เวทีสาธารณะ ครั้งที่ 1 : มุสลิมในเอเชียอาคเนย์ ตอนจบ

การนำเสนอประเด็นย่อย ได้มี 3 พื้นที่หลัก นั่นคือ ในประเทศอินโดนีเซีย ไทย และประเด็นของโรฮิงญา 

การเข้ามาของอิสลามอย่างสันติในอินโดนีเซีย

นายอุลิน นุฮา นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ได้อธิบายถึงการเข้ามาของอิสลามในพื้นที่อินโดนีเซียปัจจุบัน ว่าเป็นการเข้ามาด้วยสันติ โดยปราศจากการทำสงคราม แม้ว่าตามทฤษฎีจะมีหลากหลายคำอธิบาย แต่จากการค้นคว้าแล้วอุลิน มองเห็นว่าอิสลามในอินโดนีเซียนั้นมาจากมักกะหฺและมาดีนะหฺโดยตรง ผ่านการเข้ามาด้วยการค้าขาย และการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในสมัยนั้น วิธีการที่ใช้ในการเผยแพร่เป็นสิ่งที่นุลินให้ความสนใจ เพราะวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่สันติและไม่ได้เป็นการบังคับให้เชื่อ โดยเฉพาะในพื้นที่อินโดนีเซียที่แต่เดิมนั้นมีความเชื่อในเรื่องลี้ลับ ภูตผีปีศาจ รวมไปถึงมีความเป็นฮินดูและพุทธแต่เดิมอยู่ จึงยิ่งเป็นการยากในการเผยแพร่

ตัวอย่างหนึ่งที่ได้ให้ไว้นั่นคือ วายัง ซึ่งเป็นการละเล่นเดิมของพื้นที่แถบชวาของอินโดนีเซีย ที่แต่เดิมนั้นเนื้อเรื่องของการละเล่นจะอิงมาจากมหาภารตะของชาวฮินดู และการละเล่นนี้เป็นที่นิยมของชาวบ้านมาก ฉะนั้นผู้ที่เข้าไปเผยแพร่อิสลามในพื้นที่จึงได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่นั้นให้เป็นแนวทางของอิสลาม โดยการค่อยๆเปลี่ยนเนื้อหาของเรื่องราว ปรับใช้คำที่เป็นภาษาถิ่นที่มีรากฐานเดิมมาจากคำว่า “กะลีมะหฺชะฮาดะหฺ” (การปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมูฮัมมัด (ซ.ล.) เป็น ศาสนฑูตของพระองค์) ที่ในเนื้อเรื่องนั้นจะเป็นอาวุธสำคัญในการปราบผู้อธรรม รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียว ด้วยวิธีการเหล่านี้จึงเสมือนเป็นการปลูกฝังหลักการของอิสลามไว้แก่ผู้คน เป็นต้น 

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายวิธีการที่ใช้สติปัญญาในการเผยแพร่อิสลามด้วยความสันติ จนทำให้คนหันมารับนับถืออิสลาม และทำให้ปัจจุบันนี้อินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีผู้นับถืออิสลามมากที่สุดในโลก 

 

ทบทวนพัฒนาการการฟื้นฟูอิสลามในประเทศไทย: จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

นายอันวาร์ กอมะ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโดกุซ เอลุล ได้นำเสนอว่าตามบันทึกประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรพบุรุษของมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือฮินดูและพุทธก่อนการเข้ามาของอิสลาม หากเรานับกันว่าอิสลามเข้ามาสู่สยามประเทศตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 มุสลิมในสยามประเทศก็หาได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต หลักความเชื่อและการปฎิบัติศาสนกิจให้สอดคล้องกับตัวบทแห่งอิสลามโดยฉับผลันในทันทีไม่ อันเนื่องมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมและความคิดมาจากศาสนาฮินดูและพุทธ  ดังนั้นระเบียบของสังคมมุสลิมในสยามประเทศจึงกลมเกลือนไปกับวัฒนธรรมของฮินดูและพุทธเป็นเวลาช้านาน แต่หลังจากการเข้ามาของ Ahmad Wahab นักวิชาการหนุ่มชาวอินโดนีเซียที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองมาขึ้นฝั่งที่กรุงเทพฯ ไม่ไกลกับมัสยิดอัลอะตีกในคริสต์ศักราชที่ 1926 ได้นำพาแนวความคิดความเชื่อแบบ salafi เข้ามาในสยามประเทศ (ในสังคมไทยมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร) จากนั้นครู Ahmad ได้ทำให้มุสลิมแถวบางกอกน้อยและมัสยิดอัลอะตีกเกิดการทบทวนตัวเองในการเข้าใจอิสลามแบบเดิมๆ และได้เริ่มทำการฟื้นฟูสังคมมุสลิมไทยด้วยกับอิสลามแบบ salafi ในบริเวณดังกล่าวจนทำให้เกิดการตื่นตัว มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมและเป็นที่มาของการเรียกกลุ่มใหม่นี้ว่า ‘คณะใหม่’ จนถึงทุกวันนี้ กระบวนการนี้เกิดแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่เมื่อ ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์ ศิษย์เอกของครูอะหมัด สานต่อเจตนารมณ์แห่งการฟื้นฟูอิสลามด้วยการทำงานด้านวิชาการ จัดตั้งสถาบันภาคประชาชนและทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อเผยแพร่สาระธรรมแห่งอิสลามที่มีความสอดคล้องกับยุคสมัย หลังจากยุคอาจารย์ดิเรก กระบวนการฟื้นฟูสังคมด้วยอิสลามมีพลังมากขึ้นหลังจากมีการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างนักวิชาการอิสลามและผู้คนในระดับรากหญ้า ดังนั้น หากมองในภาพรวมแนวความคิดในการฟื้นฟูอิสลามที่เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อ คศ. 1926 ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่หรือประวัติศาสตร์ระยะใกล้ของสังคมมุสลิมไทยที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดการตื่นตัวของมุสลิมในปัจจุบันทั้งในเมืองและชนบทให้กลับไปหาอิสลามบริสุทธิ์ด้วยการรื้นถอด (reconstruct) แนวความเชื่อและปฏิบัติทางศาสนาแบบเดิมๆ ไปสู่การเข้าใจอิสลามแบบ ‘salafi’

 

แม้ว่าการฟื้นฟูอิสลามอาจจะไม่ได้เป็นผลงานที่จำกัดอยู่ในกลุ่ม salafi เท่านั้น แต่งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมมุสลิมไทยที่เกิดจากอุดมการณ์และแนวคิดการฟื้นฟูอิสลามซึ่งมีอิทธิพลมาจากนักฟื้นฟูอิสลามยุคร่วมสมัย เช่น ราชิด ริฎอ มุฮัมหมัด อับดุฮ์ ญามาลุดดีน อัลอัฟฆอนี รวมถึง มูฮัมหมัดอับดุลวาฮาบ และชะฮฺวาลิยุลลอฮ์ โดยเรียกขบวนการและแนวคิดจากบุคคลเหล่านี้ว่า ‘salafi’ 

 

งานชิ้นนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกกล่าวถึงนิยาม คำศัพท์สำคัญ ขอบเขตของการศึกษา และกรอบแนวคิดในการใช้พิเคราะห์ปรากฎการณ์การฟื้นฟูอิสลามโดยทั่วไป โดยงานชิ้นนี้จำกัดกรอบพื้นที่การศึกษาอยู่ในสังคมไทยมุสลิมที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเป็นหลัก และมุ่งศึกษามิติการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมมุสลิมหลังจากได้รับแนวความคิดการฟื้นฟูอิสลามแบบ ‘salafi’ แล้วโดยต้องการทบทวนกระบวนการฟื้นฟูอิสลามลักษณะดังกล่าวว่ามีพัฒนาการอย่างไรตลอดระยะเวลาประมาณ 90 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่สองเป็นการฉายภาพพัฒนาการของการฟื้นฟูอิสลามโดยแบ่งออกเป็น 3 ยุค (ช่วงเวลา) ยุคแรกคือระยะก่อตัวโดยมีครูอะหมัด วาฮาบเป็นตัวตั้งตัวตีและมีสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท) เป็นแรงหนุนเสริม ยุคที่สองคือระยะผลิดอกออกผลโดยมีอาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ทำหน้าที่เป็นนักฟื้นฟูและเป็นตัวเชื่อมระหว่างยุคแรกและยุคปัจจุบัน ผลงานหลายด้านโดยเฉพาะการแปลความหมายอัลกุรอานและหนังสือชุดซอเฮียบุคอรีชิ้นแรกของท่านถือเป็นนวัตกรรมและหลักฐานการบุกเบิกการฟื้นฟูอิสลามแห่งยุคสมัยนั้น ยุคที่สามคือยุคปัจจุบันที่มีระยะการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ อีกทั้งยังมีการทำงานในหลายรูปแบบที่กว้างขวางขึ้น เช่น การทำงานด้านสื่อของทีวีมุสลิม 4 ช่อง การทำงานด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฎอนี การทำงานด้านสังคมและการเมืองของมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ พรรคเพื่อสันติและพรรคภราดรภาพ เหล่านี้เป็นต้น ในส่วนสุดท้ายของงานชิ้นเป็นการนำเสนอตัวอย่างลักษณะงานฟื้นฟูอิสลามในยุคปัจจุบันและเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้านี้ โดยอธิบายในสามประเด็นหลัก ได้แก่ อิสลามกับประชาธิปไตย การศึกษาในมิติตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงและฮิญาบในมิติการเมืองเชิงอัตลักษณ์

 

หากมองในภาพรวมทบทวนกลับไปในระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นพัฒนาการของกระบวนการฟื้นฟูอิสลามมีลักษณะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่เติบโตได้เร็วกว่าเดิมอันเนื่องมาจากลักษณะความเป็นองค์กรที่เข็มแข็งมากขึ้น การมีสนามการทำงานที่กว้างขึ้น และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรากหญ้าได้เร็วกว่าเดิม ปัจจัยแห่งความเป็นสมัยใหม่จะนำพาพวกเขาไปสู่การได้มาซึ่งการครองอำนาจนำในสังคมมุสลิมในประเทศไทยและภูมิปัญญาสมัยใหม่ (ที่สอดคล้องกับหลักเจตนารมณ์ของชะรีอะฮ์) คือเข็มทิศสำคัญสำหรับความยั่งยืนขององค์กร 

 

ข้อท้าทายของปัญหาโรฮิงญาในภูมิภาค

งานชิ้นนี้ นางสาวยาสมิน ซัตตาร์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยอิสตันบูล ได้พยายามนำเสนอถึงปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับข้อท้าทายของการรวมกลุ่มเป็นอาเซียน โดยยกกรณีตัวอย่างสำคัญนั่นคือ ประเด็นของชาวโรฮิงญา  การนำเสนอเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจถึงชาวโรฮิงญาในเบื้องต้น โดยชี้ให้เห็นว่าโรฮิงญาก็คือชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองระขิ่นหรืออาราข่านในพม่า ซึ่งกลุ่มนี้ถูกให้คำนิยามในการเรียกหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นอาราข่านมุสลิม มุสลิมพม่า โรฮิงญา หรือแม้แต่มุสลิมเบงกอลี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้คำนิยามนั้น บ้างก็กล่าวว่าพวกเขาได้อยู่ในพื้นที่นั้นมาแต่เดิมแล้ว แต่บางการศึกษาก็ระบุว่าพวกเขาได้อพยพย้ายถิ่นมาจากเบงกอลตั้งแต่ช่วงที่อังกฤษปกครองและหลังจากปี 1948 ได้ถูกขีดเส้นแบ่งจากอังกฤษให้อยู่ภายใต้พม่า ความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญากับชาวอาราข่านอื่นๆ ก็ได้เริ่มต้นเรื่อยมา เพราะพวกเขาเองก็ต้องการที่จะเป็นรัฐอิสระหรืออยู่ภายใต้ปากีสถาน หากแต่ข้อเสนอเหล่านี้ต้องเป็นอันตกไป และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพม่า ในปี1982 ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายพลเมืองก็ได้ปฏิเสธความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา ฉะนั้นพวกเขาจึงอยู่ในพม่าในฐานะของคนไร้สัญชาติ และได้ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชองที่ดิน ภาษี การแต่งงาน ฯลฯ เสรีภาพในการเคลื่อนไหวใดๆก็ถูกจำกัด พวกเขาได้ถูกดูแลในฐานะของ “ผู้อื่น” มาเป็นเวลานาน เหตุการณ์ล่าสุดที่ส่งผลต่อโรฮิงญาในทุกวันนี้ก็คือเมื่อปี 2012 ซึ่งได้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระลอกใหม่ขึ้นมาในรัฐระขิ่น ซึ่งชาวพุทธในพื้นที่เริ่มมีความหวาดกลัวว่าพวกตนจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ประกอบกับกระแสการอ้างว่าชาวโรฮิงญาได้ข่มขืนหญิงสาวชาวระขิ่น ตามมาด้วยการแก้แค้นของชาวระขิ่นที่ฆ่าโรฮิงญาสิบคน และความรุนแรงก็เริ่มกระจายตัวจนทำให้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และอพยพลี้ภัยเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบันชาวโรฮิงญาที่ยังคงอาศัยอยู่ในพม่าต้องอยู่ในค่ายอพยพลี้ภัยเท่านั้น หลายคนจึงเลือกที่จะหาทางไปสู่พื้นที่ใหม่ด้วยความหวัง แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาในประเทศที่ตนอพยพไป ส่วนใหญ่ได้อพยพไปยังประเทศใกล้เคียง คือ บังคลาเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา แต่เมื่ออพยพไปแล้วก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศนั้นๆและยังพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน แม้ว่าส่วนน้อยจะพบโอกาสที่ดีที่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ของพวกเขาก็ต้องพบกับปัญหาของเครือข่ายค้ามนุษย์เช่นกัน 

ปัญหาของชาวโรฮิงญาดูเหมือนว่าจะเกินกว่าขอบเขตที่รัฐบาลพม่าจะจัดการใดๆ  ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และประกอบกับการที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยเข้าสู่หลายประเทศในอาเซียนเอง อาเซียนจึงเป็นอีกความหวังในการจัดการกับปัญหานี้ แต่อาเซียนเองก็ยังไม่แสดงบทบาทใด แม้ว่าจะมีความพยายามในการช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR และ องค์กรเอกชนระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดจนประเทศปลายทางที่ได้อพยพไป แต่ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นการแก้ไจในระยะสั้น ที่ยังไม่ได้มีแนวโน้มในการยุติปัญหา พม่าเองยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาในประเทศ แม้แต่การใช้คำว่าโรฮิงญาก็เป็นที่ถูกห้าม 

ข้อท้าทายสำคัญของกรณีนี้ก็คือ ภายใต้กรอบของความเป็นรัฐชาติในโลกนี้ อนาคตของผู้ที่ไร้สัญชาติ ไร้รัฐ เหล่านี้จะอยู่ที่ไหน ถ้าพม่ายังคงใช้จุดยืนเดิมในความเป็นชาตินิยมหรือความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ไม่ได้รวมชาวโรฮิงญาเข้าไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับชาวโรฮิงญาที่หากมองเชิงพื้นที่แล้วก็อยู่ภายใต้พม่าเอง ความหวังของพวกเขาในฐานะของผู้ลี้ภัยที่ผิดกฎหมายในประเทศอื่นๆจะเป็นอย่างไรเมื่อพวกเขาต้องอยู่เพียงในที่กักขังหรือค่ายผู้อพยพ อนาคตของการยุติความขัดแย้งนี้จะเป็นไปในทิศทางใด และอาเซียนในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศจะสามารถทำอะไรได้หรือไม่ หรือจะไร้ประโยชน์เมื่อยังคงทำงานภายใต้หลักการของการไม่แทรกแซง และยังคงเป็นองค์กรที่ยึดติดกับความเป็นรัฐของประเทศสมาชิก อาเซียนจะเป็นความหวังจริงหรือต่อการจัดการความขัดแย้งนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ตอบยากเช่นกัน ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการหาทางออกให้กับคนเหล่านี้ที่กำลังไร้ความหวัง