รายงาน บาง “แง่มุม” ที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับโต๊ะเจรจา(พูดคุย) ตอนที่ 1

หากจะกล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมของการเจรจาสันติภาพปาตานีห้วงปัจจุบัน ปี58 เราอาจต้องย้อนไปพูดถึงวันที่มีการลงนามการพูดคุย(เจรจา) 28 กุมภา 56 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกสำหรับการปรากฏตัวของกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี BRN ซึ่งในช่วงขณะนั้น สำหรับคนในพื้นที่แล้วถือว่ารัฐมีความใจกว้างมากในการเปิดโต๊ะเจราอย่างเปิดเผย ทำให้สังคมในพื้นที่และสังคมนอกพื้นที่เกิดการตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพในครั้งนั้น แต่มาถึงห้วงของปี 58 มีปัจจัยมากมายที่จำต้องมาพิจารณา วิเคราะห์กันเสียใหม่ โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองที่ถูกบริหารโดยรัฐบาลทหารอย่างเบ็ดเสร็จ จึงเป็นที่มาของวงเสวนา หัวข้อ “วงรอบ 2 ปี 28 กุมภา จะเจรจา หรือว่า พูดคุย (ภายใต้รัฐบาลเบ็ดเสร็จ)” ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมีองค์กรร่วมจัดคือ ปาตานี ฟอรั่ม  LEMPAR และกลุ่มนักกิจกรรมสภาหน้าโดม ซึ่งเนื้อหาสำคัญๆ พอจะสรุปได้ต่อไปนี้

 

2 ปี พูดคุย หรือ เจรจา คือ ทางออกสันติภาพ หรือว่า การเมืองคู่ขัดแย้ง

วงเสวนาเริ่มด้วยการปูพื้นความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่เอง(ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา)ก็มีการจัดงานวันสื่อสันติภาพ ที่จะกระตุ้นให้ภาพพลเมืองและภาคประชาสังคม ให้ความสำคัญกับวันที่ 28 กุมภา 56 กลายเป็นวันสื่อสันติภาพในพื้นที่ปาตานี ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องยอมว่าเมื่อก่อนปัญหาในพื้นที่ปาตานี มักถูกเข้าใจด้วยคนส่วนใหญ่ว่า เป็นปัญหาของคนในพื้นที่ชายขอบ ที่นิยมความรุนแรง และมีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง เนื่องจากไม่มีการสื่อสารสาธารณะที่เป็นทางเลือก ในการนำเสนอความจริง ซึ่งต้องเข้าใจอีกประการว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เกิดขึ้นตั้งแต่ 47 แต่มีที่มาและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน โดยจะต้องสร้างทัศนะคติและความเข้าใจใหม่ต่อปัญหาในพื้นที่

ขณะอีกด้านก็มีการทำงานของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการดึงคนอื่น เช่น ภาคประชาสังคม  เข้าไปร่วมพูดคุยกันตามกระแสของการปรับทัศนะของสังคมไทย และเช่นเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญในการพูดคุย(เจรจา) ครั้งที่แล้วโดยฝ่าย BRN ได้นำเสนอเงื่อนไข 5 ข้อ ในการตอบโต้ฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะคิดว่ามันจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ที่พูดคุย ด้วยการที่เขาต้องแลกด้วยระยะเวลา 50-60 ปี ในการต่อสู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ให้รัฐยอมรับสถานะทางการเมืองของกลุ่ม BRN ที่มีการต่อสู้แบบมีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน

นอกจากนี้สังคมไทยต้องเข้าใจก่อนว่าการต่อสู้ด้วยสันติวิธีที่นั้นได้เริ่มมาแล้วมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่หะยี สุหลง ด้วยข้อเสนอ 7 ข้อ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงทำให้กลุ่มคนรุ่นหลังต้องจับอาวุธต่อสู้แทนการต่อสู้ด้วยสันติวิธี กลายเป็นบทเรียนที่ BRN เสนอเงื่อนไข แต่ฝั่งรัฐบาลก็กำลังจะยกระดับการเจราจากับ BRN แต่ถูกเบรกด้วยฝ่ายความมั่นคง ประกอบกการเมืองในกรุงเทพฯมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้โต๊ะการเจรจาสันติภาพต้องล่มลง แต่ทั้งการรับรู้จากสังคมภายในและสังคมภายนอกทำให้กระแสของการพูดคุย โดยเฉพาะรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหารต้องให้มีการสานต่อการพูดคุยต่อ

บทเรียนและชุดอธิบายวันที่ 28 กุมภา กับเงื่อนไข 5 ข้อ  

ย้อนทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันที่ 28 กุมภา 56 แล้วต้องเข้าใจว่าวันนั้นคือวันที่เป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณะของกลุ่ม BRN ด้วยข้อเสนอที่ผลต่อการผูกมัดภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านั้นฝ่าย BRN ก็เชื่อว่ารัฐไทยคงจะยอมรับ และปฏิบัติตามไม่ได้

เงื่อนไขทั้ง 5 ข้อมีดังนี้

1. มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจา ซึ่งการไกล่เกลี่ยจะเป็นผลต่อข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ

2. BRN เป็นตัวแทนชาวปาตานีในการต่อสู้โดยนิยามว่าคนปาตานีคือ คนมลายู สยาม และจีน

3.มีสักขีดพยายามในการเจราจา เช่น OIC, ASEAN 

4. ยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของของคนปาตานี

5. ยอมรับว่าขบวนการปาตานีเป็นขบวนการปลดปล่อยไม่ใช่ ขบวนการอาชญากรรม

ทั้งนี้ก่อนหน้า จะมีการเปิดโต๊ะเจรจา พูดคุย เมื่อ 28 กุมภา 56 การตื่นตัวของขบวนการประชาชน นักศึกษามีการรงณรงค์อย่างเข้มข้น ที่ต้องการเสนอวาทกรรมที่แหลมคมมาก เช่น สิทธิของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมตนเอง( RSD)  ด้วยการสรุปว่าคนในพื้นที่ปาตานีถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับมติใหญ่ของสหประชาชาติ ที่ใช้เกี่ยวกับดินแดนที่ถูกล่าอาณานิคมในการเรียกร้องเอกราช Right to self Determination (RSD) ในปี 1960 คำๆนี้มาจากการรงณรงค์ให้สาธารณะจากภาคประชาสังคม มีการนำเสนอโมเดล Autonomy 6 โมเดล ให้เป็นข้อถกเถียง โดยมีความคิดที่ต้องการจะเสนอทางออกทั้งหมด 3 รูปแบบ Autonomy  กระจายอำนาจ และ Right to self Determination (RSD) สิทธิของประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง  ซึ่งสุดท้ายให้จะต้องเป็นข้อตกลงหรือความต้องการของคนในพื้นที่ว่าต้องการมีรูปแบบการปกครองแบบใด

การเจรจาในวันที่ 28 กุมภา 56 นับเป็นผลมาจากความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน มวลชนที่จะมีการก่อรูปก่อตัวเป็นรูปขบวนโดยจะต้องมีการแสดงออกของมวล จึงทำให้มีโต๊ะเจรจาแสดงว่ากระแสการตื่นตัวทางการเมืองในพื้นที่ ถูกเปลี่ยนพื้นที่ไปสู่บนโต๊ะแทน ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังจะแสดงความต้องการ แต่เมื่อเกิดการปรากฏตัวของขบวนการฯ ซึ่งทำให้พื้นที่การเมืองภาคประชาชน กลับไปยุติบนโต๊ะ ซึ่งทั้งมวลประชาชน นักวิชาการก็ถูกแย่งการเสนอความต้องการ ไปสู่ฝ่ายรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการที่จะให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเอง

ในที่สุดการเมืองภาคประชาชนที่จะนำไปสู่การเกิดการแสดงถึงความต้องการของมวลชน ก็ถูกตัดตอนโดยการใช้โต๊ะการพูดคุย  แต่สุดท้ายแล้วด้วยเงื่อนไขของกลุ่มขบวนการเองก็ทำให้รัฐไทยไม่สามารถรับได้ จะด้วยการไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลกับฝ่ายความมั่นคง และนำประเด็นปัญหาในพื้นที่ไปสู่เวทีสากลของกฎหมายระหว่างประเทศพร้อมเป็นการเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามีส่วนร่วม คลิปกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่นำเสนอสภาซูรอของกลุ่มขบวนการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าฮาซันตอยิบเป็นตัวจริง     ซึ่งเงื่อนไข 5 ข้อที่เกิดขึ้นเป็นความต้องการของขบวนการที่ต้องการให้รัฐไทยยอมรับผ่านมติรัฐสภา เป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ เช่น สภาถูกยุบ เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จึงทำให้โต๊ะเจรจาล่มในที่สุด กลุ่มภาคประชาชนเองก็มองว่าก่อนจะมีการขึ้นโต๊ะเจรจาขบวนการดึงกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน แต่พอ BRN เสนอเงื่อนไข 5 ข้อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเอาเข้าจริง BRN ก็ไม่กล้าที่จะตัดสินใจอะไรแทนคนในพื้นที่ ถ้าเกิดว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะแสดงออก ซึ่งเจตจำนงในสันติภาพที่เป็นของประชาชนเอง

ทิศทางที่ควรจะเป็นไปในห้วงระยะอันใกล้

สื่อทางเลือกที่นำเสนอข้อเท็จจริงในพื้นที่มีมากขึ้น ทำให้สามารถสลายมายาความเข้าใจผิดๆต่อคนในพื้นที่ ก่อนที่ภาคประชาชนจะก่อรู้ก่อตัว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏ ต้องเข้าใจความขัดแย้งในพื้นที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ และเป็นการปะทะกันของชาตินิยมมลายูกับชาตินิยมแบบไทย  ซึ่งข้อเสนอทางออกที่พอเข้าใจได้ไปพร้อมกับบริบทปัจจุบัน คือ ทางออกทางแรกหากการแก้ไขปัญหาจริงมันต้องเกิดขึ้นจากรัฐ สิ่งที่สำคัญคือรัฐจะต้องยอมรับกลุ่มขบวนการให้มีสถานะทางการเมืองให้ได้ก่อน เพื่อความยั่งยืนของสันติภาพที่จะต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเข้าใจให้ง่ายคือ สันติภาพต้องใช้เครื่องมือตามหลักการประชาธิปไตย หรือทางที่สุดโต่งคือรัฐจะต้องปราบขบวนการให้หมดไปจากพื้นที่ หรือเครื่องมือความเป็นเผด็จการ แต่ถ้ารัฐใช้เครื่องมือในการปราบผิดอาจจะเป็นเครื่องในการเพิ่มมวลชนที่ต่อต้านรัฐได้ในที่สุด

อ่านต่อบาง “แง่มุม” ในตอนที่ 2 ...