วิพากษ์ แนวคิดของ ฏอริค รอมฎอน จากการบรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตกและตะวันออก 1

วิพากษ์ แนวคิดของ ฏอริค รอมฎอน
จากการบรรยายหัวข้อ 
ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตก
และตะวันออก 
[1] ” 

 

บทความวิพากษ์โดย มูฮัมหมัด  เบเฮสตี

             

                                                                                                                                          Image by : http://www.cilecenter.org/

 
การแบ่ง ประเภทของแนวคิด เป็นแนวคิดที่มาจากพระเจ้า และแนวคิดที่มาจากมนุษย์

  “ ข้อเสนอหลักของ ฎอริก รอมาฎอน ในการบรรยายครั้งนี้ [2]  ได้พยายามอธิบายให้เห็นถึง ความคิดเชิงวิพากษ์ของมุสลิม จำต้องแยกแยะระหว่างสองส่วน คือ ส่วนที่มาจากพระเจ้า  และส่วนที่มาจากมนุษย์  สำหรับเขา(ฏอริค)แล้วนั้นในส่วนแรกเป็นส่วนที่มุสลิมจะเริ่มต้นจากการคิดว่าพระเจ้านั้นมีอยู่จริงและสิ่งที่มาจากพระเจ้าทั้งหมดนั้น "เป็นความจริง" เช่น อัลกุรอาน แต่ทว่าในส่วนหลังที่มาจากมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถตั้งคำถามได้ทั้งสิ้น เช่น ความเข้าใจในอัลกุรอานหรือตัวบท 

 

ฎอริค ได้เสนอเปรียบเทียบตัวอย่างหนึ่ง จากเหตุการณ์สงครามบะดัรในยุคสมัยท่านศาสดา(ซล) กรณีการวางจุดยุทธศาสตร์ในการรบ ซึ่งมีซอฮาบะฮฺ (สหาย/สาวก) ท่านหนึ่งนามว่า ฮุบาบอินนุมุนซิร เข้าไปถามท่านศาสดามูฮำหมัด (ซล.) ว่า การวางกำลังตรงชัยภูมินี้ (กำลังจะตั้งแคมป์) เป็นคำสั่งที่ถูกประทานลงมาจากพระเจ้าหรือเป็นความคิดที่มาจากท่านศาสดาเอง ถ้าเป็นคำสั่งจากเบื้องบนเขาจะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับชัยภูมินี้ แต่ถ้าเป็นความคิดของท่านศาสดาในฐานะผู้นำทัพ จุดนี้อาจจะไม่เหมาะสม เมื่อท่านศาสดาตอบว่ามาจากท่านเอง สาวกท่านนั้นจึงแนะนำว่ามันเป็นชัยภูมิที่ผิดและเสนอแนวคิดของเขา จากนั้นท่านศาสดาก็ย้ายไปตามคำแนะนำของสาวกท่านนี้ จากเหตุการณ์ตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นกระบวนการตั้งคำถามที่แยกแยะระหว่างสิ่งที่มาจากพระเจ้ากับความคิดที่มาจากมนุษย์ ถ้าหากสิ่งนั้นมาจากพระเจ้า หลักการของเราคือ “เราได้ยินแล้วและเราก็ทำตาม” แต่ถ้าหากสิ่งนั้นมาจากท่านศาสดามูฮำหมัด (ซล.) ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น มันเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ ในที่นี้การตั้งคำถามต่อท่านนบีจึงไม่ใช่การตั้งคำถามในฐานะที่เป็นศาสดาผู้รับสาส์นจากพระเจ้า หากแต่เป็นการตั้งคำถามต่อท่านในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้นำทัพ 

 

สำหรับส่วนที่มาจากมนุษย์นั้น เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับการคิดเชิงวิพากษ์ของมุสลิม แต่ทว่าการคิดนี้ต้องอยู่บนฐานของ 3 อย่าง นั่นคือ (1)แหล่งที่มาของการคิด (2)ตรรกะของความคิด (3)การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์

มุสลิมมักจะตกอยู่ในหลุมพรางทางความคิดเพราะสับสนเกี่ยวกับแหล่งที่มาระหว่างสิ่งที่มาจากพระเจ้าและสิ่งที่เป็นความคิดของมนุษย์ ดังนั้น การกำหนด (define) เส้นแบ่งระหว่างสองส่วนนี้จึงสำคัญมาก เพราะสุดท้ายแล้วมุสลิมมักจะโหยหากลับสู่อดีตอันยิ่งใหญ่และทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าใจตัวบท การเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือความคิดและความเข้าใจของมนุษย์  สิ่งที่มาจากมนุษย์ได้ถูกพัฒนามาตลอดกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นจึงไม่มีความจริงที่สมบูรณ์ที่สุดในส่วนนี้ สิ่งใดก็ตามที่มาจากมนุษย์ การวิพากษ์ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นและเราไม่ควรโหยหาอดีตและทำให้มันกลายเป็นเรื่องโรแมนติกมากเกินไป

 

นักวิชาการมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตต่างก็ให้วาทะเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าหากทัศนะหรือความคิดของเขาถูกต้องตามตัวบทก็ให้ถือปฎิบัติแต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ปล่อยมันทิ้งไว้ นั้นหมายความว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ปถุชนธรรมดาที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้สอนเราว่า อะไรก็ตามที่มาจากมนุษย์สามารถตั้งคำถามได้ และการตั้งคำถามลักษณะนี้ไม่ทำให้เรามีความเป็นมุสลิมน้อยลงเลย แต่ในทางกลับกันสำหรับเขาแล้วการตั้งคำถามที่ลึกซึ้งจะช่วยให้เรามีความเชื่อที่ลึกซึ้งได้ด้วยเช่นเดียวกัน” 
(โปรดอ่านพิจารณาบทความฉบับเต็มทั้งหมดอีกครั้งได้ที่ : http://www.pataniforum.com/single.php?id=504)

 

วิพากษ์

สิ่งที่มาจากพระเจ้า กับ สิ่งที่มาจากมนุษย์

                ในความรู้ของอิสลาม การแยกความรู้ของศาสดาออกจาก ความรู้ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักฐานจากอัลกุรอ่าน และ ฮะดิษ เพราะครูผู้สอนศาสดา ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก พระผู้เป็นเจ้า และ ผู้ที่พระองค์ทรงส่งมาเป็นตัวแทนอย่างมลาอิกะฮ(เทวฑูต) หรือ บรรดาอัมบิยา(ศาสดา)ก่อนหน้านี้ ดังนั้น แหล่งความรู้ของศาสดา ก็คือ พระผู้เป็นเจ้านั้นเอง ส่วนวิธีการถ่ายทอดความรู้มีหลายวิธีการด้วยกันไม่ว่า จะผ่านมลาอิกัต หรือ ผ่านบรรดาศาสดา หรือ เป็นการถ่ายทอดความรู้โดยตรง 

ตามที่อัลกรุอานได้กล่าวว่า

 “แล้วทั้งสองได้พบบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ที่เราได้ประทานความเมตตาจากเราให้แก่เขา และเราได้สอนความรู้จากเราให้แก่เขา” บทซูเราะห์ ที่ 18 โองการที่ 65

และอีกโองการ ในซูเราะห์ที่ 4 โองการที่ 113

“และอัลลอฮ ได้ทรงประทานคัมภีร์ และ ฮิกมะฮ แก่เจ้า และพระองค์ทรงมอบความรู้ให้แก่เจ้า ในสิ่งที่เจ้าไม่รู้”

                เพราะคำสอนของพระเจ้า กับ คำสอนของศาสดา อยู่ในระดับ ฮุจญัต หรือ ข้อพิสูจน์สำหรับ ผู้นับถือศาสนา คือ เสาหลักในการตรวจสอบความถูกต้อง หากศาสดา ยังคิดผิด หรือ พูดในสิ่งที่ผิด หรือ ตัดสินใจในสิ่งที่ผิด หรือ ทำผิด เช่นนั้น การยึดตามหลักแบบอย่างซุนนะฮจากท่าน จะไม่มีความหมายใดๆเลย หากตีความออกมาเช่น ดร. ฏอริค รอมฎอน นำเสนอ

                 แต่หาก ความหมายของ ความคิดของมนุษย์ที่จะต้องคิดวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ นั้นหมายถึงมนุษย์ที่ไม่ใช่ตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า การวิพากษ์ความคิดของเขาเหล่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการจากอัลกุรอ่าน และฮะดิษ รวมทั้งสติปัญญา

                 ในมาตรวัดเบื้องต้นของมุสลิม หากเราจะพิจารณาว่า แนวคิดของผู้ใด เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง จำต้องนำมาตรวจสอบแนวคิด และหลักฐานที่ใช้สนับสนุนแนวคิดของเขา ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ หากแนวคิดของมนุษย์มาจากแนวคิดของอัลกุรอ่าน หรือ วิถีของศาสดา แนวคิดเช่นนั้น จึงจะถือว่า ถูกต้อง เช่น แนวคิดในเรื่องของการ รักษาเอกภาพในหมู่มุสลิม ตามวิธีการของอัลกุรอ่าน และศาสดา เป็นแนวคิดที่ สอดคล้องกับ อัลกุรอ่าน และ ฮะดิษ ดังนั้น เมื่อมีมุสลิม คนหนึ่งพยายาม รักษาเอกภาพระหว่างมุสลิมด้วยกันในมิติหนึ่งเขาคนนั้น คือ ผู้ที่กำลังทำให้อุดมการณ์แห่งอิสลามที่มาจากศาสดามูฮัมมัด(ศ) มีชีวิต ในแผ่นดินและสังคมของเขา

คำสั่งของศาสดา คำสั่งของพระเจ้า เป็นคำสั่งเดียวกัน

                หากกล่าวว่า คำสอนที่มาจากพระเจ้า เป็นสิ่งที่เราไม่สมควรตั้งคำถาม หรือ มองหาวิทยปัญญาของมัน นั่นถือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะแนวคิดเช่นนี้ ในมิติหนึ่ง ก็คือ การพยายามที่จะพิสูจน์ว่าบางครั้งศาสดา ไม่ได้พูดในสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ได้สั่ง คำสั่งบางประการในทางศาสนาเป็นคำสั่งของศาสดาเอง ไม่ใช่ของพระเจ้า ซึ่งผลของความคิดเช่นนี้ จะไปขัดกับอัลกุรอ่าน และหลักฐานทางฮะดิษ และสติปัญญา

وَ مَا ءَاتَئكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَ مَا نهََئكُمْ عَنْهُ فَانتَهُواْ  وَ اتَّقُواْ اللَّهَ  إِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ(7)

บทซูเราะฮที่ 59 โองการ 7 และสิ่งใดก็ตามที่ศาสนฑูตของพระองค์ได้นำมายังพวกเจ้า พวกเจ้าก็จงยึดมันไว้ และสิ่งใดก็ตามที่เขาได้ห้าม พวกเจ้าก็จงยุติมันเสีย และจงยำเกรงต่ออัลลอฮ แท้จริง อัลลอฮ ทรงตอบแทนโทษรุนแรงเป็นที่สุด

                 ข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าศาสดาจะต้องเป็นมะศูมผู้ปราศจากมลทินและความผิดพลาด คือ เป้าหมายสำคัญของ การแต่งตั้งศาสดา เพื่อชี้นำมนุษย์ไปสู่ สัจธรรม หากศาสดา มีความผิดพลาดหรือบกพร่อง  ท่านจะสามารถชี้นำมวลชนให้ไปสู่ เส้นทางที่ถูกต้องได้อย่างไร ในอีกคำอธิบายหนึ่ง หากศาสดายังไม่ใช่มนุษย์ผู้สมบูรณ์ ศาสดาย่อมไม่สามารถชี้นำผู้ใดจนสามารถพัฒนาเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์

                การแยกคำสั่งของศาสดา กับ คำสั่ง ของพระเจ้า คือ การคิดแบบเดียวกันกับนักบูรพาคดีตะวันตก ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เพราะหากนำเสนอว่า เรื่องบางเรื่องศาสดาเป็นคนคิดขึ้นมาเอง และเรื่องบางเรื่อง เป็น ข้อเสนอของพระเจ้า จะทำให้ความถูกต้องของวะฮีย์(วิวรณ์) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ หากนำเสนอว่า ศาสดาคิดเองได้ ผลลัพธ์ของความคิดเช่นนี้ ก็คือแนวคิดของกลุ่มต่อต้านศาสนา คือ ความคิดหลักที่ว่า "ศาสดาเป็นคนสร้างเรื่องราวต่างๆขึ้นมาเอง โดยอ้างอิงถึงพระเจ้า "

                เนื่องด้วยศาสดา คือ ผู้นำวะฮีย์(วิวรณ์)มาจากพระผู้เป็นเจ้า คำพูด และ การปฏิบัติของท่าน ก็จะต้องบริสุทธิปราศจากความผิดพลาด ซึ่งถือเป็นตรรกะสำคัญในการพิจารณา สถานะภาพของศาสนา

                และในอีกเหตุผลหนึ่ง เงื่อนไขในการเป็นผู้นำในทัศนะของอิสลาม คือ ความอะอฺลัม(ทรงความรู้) ในทุกๆมิติ หากศาสดา ไม่ใช่ผู้ที่มีความรอบรู้มากที่สุดแล้ว  ท่านก็ไม่อาจจะชี้นำได้ในทุกๆเรื่อง  ซึ่งนั่นจะขัดแย้งกับบริบทของศาสนาและประวัติศาสตร์ เพราะคำสอนของศาสดา ครอบคลุมทั้งเรื่อง ดุนยา(โลก) และ อาคิเราะฮ(ชีวิตหลังความตาย) และไม่เคยแยกศาสนาออกจากกิจการทางโลก

                อัลกุรอ่านได้กล่าวว่า

 " และเรามิได้ส่งรอซูล คนใด นอกจาก เพื่อให้เขาเชื่อฟัง ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ เท่านั้น”

บทซูเราะฮที่ 4 โองการที่ 63

                กล่าวโดยสรุป คือ ทุกๆสิ่งที่มาจากศาสดานั้นล้วนมาจากการอนุมัติของพระองค์อัลลอฮ ดังนั้นการตัดสินใจใดๆ หรือ การกระทำใดๆ จะต้องผ่านการอนุมัติจากพระองค์ก่อนเป็นอันดับแรก ในทัศนะนี้ สำหรับนักการศาสนา สาขา ตัฟซีร(อรรถธิบาย) อัลกุรอ่าน ต่างก็ยืนยันเป็นเอกฉันท์ว่า คำทุกคำที่มาจากอัลกุรอ่านนั้น คือดำรัสที่พระองค์อัลลอฮ ทรงเลือกไว้ให้ท่านศาสดาเผยแพร่ มิใช่คำที่ท่านศาสดา เลือกขึ้นมาเอง ดังนั้น การกล่าวว่า กิจการบางอย่างมาจากการตัดสินใจของศาสดาเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ถูกต้อง

                นอกจากนี้ หลักฐานที่ ดร.ฏอริค ยกขึ้นมา เพื่อสนับสนุน ทัศนะของตนเองนั้น ยังมีความคลาดเคลื่อน ดังเช่น ประวัติศาสตร์ที่ ดร.ฏอริค กล่าวถึง เรื่องราวของสงครามบะดัร  โดย ฮุบาบ อิบนุ มุนซิร รายงานดังกล่าว ถูกบันทึกไว้ใน (ก) ซีรีย์ อิบนิฮิชาม (ข)ฏอรีค อัลคอมีส (ค) อัลกาเมล ฟิ ฏอรีค และตำราประวัติศาสตร์เล่มอื่นๆ ในประเด็นยังมีความขัดแย้งในหมู่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และ นักการศาสนา เพราะมีการเชื่อมโยงกับทัศนะทางศาสนา  และเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ ดร. ฏอริค อ้างเป็นตรรกะในการนำเสนอบทบรรยายครั้งนี้

โดยผู้เขียนจะขอนำเสนอดังนี้

1 หลักการ อิศมัตหรือ ความบริสุทธิ์ของศาสดา จาก บาป และความผิดพลาด ถูกพิสูจน์ด้วย หลักฐานทางการรายงาน(อัลกุรอ่าน,ฮะดิษ) และเหตุผลทางสติปัญญา ดังนั้น ทัศนะ และการปฏิบัติของศาสดา จึงถูกต้อง และปลอดพ้นจากความผิดพลาดในทุกๆมิติ

2  ทางภูมิศาสตร์ นั้น อุดวะฮ กัศวีย์ อยู่ใกล้เคียงกับ วาดีย์ ยัลยัล ซึ่งอยู่ห่างจากมะดีนะฮมากกว่า และยังเป็นที่ชุมนุมของบรรดามุชรีกีน ซึ่งมีน้ำและพื้นดินที่เหมาะสม  ส่วน อุดวะฮดุนยา เป็นสถานที่ที่ใกล้เคียงมากกว่า แต่ไม่มีน้ำ

3 ในช่วงเริ่มต้น มุชรีกีน ได้มาถึง บะดัร ตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะถือว่า มุชริกีน จะไปหยุดในสถานที่ที่ไม่มีน้ำ

4  ตามการชี้แจงของ อิบนุอิศฮาก  ข้อเท็จจริง บรรดา มุชริก ได้เดินทางมาถึงแหล่งน้ำตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะท่านศาสดาได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใด ขัดขวางพวกเขา ซึ่งหลักฐานดังกล่าวบันทึกไว้ใน หนังสือ อัลกาเมล ฟิ ฏอริค เล่ม 2 หน้า 123

5  การห้ามไม่ให้ศัตรูดื่มน้ำ เป็นสิ่งที่ขัดกับ วิถีและจริยธรรมของศาสดา และหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

                ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตัวอย่างเหตุการณ์ที่  ดร. ฏอริค นำมาเป็นตรรกะ ในการนำเสนอหลักคิดของท่าน จึงเป็นหลักฐานที่ยังเป็นปัญหาความถูกต้อง  จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ศาสดามีข้อผิดพลาด ในเรื่องของการตัดสินใจ และการสรุปความว่า “การถามศาสดาในฐานะแม่ทัพคนหนึ่ง” ถือเป็นการไม่บังควรและถือเป็นการลดสถานะของศาสดา และยังไม่ใช่ความคิดที่ผ่านการไตร่ตรองและตรวจสอบหลักฐานจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียด เพราะหากสรุปได้ว่า นบีผิดพลาดได้ เพราะเป็นคนธรรมดาแม้ในบางโอกาส นั่นก็จะสอดคล้องกับแนวคิดของฝ่ายปฏิเสธศาสนา ที่กล่าวว่า "เมื่อศาสดาคิดผิดได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะไม่ตามท่าน เพราะถ้าหากมีความเป็นไปได้ที่ท่านจะผิดพลาด มันก็มีความเป็นไปได้ที่ท่านจะผิดพลาดในเรื่องอื่นๆแม้แต่พระเจ้า (นะอูซูบิลลาฮ)

      ในขณะที่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนี้ ในกรณีที่ ศาสดาไม่ปลอดภัยจากความผิดและบาป ปรัชญาแห่งวะฮ์ยู(วิวรณ์) จะไม่มีทางสมบูรณ์ได้ เพราะความผิดพลาดในการประกาศสาส์น หรือ ออกคำสั่ง  ผลกระทบที่จะตามมา คือ ความสงสัย และความไม่มั่นใจของประชาชนต่อศาสดา ซึ่งเป็นสิ่งเพียงพอที่จะอ้างเป็นเหตุผล ในอันที่จะทำให้พวกเขาปฏิเสธคำพูดของศาสดา

    ดังนั้นด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้ทำให้ คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของผู้ส่งสาส์นของพระองค์ จะต้องไร้ซึ่งข้อผิดพลาดเสียก่อน จึงจะสามารถทำให้ สิ่งที่มาจากพระเจ้า ถูกถ่ายทอดสู่มนุษย์ อย่างสมบูรณ์ ไม่มีเพิ่มเติมหรือตัดทอนโดยพลการอย่างแน่นอน

                แน่นอนวัตถุประสงค์ของบทความนี้ ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อปฏิเสธว่า มุสลิมที่ดีจะต้องละทิ้งการไตร่ตรอง และการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ความเห็นต่อแนวคิดต่างๆ เพราะ การวิจารณ์หมายถึง การพิจารณาต่อคุณค่าของสิ่งๆหนึ่ง ดังนั้น จะรู้ว่า สิ่งนั้น มีคุณค่ามากน้อยเพียงใด จะต้องวิจารณ์ มันเสียก่อน เป้าหมายของ ดร.ฏอริค คือ การสนับสนุนให้ มุสลิม คิดในเชิงวิพากษ์ แต่บริบทที่นำเสนอ กลับเป็นสิ่งที่ ขัดแย้งกับ อะกีดะฮ และเกิดมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เป้าหมายของท่านเป็นสิ่งที่ดี แต่บริบทที่ท่านนำเสนอ กลับไปลดระดับความเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทินของศาสดา ซึ่งเป็นคุณสมบัติและสถานภาพที่สำคัญของความเป็นศาสดา  ซึ่งนั่นจะเท่ากับ นำแนวคิดที่เปิดทางให้ผู้ที่หาจังหวะในการทำลายศาสนา มาสู่ศาสนาโดยไม่รู้ตัว และสิ่งที่อันตราย คือ การศึกษาอิสลาม โดยไม่ฟังความเห็นจากบรรดาอุลามาอฺผู้รู้ หรือ นักตะฮกีก นักปราชญ์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา

    ยังมีอีกหลายประเด็นจากคำบรรยายของ ท่าน ดร. ฏอริค รอมฎอน ที่ผู้เขียนจะขอนำมาวิพากษ์  อินชาอัลลอฮ์



[1] บทความบรรยายเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2558 ที่ : http://www.pataniforum.com/single.php?id=504  
แปลและถอดความโดย  ยาสมิน ซัตตาร์ Istanbul University ,อันวาร์ กอมะ  Dokuz Eylül University และเอกรินทร์ ต่วนศิริ 
Sakarya University

[2] บางส่วนจากการบรรยาย เพื่อชวนคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณโปรดอ่านฉบับเต็มอีกครั้งที่ : http://www.pataniforum.com/single.php?id=504