ภาษามลายูในม่านฟ้าอาเซียนใหม่

กระแส “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN Community) ยังคงเป็นประเด็นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง มุมหนึ่งอาจเป็นการพัฒนาอีกขั้นของการเมืองในระบบโลกและการแบ่งปันผลประโยชน์แห่งชาติ อย่างลงตัวให้กับประเทศสมาชิก  กระนั้น เมื่อตั้งแง่โดยการเอา “สังคมทั่วไปเป็นศูนย์กลาง” สังคมก็จะก้าวกระโดดไปข้างหน้าและพัฒนาทุกระบบอย่างไร้ขีดจำกัด แต่เมื่อเอา “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง” กระแสดังกล่าวกลายเป็น “สัญญาณเตือน” อย่างดีให้คนไทยอย่างเรา ๆ ได้ตระหนักกันมากกว่านี้นั่นเอง
    
“ความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยแบบเดิมๆ” ที่เรามักวางการพัฒนาโดยการฝากทุกอย่างไว้ที่ “ศูนย์กลาง”  กระทั่ง สิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า “ศูนย์กลางสะท้อนระบบการจัดการที่พังอย่างไม่เป็นท่า หรือ “เมืองหลวงน้ำหนักเกินตัว”
สังเกตได้จากการแก้ปัญหาน้ำท่วม  ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Unrest Area and Violent Zone) แม้กระทั่งปัญหายาเสพติดที่กลายเป็นความเสี่ยงของประเทศไทยและความมั่นคงในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งหมดคือสัญญาณเพื่อบอกว่า“จะอยู่กันอย่างเดิมกันไม่ได้อีกแล้ว”
    
ยังไม่รวมถึงการนำเสนอของนักวิชาการเสื้อกั๊กอย่าง อ.ธีรยุทธ บุญมี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่พยายามสะท้อนการทำงานของรัฐบาลในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่มัก“ปรุงแต่งแต่ความสวยงามของเสื้อผ้า” จนกระทั่งผลสำรวจในรอบปีนี้อาจเป็นอย่างที่นักวิชาการเสื้อกั๊กบอก นั่นก็คือ “สวยสุดในสยาม งามแบบไทย  เอาใจจนประชานิยม”
    
หรืออีกอย่างที่นักวิชาการคนนี้ได้พูดถึงนั่นก็คือ อดีตนายกหล่อไม่ควรพูดมากกว่าที่เป็นไป และควรหันมาสร้างวัฒนธรรมใหม่ด้วยการเขียน มากกว่าการพูดอย่างที่เคยทำมาแบบเดิม ๆ เพราะมันคือวิถีแห่งการสร้างระบบแนวคิดที่ยั่งยืนกว่า อย่างน้อยเพื่อเป็นฐานในการเข้าสู่ การไปสู่ความเป็นอาเซียน
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการ“ทำให้เป็นประชาคมอาเซียน” ประเทศทั้งหมดพยายามบอกถึงความเป็นอาเซียนด้วยมิติของภาษา “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาหลัก (ข้อดีของการเป็นเมืองขึ้นที่ไทยมองไม่เห็น) และรองลงมาคือ “ภาษามลายู” กระทั่งมีนักวิชาการหรือผู้รู้บางกลุ่มเห็นสมควร “บรรจุภาษาไทย” เป็นหนึ่งในภาษาอาเซียน
     
การนำเสนอดังกล่าวไม่ได้บอกว่า “ทำไม่ได้” แต่มันคือสัญญาณที่สะท้อนออกมาว่า “ความเป็นไทยแบบไร้สำนึก” การนำเสนอดังกล่าวจึงกลายเป็นเรื่องตลกของประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่รับรู้กัน สิ่งที่ดีกว่าการนำเสนอ “ความเป็นตัวตนแบบไทย” ผ่านภาษาไทยนั่นก็คือ “การเร่งหลักสูตรการศึกษารองรับภาษาต่างชาติไม่ว่าอังกฤษหรือมาลายู” น่าจะดีกว่า
    
หากจะนับความเป็นไปในโลกมาลายู ประชาคมอาเซียนเกือบ ๓๐๐ ล้านคนที่ใช้ภาษามาลายู ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์  บรูไน  ติมอร์ อาเจะห์ บางส่วนของประเทศกัมพูชาหรือ ตอนใต้ของประเทศไทย พื้นที่เกือบทั้งหมดเหล่านี้คือ พื้นที่อยู่ในเส้นแบ่งที่เรียกว่า “นูซันตารา”(Nusantara) นั่นเอง

เมื่อระบบโลกในอาเซียนเป็นแบบนี้ นั่นก็หมายความว่า “การศึกษาของสยามประเทศต้องมุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมใหม่แบบเปิดพื้นที่ทางภาษา” หาไม่แล้ว “ความล้าหลังและมิติคับแคบ(เชย)” สำหรับประเทศไทยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านได้เตรียมความพร้อมไปก่อนหน้านี้แล้ว

เอาเข้าจริง ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่โชคดีทั้งด้านวัฒนธรรม ทรัพยากร การพัฒนาโดยอาศัยภาษามาลายูนั้นจึงกลายเป็นเรื่องง่ายมากกว่าประเทศอื่นที่ไม่ได้ใช้ภาษามาลายูมาแต่เดิม อย่างน้อยประเทศไทยก็มี “ผู้เชี่ยวชาญ” พอในการให้คำแนะนำและสร้างระบบการศึกษาผ่านหลักสูตรและตำราเรียนเพื่อรองรับความเป็นประชาคมอาเซียนดังกล่าวในอนาคต
             
หนึ่งในงานเขียนของ อ.อัฮหมัดสมบูรณ์  บัวหลวง เรื่อง “อัตลักษณ์อาเซียน:เอกภาพของไทย” ได้นำเสนอมุมมองไว้อย่างน่าติดตาม นั่นก็คือ  “ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชนชาติพันธุ์มลายูมีการพูดภาษามลายูในชีวิตประจำวัน มีการถ่ายทอดภาษาผ่านกระบวนการศึกษา ผ่านงานเขียน หนังสือ และตำราศาสนาด้วยภาษามลายูอักขระญาวี ซึ่งงานเขียนในท้องถิ่นเกือบทั้งหมดจะเขียนเป็นภาษามลายูญาวี”

“งานเขียนเหล่านั้นได้เริ่มเขียนมาตั้งแต่ต้นคริสต์วรรษที่ 12 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตำราศาสนาเหล่านั้นยังมีและใช้อยู่จวบจนปัจจุบัน ได้เผยแพร่ในโลกมลายู (Nusantara)คือในหมู่เกาะมลายูและในชุมชนมลายูมุสลิมตามคาบสมุทรอาหรับอีกมาก อีกทั้งยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในแวดวงวิชาการศาสนาโดยทั่วไปด้วย”

ทั้งหมดเหล่านี้คือ “ทุนเดิม” ที่ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพสมาชิกร่วมประเทศให้ก้าวไกลและสามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนได้อย่างไม่ต้องน้อยหน้าใคร

หากการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่บกพร่องและไม่ได้สรุปบทเรียนอย่างจริงจังแล้ว ประเทศไทยก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ “ไร้ศักยภาพท่ามกลางความอัจฉริยะของทรัพยากรบุคคล” ซึ่งไม่ต่างจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ที่ “เกิดขึ้นมานานจนซ้ำซาก” มากกว่า ๘ ปี แต่ก็ยัง “ต้องแลกและสังเวยด้วยชีวิตผู้คน” อยู่ดี