ว่าด้วยกฎหมายอิสลาม คำฟัตวา และนักวิชาการมุสลิมในยุคปัจจุบัน

ว่าด้วยกฎหมายอิสลาม, คำฟัตวา, และนักวิชาการมุสลิมในยุคปัจจุบัน

แปลและเรียบเรียงโดย มุสลิม วงศาวิศิษฐ์กุล

 

 

 ศ.ดร.ญาซิร เอาดะฮ์

 

จากคำถามที่ว่า ‘ทำไมนักวิชาการอิสลามมักยกประเด็นการถกเถียงใหม่ๆ ที่อ่อนไหวง่ายซึ่งสร้างความสับสนในสังคม และทำไมพวกเรากำลังทำลายอิสลามด้วยการยกประเด็นเหล่านั้นเพื่อนำเสนอว่าเราเป็นคนสายกลาง และเรากำลังมุ่งสู่ความเป็นสมัยใหม่ เป็นต้น?’ 

 

เป็นความจริงที่ว่า ‘นักวิชาการ’ อิสลามบางท่านมักจะยกประเด็นใหม่ๆ มาถกเถียงและให้ทัศนะทางศาสนา (ออกคำฟัตวา) ที่ไม่ค่อยคุ้นหูเรากันมากนัก ด้วยการนับถือและให้เกียรตินักวิชาการ นักพูดและผู้นำศาสนาทุกท่าน แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่ว่าทำไมคำฟัตวาหรือทัศนะทางศาสนาที่ไม่สมเหตุสมผลมักจะออกมาจากท่านเหล่านั้น ก็เพราะว่ากระบวนการทางความคิดของนักวิชาการเหล่านั้นมีจุดบกพร่องเกี่ยวกับการเข้าใจหลักการสากลนั่นเอง

 

สำหรับกฎหมายอิสลาม มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หลักการที่ชัดเจน’ ซึ่งมีความเป็นสากลและครอบคลุมข้อรายละเอียด เช่นว่า กฎรายละเอียดเรื่องต่างๆ จะต้องไม่ขัดแย้งกับเรื่องหลักการที่ชัดเจน หากขัดแย้งก็ทำให้กฎรายละเอียดนั้นตกไป

 

ลักษณะของกฎหมายอิสลาม

ผมเจอการใช้คำเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามของนักวิชาการท่านหนึ่งที่น่าสนใจนามว่า ‘อิบนูก็อยยิม’ เป็นการใช้คำได้อย่างกระชับในการอธิบายหลักการและบทบาทที่สำคัญในการทำความเข้าใจกฎหมายหรือ “ฮุก่ม” ต่างๆ ในอิสลาม

 

“ชะรีอะฮ์นั้นตั้งอยู่บนหลักวิทยปัญญาและการเข้าถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้คนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ชะรีอะฮ์มีมาเพื่อความยุติธรรม ความเมตตา วิทยปัญญาและความดีงามที่สมบูรณ์ ดังนั้นกฎใดๆ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนความยุติธรรมด้วยกับความอธรรม ความเมตตาด้วยกับสิ่งที่ตรงกับข้าม สิ่งที่เป็นความดีด้วยสิ่งที่เป็นความเลว หรือหลักวิทยาปัญญาด้วยความไร้เหตุผล คือกฎ (ฮูก่ม) ที่ไม่ได้มาจากชะรีอะฮ์ ถึงแม้ว่าจะถูกอ้างว่ามาอิสลามหรือการเข้าใจโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม” (Shamsuddin Ibn al-Qayyim, I`lam Al-Muwaqi`een, ed. Taha Abdul Rauf Saad (Beirut: Dar Al-Jeel, 1973) vol.1, p. 333:)

 

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘กฎหมายอิสลาม’ ไม่ว่ากฎหรือคำสอนใดที่เข้ามาเปลี่ยนหลักวิทยปัญญาด้วยกับการไร้เหตุผล หรือเปลี่ยนจากความยุติธรรมด้วยกับความไม่เป็นธรรม (เช่น กฎ/คำฟัตวาหรือฮุก่มต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมที่เราได้ยินในยุคนี้) สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่กฎหมายอิสลามและไม่ได้เป็นตัวแทนของอิสลาม หากแต่เป็นทัศนะส่วนตัวของเขาเท่านั้น

 

ประเด็นที่สำคัญ ความจริงแล้ว นักวิชาการเหล่านี้น่าจะนำพาพวกเราไปสู่การเผชิญหน้ากับปัญหาแห่งยุคสมัยของเราในด้านการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนมากกว่า แทนที่จะสาละวนอยู่กับสิ่งที่ไม่ได้เป็นข้อบังคับอะไรในอิสลาม

 

อิสลามคือศาสนาของคนหนึ่งในสี่ของโลก (โดยประมาณ) อย่างไรก็ตาม รายงานประจำปีของ United Nation Development Programme (UNDP) ได้เปิดเผยว่า Human Development Index (HDI) ว่าประเทศมุสลิมโดยส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา (United Nation Development Programme UNDP, Annual Report)

 

HDI คือเครื่องมือในการคำนวนค่าการพัฒนาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับการอ่านออกเขียนได้ การศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมือง การส่งเสริมสตรี ค่าครองชีพและอื่นๆ

 

ประเทศอาหรับรวยน้ำมันบางประเทศ มีรายได้ค่าเฉลี่ยต่อหัว (income per capita) สูงมาก แต่กลับมีอันดับที่ต่ำในแง่ของการเข้าถึงความยุติธรรม การส่งเสริมสตรี การมีส่วนร่วมทางการเมือง และโอกาสที่เท่าเทียมกัน รายงานของ UN ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในบางรูปแบบและการคอรัปชั่นในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ รวมถึงปัญหาการอยู่ร่วมกันและความเป็นพลเมืองของประเทศมุสลิมในสังคมของพวกเขาอีกด้วย

 

โดยสรุป มุสลิมไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการพัฒนา ซึ่งความจริงแล้วทำให้เกิดปัญหาอื่นอีกมากมาย

 

ตกลงแล้ว “กฎหมายอิสลาม” มีปัญหาหรือ?

กฎหมายอิสลาม คือพลังที่ขับเคลื่อนพวกเราไปสู่สังคมที่เป็นธรรม มีศักยภาพ มุ่งสู่การพัฒนา มีมนุษยธรรม มีศีลธรรม ตรวจสอบได้ มีความเป็นระเบียบ เป็นมิตรกับมนุษย์และเปิดรับความหลายหลาย อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าเรามีหลักฐานน้อยมากที่จะอ้างว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคือค่านิยมของสังคมมุสลิมไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ ตกลงแล้วมันมีปัญหาที่ “กฎหมายอิสลาม” หรือ?

 

คำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณเข้าใจ ‘กฎหมายอิสลาม’ อย่างไร อย่างแรก เราควรแยกแยะให้ออกระหว่างความหมายต่างๆ ของกฎหมายอิสลามที่ถูกใช้โดยทั่วไป เพื่อสามารถตอบคำถามข้างต้นได้อย่างถูกต้อง

 

1. ชะรีอะฮ์ คือ บทบัญญัติที่มูฮัมหมัด (ﷺ) ได้รับมาจากเบื้องบนและนำมาปฎิบัติในชีวิตจริง ซึ่งเป็นคำสอนและพันธกิจในช่วงชีวิตของเขา นั่นคือ คัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดา (ﷺ)

 

2. ฟิกฮ์ คือ ชุดองค์ความรู้และความเข้าใจด้านนิติศาสตร์อิสลามที่นักนิติศาสตร์อิสลามจากสำนักต่างๆ ได้มีทัศนะให้ไว้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ ‘ชะรีอะฮ์’ ในสถานการณ์จริงที่แตกต่างกัน หรือในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระตลอด 14 ศตวรรษที่ผ่านมา

 

3. คำฟัตวา คือ การประยุกต์ใช้ “ชะรีอะฮ์” หรือ “ฟิกฮ์” ที่ให้ทัศนะโดยผู้รู้/ผู้มีอำนาจ เพื่อให้คำตอบกับมุสลิิมในการใช้ชีวิตในสถานการณ์จริงในยุคสมัยปัจจุบัน

 

เราเข้าใจ “กฎหมายอิสลาม” กันอย่างไร?

 

ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจว่ากฎหมายอิสลามคือ “ชะรีอะฮ์” ซึ่งหมายถึงบทบัญญัติที่ถูกประทานมาให้กับมูฮัมหมัด(ﷺ) จากนั้นเขานำมาประยุกต์ปฎิบัติใช้ในชีวิตประจำวันของเขาและผ่านกระบวนการถ่ายทอด การทำความเข้าใจให้กับบรรดาสาวกและมวลมนุษยชาติของท่าน ถ้าอย่างนั้น คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ มันไม่มีปัญหากับ ‘กฎหมายอิสลาม’ เพราะมันคือวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับความยุติธรรม ความเมตตา หลักวิทยปัญญา ความดีงามที่สมบูรณ์อย่างที่อิบนูก็อยยิมได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ถ้าคุณเข้าใจกฎหมายอิสลามว่าคือ “ฟิกฮ์” หรือชุดองค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์อิสลามจากสำนักคิดต่างๆ ที่เต็มไปด้วยมรดกทางปัญญา ดังนั้น คำตอบก็ยังคง ‘ไม่ใช่’ มันไม่มีปัญหาอะไรกับทัศนะหรือเหตุผลทางกฎหมายที่นักวิชาการในยุคก่อนใด้มีทัศนะให้ไว้กับสังคมและในช่วงเวลาของเขา

 

เป็นความจริงที่ว่านักวิชาการบางท่านมีทัศนะทางกฎหมายที่ผิดหรือมีจุดยืนที่แตกต่างอย่างพิลึกในประเด็นต่างๆ อย่างไรก็ตามประเด็นเหล่านี้คือธรรมชาติของการทำศึกษาและวิจัยด้านนิติศาสตร์อิสลามอยู่แล้ว

 

ต้องไม่ลืมว่าบทบาทของนักวิชาการในทุกยุคทุกสมัยคือ การตักเตือนและแก้ไขซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือนักวิชาการต้องมีส่วนร่วมในการถกเถียงประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและยุคสมัยของตัวเอง

 

ทำความเข้าใจ ‘คำฟัตวา’ (ทัศนะหรือคำชี้ขาดด้านศาสนา)

อย่างไรก็ตาม หากคุณเข้าใจกฎหมายอิสลามว่าเป็น ‘คำฟัตวา’ คำตอบคือ “ใช่” แต่ขึ้นอยู่กับว่าคำฟัตวา (คำชี้ขาดด้านศาสนา) นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ข้อชี้ขาดด้านศาสนา (คำฟัตวา) บางข้อเป็นแก่นสารที่มาจากอิสลามและหลักศีลธรรมอันดี แต่บางข้อชี้ขาดอาจมีข้อผิดพลาดและไม่ได้มีความเป็นอิสลามเลย

 

ถ้าหากคำฟัตวานั้นยืมคำพูดมาจากหนังสือยุคเก่าที่เกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดความผิดพลาดในการตามและการให้ทัศนะ เพราะมันกำลังพูดถึงอีกโลกหนึ่งด้วยกับเหตุการณ์และปัจจัยที่แตกต่างกัน และถ้าหากคำ ‘ฟัตวา’ นั้นตั้งอยู่การอรรถาธิบายตัวบทที่พลิกแพลงเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอิทธิพลบางกลุ่ม ดังนั้นมันจึงเต็มไปด้วยความผิดเพี้ยนและไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสลามเลย

 

ถ้าหาก ‘ฟัตวา’ นั้นอนุญาติให้ผู้คนกระทำการอันนำไปสู่ความอยุติธรรม การเหยียดหยามกีดกั้น การทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินหรือการทำลายหลักจริยธรรม แม้ข้อขี้ขาดนั้นจากตั้งอยู่บนการอธิบายอิสลามของบางกลุ่ม มันก็ผิดเพี้ยนและไม่เกี่ยวกับอิสลามเช่นกัน

 

แต่ถ้าหากว่า ‘คำฟัตวา’ นั้นตั้งอยู่บนแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ประกอบกับการมุ่งรักษา ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ ค่านิยมที่สำคัญและหลักเจตนารณ์แห่งกฎหมายอิสลามแล้ว ดังนั้นคำฟัตวานั้นถือว่าถูกต้องและน่าเชื่อถือในอิสลาม

 

ที่มา http://www.onislam.net/english/ask-about-islam/islam-and-the-world/worldview/167185-islamic-law-fatwas-and-muslim-scholars-today.html

 

เกี่ยวกับ ศ.ดร.ญาซิร เอาดะฮ์ (Prof.Dr. Jasser Auda)

ศาสตราจารย์ ดร.ญาซิร เอาดะฮ์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหารสถาบันมะกอศิด (Maqasid Institute) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองนานาชาติตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน

 

เป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะมหาวิทยาลัยคาร์ลตันในประเทศแคนาดา, เป็นสมาชิกของสภาเพื่อการวิจัยและฟัตวาแห่งยุโรป, เป็นกรรมการก่อตั้งและประธานกรรมการฝ่ายการดะวะฮ์ขององค์กรสหภาพนักวิชาการมุสลิมระหว่างประเทศและเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษของศูนย์การเรียนรู้ฟิกฮ์อิสลามของประเทศอินเดีย ศาสตราจารย์ญาซิรจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านปรัชญากฎหมายอิสลามจากมหาวิทยาลัยเวลส์ สหราชอาณาจักร และปริญญาเอกอีกสาขาด้านการวิเคราะห์ระบบจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา

 

นอกจากนั้น ศ.ญาซิรได้ร่ำเรียนวิชาอิสลามศึกษาและท่องจำคัมภีร์อัลกรุอานจากมัสยิดอัลอัซฮัรในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ทำงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมอิหม่ามและสอนเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลามในหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก เขาเขียนบทความและหนังสือหลายเล่มทั้งภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษและบางเล่มได้รับการแปลถึง 20 ภาษารวมถึง หนังสือ  "มะกอศิด อัชชะรีอะฮ์" หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม ฉบับภาษาไทยด้วย

เว็บไซต์ http://www.jasserauda.net