ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตกและตะวันออก
ถอดความสรุป
หัวข้อ “ความสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์สำหรับสังคมมุสลิมทั้งในตะวันตกและตะวันออก”
(The Importance of Critical Thinking for Muslims Societies both in The West and The East)
โดย...ศ.ดร.ฎอริค รอมาฎอน (Prof. Dr. Tariq Ramadan)
ณ 1st INTERNATIONAL SYMPOSIUM ON CRITICAL AND ANALYTICAL THINKING,
Sakarya University
10 เมษายน 2015
แปลโดย
ยาสมิน ซัตตาร์ Istanbul University
อันวาร์ กอมะ Dokuz Eylül University
เอกรินทร์ ต่วนศิริ Sakarya University
ฎอริค รอมาฎอน เริ่มต้นการบรรยายด้วยการระบุถึงประเด็นเบื้องต้นด้านการคิดเชิงวิพากษ์ของมุสลิมที่ควรตั้งคำถามกับทุกสิ่ง หากทว่าตั้งอยู่ฐานกรอบความคิดที่มาจากอิสลาม(Islamic frame of reference) สำหรับเขาแล้วหากมองบนฐานของเหตุผลนิยมหรือ (pure rationalist) ที่ถูกอธิบายว่าไม่ได้เป็นอุดมการณ์ (not ideological) แต่ความจริงแล้วมันคืออุดมการณ์อย่างหนึ่งของการไม่มีอุดมการณ์ (there is ideology when there is no ideology) จะเห็นว่าทุกสิ่งอย่างนั้นเราต้องตั้งคำถามและใช้ความคิด แต่กรณีมุสลิมนั้นมีความต่างในเรื่องของสิ่งที่เราคิด อันเนื่องจากอิสลามบอกให้มุสลิมคิดบนฐานของ “ความเชื่อ" และ "เหตุผล” ที่สามารถใช้สองอย่างไปพร้อมๆกันได้
ข้อเสนอหลักของ ฎอริค รอมาฎอน ในการบรรยายครั้งนี้ ได้พยายามชี้ชวนให้เห็นว่าการคิดเชิงวิพากษ์ของมุสลิมนั้น จะต้องแยกแยะระหว่างสองส่วน คือ ส่วนที่มาจากพระเจ้า (Divine) และส่วนที่มาจากมนุษย์ (Human) สำหรับเขาแล้วนั้นในส่วนแรกเป็นส่วนที่มุสลิมจะเริ่มต้นจากการคิดว่าพระเจ้านั้นมีอยู่จริงและสิ่งที่มาจากพระเจ้าทั้งหมดนั้น "เป็นความจริง" เช่น อัลกุรอาน หากทว่าแต่ในส่วนหลังที่มาจากมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถตั้งคำถามได้ทั้งสิ้น เช่น ความเข้าใจในอัลกุรอานหรือตัวบท
ฎอริค ได้ให้ตัวอย่างหนึ่ง ในสงครามบะดัรเกี่ยวกับการวางจุดยุทธศาสตร์ในการรบ มีซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งนามว่า ฮุบาบอินนุมุนซิร เข้าไปถามท่านศาสดามูฮำหมัด (ซล.) ว่า จุดที่เรากำลังอยู่ (กำลังจะตั้งแคมป์) นี้เป็นคำสั่งที่ถูกประทานลงมาจากพระเจ้าหรือเป็นความคิดที่มาจากท่านศาสดาเอง ถ้าเป็นคำสั่งจากเบื้องบนเขาจะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดยุทธศาสตร์นี้ แต่ถ้าเป็นความคิดของท่านศาสดาในฐานะผู้นำทัพ จุดนี้อาจจะไม่เหมาะสม เมื่อท่านศาสดาตอบว่ามาจากท่านเอง สาวกท่านนั้นจึงแนะนำว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดและเสนอแนวคิดของเขา จากนั้นท่านศาสดาก็ย้ายไปตามคำแนะนำของสาวกท่านนี้ จากเหตุการณ์ตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นกระบวนการตั้งคำถามที่แยกแยะระหว่างสิ่งที่มาจากพระเจ้ากับความคิดที่มาจากมนุษย์ ถ้าหากสิ่งนั้นมาจากพระเจ้า หลักการของเราคือ ‘เราได้ยินแล้วและเราก็ทำตาม’ แต่ถ้าหากสิ่งนั้นมาจากท่านศาสดามูฮำหมัด (ซล.) ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ตั้งถามได้ ในที่นี้การตั้งคำถามต่อท่านนบีจึงไม่ใช่การตั้งคำถามในฐานะที่เป็นศาสดาผู้รับสารจากอัลลอฮฺ หากแต่เป็นการตั้งคำถามต่อท่านในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ในห้วงเวลานั้นเป็นผู้นำทัพ
สำหรับส่วนที่มาจากมนุษย์นั้น เป็นส่วนที่สำคัญสำหรับการคิดเชิงวิพากษ์ของมุสลิม แต่ทว่าการคิดนี้ต้องอยู่บนฐานของ 3 อย่าง นั่นคือ (1)แหล่งที่มาของการคิด (2)ตรรกะของความคิด (3)การตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ มุสลิมมักจะตกอยู่ในหลุมพรางทางความคิดเพราะสับสนเกี่ยวกับแหล่งที่มาระหว่างสิ่งที่มาจากพระเจ้าและสิ่งที่เป็นความคิดของมนุษย์ ดังนั้น การกำหนด (define) เส้นแบ่งระหว่างสองส่วนนี้จึงสำคัญมาก เพราะสุดท้ายแล้วมุสลิมมักจะโหยหากลับสู่อดีตอันยิ่งใหญ่และทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าใจตัวบท การเข้าใจบริบทและประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้คือความคิดและความเข้าใจของมนุษย์ สิ่งที่มาจากมนุษย์ได้ถูกพัฒนามาตลอดกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้นจึงไม่มีความจริงที่สมบูรณ์ที่สุดในส่วนนี้ สิ่งใดก็ตามที่มาจากมนุษย์ การวิพากษ์ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นและเราไม่ควรโหยหาอดีตและทำให้มันกลายเป็นเรื่องโรแมนติกมากเกินไป
นักวิชาการมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตต่างก็ให้วาทะเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าหากทัศนะหรือความคิดของเขาถูกต้องตามตัวบทก็ให้ถือปฎิบัติแต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ปล่อยมันทิ้งไว้ นั้นหมายความว่าพวกเขาก็คือมนุษย์ปถุชนธรรมดาที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้สอนเราว่า อะไรก็ตามที่มาจากมนุษย์สามารถตั้งคำถามได้ และการตั้งคำถามลักษณะนี้ไม่ทำให้เรามีความเป็นมุสลิมน้อยลงเลย แต่ในทางกลับกันสำหรับเขาแล้วการตั้งคำถามที่ลึกซึ้งจะช่วยให้เรามีความเชื่อที่ลึกซึ้งได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ปัญหาสำคัญของสังคมมุสลิมหลายครั้งมาจาก กระบวนการออกคำฟัตวาที่ต่างกันออกไป เพราะในหลายครั้งหลายคราการให้คำจำกัดความก็มีความแตกต่างกัน ความจริงแล้วคำจำกัดความก็เป็นผลผลิตหนึ่งจากความคิดมนุษย์และเราสามารถตั้งคำถามได้ ในประเด็นด้านกฎหมายอิสลาม (ฟิกฮฺ) การให้คำฟัตวานั้นจำเป็นต้องอยู่บนฐานของเหตุผลที่มีหลักฐานรองรับชัดเจน มีความชอบธรรมของคำตัดสินที่มาจากหลักการของอิสลาม เพราะเมื่อคุณเข้าไปถามหาคำฟัตวา หน้าที่ของคุณคือถามหาหลักเหตุผลในการได้มาซึี่งคำฟัตวาหรือทัศนะนั้นๆ เพราะถ้าไม่มีฐานเหตุผลรองรับแล้วเขาก็เป็นแค่ "มุกอลลิด" (ผู้ลอกเลียนแบบ) เท่านั้น นั้นไม่ใช่วิธีที่ควรจะเป็น การจะปฏิบัติตามคำฟัตวาเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ฏอริค เสนอว่ามุสลิมจะต้องไม่ตามอย่างปิดหูปิดตา โดยยึดถือเอาความชอบส่วนตัวเป็นสำคัญ หากแต่ต้องตั้งคำถามและหาเหตุผลด้วยเช่นกัน การตั้งคำถามย่อมต้องหาคำตอบโดยอาศัยการประเมินบริบทประกอบและการตัดสินที่จะปฏิบัติตามอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเลียนแบบ แต่ปราศจากความเข้าใจ
ตัวอย่างที่สำคัญในการยืนยันถึงการสนับสนุนการใช้หลักเหตุผลในอิสลามคือ บทสนทนาระหว่างท่านศาสดากับมุอาซบินญะบันเมื่อครั้งถูกส่งไปเยเมนในฐานะทูตสันติไมตรี ท่านศาสดาถามมุอาซว่า ถ้ามีประเด็นปัญหาในสถานที่หรือเมืองที่เขากำลังจะไป เขาจะใช้อะไรตัดสิน เขาตอบไว้ อัลกรุอานและแบบฉบับของท่านศาสดา (ซุนนะฮฺ) ตามลำดับ ท่านศาสดาถามว่าถ้าหากท่านไม่พบในสองสิ่งนี้ท่านจะตัดสินด้วยอะไร มุอาซตอบว่า ด้วยความคิดของเขา (ที่มาจากการอิญติฮาด) ซึ่งเป็นคำตอบที่ศาสดาทรงพอใจ นั้นหมายความว่า เมื่อตัวบทไม่ได้ให้คำตอบโดยตรง ความคิดและหลักเหตุผลถือเป็นหนึ่งในแหล่งอ้างอิงในการซื่อสัตย์ต่อตัวบทและหลักการอิสลาม กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการเข้าใจตัวบท บริบทที่อาศัยอยู่ และสุดท้ายคือการใช้ความคิดในการตัดสินใจ ฎอริคเชื่อว่าไม่มีทางที่มุสลิมจะเป็นมุสลิมที่ดีได้ถ้าความคิดของเขาตั้งอยู่บนตัวบทอย่างเดียว แต่ไม่มีการตั้งคำถามและการเข้าใจบริบท การเป็นมุสลิมด้วยการตามแบบเลียนแบบนั้นย้อนแย้งในตัวของมันเองและมันเป็นเรื่องอันตรายสำหรับสังคมมุสลิม ฏอริค ให้ข้อคิดที่สำคัญตรงนี้ว่า สังคมหนึ่งนั้นเราต้องอาศัยผู้ตาม (ญามาอะฮฺ) ไม่ใช่ผู้นำ ผู้ตามจะเป็นตัวสะท้อนภาพของสังคมได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การศึกษาของพลเมือง (popular education) คือสิ่งสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้กับสังคมของเรา
แน่นอนว่า เมื่อคุณกลับมาดูที่ตัวบท อัลกุรอานได้กล่าวไว้หมดทุกอย่างแล้วหรือ? คงไม่เป็นเช่นนั้น อัลกุรอานได้ให้หลักการทั้งหมดที่ครอบคลุมเอาไว้แต่ไม่ได้หมายถึงการประยุกต์ใช้จริงในหลายกรณีโดยเฉพาะประเด็นในยุคสมัยของเรา สำหรับ ฏอริค มองว่าเหตุผลของ “การเงียบของอัลลอฮฺนั้นคือความเมตตา” และพระองค์ทรงเงียบในหลายๆ เรื่องซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้มุสลิมได้เริ่มคิดและตัดสินใจ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องระวังนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามที่ผิดพลาด และต้องการเดินตามแนวทางของตะวันตก หากแต่จุดเริ่มต้นของเรา คือ อัลลอฮฺและอัลกุรอ่าน แล้วใช้การวิพากษ์ของเราให้อยู่บนหนทางนี้ ฉะนั้น เราจะต้องมีกรอบคิดที่ชัดเจนในจุดเริ่มต้นของการคิดเชิงวิพากษ์ และท้ายสุดแล้วคำตอบก็ไม่จำเป็นจะต้องมาจากความคิดที่เป็นเหตุผลเสมอไป หากแต่ขึ้นอยู่กับหัวใจด้วยเช่นกัน หลายครั้งที่ความรู้นั้นสะท้อนมาจากคำพูดของหัวใจ และจากจุดนี้จึงสามารถสร้างสรรค์ความคิดเชิงวิพากษ์ได้
ประเด็นถัดมา ฎอริค ได้ให้ความสำคัญของการวิพากษ์ความรู้จากมนุษย์ว่า สิ่งที่เราต้องพิจารณานั้น ไม่ใช่เพียงแต่จากตัวบท (Text) ว่าได้อธิบายอะไรเพียงอย่างเดียว หากแต่การเข้าใจบริบท (Context) ว่าเหตุผลของการประทานโองการต่างๆ นั้นคืออะไร หรือในเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์อิสลามว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ณ. ช่วงเวลานั้นถึงได้เป็นแบบนั้น เมื่อเรามองถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองแล้วเราจะสามารถตั้งคำถามสิ่งที่มาจากมนุษย์ได้อย่างมีเหตุผล ขณะเดียวกัน การให้ลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ก็ย่อมสำคัญ หลายครั้งที่เราเอาสิ่งที่สำคัญกว่าประเด็นของอีม่านหรือหลักศรัทธาขึ้นมา และทำให้สิ่งอื่นสำคัญกว่า ซึ่งก็อาจทำให้ความสำคัญของหลักการนั้นๆ ถูกบิดเบือนไป เช่น เรามักจะให้ความสำคัญกับรูปแบบการแต่งกายมากกว่าคุณค่าและจริยธรรมอิสลาม เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะสาละวนอยู่กับรูปแบบมากกว่าหลักเจตนารมณ์ของอิสลาม
คำถามถัดมาที่ ฏอริค ได้กล่าวเน้นย้ำคือ ปัญหาต่อการให้คำอธิบายต่างๆ เช่น "ชารีอะหฺ" ที่เขาบอกว่าบางครั้งอาจไม่ใช่แค่เพียงตะวันตกที่เข้าใจไม่เหมือนกัน แต่มุสลิมเองที่ใช้ภาษาอาหรับก็ยังเข้าใจแตกต่างกัน หากนักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟากิฮ์) ให้คำจำกัดความจากมุมมองด้านกฎหมายอิสลาม (ฟิกฮ์) ชะรีอะหฺ หมายถึง กฎหมายหรือบทบัญญัติอิสลาม แต่สำหรับซูฟีชะรีอะฮ์มีสถานะที่สูงกว่ากฎหมาย ขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มพยายามหล่อรวมความเป็นกฎหมายและสถานะที่เร้นลับของชะรีอะฮ์ นักปรัชญามองชะรีอะฮ์ว่ามีความหมายกว้างและลุ่มลึกกว่านั้นและแตกต่างออกไปอีก เช่น การมองไปที่มะกอศิดอัชชะรีอะฮ์ (ปรัชญาแห่งกฎหมายอิสลาม) ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าใครเป็นคนกำหนดความหมายและคำจำกัดความเหล่านี้ต่างหาก เช่นกัน, คำว่า อิสลาม คืออะไร เรายอมรับคำอธิบายของ orientalist ที่ให้คำอธิบายว่าคือการยอมรับหรือเปล่า หรืออิสลามสำหรับเราคือสันติจากในตัวเรากับผู้อื่นและกับอัลลอฮฺ , คำว่า ญิฮาด, ำว่า คอลีฟะหฺ,หรือ คำว่า มัสลาฮะฮ์ ฯลฯ เหล่านี้เราได้เข้าใจหรือยัง? อย่างแนวคิดของ อิญติฮาดฮฺ ที่เราพูดกับมามากกว่า 200 ปี วันนี้นักวิชาการมุสลิมผลิตความคิดอะไรใหม่ๆ ให้กับโลกบ้าง หลายครั้งมุสลิมปฏิบัติเพียงเพื่อปรับตัวเองให้เข้ากับโลก (adaptation) เช่น การเพิ่มคำว่าอิสลามเข้าไปในคอนเซ็บต่างๆ เช่น Islamic Economic, Islamic song, Islamic finance เป็นต้น หากแต่ท้ายสุดแล้ว อิสลามที่แท้จริงย่อมต้องเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น (Transformation) ต่างหาก ฉะนั้นท้ายสุด ความเงียบของอัลลอฮฺ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำอะไรอย่างชัดเจนกับสิ่งนั้นได้เช่นกัน แต่สิ่งที่เราจะทำต้องอยู่บนหลักเจตนารมณ์และสิ่งที่จะดีต่อมนุษยชาติ (มัสลาฮะฮ์)
ประเด็นถัดมา ฏอริคได้ตั้งคำถามต่อ การศึกษาและการจัดประเภทองค์ความรู้อิสลามในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อูลูมุลกรุอาน อูลูมุลฮาดีษ อูซุลลุลฟิกฮ์ ฟิกฮ์ หรือตะเฟาวุฟ ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากการสร้างขึ้นของมนุษย์เช่นเดียวกัน ฎอริคตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้องค์ความรู้อิสลามมีความเป็นอิสลาม และอะไรที่ไม่ใช่อิสลามในองค์วามรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ความเป็นอิสลามมันอยู่ที่ object of study, form of study หรืออย่างอื่น? การแบ่งสาขาต่างๆ ของหลักการเป็นการจัดลำดับความสำคัญของศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้บางส่วนสำคัญกว่าบางส่วน แต่ปัจจุบันเรากลับให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของฟิกฮฺ เพราะพูดถึงเรื่องฮาลาลฮารอม บางคนกล่าวว่าองค์ความรู้อิสลามคือ ‘ความรู้ที่ศักดิ์สิทธ์’ และนี่คือปัญหา เพราะเวลาเราพูดถึงฟิกฮ์ ทัศนะของนักวิชาการที่เป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธ์ด้วยหรือ! ความรู้เกี่ยวกับฟิกฮ์ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อีกปัญหาหนึ่งคือ องค์ความรู้อิสลามยังขาดปรัชญาแห่งองค์ความรู้ (master of Sciences) เนื่องจากปัจจุบันเรายังอยู่ในภาวะ defensive จึงทำให้องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องที่ทำได้และทำไม่ได้ (ฟิกฮ์) กลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนสำคัญที่สุด
การจัดกลุ่มของความรู้นั้นส่งผลให้เกิดอำนาจ และผู้ที่มีอำนาจก็คือ คนที่รู้ในเรื่องนั้นมาก ท้ายสุดสังคมมุสลิมปัจจุบันจึงมีผู้ที่มีอำนาจแบบไม่เป็นทางการก็คือ อุลามา หรือผู้รู้ สำหรับเขาแล้ว ผู้รู้ก็เป็นมนุษย์ที่สามารถถูกตั้งคำถามได้ด้วยเช่นกัน การตั้งคำถามต่ออำนาจจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ ฎอริคย้ำว่าหากคุณต้องการการคิดเชิงวิพากษ์ “จงตั้งคำถามไปที่อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมืองหรือทางศาสนา ประเด็นที่สองของปัญหาความรู้นั่นคือ ความซับซ้อนของโลกปัจจุบัน ในโลกที่ซับซ้อนการเชื่อมโยงความรู้เป็นสิ่งสำคัญ หากแต่ปัจจุบันความรู้กลับถูกแยกส่วนออกไป
ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่องโยงองค์ความรู้ต่างๆ เข้าโดยกัน หลายครั้งที่อุลามาฮ์ไม่สามารถบอกในสิ่งที่ไม่ได้เชี่ยวชาญ จึงต้องทำงานร่วมกับผู้ที่เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ในสถานะที่เท่าเทียมกันแบบ equal footing ความจริงแล้วอุลามะฮ์ไม่ใช่แค่ผู้ที่มีความรู้ด้านศาสนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ในด้านอื่นด้วยเช่นกันโดยที่พวกเขามียำเกรงต่อพระองค์ เราต่างหากที่ลดคุณค่าของอุลามะฮ์แล้วมาผูกไว้กับฟูกอฮา (ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลาม) ถึงจุดนี้ ฏอริค ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า ใครบอกคุณว่าความจริงจะมาจากเสียงส่วนใหญ่เสมอไป? คุณเชื่อชนกลุ่มใหญ่ในเรื่องของความจริงได้กระนั้นหรือ? มีแค่เพียงกระบวนการที่ผ่านเสียงกลุ่มใหญ่เท่านั้นหรือที่จะเป็นความจริง?
ฏอริค ได้ยกตัวอย่างกรณีของความรู้จากอุลามาอฺ จากอิหม่ามฆอซาลี ที่เขาชื่นชม หากแต่มีประเด็นที่ช่วงยุคบริบทนั้นที่ทำให้บทสรุปของความสัมพันธ์ชายหญิง อยู่ในรูปแบบของนายกับผู้รับใช้ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับเขาแล้วส่วนนี้ก็ต้องถูกวิพากษ์
แหล่งที่มาของความรู้ การตั้งคำถามและการนำเข้าสู่การอภิปรายเพื่อหาบทสรุป คือสิ่งสำคัญสำหรับผู้รู้และผู้ฟัง ความรู้ในอิสลาม อิสลามสัมพันธ์กับแหล่งที่มาหลัก 2 แหล่ง นั่นคือ คัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาและคัมภีร์เปิด (Universe) ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญตัวบทคือ นักวิชาการศาสนา ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านบริบทคือนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ ผู้รู้ย่อมต้องเป็นผู้ที่เข้าใจตัวบทและบริบทที่ตนเองอยู่ ฎอริคยกตัวอย่างว่า คนตุรกีที่อยู่ในตุรกีคือผู้ที่รู้เกี่ยวกับบริบทของตุรกีดีที่สุดดังนั้นคุณไม่ควรยืมคำตอบ(ฟัตวา) มาจากประเทศซาอุดิอารเบีย หรือจากที่อื่นๆเพราะคุณเข้าใจบริบทของพวกคุณดีที่สุด
ตอนนี้มุสลิมกำลังตกอยู่ในวิกฤตของผู้มีอำนาจ หากเราไม่ตั้งคำถาม สุดท้ายความคิดหลายอย่างจะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง และเราเองก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าโลกปัจจุบันเราไม่สามารถหลีกหนีต่ออำนาจหลัก เราต่างกำลังอยู่บนฐานคิดของตะวันตก หากแต่จุดยืนของเราจะเป็นอย่างไรนั่นต้องหาคำตอบ
ฏอริค ได้ทิ้งคำถามให้กับบทบาทของมหาวิทยาลัย ที่เป็นพื้นที่ของผู้รู้ว่า ด้วยการตั้งคำถามอันสำคัญว่า ความหมายของมหาวิทยาลัยคืออะไร ? มหาวิทยาลัยนั้นจะต้องเป็นพื้นที่หาและให้ความรู้เพื่อที่จะสนองตอบต่อสังคมส่วนรวม หากมหาวิทยาลัยคิดว่ามหาวิทยาลัยนั้นทำไปเพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยเอง ก็ปิดมันเถอะ!!
การตั้งคำถามไปที่จริยธรรมและเจตนารมณ์ (ethical goals) ถือเป็นระเบียบวิธีที่สำคัญในการย่อยหลักการและเชื่อมต่อเราไปสู่บริบทความเป็นจริง (ตะฮ์กีกอัลมานาร) สิ่งที่จำเป็นคือความรู้ในเรื่องบริบทและความสัมพันธ์กับสังคม ฎอริคชี้ว่า กระบวนการเรียนรู้ในอิสลามไม่ใช่มีเพื่อให้ ‘จดจำ’ แต่เพื่อเข้าใจในสิ่งที่ควรจดจำกันมากกว่า การเรียนเพื่อจำจะมีปัญหาเมื่อบริบทเปลี่ยนแปลงไป แต่การเรียนเพื่อความเข้าใจด้วยการตั้งคำถามจะทำให้เขาเข้าใจบริบทที่เป็นอยู่และพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงบริบทนั้น ฎอริคชวนเราไปมองที่เป้าหมายก็เพื่อเตือนสติว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร เพื่ออำนาจ? เพื่อความเป็นธรรม? การตั้งคำถามลักษณะนี้จะทำให้เรามองเห็นสนามการทำงานที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ บันเทิง เศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง แพทย์ มานุษยวิทยา เป็นต้น ฎอริคชี้ให้เห็นว่า เรายังขาดศิลปิน กวี นักเขียน นักคิด นักบริหาร แพทย์ ‘มืออาชีิพ’ ผลงานส่วนใหญ่ที่ออกมาจากมุสลิมมักจะแสดงให้เห็นถึงเป็นเป็นมือสมัครเล่นมากกว่า ความจริงแล้วการทำงานในด้านเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขามีความซื่อสัตย์ต่ออิสลามน้อยกว่าสาขาอื่นเลยหากเขาสามารถเชื่อมต่อทักษะและการทำงานนั้นไปที่จริยธรรมและเจตนารมณ์แห่งอิสลาม
อิสลามเป็นความเข้าใจในสิ่งที่เรารู้ด้วยหัวใจ ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจและความเชื่อจึงมาพร้อมกัน การตั้งคำถามจึงสำคัญ แต่การตั้งคำถามที่จะก่อให้เกิดการผลงานที่ประจักษ์ หากตั้งคำถามแล้วใช้มันเป็นเพียงวิธีการก็จะกลายเป็นเพียงการปรับตัวเราเองให้เข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่เท่านั้น วิธีการมองโลกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฉะนั้นในสังคมมุสลิมเราต้องการองค์ความรู้ด้านปรัชญามากขึ้น ปรัชญาในที่นี้หมายถึงการหาคำตอบจากคำถาม ‘ทำไม’ ด้วยเหตุนี้ฎอริคมองว่าปรัชญาแห่งกฎหมายและชีวิตถือเป็นแม่บทของศาสตร์ด้านอื่นๆ รวมถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วย นักวิชาการมุสลิมหลายท่านมักจะอธิบายคำว่า ฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญา) ในโองการ “และเขาจะได้สอนคัมภีร์และวิทยปัญญาให้พวกเขาทราบ” ว่าหมายถึงแบบฉบับของท่านศาสนา (ซุนนะฮ์) ซึ่งเป็นการเข้าใจในเชิงกฎหมายเท่่านั่น สำหรับฎอริค ฮิกมะฮ์ในภาษาอาหรับหมายถึง wisdom หรือวิทยปัญญา และ wisdom คือการเข้าใจชีวิตทั้งเรื่องการเป็นและการตาย ความเข้าใจในชีวิตของอิสลาม นั้นเริ่มต้นขึ้นจากสันติภายใน และสะท้อนออกมาสู่การเคารพต่อสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหมด อย่างไรก็ดี สันติภาพก็ประกอบด้วยหลายเงื่อนไข ที่รวมไปถึงความยุติธรรม เราไม่มีทางได้สันติภาพหากเรายังไม่ยุติธรรมต่อตัวเองและไม่เข้าใจผู้อื่น ฉะนั้นเพื่อให้เกิดสันติภายใน การคิดแบบวิพากษ์จึงไม่ใช่เพียงการหาเหตุผลเท่านั้นหากแต่เป็นเรื่องของจิตใจเช่นกัน ที่เราต่างต้องเคารพในความคิดและร่างกายของผู้อื่นเหมือนกับความคิดและร่างกายตัวเอง สำหรับเขาการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อเป้าหมายใดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญย่ิง
แหล่งที่มาของความรู้ วิธีการทำความเข้าใจ การตั้งคำถาม การตอบสนองต่อเหตุการณ์ และเป้าหมายในการคิดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการคิดของมุสลิม นั่นก็เพราะว่า ผู้ที่เป็นที่รักของพระเจ้าคือผู้ที่ทำตัวเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติ และ ฏอริคได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่าได้สิ้นหวังในผู้อื่น แต่จงเริ่มจากตัวคุณเอง”