เวทีสาธารณะ ครั้งที่ 1 : มุสลิมในเอเชียอาคเนย์ ตอนแรก

1st Public forum on Muslim in Souteast Asia จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00-13.30 น. ซึ่งงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอิสตันบูลเชฮีร มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายแห่ง ทั้งคนตุรกีและนักศึกษาจากประเทศอาเซียน โดยที่โครงการครั้งนี้ได้เริ่มความรู้ต่อประเด็นสำคัญๆที่สังคมตุรกีให้ความสนใจแต่ยังขาดการรับรู้ถึงข้อมูลอย่างจริงจัง เสวนาจึงถือเป็นกิจกรรมเปิดพื้นที่ความรู้ของภูมิภาคในตุรกี

การมีอยู่และวิวัฒนาการของตัวตนอิสลามในโลกมลายู

นายอับดุลเอาวัล สิดิ ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนไทยในตุรกี ได้เริ่มเกริ่นนำถึงภูมิภาคว่านับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สองถึงสามได้มีการก่อตั้งรัฐที่ปกครองด้วยเหล่ากษัตริย์ต่างๆขึ้นบนคาบสมุทรมลายู บรรดารัฐเหล่านี้ได้ขึ้นกับอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นอาณาจักรที่ควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลในภูมิภาคตั้งศตวรรษที่เจ็ดถึงศตวรรษที่สิบสาม อาณาจักรศรีวิชัยนี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปาเล็มบังบนเกาะสุมาตรา อาณาจักรและรัฐเหล่านี้ในช่วงเวลานั้นเป็นอาณาจักรฮินดู เกี่ยวกับอิสลามนั้นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่เรามีคือหลักฐานจากจีนที่บอกถึงการมีอยู่ของอิสลามในภูมิภาคว่าประมาณปีค.ศ.674-675 นั่นคือประมาณปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 55 นั้นมีเชคอาหรับปกครองชุมชนหนึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะสุมาตราในอาณาจักรศรีวิชัย

สำหรับทฤษฎีเกี่ยวกับช่วงเวลาการมาถึงของอิสลามสู่โลกมลายูนั้นมีหลายทฤษฎี มีความเป็นไปได้จากหลักฐานดังกล่าวว่าอิสลามมาถึงในศตวรรษแรกของฮิจเราะฮฺศักราช อิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีหลักฐานยืนยันว่ามาจากเส้นทางการเดินเรืออันเป็นเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับโลกอาหรับที่เก่าแก่และถือเป็นเส้นทางการค้าหนึ่งที่สำคัญของโลก เกี่ยวกับเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์อิสลามชื่อดังนามอบุลหะซัน อัลมัสอูดีย์(เสียชีวิต 956)ได้เล่าถึงชุมชนพ่อค้าและช่างฝีมือชาวอาหรับในคานฟูหรือกว่างโจวเมืองท่าเศรษฐกิจที่สำคัญทางตอนใต้ของจีน อัลมัสอูดีย์เล่าว่ามีชุมชนเมืองเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับเป็นพ่อค้าและนักเดินเรืออาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่จำนวนประชากรมากถึงแสนสองหมื่นคนหรือสองแสนคน ชุมชนนี้เป็นชุมชนอิสระของชาวมุสลิมในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งมัสอูดีย์ได้เล่าถึงการอพยพอันมากมายของมุสลิมอาหรับสู่เกาะต่างๆในสมัยนั้น และได้เล่าว่าเมื่อปลายศตวรรษที่เก้าได้เกิดการกบฏของชาวบ้านทำให้เกิดความวุ่นวายโกลาหล มีการฆ่าสังหารหมู่คนในเมืองทำให้ชุมชนมุสลิมที่มีจำนวนมากซึ่งเป็นชาวอาหรับและเปอร์เซียที่ทำการค้าขายกับจักวรรดิจีนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองดังกล่าวและไปตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณรัฐเคดาห์ทางตอนเหนือของมาเลย์เซียในยุคปัจจุบัน

การอพยพครั้งใหญ่ของชุมชนพ่อค้าอาหรับในครั้งนั้นได้ทำให้เกิดการคึกคักทางเศรษฐกิจบริเวณคาบสมุทรมลายู ชุมชนพ่อค้าเหล่านี้เป็นชุมชนอิสระซึ่งน่าจะมีระบบในการบริหารจัดการกิจการภายในและนอกของตนเอง และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่ขยายอันนำไปสู่การเปลี่ยนเป็นอิสลามของโลกมลายู  อิสลามเริ่มมีอิทธิพลและแผ่ขยายอย่างรวดเร็วในมลายูช่วงต้นศตวรรษที่สิบห้าหลังจากการล่มสลายของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเราอาจจะกล่าวได้ว่าอิสลามแผ่ขยายอย่างกว้างขวางและจริงจังในช่วงนั้นซึ่งตรงกับช่วงเวลาก่อนการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาติหประมาณห้าสิบปี

การรับอิสลามของกษัตริย์มะละกาหลังจากการอพยพมาสร้างเมืองมะละกาของเจ้าชายปรเมศวรแห่งอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้อิสลามเข้าสู่อัตลักษณ์มลายูอย่างรวดเร็วขึ้น มลายูได้กลายเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่ได้หมายถึงชาติพันธุ์มลายูเพียงเท่านั้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มลายูนั้นคือชื่อของวัฒนธรรมหนึ่งอันเป็นตัวแทนของอิสลามที่สำคัญของภูมิภาค การแผ่ขยายของอิสลามที่เริ่มจากทะเลในโลกมลายูสู่การลงหลักปักฐานบนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผ่านวิวัฒนาการต่างๆ อิสลามได้อยู่ร่วมกับภูมิภาคตั้งแต่มาถึงและผ่านสู่ยุคการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตกจนกระทั่งปัจจุบัน อิสลามในอาเซียนนั้นเริ่มต้นและแผ่ขยายบนพื้นฐานของการติดต่อทางการค้าและการทูต อิสลามในอาเซียนยังคงครองความสดและใหม่จนถึงปัจจุบัน    

กระบวนการสันติภาพพื้นที่โมโรของฟิลิปปินส์กับบทบาทของตุรกี 

ในการเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายฮูเซ็น โอรุช (Hüseyin Oruç) รองประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (IHH Humanitarian Relief Foundation) ที่ได้ทำงานในพื้นที่มาเป็นเวลานาน โดยเริ่มการบรรยายด้วยการระบุถึงประวัติศาสตร์ของมุสลิมในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นส่งผลให้เกิดการเมืองที่มีความรุนแรงในภูมิภาคมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นการทำความเข้าใจความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจในบริบททางประวัติศาสตร์ความเป็นมาด้วยเช่นกัน ในพื้นที่โมโร ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งได้อยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ ต่อมาเมื่อสเปนขยายอาณานิคมเข้ามาในพื้นที่ก็ทำให้เกิดกลุ่มที่ต่อต้านความพยายามในการครอบงำของสเปนต่อพื้นที่ อาจกล่าวได้ว่ามุสลิมโมโรเป็นหนึ่งกลุ่มที่สเปนไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ความขัดแย้งรุนแรงก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น ต่อมาเมื่ออเมริกาได้พื้นที่นี้ตกอยู่ภายใต้อาณานิคม ก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งเรื่อยมา กระทั่งมาถึงเมื่อกลายเป็นรัฐบาลอิสระ ชาวโมโรก็ยังต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงและความอยุติธรรม และเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกันเรื่องมา แต่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่อทุกฝ่ายต่างเริ่มเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ 

ในส่วนของตุรกีนั้น มูลนิธิอีฮาฮา ซึ่งก่อตั้งตั้งแต่ปี 1992 ที่มุ่งเน้นทำงานในสามส่วนหลักคือการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การช่วยเหลือในการสร้างสันติภาพและการทูตเพื่อมนุษย์ โดยทางองค์กรได้เข้าไปยังพื้นที่ในปี 1996 โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจและเรียนรู้พื้นที่ ก่อนการช่วยเหลือสิ่งที่จำเป็นนั้นคือการเข้าใจในบริบทของพื้นที่ จากนั้นก็ได้ทำงานในการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนกับพื้นที่กระทั่งปี 2012 เมื่อเกิดกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ในช่วงของการลงนามและตลอดกระบวนการครั้งใหม่นี้ มูลนิธิอีฮาฮาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นผู้สังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น ร่วมกับอีก 4 องค์กร ซึ่งเป็นองค์กรจากภายในพื้นที่จากทั้งสองฝ่ายอย่างละหนึ่งองค์กร มูลนิธิเอเชีย และองค์กรจากอียู ซึ่งต้องตรวจสอบติดตามกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น และมีวาระในการประชุมทุกๆ 2 เดือน เหตุผลหนึ่งที่องค์กรของตุรกีได้เข้าไปมีส่วนเพราะว่าเป็นหนึ่งในองค์กรมุสลิมที่ทำงานอย่างกว้างขวางและเห็นถึงผลชัด ซึ่งกระบวนการนี้ได้ทำควบคู่ไปกับการที่ตัวแทนจากรัฐบาลตุรกีที่ได้มีส่วนในการเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย 

สิ่งที่ทิ้งท้ายในการนำเสนอครั้งนี้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกระบวนการสันติภาพนั่นคือ ความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับความเป็นธรรมและการยอมรับ เมื่อความเป็นมนุษย์เริ่มได้รับการตระหนักถึงการเริ่มปลดอาวุธก็จะเกิดขึ้นอย่างที่กำลังทำในตุรกีเองหรือในฟิลิปปินส์ และกำลังจะเกิดขึ้นกับพื้นที่ปัตตานีหากกระบวนการสันติภาพสามารถดำเนินต่อไปได้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฟิลิปปินส์เริ่มก้าวสู่สันติภาพอย่างจริงจังก็มากจากการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะจากรัฐบาลที่ยอมรับว่ารูปแบบการปกครองแบบเดิมที่กดทับนั้นไม่ถูกต้องและต้องเปลี่ยนแนวทางให้มีพื้นที่กันมากขึ้นนั่นเอง 

กระบวนการสันติภาพในปาตานี 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงส่ิงที่นำเสนอ ทั้งหมดในวันนี้ ก็เป็นส่วนที่มาจากงานวิจัยของเขาบางส่วนและรายงานพิเศษขององค์กรปาตานี ฟอรั่ม ( Patani Forum ) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ตัวเขาเองเป็นสมาชิกในองค์กรนี้ด้วย อีกส่วนที่สำคัญก็คือ ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพ้ืนที่ ที่ทำงานอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์กิจกรรมที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสันติภาพ ทั้งกิจกรรมวิชาการและงานรณรงค์ต่าง ตลอด 11 ปีผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง แสดงให้เห็นถึงความหวังอยู่บ้าง ของการเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระภาคพลเมือง 

เอกรินทร์ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ปาตานีและชี้ชวนให้พิจารณา “ภูมิรัฐศาสตร์” ในพื้นที่ปาตานี (PATANI) แน่นอนคำว่า “ปาตานี” เป็นชื่อที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ ที่ครอบคลุม 3 จังหวัดและบางส่วนของจังหวัดสงขลา ทางภาคใต้ของประเทศไทย และชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งทางด้านประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ที่รัฐสร้างประวัติศาสตร์ตนเอง แต่ชาวปาตานีก็มีประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่ไม่เคยลืมเลือน แต่ก็ไม่เคยได้รับการยอมรับจากประวัติศาสตร์ รัฐชาติสมัยใหม่ 

สำหรับความขัดแย้งที่ตลอดที่ผ่านมา ทำให้ผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า หกพันคน และบาดเจ็บจำนวนมาก คำถามคือ แล้วจะมีหนทางใดบ้างที่จะยุติความรุนแรงที่คราจำนวนผู้คนจำนวนมากในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา

เอกรินทร์ได้ชี้ให้เห็นถึง ความขัดแย้งถึงขั้นความรุนแรงในปาตานี ได้ท้าทายส่ิงที่เรียกกันในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า  “ความชอบธรรม” ( The Legitimacy ) ของรัฐไทย เพราะความขัดแย้งครั้งนี้คล้ายกับความขัดแย้งที่อื่นของโลก ตั้งแต่ ชาวบังซาโมโร มินดาเนา ฟิลิปปินส์ ที่ได้มีการนำเสนอก่อนหน้านี้แล้ว กระทั่งถึง ชาวเคิร์ด อนาโตเลีย ตรุกี ที่เรากำลังอยู่ปัจจุบัน ฉะนั้นเองการพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรงจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลไทยประกาศว่าต้องการจะยุติความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคชายแดนใต้ของไทยโดยการเจรจากับผู้นํากลุ่มที่เรียกว่า ตัวเองว่า บีอาร์เอ็น (BRN) โดยการเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมาเลเซียขอเป็นผู้อำนวยการสะดวกสำหรับการพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งมาหลายละเอียดจำนวนมากตลอดที่ผ่านมา 2 ปี เส้นทางการพูดคุยต้องสะดุดลงด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย ปัญหาภายในกลุ่มของขบวนการต่อสู้ในปาตานี และประเทศมาเลเซียดูเหมือนไม่จริงจังกับเรื่องนี้เท่ากับประเทศของบังซาโมโร 

เอกรินทร์ได้ชี้เห็นและแสดงทัศนะว่า กระบวนการสันติภาพพอจะเป็นไปได้และความรุนแรงจะลดลง ก็คือ หนึ่ง เรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย (Thai demorcracy)อันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะตอนนี้ประเทศไทยได้ตกอยู่ในอำนาจทหารอย่างเต็มรูปแบบ หากไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ก็มิอาจจะทำให้เกิดกระบวนการพูดคุยต่อไปได้  สอง เรื่องของตัวกลาง (The Mediator)  คงกุญแจสำคัญที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเจรจา เหตุเพราะ ความพร้อมของตัวกลาง ก็ย่อมส่งผลให้กระบวนการพูดคุยมีประสิทธิภาพ สาม ทางที่พอจะเป็นไปได้ ที่ไม่ได้ทำให้นองเลือด โดยเสนอทางแนวทางรัฐศาสตร์ก็คือ เขตการปกครองพิเศษ (Autonomy) สำหรับพื้นที่ปาตานี ข้อเสนอนี้เกิดจากงานวิจัยของอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคิรนทร์ และผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ช่วงท้ายเอกรินทร์ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันไม่มีประเทศไหนที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องพิงพาอาศัยกันและกัน การทำงานด้านสันติภาพก็เหมือนกัน เราต้องมองความมั่นคงของมนุษย์ และมนุษยธรรม (Humanity) มากกว่าความมั่นคงของรัฐ ( State Security) 

โปรดติดตามตอนที่สอง