีสาธารณะเป็นรูปแบบในการรณรงค์ เปิดพื้นที่เสวนาชาวบ้าน เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เพื่อลดบรรยากาศของการใช้ความรุนแรง บรรยากาศของการหวาดระแวงต่อกัน
ทั้งนี้ ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.LEMPAR อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะในพื้นที่ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใครมันมีการลับลวงพรางสูงมาก จึงมีงานรณรงค์และก็มีงานพัฒนาศักยภาพชาวบ้านให้มีความหวังสร้างสันติสุข สันติภาพด้วยตัวเอง คือไปให้ความรู้เรื่องการเมืองเป็นหลักคือ เรื่องกฎหมายพื้นฐานว่าจะอยู่อย่างไรท่ามกลางกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ กฎอัยการศึกพรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั่นคง เป็นการให้ความรู้จัดการศึกษา หลักๆก็พัฒนาศักยภาพชาวบ้านสามารถที่จะมีกลไกการปกป้องตนเองท่ามกลางที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยผ่านศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน
วงสนทนาเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความเป็นมาของสถานการณ์ปัญหาปาตานี โดยเห็นว่าเนื่องจากบ้านเมืองเรายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่เท่าไหร่ มันทำให้ชุดข้อมูลข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคไม่เป็นประเด็นสาธารณะ และไม่เป็นที่รับรู้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็เลยทำให้ประเด็นปัญหาความขัดแย้งจริงๆที่สามจังหวัดภาคใต้บานปลาย ทำให้เกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธ คนที่จับอาวุธก็ไม่ใช่คนที่มาจากต่างประเทศ ไม่ใช่มาจากตะวันออกกลาง แต่เป็นชาวบ้านที่ถือบัตรประชาชนไทย ไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะที่ตรงกับความเป็นจริงว่า มันไม่ใช่เหมือนกับวาทกรรมอย่างที่สื่อกระแสหลักนำเสนอต่อสาธารณะว่า เป็นโจรใต้ หากจะทำความเข้าใจจริงๆ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ อย่างเช่นคำว่า “ปาตานี” (PATANI) ที่ใช้ ตัวT ตัวเดียว ไม่ใช่ตัว T สองตัว “ปัตตานี” (PATTANI) สองคำนี้มันสะท้อนถึงที่มาที่ไปของปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีได้ดีมาก
คำว่า “ปาตานี” (PATANI) เป็นชื่อของอาณาจักรเดิมของคนมลายูที่อยู่ชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพราะช่วงที่เป็นอาณาจักปาตานีนั้น รัฐกลันตัน รัฐเคดาห์ ไทรบุรี ตรังกานูก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปาตานี แต่ว่าที่ถูกแบ่งแยกไปอยู่กับมาเลเซียก็เพราะสนธิสัญญาอังกฤษ ปี ค.ศ.1909 มาแบ่งให้กับมาเลเซีย ยึดตรงที่แม่น้ำสุไหงโก-ลก ทางทิศเหนือของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ให้เป็นของไทย ทางทิศใต้ของแม่น้ำสุไหงโก-ลกก็ให้เป็นของมาเลเซีย เราเรียกสนธิสัญญานี้ที่มีชื่อเป็นทางการก็คือ สนธิสัญญาแองโกลสยามิสทรีตตี้
แต่คำว่า “ปัตตานี” (PATTANI) ที่มีตัว “T” สองตัวเป็นชื่อจังหวัด มีสถานะทางการเมืองทางการปกครองเป็นจังหวัดหนึ่ง ถ้า“ปาตานี” (PATANI) ที่ใช้ ตัวT ตัวเดียว มีสถานะของการเป็นอาณาจักร หมายถึงรวมจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี ส่วนหนึ่งของสงขลา และรวมถึงสตูลด้วย คือคนในปาตานี หรือชายแดนภาคใต้เอง ถ้าพูดถึงปาตานี ก็มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนปาตานี เนื่องด้วยพลวัตรของวาทกรรมมันถูกกลบถูกกลืนด้วยคำว่าจังหวัดปัตตานี มันถูกแบ่งแยกแล้วปกครองกลายเป็นรูปแบบของจังหวัดมานาน ทำให้ความเป็นตัวตน ความเป็นชนชาติ สัญชาติเดิมมันถูกกลืนไปกับคำว่าจังหวัดปัตตานี
ความเข้าใจ 1 เงื่อนไขความขัดแย้งระยะไม่ไกล
ขณะที่วงจิบชาคุยกันว่า เมื่อเริ่มต้นปีศ.ศ.1786 ถ้าเทียบกับปีพุทธศักราชก็ตรงกับปีพ.ศ.2329เป็นจุดเริ่มแรกของความขัดแย้งที่ปาตานี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามเก้าทัพ แม่ทัพใหญ่ของสยามลงไปตีเมืองปาตานี ปาตานีก็แพ้ ก็ตกเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีการแบ่งแยกการปกครองจากหนึ่งอาณาจักรเป็นเจ็ดหัวเมือง จากเจ็ดหัวเมืองก็เป็นมณฑณเทศาภิบาลจากมณฑณเทศาภิบาลก็เป็นจังหวัด ในช่วงของปีพ.ศ.2475 ในช่วงของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงใช้ระบบประชาธิปไตย เป็นที่มาที่ไปคร่าวๆ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2329 จนถึงปัจจุบัน โดยถ้าเป็น ช่วงแรกๆ ก็เป็นผู้นำที่มาจากเชื้อพระวงศ์ เชื้อกษัตริย์ เจ้าเมืองเดิมเป็นหลักในการลุกขึ้นมาต่อสู้ ช่วงที่สอง ก็เป็นช่วงของผู้นำศาสนา ช่วงของฮายีสุหลง ช่วงที่สาม ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) ขบวนการนี้เกิดขึ้นช่วงในปีศ.ศ.1960 หรือประมาณปีพ.ศ.2503 ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลังจากฮายีสุหลงรวบรวมข้อเสนอข้อเรียกร้องความต้องการของคนปาตานีในช่วงนั้น เพื่อให้มีการใช้ชีวิตที่มีความสอดคล้องกับความเป็นอัตลักษณ์ของคนปาตานี ซึ่งไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่พูดภาษาต่างกัน ศาสนาต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน ก็เรียกร้องให้รัฐมีการให้สิทธิพิเศษด้านการเมืองการปกครองและด้านการศึกษาเป็นหลักๆผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง มีด้านการศึกษาให้ใช้ภาษามลายูเป็นสื่อในการเรียนการสอนมีด้านกฎหมายด้วยที่ให้แยกศาลออกจากศาลหลักให้มีศาลชารีอะห์ ที่มีในข้อเรียกร้อง 7 ข้อทั้งหมด
ความเข้าใจ 2 ก่อรูปขบวนการติดอาวุธ
หลังจากที่เหตุการณ์ที่ฮายีสุหลงก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดขบวนการติดอาวุธตั้งแต่นั้นมา ปีที่เสียชีวิตในปี ค.ศ.1954 และเกิดเป็นขบวนการในปีค.ศ. 1959 โดยในปี ค.ศ.1959 เกิดขบวนการ BNPP ซึ่งผู้ที่ก่อตั้งเป็นส.ส.คนแรกในจังหวัดนราธิวาสในชายแดนภาคใต้และเป็นลูกของเจ้าเมืองสายบุรี คือ อดุล ณ สายบุรี ชื่อภาษามลายู คือ TengkuJalal Nasir เป็นช่วงส่วนกลางบังคับใช้นโยบายรัฐนิยมที่เข็มข้นมาก อยู่ในยุคจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเจอกับนโยบายของรัฐที่สร้างเงื่อนไขให้กับพื้นที่ ผนวกกับเงื่อนไขกรณีหะยีสุหลงนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่สองอีก อดุล ณ สายบุรีก็ลาออกอย่างเงียบๆแล้วไปก่อตั้งกลุ่มขบวนการที่ชื่อว่า BNPP แนวร่วมแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยปาตานี
หลังจากนั้นหนึ่งปีก็มีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมการปฏิวัติแห่งชาติปาตานี BRN Barisan National revolusi ช่วงไล่เลียห่างกันหนึ่งปี BNPP กับ BRN เป็นช่วงของกระแสการปฏิวัติการต่อต้านจักรวรรดินิยม กระแสการต่อต้านทุนนิยม สงครามเย็น พรรคคอมมิวนิสต์ก็เข็มข้นในบริบทของสังคมไทย ซึ่งที่ปาตานีก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสนี้ด้วย ก็เกิดเป็นขบวนการติดอาวุธเยอะแยะมากมาย หนึ่งในกระแสที่ได้รับอิทธิพลในพื้นที่ คือ การปฏิวัติอิหร่าน ทำให้เกิดรูปแบบโมเดลตัวอย่างให้เกิดการก่อรูปการต่อสู้ในรูปของขบวนการติดอาวุธส่วนในประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกันในรูปแบบของชุดความคิดต่างๆ
กลับมาเล่าถึงขบวนการ BRN ซึ่ง ตูแวดานียา วิเคราะห์ว่า เป็นกลุ่มที่ทางฝ่ายความมั่นคงไทยเองก็ยอมรับว่ามีอิทธิพลมากที่สุด มีการบังคับบัญชาการใช้กองกำลังอาวุธในพื้นที่ ส่วนขบวนการอื่นก็มีปีกการทำงานระหว่างประเทศหน่วยงานเดียวไม่มีกองกำลัง แต่ BRNยังมีกองกำลังอยู่ น่าสนใจตรงที่ว่า BRN ใช้คำว่า revolusi หรือ revolution หมายถึงการปฏิวัติเป็นชื่อองค์กร ซึ่งในช่วงแรกๆของขบวนการ BRN ผู้ก่อตั้งมาจากผู้นำศาสนา ช่วงกลางๆเป็นผู้นำศาสนากับปัญญาชนที่มาจากระบบการศึกษาสามัญแบบโลกสมัยใหม่จากเบ้าหลอมสามเบ้าหลอมหลัก คือกรุงเทพ อียิปต์ อินโดนีเซีย ทำให้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของการต่อสู้ จากการต่อสู้ที่ให้น้ำหนักไปที่เรื่องของศาสนา แต่พอมีปัญญาชนที่มาจากระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ กลายเป็นว่าในหนึ่งองค์กรขบวนการปฏิวัติ BRN มีชุดความคิดทางการเมืองสามชุดด้วยกันไม่ใช่แค่ชุดความคิดแบบศาสนาอิสลามอย่างเดียว แต่มีชุดความคิดอุดมการณ์ต่อต้านการล่าอาณานิคมที่เรียกร้องในสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติ จนกลายเป็นชุดความคิดอุดมการณ์แบบชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งมันได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซียเป็นหลัก เพราะว่าอินโดนีเซียก็มีภูมิหลัง มีเบ้าหลอมทางความคิดการต่อสู้ การต่อต้านฮอลันดา อีกชุดความคิดหนึ่งเป็นชุดความคิดที่มาจากต่อต้านทุนนิยมโดยชุดความคิดสังคมนิยมก็ได้จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในมาเลเซีย ก็กลายเป็นสามชุดความคิดหลักที่ขับเคลื่อนในกลุ่มขบวนการBRNที่มีการต่อสู้จนถึงปัจจุบันนี้ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดเสียงปืนเสียงระเบิดแทบทุกวันนี้ อันนี้คือตัวขับเคลื่อน ตัวแสดงในพื้นปาตานี
ความเข้าใจ 3 เริ่มต้นความรุนแรงระลอกใหม่ปี 47
บทบาททางการเมืองที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องสิทธิมันเริ่มปรากฏเห็นชัดเจนหลังจากที่มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 47 ค่ายปีเล็ง พอเริ่มปีพ.ศ.2547 กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในป่าก็ออกมาอยู่ในชุมชน อยู่กับชาวบ้าน ใช้เวลา 15 นาทีในการก่อเหตุแล้วมาเป็นชาวบ้านใหม่ ที่เหลือจาก 15 นาทีนั้นก็เป็นชาวบ้านทั่วไป เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 อารมณ์ของสาธารณะของชาวบ้านทั่วไปที่อยู่แบบปกติ ก็เริ่มแยกมิตรแยกศัตรูอย่างชัดเจน เริ่มอยู่แบบหวาดระแวง มีความตื่นตัวทางการเมืองที่ต้องการจะเรียกร้องในเรื่องของความเป็นธรรมเป็นหลัก เพราะว่า พอเกิดการปล้นปืนทางรัฐบาลก็ประกาศใช้กฎอัยการศึกและส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ จากนั้นก็เกิดการกระทบกระทั่งในยุทธการของการทหารที่ใช้การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ไล่ล่าผู้ที่ต้องสงสัยว่า น่าจะเป็นโจร (โจรกระจอก) ยังไม่ใช่ BRN
เป้าหมายหลักก็คือ เพื่อตามหาปืนกลับมา เพราะเหมือนโดนหยาม ก็เลยทำให้ชาวบ้านถูกจับเยอะ ถูกอุ้มก็เยอะ ถูกซ้อมทรมานก็เยอะ ก็เกิดเป็นแรงต้านของชาวบ้านขึ้นมาในลักษณะของการชุมนุมที่กรือเซะ ในวันที่28เมษายน ปี 2547 เป็นลักษณะของเหตุการณ์ที่มาจากยุทธวิธีทางกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขบวนการ ที่เขาใช้คนรุ่นใหม่เป็นกองกำลัง และมีความพยายามที่จะสื่อสารไปยังสาธารณะและสังคมโลกว่าปัญหาที่ยังสะสมอยู่เป็นใจกลางของความขัดแย้งและเป็นความอัดอั้นของชาวมลายูปาตานีมาโดยตลอดก็คือ การถูกล่าอาณานิคมที่มาจากในค.ศ.1786 มาจากสนธิสัญญาแองโกลสยามิสทริตตี้ ที่ไม่เป็นธรรม ก็เลยมียุทธการ ยุทธวิธีของกองกำลังติดอาวุธไปใช้พื้นที่สัญลักษณ์ เป็นมัสยิดกรือเซะซี่งมัสยิดกรือเซะสร้างในช่วงของอาณาจักรปาตานี เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนแค่สัญลักษณ์เดียวที่สามารถจะอ้างกับสังคมโลกว่า นี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าอาณาจักรปาตานีมีอยู่จริง พอมีกองกำลังไปก่อเหตุในเชิงสัญลักษณ์ ในเวลาเดียวกันก็มีการก่อเหตุในพื้นที่รอบๆด้วย ในด้านฝ่ายความมั่นคงก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงก็ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลาย ก็เลยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ก็เลยใช้ความรุนแรง ทั้งนี้น่าสนใจว่าทั้งที่จากจุดที่ก่อเหตุฝ่ายกองกำลังสามารถหนีได้ มีเวลา 3-4 ชั่วโมงที่จะหนีได้ แต่เขาไม่หนี ทางฝ่ายความมั่นคงก็เลยยิงใส่ในมัสยิดก็เลยทำให้เสียชีวิต
ทั้งนี้ประเด็นกรือเซะ ก่อนปีพ.ศ.2547 ที่ประชาชนไม่เคยแยกมิตรแยกศัตรูที่ชัดเจนทำให้ อารมณ์ที่มองรัฐเป็นศัตรูที่ยังไม่แสดงออกมา แสดงออกมาในวันที่ 25 ตุลาคมเป็นเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นที่นราธิวาส แต่เป็นการแสดงแบบสันติวิธี ไม่มีอาวุธ
ตูแวดานียา เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผมไปสัมภาษณ์ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ เขาตั้งใจที่จะให้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสื่อสารกับสังคม แต่รูปแบบของการชุมนุม การสื่อสารกับสังคมมันยังไม่มีความสมบูรณ์มากพอที่จะทำให้รับรู้ข้อความ สัญญาณถูกส่งจากผู้ชุมนุมได้หากเปรียบเทียบกับการชุมนุมที่กรุงเทพ เนื่องจากไม่มีแกนนำที่ชัดเจน และไม่มีเนื้อหาที่เป็นข้อเรียกร้องความไม่พอใจ ความอัดอั้นใจที่จะสื่อสารกับสาธารณะที่เป็นรูปแบบแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการเชื่อมประสานกับนักข่าวด้วย คือ ไปแบบเพรียวๆจริงๆแบบหัวใจอัดอั้นใจ ยอมรับไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมกับการถูกกดขี่ขมเหงกับการถูกฆ่า ที่เขาวางแผนไว้คือไปตอนเช้าแล้วตอนบ่าย 3 ก็จะกลับ เพราะ 6โมงเย็นกว่าก็ต้องแก้บวช(ละศีลอด)
อย่างไรก็ตามในมุมของฝ่ายความมั่นคงของทหารที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน ต้องมองในมุมของการทหาร ต้องสันนิฐานว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ ก่อการจลาจล มองในแง่ลบก่อน ต้องระมัดระวังไว้ก่อน ปล่อยไว้ไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นตัวอย่างการชุมนุมในพื้นที่อื่น ดังนั้นจึงตัดสินใจปราบประมาณเวลาบ่ายสาม ที่เสียชีวิตจากกราดยิงก็หลายสิบคน แต่ส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตจากการบรรทุกใส่แล้วทับซ้อนกัน สุดท้ายก็สรุปออกมาว่า เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ
ด้วยเหตุการณ์สองเหตุการณ์นี้มันทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจในรัฐสูงมาก แต่โดยกระบวนการในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เข้าใจว่าชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้ ขาดประสบการณ์ แต่ด้วยแรงเสียดทานที่มาจากความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ เข้ามาถึงในบ้านแล้ว ก็ต้องออกไป หลังจากเหตุการณ์ตากใบก็ยังมีการชุมนุมอีก แต่เป็นการชุมนุมกลุ่มเล็กๆ ร้อยคน สองร้อยคน คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะผู้ชายไม่ค่อยมีแล้ว ถ้าเป็นวัยฉกรรจ์ก็อยู่บ้านไม่ได้แล้ว ต้องหนีไปอยู่มาเลเซีย เพราะมีการเหวี่ยงแห ทหารเข้าไปในหมู่บ้านแล้วจับ แล้วแยกปลาออกจากน้ำ มาแยกอีกทีว่าใครที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการ ทำให้ผู้ชายจึงไม่ค่อยได้อยู่ในชุมชน ผู้หญิงก็รับบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อ แต่มีการปิดหน้า เพราะได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบ อยู่ด้วยสภาพแบบนี้ 3 ปี
ทั้งหมดเป็นแง่มุมที่รับรู้ในสาธารณะผ่านบทความ หนังสือวิชาการ มากมาย แต่การรู้คนเดียว ฤาจะสู้การสนทนาและจิบชา เล่าสู่กันฟัง หลายๆคน
อ่านต่อตอนที่สอง http://www.pataniforum.com/single.php?id=523