กระบวนการสันติภาพปาตานี: เมื่อรัฐไทยยอมรับความจริง
ภาพข่าว ฐานข้อมูลข่าวจังหวัดชายแดนใต้
ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานี นับวันจะมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ที่มีปัจจัยภายในและภายนอกคอยเป็นตัวกำหนดเข็มทิศของการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ ที่เผยออกมาในรูปแบบปฏิบัติการทางทหารโดยส่วนใหญ่ ที่มีนัยยะทางการเมืองซ่อนอยู่ทุกกระบวนการและยุทธวิธี กล่าวคือ ปัจจัยภายในนั้นอาจเกิดมาจากการตกผลึกทางความคิดของฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีจากอาณัติของรัฐไทย ที่เกิดจากการเคี่ยวความคิดในการผลักปัญหาความขัดแย้งที่มาจากความเห็นต่างระหว่างชาวมลายูปาตานี ในฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ด้วยการอาศัยกลไกของโครงสร้างที่มีอยู่ทุกระดับชั้น
ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะปรากฏออกมาในรูปแบบปฏิบัติการทางทหารทุกครั้งไป ซึ่งชั่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการประสานกันในเชิงการทูตหรือผ่านกลไกฝ่ายการเมือง ที่สาธารณะชนมิอาจรับรู้ได้ ถึงความเคลื่อนในทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะดำเนินการอย่างปิดลับมาโดยตลอด ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการแสวงหาสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ในระยาว มิเช่นนั้นหากทุกความเคลื่อนไหวในทางการเมืองของทั้งสองฟากถูกรายงานนำเสนอสู่สาธารณะทุกย่างก้าวและทุกมิติ คงอาจเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการแสวงหาสันติภาพร่วมกัน ในขั้นตอนของการพิสูจน์ในแง่ของความจริงใจระหว่างกัน
รัฐไทยเองคงมิคาดคิดแม้แต่น้อยว่า กลุ่มขบวนการที่รัฐไทยพยายามลดเครดิตมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่มีการหยิบยกและพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ปาตานี มักจะลงเอยไปในทางเสียเปรียบมาโดยตลอด นับตั้งแต่การพยายามให้คำนิยามของกลุ่มต่อสู้เพื่อปาตานีไปต่างๆ นานา เช่น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือขบถ. ขบวนการโจรก่อการร้ายหรือขจก. ผู้ก่อการร้ายหรือผกร. ฯล ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นชื่อเรียกกลุ่มต่อสู้ปาตานีในอดีต ในยุคที่การปราบปรามจากรัฐอยู่ในขั้นเข้มข้น ประกอบกับยุทธวิธีของขบวนการในสมัยรุ่งโรจน์ของความคิดความอ่านในการต่อสู้นั้น อยู่ในขั้นการวางโครงสร้างพร้อมๆ ไปกับการเคลื่อนไหวทางการทหารเป็นหลัก โดยการอาศัยผืนป่าที่มีอยู่ในพื้นที่ เป็นที่พักพิงและตั้งฐานที่มั่น สำหรับการบัญชาการในการวางยุทธศาสตร์ต่อสู้
การพยายามลดเครดิตของรัฐไทยต่อกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อปาตานีนั้น ถือเป็นกลจิตวิทยาในการดำเนินการปราบปรามโดยเน้นการปูนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะในด้านการคมนาคม ที่พยายามจะลาดผ่านบริเวณขุนเขา อันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวที่มีการแบ่งขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และการดำเนินการสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่สามารถทลายแหล่งปกครองอำนาจบารมีในกลุ่มที่รับผิดชอบได้มากทีเดียว
สิ่งที่ได้ท้าวความมาข้างต้นนั้น เพื่อเป็นการอธิบายอย่างคร่าวๆ พอสังเขป ถึงสถานะและฐานะการต่อสู้ ณ สมัยหนึ่งในอดีต ที่การมีอยู่ของกลุ่มติดอาวุธนั้น เป็นเพียงกลุ่มเสียผลประโยชน์ที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐ ถึงแม้สิ่งนั้นเรามิอาจปฏิเสธได้ว่า ขบวนการในรูปแบบอิทธิพลนั้นเคยมีอยู่อย่างแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริง แต่คงไม่ถึงขั้นติดอาวุธตั้งฐานในป่าเขาอย่างที่ควรจะเป็น
ซึ่งการพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐไทย มิเคยกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า นอกจากการพยายามปรับแต่งนโยบายเพื่อสอดคล้องกับยุคสมัย เป็นชุดๆ ไป เท่าที่ผู้เขียนจำความได้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะให้กล่าวโครงการที่ลงสู่พื้นที่ทั้งระดับจังหวัดสู่ระดับตำบลชุมชน คงมิอาจกล่าวได้ทั้งหมด ที่ลงท้ายด้วยการเข้าอบรม ฝึกงานวิชาชีพ ฯล ราวกับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากความยากจนแร้นแค้น ทว่ารัฐเองมิเคยแตะต้องประเด็นข้อเรียกร้องทางการเมือง ที่ชาวปาตานีพึงครอบครอง ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่
ความปรารถนาของคนมลายู ณ สมัยรัฐบาลเผด็จการเรืองอำนาจ เสมือนว่า ทุกความต้องการทุกข้อเรียกร้องที่ถูกนำเสนอไปยังรัฐบาล ณ ขณะนั้น ล้วนเป็นการก่อขบถไปในตัว ที่พยายามเรียกร้องอำนาจจนเลยขอบเขตที่รัฐบาลจะอนุมัติ หนำซ้ำสิทธิที่เคยครอบครองก่อนหน้า ถูกริบไปทีละน้อยทีละน้อย จนในที่สุดพื้นที่ยืนในทางการเมืองถูกปิดกั้นโดยปริยาย ด้วยการใช้วิธีการนอกกฎหมายในการจัดการ ซึ่งถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูก็คงไม่ปาน
กว่าสองศตวรรษที่ปาตานีสูญเสียอำนาจและครึ่งศตวรรษที่ก่อกำเนิดขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานี กับอีกหนึ่งทศวรรษของความรุนแรงที่มีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย เป็นการเพียงพอแล้วที่รัฐไทยอาจหาคำตอบให้กับสันติภาพปาตานีและเป็นการแสวงหาสันติภาพให้กับประเทศไทยในเวลาเดียวกัน ขืนรัฐไทยยังคงใช้ลูกไม้เดิมๆ เพื่อถ่วงระยะเวลาในการปกครองปาตานีให้ยิ่งยืดเยื้อและยาวออกไปให้นานเท่านาน ในขณะที่สังคมปาตานียังคงดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อที่จะปลดตัวเองออกจากอาณัติที่ไม่พึงปรารถนา ไม่รู้ว่ารัฐไทยเองจักต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่อีกกี่นาย งบประมาณจักต้องเผาพลาญอีกเท่าไหร่ กว่าจะยอมรับความจริงและคืนอิสรภาพให้แกปาตานีในที่สุด
ผู้เขียนมิได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ด้วยที่ว่าเพราะความศรัทธาต่อสันติภาพและเชื่อมั่นในแนวทางอันสันติ ว่าสุดท้ายสักวันมันจักต้องลงเอยการสนทนากัน ด้วยการลดกระบอกปืนลง แล้วมองหน้าคู่ต่อสู้อย่างสันติ แล้วเราจะพบสัจธรรมในแววตานั้น นอกเสียจากว่าต่างฝ่ายต่างไม่เชื่อใจกันอีกแล้ว
เพราะสิ่งที่ผ่านมานั้นล้วนเต็มไปด้วยการหลอกลวงครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นอดีตที่ผ่านมา...