ประชาไทรายงาน: แรงกระเพื่อมเมื่อคนปาตานีเดินสายเสวนาสันติภาพ-สิทธิมนุษยชน
รายงานสถานการณ์ชายแดนใต้ เมื่อสรรพอาวุธในสงครามข่าวสารจากฝ่ายความมั่นคง ที่สาดถล่มใส่ สื่อ ภาคประชาสังคม นักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม หลังจากที่พวกเขาเดินสาย ร่วมกิจกรรมเสวนาทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึง ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากปาตานีฟอรั่ม สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา, นักศึกษาเปอร์มัส ,นักศึกษาตูปะ, และคณะ เดินสายตั้งวงเสวนาทั้งในปาตานี (3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งเนื้อหาถูกเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท (http://www.prachatai.com/journal/2015/06/59902)
ตูแว LEMPAR ประกาศเป็นแนวร่วม BRN?
‘ท่าน ผอ.ตูแวดานียาบอกว่าตัวท่านเองก็เป็นแนวร่วมของ BRN’
อักษรสีน้ำตาลตัวหนาเน้นย้ำชัดเจนของกระทู้หนึ่งบนหน้าเว็บไซต์บอร์ดโพสต์จังดอทคอม ที่ตั้งกระทู้โดยคนที่ใช้ชื่อว่า ‘MyConfession’ ณ 12:47 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ทว่าเมื่อย้อนไปค้นประวัติการสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดปรากฎว่าเพิ่งสมัครในตอนนั้นเอง
กระทู้ดังกล่าวตั้งหัวข้อว่า ‘NGO ภาคใต้บอกว่า "ผมนี่แหละ BRN”’ โดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า ‘MyConfession’ โพสต์พาดพิง ‘ตูแวดานียา ตูแวแมแง’ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(LEMPAR) เต็มๆ
ผู้ที่ใช้ชื่อว่า ‘MyConfession’ เล่าในโพสต์ว่า ตัวเองเพิ่งกลับมาจากเยี่ยมญาติที่เชียงใหม่ เจอกับหลานที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หลานเล่าให้ฟังว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ได้ไปงาน “พื้นที่พลเมือง เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน” ซึ่งจัดที่ร้านน้ำชาสนิมทุนเชียงใหม่ โดยกลุ่มปาตานีฟอรั่ม กลุ่มลุ่มน้ำสายบุรี LEMPAR คนประชาธิปไตย พลเมืองเสมอกัน
“หลานและเพื่อนของเขาเล่าให้ฟัง ท่านตูแวดานียา ตูแวแมแง เป็น ผอ.ของ องค์กร LEMPAR เล่าว่าความหมายของคำว่าปาตานีเป็นชื่อของอาณาจักรของคนมลายู ที่ไม่เหมือนกับคำว่าปัตตานี ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดของประเทศไทย ฟังดูมันยังไง ๆ เหมือนแบ่งแยกนะ แต่เด็กๆ เขากลับไม่ได้คิดอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ท่านบอกว่าเกิดมาตั้งนานแล้วตั้งแต่เกิดจากการต่อต้านของกลุ่มเจ้าเมืองเก่า ต่อมาเป็นการต่อต้านโดยกลุ่มผู้นำทางศาสนา และตั้งแต่ปี 2503 เกิดการลุกขึ้นสู้ของปัญญาชน"
“พร้อมว่ารามคำแหง หรือกลุ่มที่จบจากอินโดนีเซีย และอียิปต์ เป็นเบ้าหลอมหรือแหล่งบ่มเพาะคนของ BRN จนมีอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม รวมทั้งแฝงตัวอยู่ในกลุ่ม จนท.รัฐ กลุ่มนี้ เมื่อก่อเหตุเสร็จ ก็จะกลับไปเป็นชาวบ้าน ชาวสวน ท่าน ผอ.ตูแวดานียาบอกว่าตัวท่านเองก็เป็นแนวร่วมของ BRN ด้วยเช่นกัน แต่ที่ ไม่ถูกจับหรือเป็นอะไรเพราะมีนักศึกษาหลายสถาบันหนุนหลังอยู่...ชัดเจนว่าแนวร่วม BRN น่าจะกระจายอยู่ในกลุ่มนักศึกษาหลายโรงเรียนวิทยาลัย มหาวิทยาลัย.. เจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ท่านทราบหรือไม่”
ใจความสำคัญที่ ‘MyConfession’ โพสต์พาดพิง ‘ตูแวดานียา ตูแวแมแง’
ต่อมาเวลา 19:53 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘พลังใจถึงชายแดนใต้’ ได้นำกระทู้ดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อ โดยอ้างอิงแหล่งที่มาจากการโพสต์ของ ‘MyConfession’ บนเว็บบอร์ดโพสต์จังดอทคอม
เวลา 03:45 วันที่ 21 มิถุนายน 2558 บล็อก narater2010 ได้นำกระทู้ดังกล่าวมาเผยแพร่ซ้ำ
ต่อมาเวลา 09:28 น. วันที่ 21 มิถุนายน 2558 บล็อก pulony ‘ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้’ ได้นำกระทู้ดังกล่าวมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ล่าสุดเวลาประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ลมหายใจที่ปลายด้ามขวาน’ก็ได้นำเนื้อหาดังกล่าวไปเผยแพร่ด้วย
‘ตูแวดานียา’ แถลงการณ์โต้ข่าวบิดเบือน
ทว่าต่อมาเวลา 11.36 น. วันที่ 21 มิถุนายน 2558 ‘ตูแวดานียา ตูแวแมแง’ ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ได้แถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า ‘Danial Struggle’ ถึงกรณีการ นำเสนอข้อมูลบิดเบือนที่ถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำ
ตูแวดานียา ชี้แจงว่า เนื่องจากได้มีแหล่งข่าวหนึ่งซึ่งใช้ลิงค์ ไม่ระบุชื่อผู้เขียนและวันเวลาการนำเสนอและใช้ชื่อเรื่องว่า "NGOใต้บอกว่าผมนี่แหละBRN" ต่อมาเมื่อวันที่21มิถุนายน2558 ได้มีการขยายความอีกครั้งด้วยการตั้งชื่อเรื่องของเนื้อหาตามบทความเดิมว่า "เมื่อตูแวดานียา ประกาศผมนี่แหละBRN"
“ตอนแรกๆเมื่อข้าพเจ้าได้ทราบว่าได้มีแหล่งข่าวนำเสนอข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับการเสวนาดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นโดยPatani Forum ก็รู้สึกเฉยๆเพราะรู้สึกชินชาเสียแล้วกับการถูกใส่ร้ายป้ายสีและคิดว่าคงไม่ต้องไปสนใจอะไร ไม่นานก็เงียบเอง แต่เมื่อได้มีอีกแหล่งข่าวหนึ่งได้นำไปขยายความต่อโดยระบุชื่อข้าพเจ้าเต็มๆว่าได้ประกาศในเวทีเสวนาครั้งนั้นว่าเป็นBRNจึงคิดว่าจะปล่อยไปเฉยๆไม่ได้แล้ว เพราะนี่เป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง อีกทั้งเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของสาธารณะอีกด้วย
“ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอะไรคือวัตถุประสงค์สำคัญของการบิดเบือนข้อเท็จจริงของแหล่งข่าวข้างต้น แต่คงไม่ประสงค์ดีกับข้าพเจ้าแน่ๆ เพื่อเป็นการยืนยันความจริงว่าข้าพเจ้าไม่ได้พูดอย่างที่แหล่งข่าวดังกล่าวนำเสนอนั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่าข้าพเจ้าไม่ได้ประกาศว่าเป็นBRN แต่ที่ข้าพเจ้าพูดจริงในเวทีเสวนาดังกล่าวคือ "ข้าพเจ้าระบุว่า หลังการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานีซึ่งข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในแกนนำเมื่อวันที่31พฤษภาคม ปี2550นั้น ทางรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ก็สรุปว่าข้าพเจ้าและนักศึกษาที่ร่วมชุมนุมทั้งหมดเป็นเจอเนเรชั่นที่2ของBRNที่ ฝังตัวอยู่ในรามคำแหง ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิดของรัฐที่หวาดระแวงต่อนักศึกษาที่มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงชาวบ้านเป็นอย่างมาก"
“ทั้งนี้ทางปาตานีฟอรั่มเองก็จะนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้บันทึกเนื้อหาที่ข้าพเจ้าพูดจริงในเวทีเสวนาดังกล่าวอีกทางหนึ่ง เพื่อยืนยันความจริง” ตูแวดานียา ระบุในแถลงการณ์ผ่านเฟสบุค
สันติบาลตามนักข่าวอิสระใต้หลังกลับจากอีสานหวั่นโยงดาวดิน
‘นักข่าวอิสระใต้เผยสันติบาล 'ชวนกินน้ำชา' หวั่นถูกโยงเอี่ยวการเมือง’
พาดหัวข่าวของสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 มีเนื้อข่าวว่า ปรัชญเกียรติ วาโร๊ะ นักข่าวอิสระ ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ขณะที่ตนเองไม่อยู่บ้าน ทราบมาว่า เวลาประมาณ 14.00 น. พ.ต.ท.ปริญญา เหมมาชูเกียรติกุล สารวัตรหัวหน้าตำรวจสันติบาลตรัง ไปที่บ้านของตนตามทะเบียนบ้าน และมีการสอบถามกับเจ้าของบ้านว่า ทำไมจึงมีคนมุสลิมอยู่ท่ามกลางดงพุทธ เห็นเป็นมุสลิมเกี่ยวข้องกับขบวนการ 3 จังหวัดหรือเปล่า
ปรัชญเกียรติ กล่าวว่า หลังทราบเรื่อง เขาได้ติดต่อกลับไปยัง พ.ต.ท.ปริญญา เหมมาชูเกียรติกุล โดยเขาถูกซักถามถึงกรณีเดินทางไปขอนแก่น เมื่อวันที่ 12-14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเขาเดินทางไปทำข่าวที่ขอนแก่น พร้อมทีมปาตานีฟอรั่ม นักศึกษาเปอร์มัส และนักศึกษากลุ่มตูปะ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี รวม 6 คน โดยได้พบกับชาวบ้านที่นามูน-ดูนสาด ที่สู้เรื่องการขุดเจาะก๊าซของบริษัทอพิโก้ จากนั้นแวะคุยกับนักศึกษาดาวดิน ทั้งนี้ การเดินทางครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียน พูดคุยเล่าสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการโดนคุกคามจากทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ
ปรัชญเกียรติเล่าว่า เขาถูกถามว่าเป็นใคร เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดยังไง เกี่ยวข้องกับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวไหม มีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร ซึ่งเขาได้ชี้แจงว่า ตนเองเป็นนักข่าวในแวดวงภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ทำข่าวเกี่ยวกับปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาของรัฐ เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง กระบี ปัญหาที่ดิน ฯลฯ
ทั้งนี้ เขาเล่าว่า ในกลุ่มที่เดินทางไปกัน 6 คนไม่มีใครโดนนอกจากตนเอง อาจเป็นเพราะเขาอยู่ที่ จ.ตรัง ส่วนคนอื่นๆ อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด และเคลื่อนไหวจนคุ้นเคยกับ กอ.รมน. คุ้นเคยกับสันติบาลอยู่แล้ว นอกจากนี้ ตนเองยังเคยเขียนข่าวการจัดเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย#ความรักก็เช่นกัน” ของนักศึกษาและภาคประชาสังคมตรัง-ปาตานี และการออกค่ายเรียนรู้ปัญหาที่ดินชุมชนของนักศึกษา มอ.ตรังด้วย
"เขาบอกว่าถ้ามีโอกาสอยากนัดเจอกัน อยากทราบทัศนคติผม แต่ผมบอกว่าผมยังไม่ว่าง ยังไม่สะดวกเจอ" ปรัชญเกียรติกล่าวและว่า "เขาชวนกินน้ำชาด้วย"
"กังวลกลัวโดนโยงกับขบวนการใน 3 จังหวัด กลัวโดนโยงว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง ยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ด้วย พื้นที่ไข่แดงของอนุรักษ์นิยมเลย พื้นที่ไข่แดงของคนนิยมทหาร การถูกเพ่งเล็งขึ้นมา ถือว่าค่อนข้างน่ากังวลมาก" ปรัชญเกียรติกล่าว
ปาตานีฟอรั่มเขียนจดหมายเปิดผนึกหวั่น จนท.รัฐเข้าใจผิด
ปาตานีฟอรั่ม องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือเอ็นจีโอในพื้นที่ปาตานี (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกผ่านเว็บไซต์ ปาตานี ฟอรั่ม ‘จ.ม.กรณี หวั่นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวฯบิดเบือนและเข้าใจผิดต่อการทำงานปาตานี ฟอรั่ม’ จากกรณีที่ ‘ตูแวดานียา ตูแวแมแง’ ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ถูกบิดเบือนคำพูดจากวงเสวนา “พื้นที่พลเมือง เปลี่ยน (ไม่) ผ่าน” ซึ่งจัดที่ร้านน้ำชาสนิมทุนเชียงใหม่ โดยปาตานีฟอรั่มเป็นผู้ร่วมจัดด้วย
ปาตานีฟอรั่ม ระบุว่า หวั่นเจ้าหน้าทีรัฐ บิดเบือน สร้างความเสียหายต่อหลักการองค์กรและผู้เกี่ยวข้องในโครงการ ถูกเขียนขึ้น ภายหลังจากที่การจัดกิจกรรมเสวนา สร้างการเรียนรู้ และความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง สันติภาพปาตานี / ชายแดนใต้ ในภูมิภาคต่าง ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นภารกิจที่เราขับเคลื่อนมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีแง่มุมที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งมิติวัฒนธรรม ความคิด บทเรียนจากปรากฏการณ์ และความเป็นวิชาการ
นับตั้งแต่ ปี 58 เป็นต้นมา ปาตานี ฟอรั่ม ยังคงดำเนินสร้างการเรียนรู้ และการสื่อสารภาคพลเมืองในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ภายใต้มิติที่เป็นปัญหานั้น ต้องยอมรับว่า การแลกเปลี่ยนประเด็นของภาคชาวบ้าน ภาคพลเมือง ค่อนข้างจะมีความแตกต่าง มีการกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง จากมุมมองของภาครัฐบาล ไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นมิติที่เกิดขึ้นต่อทุกๆรัฐบาลทั่วโลก ทั้งนี้ด้วยแนวทางที่ปาตานี ฟอรั่ม สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยน เข้าใจโดยมีความพยายามจะให้เสียงที่มาจากพื้นที่ปาตานี ได้แลกเปลี่ยนเป็นกับเสียงภูมิภาคอื่นๆ เป็นหลัก และมีปาตานี ฟอรั่ม เป็นผู้เชื่อมประสาน และอำนวยบรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนก่อนจะนำเสนอรายงานสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อไป
ล่าสุดปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวของภาครัฐ ได้ติดตาม สอบถามจากผู้ร่วมกิจกรรม ระบุว่าถูกตั้งแง่สงสัยว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้องต่อการก่อการร้าย เมื่อครั้งชวนไปร่วมแลกเปลี่ยนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งข้อเท็จจริงเช่นไรขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลข้อมูล ทำความเข้าใจกันอยู่ ขณะที่บางท่าน ก็โดนแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่เชื่อได้ว่าเป็นของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับปัจเจกบุคคล นำไปเผยแพร่ บิดเบือนให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่แฟนเพจดังกล่าว กล่าวอ้าง ดังตัวอย่าง
ได้ปรากฏในลิงค์ไม่ระบุชื่อผู้เขียนและวันเวลาการนำเสนอ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า"NGOใต้บอกว่าผมนี่แหละBRN" ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน2558ได้มีลิงค์ ขยายความเท็จอีกครั้งด้วยการตั้งชื่อเรื่องของเนื้อหาตามบทความเดิมว่า "เมื่อตูแวดานียา ประกาศผมนี่แหละBRN" ซึ่งขณะนี้ทางผู้เสียหาย ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าไม่ได้พูดตามดังทีเพจดังกล่าว ระบุถึง
อย่างไรก็ตามเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อบุคคลที่ร่วมกิจกรรมกับ ปาตานี ฟอรั่ม และยืนยันในความบริสุทธิ์ใจในกาทำงาน ปาตานี ฟอรั่ม จึงทำจดหมายเปิดผนึก ทีจะขอย้ำความสำคัญให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังทำหน้าปฎิบัติหน้าดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ได้ดำเนินภารกิจด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไร้อคติและชอบธรรมด้วยหลักการสิทธิมนุษยชน
2.ขณะที่เจ้าหน้าที่บางท่านที่ทำการอันให้เกิดความเสื่อมเสีย บิดเบือนข้อเท็จจริงของบุคคลที่ร่วมกิจกรรมกับปาตานี ฟอรั่ม ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันที
3.ทั้งนี้อยากให้สาธารณะเข้าใจว่า การทำงานของปาตานี ฟอรั่ม เป็นที่รู้จักและเข้าใจในเป้าหมายการทำงานว่าเป็นองค์กรทีส่งเสริมสร้างความเข้าใจของภาคพลเมือง ซึ่งที่ผ่านมาปาตานี ฟอรั่มก็ได้สื่อสารกับเจ้าหน้าทีรัฐในทั้งในระดับพื้นที่ ระดับสูง หรือ ภาคประชาสังคมจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ หรือแม้นองค์กรระหว่างประเทศ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนั่นหมายความว่าการสร้างมีความพยายามทำลายภาพลักษณ์องค์กรผ่านผู้ร่วมกิจกรรมปาตานี ฟอรั่มนั้นอาจหมายถึงการทำลายภาพลักษณ์การทำงานของภาครัฐด้วย”
4.หากอยากทำความเข้าใจหลักคิดของปาตานี ฟอรั่มเพิ่มเติม สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ www.pataniforum.com หรือจากลิงค์ต่อไปนี้ http://www.pataniforum.com/single.php?id=483
ทั้งหมดคือกระบวนทัศน์ทางความคิดในปัจจุบันของปาตานีฟอรั่ม เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยการคำนึงการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปตามสถานการณ์ ประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงาน ที่ยังยึดมั่นใน หลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมในสังคม หลักการของคนที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความรับผิด รับชอบในการตัดสินชะตากรรมตนเอง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งตัดสินแทนคนอื่นๆได้ กระบวนการทางสังคมต้องเกิดจากการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ขึ้นใจ สำหรับประเด็นปัญหาปาตานีในประเทศไทย คือ การสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนการพูดคุยหรืออภิปรายที่มีความหมาย ต่อประเด็นเรื่องความขัดแย้งในปาตานี/ชายแดนใต้ โดยเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อการสร้างสันติภาพ ตามพื้นฐานความเคารพต่ออัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นพยายามที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ บทวิเคราะห์และหาข้อสรุปต่อประเด็นความท้าทายและโอกาสด้านสันติภาพในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้และระยะยาวนั้น จะต้องอยู่ในพื้นที่ของเสรีภาพทางความรู้ ความคิด และความจริง
และนั่นก็คือ "พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้" อย่างแท้จริง
ชายแดนใต้ สมรภูมิสงครามปฏิบัติการณ์ข่าวสารก่อนหน้านี้ ‘ปกรณ์ พึ่งเนตร’ บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ ของสำนักข่าวอิศรา ได้เขียนบทความ ‘ไอโอล้ำเส้นที่ชายแดนใต้’ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 เผยแพร่ทางสำนักข่าวอิศรา ได้ตั้งข้อสังเกตุของการปฏิบัติการณ์ข่าวสาร ( Information Operations) หรือไอโอ โดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก บล็อก ที่ไม่ระบุตัวตนชัดเจน ปฏิบัติการออกมาในเชิงข่าวลือ ข่าวบิดเบือนเพื่อดิสเครดิตว่ามีความใกล้ชิดกับขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คนที่โดนมีทั้งเอ็นจีโอ ทั้งนักศึกษา ผู้สื่อข่าวทั้งกระแสหลัก และผู้สือข่าวทางเลือก โดยเอารูปจริง หน้าจริง ชื่อจริง และเฟซบุ๊คไปโพสต์ประจาน
ทว่าต่อมาเวลา 07.05 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 ผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ‘Narater2001’ ได้โพสต์กระทู้ในบล็อก narater2010 ว่า ‘สำนักข่าว อิศรา กันกูละเบื่อ ซิจิง ๆ’ โดย ‘Narater2001’ ตั้งข้อสังเกตว่า ปกรณ์ ไม่กล่าวถึง “เพจโจรใต้ฟาตอนี” ที่มีอยู่อย่างดาษดื่น ในการสร้างความแตกแยกทางความคิด มีการยุยงปลุกปั่น ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อสู้ มีการนัดหมายในการชุมนุมประท้วงกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และตั้งใจละเมิดและกระทำผิดกฎหมาย
ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ‘แบมะ ฟาตอนี’ ได้เขียนบทความโต้กลับ ‘เมื่อ ปกรณ์ พึ่งเนตร มองต่างมุมไอโอ "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้’ ในบล็อก pulony ‘ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้’ โดย‘แบมะ ฟาตอนี’ ตั้งข้อสังเกตถึงสื่อมวลชนว่า ‘ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีจ่ายตังค์’ ในส่วนของการประณาม หรือเปิดเผยความชั่วร้ายของกลุ่มขบวนการก็เช่นเดียวกัน อย่าไปหวังให้ยาก จากการได้สัมผัสการทำงานของสื่อมวลชนที่ผ่านๆ มา
“ผมแปลกใจ คุณปกรณ์ พึ่งเนตร เป็นอย่างมากที่ตั้งหน้าตั้งตาเขียนเปิดประเด็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีสักนิดเดียวที่เนื้อหาได้กล่าวถึง “เพจโจรใต้ฟาตอนี”ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในการสร้างความแตกแยกทางความคิด มีการยุยงปลุกปั่น ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อสู้ มีการนัดหมายในการชุมนุมประท้วงกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และตั้งใจละเมิดและกระทำผิดกฎหมาย
“ที่ผู้เขียนยอมรับไม่ได้คือ “เพจโจรใต้ฟาตอนี” เหล่านั้น มีความพยายามสร้างความแตกแยก แบ่งเขา-แบ่งเราไทยพุทธ-ไทยมุสลิม หรือคุณปกรณ์ พึ่งเนตร เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หูตามืดบอดสนิท แกล้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่เห็นกับการกระทำของอีกฝ่าย แต่กลับตั้งหน้าตั้งตากล่าวหาโจมตี“เพจผี”และมีการตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลัง “เพจผี” เหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน คือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการปฏิบัติการ “ใต้ดิน” ซึ่ง 2-3 ปี มานี้เริ่มแรงและล้ำเส้นมากขึ้นเรื่อยๆ”
ผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ‘แบมะ ฟาตอนี’ เขียนในลักษณะน้อยใจ ที่ ‘ปกรณ์ พึ่งเนตร’ ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ปฏิบัติการณ์ข่าวสาร หรือไอโอล้ำเส้นที่ชายแดนใต้ คือ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับไม่ค่อยสนใจเพจที่เชื่อมโยงกับขบวนการ
วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ‘ปกรณ์ พึ่งเนตร’ บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ ของสำนักข่าวอิศรา ได้เขียนบทความ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ เผยแพร่ทางสำนักข่าวอิศรา โต้บทความ ‘เมื่อ ปกรณ์ พึ่งเนตร มองต่างมุมไอโอ "ล้ำเส้น" ที่ชายแดนใต้’ ในบล็อก pulony ‘ความจริงจากจังหวัดชายแดนใต้’ ที่เขียนโดยผู้ช้นามแฝงว่า ‘แบมะ ฟาตอนี’
‘ปกรณ์ พึ่งเนตร’ ได้ยกข้อสังเกตเป็นประเด็นๆ มาจากบทความของ‘แบมะ ฟาตอนี’ ประเด็นสำคัญที่ ‘แบมะ ฟาตอนี’ ตั้งคำถามกับ ‘ปกรณ์ พึ่งเนตร’ ว่าโจมตีงานไอโอของทหารทำไม เพราะงานไอโอสิ่งดีๆ เรื่องราวด