สันติซุบซิบ:เชิญสู้กัน แต่ขอพื้นที่ปลอดภัยให้พลเรือน

ขณะที่กระบวนการสันติภาพปาตานีถูกขับเคลื่อนจากกลุ่มพลังต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ กลุ่มขบวนการฯ  ประชาสังคม และชาวบ้าน ท่ามกลางกระแสสังคมไทยที่กำลังเรียกร้องเสรีภาพบนหลักการประชาธิปไตย แต่แอบซ่อนความรุนแรง ความขัดแย้งไว้ใต้พรม “ความปลอดภัย” จึงเป็นประเด็นที่นักสันติวิธี นักสื่อสาร และกลุ่มพลังผู้หญิง ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ เกิดการจับเข่าคุยในวงสนทนาเล็กๆ หลากหลายกลุ่ม เช่นเดียวกับ วงสนทนา เกี่ยวกับ "สิทธิและความปลอดภัยที่พึงปรารถนาในชายแดนใต้" ภายใต้หัวข้อ "ผู้หญิงกับการทำงานในพื้นที่ไม่ปลอดภัย" และ "การสื่อสารในพื้นที่เสี่ยง"โดย ศูนย์สันติฯ ม.มหิดล สำนักงานปัตตานี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่ต่างก็มีเบ้าหลอมและวิธีการมองสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ไม่ตรงกันเสียทีเดียว

ทั้งนี้ การสนทนาค่อนข้างที่จะมีกลิ่นไอความเป็นประชาธิปไตยไม่น้อย ไม่มีการสรุป หรือการตัดสินความคิดของกันและกัน มีการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างแม้นบรรยากาศจะมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา จนทำให้มุมมองความคิดของทุกคนมีพื้นที่ ทำให้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ปาตานี ฟอรั่มได้มีโอกาสร่วมสนทนา ซึ่งเห็นว่าเนื้อหาการสนทนาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจึงหยิบมาสรุปนำเสนอ ณ ที่นี้

ประเด็นโดยสรุปแล้วการแลกเปลี่ยนชี้ว่า ความปลอดภัย เป็นเรื่องสิทธิ และเสรีภาพ ความปลอดภัยเป็นสิทธิหน้าที่ของรัฐ และพลเมืองที่ต้องช่วยกัน เพราะเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สถานการณ์ปัจจุบัน ความรู้สึก ความไม่ปลอดภัยมีอยู่ทั่ว แล้วเราจะรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยของกันและกันอย่างไร ทั้งนี้มีการหยิบยก คำว่า “Aman damai” ซึ่งการถกเถียงกันเกี่ยวกับคำนี้ได้นำเสนอการการมองเห็นนัยยะร่วมในความหมายที่ว่า “ทุกคนปลอดภัย” เป็นนัยยะที่ทุกคนที่ผ่านพบกับคำนี้แล้วต่างก็ยอมรับ เป็นความปรารถนาของทุกคน จนบางครั้งก็ทำให้คนแปลกหน้ากัน ก็ยิ้มให้กันได้

ขณะที่เสียงจากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมท่านหนึ่ง ในฐานะของการเป็นสตรีมุสลิมแล้ว เธอเชื่อว่า สตรีมุสลิมในสถานการณ์ที่สังคมไม่ปลอดภัย ในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ผู้ชายมีเงื่อนไขมากขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ ผู้หญิงมุสลิมต้องเพิ่มบทบาทตัวเองจากความเป็นแม่บ้าน ภรรยา มาสู่ผู้ที่เยียวยาและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยความจำเป็นด้วยการใช้สันติวิธีมาทำให้พื้นที่ไม่ปลอดภัยเกิดความปลอดภัย

เธอชี้ว่าพระเจ้าทรงสร้างผู้ชาย-ผู้หญิง เพื่อการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน และสถานการณ์ของชีวิตในปัจจุบันทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานเช่นเดียวแบบผู้ชายเพื่อค้ำจุนซึ่งกันและกัน ซึ่งหากมองเรื่องความปลอดภัยแล้ว ทุกวันนี้ผู้หญิงก็ไม่ปลอดภัยตั้งแต่เรื่องหลักการอิสลาม แค่เริ่มออกจากบ้านก็ไม่ปลอดภัยแล้ว แต่อิสลามก็สอนว่าเราจะสุขสบายไม่ได้ตราบใดที่เพื่อนบ้าน หรือคนในสังคมทุกข์ยากอยู่ ประกอบกับผู้ชายก็มีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง อีกทั้งผู้ชายมุสลิมจำนวนไม่น้อยก็มีสำนึกต่อการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมถดถอยลงทุกที

อย่างไรก็ตามสำหรับการวางบทบาทการทำงานเพื่อสังคมของผู้หญิงมุสลิมในสถานะที่มีสามีแล้ว เธอนำเสนอข้อคำนึงสำคัญ คือ 1. การทำงานทางสังคมต้องผ่านการปรึกษาหารือ และได้รับการสนับสนุนจากสามี  2. สามี และภรรยา จะต้องทบทวนบทบาท หน้าที่ของกันและกัน ก่อนจะลำดับความสำคัญระหว่างในครอบครัวและงานสังคม 3. ควรทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ที่ไม่ส่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อตนเอง สามีและครอบครัว

วงสนทนาแทบจะถูกผูกขาดโดยผู้หญิงมุสลิมในช่วงแรก โดยมีการแลกเปลี่ยนกันต่อว่า พระเจ้าให้การเข้าถึงสิทธิทั้งหญิงและชาย เป็นอาภรณ์ซึ่งกันและกัน ในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ ผู้หญิงทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คน และประสานถึงระดับนโยบาย ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมีคุณลักษณะของความอ่อนโยน เข้าใจความรู้สึกได้ดี เป็นธรรมชาติของผู้หญิง

“สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ที่สำคัญทำให้ผู้หญิงต้องคำนึงการทำงานเพื่อสังคม คือ ขณะนี้มีลูก แม่ ภรรยา สูญเสียมาก ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับคนที่เป็นผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงด้วยกัน จึงควรเข้าไปเป็นตัวเชื่อมประสาน เพราะจะให้ผู้ชายเข้าไปทำงานเช่นนี้ ก็คงไม่เหมาะสม” เสียงหนึ่งจากวงสนทนาแลกเปลี่ยน

วงสนทนาเริ่มแบ่งการแลกเปลี่ยนมายังคนอื่นๆต่อเนื่อง ซึ่งมีการคุยกันต่อว่า สิ่งนี้เป็นงานการเมือง ที่รัฐและขบวนการฯ ควรเข้าใจ คือการที่จะให้มีพื้นที่ปลอดภัยต่อผู้หญิง ในการทำงานดูแลประชาชนผู้หญิง และการตระหนักถึงสภาวะพื้นที่ความรุนแรง ควรจะให้พื้นที่ปลอดภัยไม่คุกคาม หรือระมัดระวังและไม่ฆ่า เด็ก ผู้หญิง และนักศาสนา

ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับการสื่อสารและความปลอดภัย ตามความเข้าใจแล้ว อธิบายว่า คนตัวเล็กตัวน้อย คนที่ถูกใช้อำนาจกดทับในสิ่งที่คนเหล่านั้นจะพูด จะสื่อสาร ออกไป ดังนั้นในแง่หนึ่งคนเหล่านั้นจะสื่อสารอย่างไรให้ปลอดภัยจากการใช้อำนาจทำลายให้เกิดการสูญเสีย

พฤติกรรมการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ด้านหนึ่ง คือ การสื่อสารเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สื่อเข้าไม่ถึง คือ การสื่อสารที่อธิบายต่อว่าทำไมเขาถูกใช้ หรือใช้ความรุนแรง ซึ่งคำถามมักจะได้คำตอบจากคนรอบข้าง คนให้คำตอบก็จะเฉียดไป เฉียดมา แต่สื่อก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นคำตอบที่แท้จริง ดังนั้น สื่อจำเป็นที่จะต้องขุดข้อความออกมาให้ได้ ไม่ใช่นำเสนอสารที่เฉียดไปเฉียดมา

นอกจากนี้สิ่งที่คนทำงานสื่อสารในพื้นที่ต้องเข้าใจคือ เราควรจะต้องศึกษาสถานการณ์ให้ดี เราไม่สามารถ คิดคนเดียว และมโนไปเองได้  ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเราอยู่ใต้การคุมอำนาจของทหาร เราก็ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติ วิธีคิดของทหาร ซึ่งเราก็จะเห็นคุณค่า ความหมายในสิ่งที่ทหารทำ แตกต่างจากคุณค่า ความหมายที่มาจากคนที่ไม่ได้มีวิธีคิด วัฒนธรรมแบบทหาร นี่คือสิ่งทีเราควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์

วงสนทนาย้อนกลับมาดูเรื่อง ความคิด การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ความขัดแย้งปาตานีที่เกิดจากสำนึกของทุกคนในสังคมอีกครั้ง ซึ่งสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ คนทุกคนรู้สึกร่วม หรือ เห็นว่าตัวเองไม่ปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรงของทัง 2 ฝ่าย ซึ่งสิ่งที่วงสนทนาตั้งข้อสังเกตุคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ การปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งรัฐและขบวนการฯ ใช้ความรุนแรงได้  จึงชี้ให้เห็นว่า ความมีสำนึกร่วมยังไม่เกิด แต่เช่นเดียวกันอาจเป็นเพราะว่า การยังคงไว้ซึ่งความรุนแรงของแต่ละฝ่ายอีกด้านหนึ่งคนก็รู้สึกถึงความปลอดภัย ปลอดภัยที่มีตัวแทนตนเองดำรงความรุนแรงไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัยด้านอื่นๆ นอกเหนือจากชีวิต

อย่างไรก็ตามวงสนทนาก็เห็นว่า สังคมทั้งหมดไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเจตนา ดังนั้นมักจะความผิดพลาดในสร้างความสูญเสียทั้งที่เกิดจากฝ่ายรัฐเอง และฝ่ายขบวนการฯ เอง ดังนั้นการก้าวไปข้างหน้าต่อการเข้าใจสถานการณ์ ทั้งสองฝ่ายจะต้องออกมาแถลงการณ์ สื่อสารสาธารณะตามแต่รูปแบบของแต่ละฝ่าย เพื่อไขข้อสงสัย ข้อข้องใจสาธารณะ ให้สาธารณะได้เรียนรู้ร่วมไปกับการเกิดปรากฎการณ์ จะต้องชี้แจงว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับเป้าหมายอ่อนนั้น เป็นไปเพราะอะไร หรือเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจอย่างไร ทั้งนี้เพื่อที่จะให้สาธารณะกดดันให้ทั้งสองฝ่ายสู้กันโดยไม่เอาพลเรือนมาเป็นตัวประกัน กดดันทั้งสองฝ่ายไม่ให้มักง่ายในการใช้ความรุนแรง อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายอยู่ภายใต้การต่อสู้บนหลักการมนุษยธรรมสากล

และเชื่อว่าเป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรมที่สุดแล้วในสถานการณ์ตอนนี้…(เก็บไว้ถกเถียงกันต่อ)