เล่าเรื่อง เมื่อครั้งจิบชาและสนทนาปาตานี ณ โรงน้ำชาสนิมทุน(บ้านดิน) เชียงใหม่ ตอนสอง
บรรยากาศต่อเนื่องของวงสนทนา พลเมือง เปลี่ยน(ไม่)ผ่าน ? ซึ่งมีผู้ร่วมสนทนาด้วยทั้งเด็กนักศึกษา นักกิจกรรม เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ร่วมจิบชา ณ โรงน้ำชาสนิมทุนเพลินล่วงเลยไปถึงช่วงกลางคืนที่ยังคงมีการพูดคุย ถาม-ตอบ กันเรื่อยเปื่อย แต่เรื่องที่เป็นหลักสำคัญ คือ สถานการณ์ของภาคพลเมืองในพื้นที่ปาตานีตานี/ชายแดนใต้ระลอก ปี 47 โดยก่อนหน้านี้จากการ เล่าเรื่อง เมื่อครั้งจิบชาและสนทนาปาตานี ณ โรงน้ำชาสนิมทุน(บ้านดิน) เชียงใหม่ ตอนแรก มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ่ที่เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งและเป็นที่รับรู้ในระดับสาธารณะ คือกรณีเหตุการณ์กรือเซะ และกรณีเหตุการณ์ตากใบ ผสมโรงด้วยเหตุการณ์อื่นประปราย จนมีภาพของกลุ่มนักศึกษา ชาวบ้าน แสดงปฏิกิริยาต่อต้านรัฐ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นขบวนภาคพลเมือง ดั่งเช่น ขบวนชุมนุมการเมืองที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งสถานการณ์การเป็นรูปขบวนภาคพลเมือง ภาคประชาชน สำหรับปาตานี หากจะนับอย่างเป็นทางการจากสถานการณ์ความไม่สงบปี 47 เป็นต้นมา คงต้องเริ่มนับที่ปี พ.ศ.2550
เข้าใจ 4 ขบวนการภาคพลเมือง “เปลี่ยนผ่าน”
ขบวนภาคประชาชนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน สืบเนื่องจาก ปี 2550 มีเหตุการณ์รับรู้ในทางสาธารณะปาตานี เกิดเหตุสลดใจที่มีผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วฆ่าที่ยะหา ในขณะเดียวกันในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานีที่นักศึกษารวบรวมเหตุการณ์ทั้งหมดได้ 21 เหตุการณ์ ทำให้เหตุสลดใจเหล่านั้นมันส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดจิตใต้สำนึกของนักกิจกรรมนกศึกษา จากปีพ.ศ.2547-2549 นักศึกษาลอยตัวจากปัญหา เล่นแค่ประเด็นมาตุภูมิ วัฒนธรรม ทำค่ายอาสา ทำโรงเรียนตาดีกา เพราะไม่รู้จะเชื่อมกับปัญหาอย่างไร ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก็หวาดระแวง ชาวบ้าน หวาดระแวงเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยเหตุการณ์ปี 50 ที่มีการเรียกร้อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยไปทำค่ายและรู้จักกับนักศึกษา ก็เลยทำให้นักศึกษารุ่นนั้นต้องออกโรงแล้ว ต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือจริงๆ ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย ก็เป็นที่มาของการชุมนุมเรียกร้องในปีพ.ศ.2550 ที่มัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งมีชาวบ้านออกมาชุมนุมเรือนหมื่น แต่ทุกคนที่ออกมาชุมนุมนั้นปิดหน้ากันทุกคน ที่เปิดหน้ามี 7 คนที่เป็นแกนนำ เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เพื่อให้ล้อกับการชุมนุมในปีพ.ศ.2518 ขบวนการที่ชุมนุมหน้ามัสยิดกลางเลยใช้คำว่าศูนย์พิทักษ์ประชาชน เพื่อที่จะสะท้อนว่า ปัญหาที่เกิดจากปีพ.ศ.2518 มันยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้
ปีพ.ศ.2550 กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สอง จุดเปลี่ยนแรกคือ ปีพ.ศ.2547 บรรยากาศของความรู้สึกการแยกมิตรแยกศัตรูอย่างชัดเจน มองรัฐเป็นศัตรู แต่ไม่มีกระบวนการทางการเมืองที่ชัดเจนในการสื่อสารสาธารณะ การที่จะบอกกล่าวความอัดอั้นใจ ความไม่พอใจที่มีต่อรัฐ แต่ยังไม่มีเรื่องของเป้าหมายทางการเมือง มีแต่เรื่องความไม่ได้รับความเป็นธรรม การถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่พอปีพ.ศ.2550 เกิดพื้นที่และบทบาททางการเมือง ตัวแสดงหลักๆ คือนักศึกษา แต่นักศึกษา ด้วยความที่ไม่ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างเพียงพอ มีการประชุมสองอาทิตย์ก่อนการชุมนุม เป้าหมายหลักๆก็เพื่อให้เป็นข่าว เพราะว่า ข่าวที่สื่อกระแสหลักนำเสนอมีข้อมูลเพียงด้านเดียว ข้อมูลจากชาวบ้านไม่มีเลย พอชุมนุมเสร็จ ไม่มีการสลายการชุมนุมเหมือนตากใบก็ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเราจะไปอย่างไรต่อ มันส่งผลทำให้งานที่ขับเคลื่อนของนักศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะว่า เป็นตัวแสดงใหม่ในการที่จะขับเคลื่อนเพื่อนำเสนอทางออกของการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ มันท้าทายนักศึกษามาก
อย่างไรก็ตามนักศึกษาเองก็ไม่มีความพร้อมในการเตรียมกระบวนการที่จะต่อยอดจากต้นทุนที่สังคมให้การยอมรับตรงนั้น ก็เลยเป็นที่มาว่านักศึกษาก็ต้องพัฒนาตัวเองและเป็นที่มาของกิจกรรมพานักศึกษาลงพื้นที่ในชุมชน เยี่ยมเยียนชาวบ้าน พาเพื่อนนักศึกษาจากภูมิภาคโดยผ่านสหพันธ์นิสิตนักศึกศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แต่ไปๆมาๆ นักศึกษาไปลงพื้นที่เพื่อพัฒนาตัวเอง เอาปัญหาของชาวบ้านมาพัฒนาตัวเอง ไปดูความทุกข์ยากของชาวเพื่อพัฒนาตนเอง ไปศึกษาในประเด็นต่างๆในพื้นที่แล้วรวบรวมเป็นงานของนักศึกษาที่จะต้องทำงานต่อ พอนักศึกษาเรียนจบ ก็เอาข้อมูลจากการลงพื้นที่รวบรวมตอนนั้น มาเป็นบทบาทการทำงานเป็นองค์กรประชาสังคมด้านต่างๆ เช่น ในด้านกฎหมาย เครือข่ายผู้ช่วยทนายความที่มาจากนักศึกษาที่ไม่ได้เรียนทนาย เรียนรัฐศาสตร์ก็เป็นทนายเองไม่ได้ แต่มีหัวใจที่จะช่วยชาวบ้าน ก็เลยมาเป็นผู้ช่วยทนายความ รับการประสานร้องเรียนเมื่อชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย เป็นต้น
ขณะที่ในทางการเมืองก็จะมีพลวัตร ภาพของตัวแสดงที่มาจากแรงเหวี่ยงจากการชุมนุมปีพ.ศ.2550เป็นหลัก ก็เป็นรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นเก่า NGOเก่าก็มีบทบาทเหมือนกัน ตัวนักศึกษามามีบทบาทสร้างการตื่นตัวทางการเมือง มารณรงค์ สร้างบรรยากาศเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้เปิดกว้างขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวมากขึ้นมีบทบาทร่วมด้วย แต่คนรุ่นเก่าจะมีบทบาทในแง่ของการนำเสนอเป้าหมายทางเมืองเชิงทางออกเพื่อรองรับการเกิดสันติภาพ การยุติความขัดแย้งทำให้มีการรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจประมาณปีพ.ศ.2552-2554 โดยการนำหลักขอเครือข่ายองค์กรหนึ่ง แต่สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า
พอมีประเด็นการกระจายอำนาจที่มาจากคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่า เราก็ต้องมีการนำเสนอเป้าหมายทางการเมืองให้กับสาธารณะด้วย เพราะไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาต้องการอะไรที่เป้าหมายทางการเมือง ต้องการการกระจายอำนาจจริงหรือไม่ ต้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จริงหรือไม่ แต่พอไปดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่คิดว่า น่าจะมาจากฝ่ายการเมืองของกลุ่มขบวนการที่ไปพ่นสีตามท้องถนน ตามป้ายที่มีคำว่า PATANI MERDEKA หรือปาตานีเอกราช มันไม่ใช่แค่การกระจายอำนาจ แต่มันเป็นเอกราช คือการปกรองอิสระ ปลดปล่อยเหมือนกับกรณีของตีมอร์-ตีมอร์ กับอินโดนีเซีย ถ้าเราไปนำเสนอว่าการกระจายอำนาจก็จะขัดกับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการเอการเอกราช แต่ก็ไม่มีตัวตน เพราะใครจะไปบอกว่าต้องการ ถ้าบอกก็ถูกจับ แต่ก็มีจริง อันนี้เป็นตัวยืนยันชัดเจนว่ามีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ต้องการเอกราช
ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายทางการเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจายอำนาจกับคำว่าเอกราช ก็คือ การปกครองพิเศษแบบโอโตโนมี แบบอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย หลักๆก็คือเป้าหมายทางการเมืองที่จะยุติความขัดแย้งได้มีสามโมเดลหลัก มีการกระจายอำนาจ โอโตโนมี และเอกราช แต่ตอนนั้นเราไม่อยากชี้นำโดยที่ไม่รู้ว่าเจตจำนงของชาวบ้านต้องการอะไร ก็เลยเสนอกว้างๆว่า ต้องมาจากความพึ่งพอใจของชาวบ้าน เลยเสนอคำๆหนึ่งที่เป็นคำสากลมากในพื้นที่ความขัดแย้งด้านชาติพันธ์ ความขัดแย้งด้านการล่าอาณานิคมคือคำว่า Right to Seft Determination คือ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ก็ทั้งการกระจายอำนาจ โอโตโนมี และเอกราชก็อยู่ในคำนี้เหมือนกัน แต่ต้องมาจากกระบวนการที่ประชาชนสามารถที่จะพิจารณาเองได้ มาจากความพึ่งพอใจ ในรูปธรรมก็คือต้องประชามติ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 1 ความขัดแย้งรุมเร้า เมื่อปัญญาชนปี 50 ถูกสรุปเป็นปีกการเมือง BRN
เมื่อผลของการชุมนุมในมุมของฝ่ายความมั่นคง ว่า แกนนำนักศึกษาที่มาชุมนุมหน้ามัสยิดกลาง มีชาวบ้านออกมาเกินหมื่น เป็นขบวนการุ่นที่ 2ของ BRN ที่ฝังตัวอยู่ในรามคำแหง ตอนนั้นนักศึกษามลายูก็ตัดสินใจไม่หนี ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปกับคำกล่าวหาของฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นโจร เป็น BRN ถ้าเป็นชาวบ้านถูกกล่าวหาแบบนี้ ก็จะไม่อยู่แล้ว ต้องไปอยู่มาเลเซีย เพราะว่าสถานะทางการเมืองของชาวบ้านกับนักศึกษา มันต่างกัน นักศึกษามีเสื้อขาวที่เป็นเสื้อของนักศึกษา มีเครือข่าย มีสนนท. ตอนนั้น มีเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนที่เป็นองค์การบริหารนักศึกษาสิบกว่ามหาลัยที่เป็นเครือข่ายด้วยกัน เลยรู้สึกว่า คำกล่าวหาแบบนี้ สามารถที่จะหักล้างกันได้ สามารถที่จะอธิบายได้
สังคมสาธารณะก็รับรู้ข่าวสารในสามจังหวัดสามปีที่ผ่านมา ก็น่าจะมีวุฒิภาวะในการรับข้อมูลข่าวสารอีกด้านหนึ่งที่มาจากนักศึกษาที่เรียนหนังสือ มาจากปัญญาชน ไม่ใช่คนที่ไม่สถานะทางการเมืองเลยก็ยืนหยัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อสื่อสารสาธารณะ สุดท้ายรู้สึกว่าทางฝ่ายความมั่นคงก็ปรับ ก็เปลี่ยนท่าที่มองแกนนำนักศึกษาว่าเป็นโจร ลึกๆก็ยังมองแบบนั้นอีก แต่เขาไม่ใช้วิธีการที่รุนแรงตอบโต้ เพราะเขากลัวว่า คนที่มีสถานะทางการเมืองแบบนี้ สามารถนำชาวบ้านออกมาชุมนุมหมื่นกว่าคนได้ ถ้าไปทำไร ไปอุ้ม ไปเล่นนอกกติกา มันจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวไปสร้างเงื่อนไขในมุมกลับ ถ้าคนที่เป็นนักศึกษามีสถานะแบบนี้ถูกกระทำ จะกลายเป็นเงื่อนไขสร้างแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการ เป็นโรงเรียนจัดตั้งให้กับขบวนการโดยปริยายไปเลย
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2 เส้นทางกิจกรรมนักศึกษากับชุมชนสู่บทสรุปการชุมนุมปี 50
ต้องเข้าใจว่าตอนที่เป็นนักศึกษาเวลาทำกิจกรรมก็คิดแบบเฉพาะหน้า ไม่ได้คิดไกล ไม่มียุทธศาสตร์รองรับ และติดกับดักภาพของขบวนการนักศึกษาตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ว่าทำไมเราไม่ยิ่งใหญ่เหมือนประวัติศาสตร์เหล่านั้น ก็เลยมีความรู้สึกละอายใจต่อบทบาทที่เป็นนักศึกษา และความรู้สึกภาคภูมิใจมากไปกับบทบาทนักศึกษา ว่าทำไมเราถึงไม่มีส่วนในการช่วยเหลือชาวบ้านกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ ความรู้สึกนี้มันมากดดันตัวเองตลอด ก็เลยทำให้ตัวปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านถูกจับ การถูกซ้อมทรมาน เป็นต้น ได้กลายเป็นตัวกำหนดบทบาทของนักศึกษาในเวลานั้น และปัญหารากเหง้าความขัดแย้ง เรื่องของพลวัตรความขัดแย้งเราไม่มีเวลาพอที่จะมาสังเคราะห์มาทำความเข้าใจจนมาถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ในระยะยาวได้ ทำให้ช่วงที่เป็นนักศึกษานั้น เราเอาความภาคภูมิใจของการเป็นนักศึกษาและเอาปัญหาของชาวบ้านมาเป็นตัวกำหนดบทบาทการทำงานของนักศึกษามาตอบโจทย์สังคม
ต้นทางสังคมที่เกิดจากการชุมนุมปี 50 ถูกสะสมโดยการมีบทบาทจากรุ่นพี่ เมื่อครั้งการลงพื้นที่ในชุมชนทำค่ายอาสาโรงเรียนตาดีกาในแต่ละปีก็จะสร้างหนึ่งโรงเรียนในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2528รุ่นพี่ที่จบไป บางคนสนใจเรื่องของการเมือง ก็ใช้ต้นทุนทางการเมืองที่มีอยู่ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการทำกิจกรรมโดยผ่านการบริจาคให้กับนักศึกษา ทำให้ได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย
มวลชนที่เกิดจากประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกเล่าต่อ เช่นเหตุการณ์ดุซงญอ เหตุการณ์ประท้วงที่ปัตตานีในปีพ.ศ.2518 ซึ่งคนเหล่านี้ยังมีอยู่ และอีกอย่างคือประวัติศาสตร์บาดแผลร่วมสมัยที่เกิดหลังจากปีพ.ศ.2547ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีมวลชนในการเคลื่อนไหว
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 การกำหนดบทบาทนักศึกษาในการชุมนุม ปี 50
กรณีที่นักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการ อันนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจน ในความสงสัยของทางฝ่ายรัฐเขาก็ฟันธงแบบนั้นอยู่แล้ว แต่การลับลวงพรางมันสูงมาก องค์กรที่มีมวลชนทางการเมืองแน่นอนว่ามันเป็นพื้นฐานของงานปฏิวัติ สร้างมวลชนปฏิวัติอยู่แล้ว เพื่อสร้างมวลชนต้องมีคนที่เป็นสมาชิกขององค์กรปฏิวัติอยู่ในทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่มีคน ไม่ใช่เฉพาะขบวนการของนักศึกษาเท่านั้น หน่วยงานที่เป็นของรัฐของขบวนการ สถานีตำรวจ ทหาร ฐานปฏิบัติการของทหารก็มีคนของขบวนการอยู่ด้วย ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถที่จะไปตีค่ายทหารได้ เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปีเล็งที่เจาะไอ้ร้องในปีพ.ศ.2547 ที่ตีได้ก็เพราะก็มีคนของขบวนการฝังตัวอยู่ในนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในค่ายก็ไม่รู้ว่าคนๆนี้เป็นสมาชิกของขบวนการ หลายๆค่ายที่ขบวนการตีได้ ก็เพราะมีสมาชิกของขบวนการฝังตัวอยู่
หากมองย้อนมาคนรุ่มใหม่ภาคเหนือ ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์รากเหง้าของตัวเอง ก็เหมือนกับที่เชียงใหม่เหมือนกันที่มีประวัติศาสตร์คล้ายๆกับที่ปาตานีเหมือนกัน ของเราก็จะเรียกว่าล้านนา แต่จะมีคนสนใจหรือไม่ว่าที่จริงเชียงใหม่ก็เป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพแค่ 200 กว่าปี เป็นช่วงของยุครัชกาลที่ 5 เหมือก่อนหน้านี้ก็โดนพม่าปกครองคล้ายๆกัน ส่งเจ้าเมืองมาทำไรต่างๆและที่สำคัญมันทำให้เห็นว่า การกลืนกินรากเหง้าตัวเองรัฐชาติมีแนวทางของรัฐที่มีความซับซ้อนเยอะ เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรมทุกวันนี้ เวลาถามเด็กรุ่นใหม่เขาจะตอบว่า ตัวเองเป็นไทย ไม่ได้ตอบ่ว่าตัวเองเป็นคนล้านนา แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นว่า ทำไมที่ภาคเหนือมันไม่เข้มแข็งเท่ากับที่ปาตานี
สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ มีวัฒนธรรมร่วมที่ไปกันได้ มีวัฒนธรรมทั่วไปอาจจะต่างกันบ้าง แต่พอมีจุดร่วมอย่าง เช่น เรื่องของศาสนาที่เหนือ นับถือศาสนาพุทธกับศูนย์กลางนับถือพุทธ มันก็ทำให้กลืนกินกันได้ง่าย แต่ ที่ปาตานีความแข็งคือความต่าง ที่ใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องของศาสนา คนที่สนใจทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมมักจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยจะสนใจศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องวัฒนธรรมรากเหง้าของพื้นที่ตัวเอง แต่มักจะสนใจในเหตุการณ์ปัจจุบันที่มันเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในยุคของเรา เพราะฉะนั้นมันจะขาดความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ ถ้าเราเข้าใจรากเหง้าของตัวเองก็จะเข้าใจบริบทการทำงานทุกวันนี้ ถ้าวันนี้อยากจะทำงานในขบวนการเคลื่อนไหว เข้าใจชีวิตคนที่เหมือนเรา หรือแตกต่างจากเรามากๆ ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้มาก แล้วมันจะเห็นว่า มันมีต้นต่อมาจากอะไร
ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ ประวัติศาสตร์มีรากเหง้าเยอะกว่านั้น ประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจ …
ย้อนอ่านตอนที่หนึ่ง http://www.pataniforum.com/single.php?id=521