ครบรอบ ๑ ปี รัฐประหารกับปัญหาปาตานี

ครบรอบ ๑ ปี รัฐประหารกับปัญหาปาตานี

 

 

เป็นระยะเวลาขวบปีที่อำนาจทหารได้เข้ามาควบคุมประเทศกลายเป็น “รัฐทหาร” ที่มีอำนาจปืนเป็นเครื่องมือในการควบคุมสิทธิ เสียง และเสรีภาพ ผมใคร่อยากจะมีข้อสังเกตบางประการ ดั่งต่อไปนี้

 

๑. ปัญหาความรุนแรงที่ปาตานี ไม่สามารถแยกออกมาแก้ไขเชิงเดี่ยวได้ เพราะว่าการแก้ไขปัญหาทุกมิติมันเกี่ยวข้องกับกลไกภาครัฐแทบทั้งสิ้น และในตลอดขวบปีที่ผ่านมา อำนาจทหารก็ไมได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปาตานี ซึ่งการแก้ไขหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ก็ไม่มีทิศทางและกรอบทำงาน ที่จะได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คงไม่ต้องกล่าวถึงหน่วยงานระดับชาติ ที่จะรับมือและทำงานต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาปาตานี เช่นนี้แล้ว ตลอดที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลทหาร ก็ไม่สามารถสร้างความหวังให้แก่คนในพื้นที่ได้

 

๒. กระบวนการสันติภาพชะงักงัน ซึ่งตลอดขวบปีที่ผ่านมา ยังไม่มีเจตนารมณ์หรือทิศทางบวกจากรัฐบาลทหารที่จะเริ่มทำงานกระบวนการสันติภาพและทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความหวัง และมีหุ้นส่วนกับกระบวนการสันติภาพ หากทว่า รัฐบาลทหารทำได้แต่เพียงอย่างเดียวคือ การหวังสกัดกั้นความรุนแรง แต่ไม่เห็นการแก้ไขทางการเมือง ที่มองไม่เห็นเพราะนั้นไม่ใช่กระบวนการสันติภาพตามปรัชญาของกองทัพไทย

 

๓. การรัฐประหารทำให้ “พื้นที่การสื่อสารของชาวบ้านได้หายไป” อาทิเช่น การสถานีวิทยุชุมชนที่คอยติดตามเรื่องพูดคุยสันติภาพ และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แลกเปลี่ยน ซึ่งหลังจากรัฐประหารพื้นที่แบบนี้ถูกสั่งปิด ด้วยคำสั่งของคณะรัฐประหาร ดังนี้ เวทีประชาธิปไตย จึงขาดไม่ได้สำหรับคนเล็กคนน้อย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ที่มีความแตกต่างจากคนกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะนั่นเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในการแสดงตัวตน สามารถสร้างทางเลือกในระดับนโยบายและสามารถอาศัยสิทธิพลเมืองสนับสนุนผู้แทนทางการเมืองที่ขานรับความต้องการของชาวบ้าน ที่ชาวบ้านต้องการสื่อสารได้ เช่น การขานรับพรรคการเมือง ที่เสนอแนวทางสันติภาพ หรือเสนอทางเลือกรูปแบบการปกครองตนเอง แต่ช่องทางนี้ได้ถูกฉีกขาดลง

 

๔. รัฐประหารทำให้อำนาจทหารในพื้นที่เข้มแข็งมากขึ้น ไม่มีหน่วยงานใดหรือองค์กรอิสระ สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานทหาร ตั้งแต่เรื่อง การควบคุมตัว การจับกุม หรือ การทำให้ประชาชนในพื้นที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินได้ และปัญหาคาใจอีกหลายประการของการใช้งบประมาณทหารในช่วงที่ผ่านมา เช่น จีที ๒๐๐, เรือเหาะ, กล้องวงจรปิด ฯลฯ ซึ่งเราไม่สามารถตรวจสอบงบประมาณกองทัพได้

 

สุดท้าย มันจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร เมื่อประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถพูดและเลือกชะตากรรมชีวิตของตัวเองได้ เพื่อให้โลกรู้ว่าพวกเขาต้องการชีวิตการเมืองแบบไหน ?