ร่องรอยความย้อนแย้งสันติภาพปาตานี (หมดข้อสงสัย) ตอน 2

ภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปาตานีรอบ 11 ปี ที่ผ่านมา ถือว่ายังน่าห่วง ด้วยวิธีการ การทำงานของกลไกภาครัฐ การเก็บข้อมูล การข่าว และการติดตามกรณีต่างๆ ยังติดขัดและไม่เอื้อต่อการระงับ และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ  ประเด็นนี้ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชน ภาคประชาสังคม และต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากงานเขียน เรื่อง ร่องรอยความย้อนแย้งสันติภาพปาตานี ตอนที่1 เป็นการสรุปการเสวนาในหัวข้อ สันติสุข-ยุติธรรม-ความรุนแรง สถานการณ์ฺย้อนแย้งสันติภาพปาตานี

ทั้งนี้ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กล่าวว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนตามสถิติที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเรื่องความรุนแรงพบว่าลดลง แต่จากที่ติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน หรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมก็ยังมีให้เห็นตามสื่อ หรืออาจจะเกิดขึ้นในสถานที่ลับที่ไม่มีคนกลางเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังคงมีอยู่

     “ต้องยอมรับว่าภาคประชาสังคมอาจจะมีความบกพร่องในเรื่องการติดตามคดีความ ไม่สามารถมีข้อมูลอย่างลึกซึ้งเพียงพอต่อการนำมาพูดคุยกัน ว่ามีการพิจารณาคดีอย่างไรเป็นธรรมหรือไม่ เช่น กรณีนายเจ๊ะมุ ที่เกิดข้อครหาในเรื่องกระบวนการยุติธรรม”

      “อีกด้านหนึ่งภาครัฐมีกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยเงินไปแล้วบางส่วน เช่น กรณีตากใบ กรือเซะ แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึงเกือบทุกกรณี ซึ่งอาจเป็นเหตุมาจากข้อจำกัดของงบประมาณและความแตกต่างของผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละกรณี แต่ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลเริ่มให้ความใส่ใจและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนมากขึ้น สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือผลกระทบจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กฎอัยการศึกที่ไม่มีกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและสังคมในระยะยาว”

ส่วนประเด็นการอำนวยความยุติธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า การเรียกร้องต่อคณะกรรมสิทธิ์ยังไม่ไปถึงไหนเป็นระยะเวลา 8 - 9 ปี ยังไม่มีคำสั่งของศาลสูงสุดที่จะยอบรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้มีการเยียวยาอย่างเป็นระบบในกระบวนการยุติธรรม คดีที่ฟ้องเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนหรือการสอบข้อเท็จจริงที่อยู่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศาลปกครองสูงสุด หรือในขั้นตอนการอุทธรณ์ฎีกา กลไกของรัฐติดขัดไม่ว่าจะเป็นของคณะกรรมสิทธิ์ และการให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่เอง

     "แม้ระยะเวลาล่วงเลย 11 ปี แต่ภาพรวมของสิ่งที่อำนวยความยุติธรรม ให้เกิดการยุติหรือระงับ ขจัดหรือลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังไม่มีคืบหน้า ยังไม่ต้องกล่าวถึงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่อาจจะเป็นประเด็นแทรกซ้อน เป็นความยากลำบากของหลายๆส่วน" พรเพ็ญ กล่าว

บทบาทภาคประชาสังคมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

กระบวนการทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่มีบทบาทการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีจุดหมายร่วมกันของทุกองค์กร คือเป็นตัวเชื่อม/ตัวหนุนเสริมในการแสวงหาสันติภาพให้เกิดขึ้นในปาตานี จากวงเสวนาได้มีการเสนอวิธีการทำงานแก่ภาคประชาสังคม ที่เห็นสอดคล้องร่วมกันว่าต้องมีความลื่นไหลสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ในทุกบริบท และเกิดความต่อเนื่องในการมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อตอบโจทย์การพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลทหารที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน

ตูแวดานียา ตูแวแมแง จากสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)  เสนอว่า ภาคประชาสังคมที่จะร่วมเสนอสันติภาพและสันติสุข ตามแนวทางสันติวิธีและตามแนวทางการเมือง สิ่งที่สำคัญมี 2 ประการ

ประการแรก คือภาคประชาสังคมต้องมีข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่มีมาตรฐานเพื่อกระบวนการพูดคุย/เจราจา เช่น ตัวอย่างจากอาเจะ มินดาเนา เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถจะนำมาเป็นบทเรียนเปรียบเทียบในการนำเสนอ

ประการที่สอง ภาคประชาสังคมที่มีความเข้าใจ และเข้าหากับชาวบ้านได้ จะต้องเข้ามีบทบาทในการประมวลชุดข้อมูลความเป็นไปของขบวนการ หรือพลวัตของการมีกิจกรรมทางการเมืองที่เริ่มตั้งแต่ ปี 47 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกี่จุดเปลี่ยนแล้วบ้าง

ขณะที่ อนุกูล อาแวปูเต๊ะ จากศูนย์ทนายความมุสลิม เสนอว่า องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งจะต้องหาคนรุ่นใหม่มาสานต่อและต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้การทำงานในพื้นที่ต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญในการทำงานของภาคประชาสังคมคือความรู้ แต่ว่าจะทำความรู้ให้มีพลังได้นั้นจะต้องมีปัจจัยแวดล้อมเป็นตัวผลักดัน คือหนึ่งสถานการณ์จะเป็นตัวดันไป และสองภาครัฐจะต้องเปิดกว้างด้วย

อย่างไรก็ตาม ฟาเดล หะยียามา ผู้ร่วมเสวนาก่อนหน้านี้อีกท่าน เสนอว่า ปัญญาชน ภาคประชาสังคม ไม่ควรยึดกับกรอบความคิดใดๆ เช่น ชาตินิยม ความรุนแรง ศาสนานิยมฯ ซึ่งต้องปล่อยให้ทุกความคิด มันไหลเข้าสมองทุกฝ่ายให้ได้อย่าปิดอย่ากั้น แม้แต่ฝ่ายที่มีแนวคิดแตกต่างกับเรา ณ วันหนึ่งเราอาจจะต้องนำส่วนผสมของรัฐและผู้เห็นต่างมาเป็นส่วนผสมเดียวกันก็ได้ โดยประโยชน์สูงสุดเป็นของประชาชน เพราะการกระทำแบบนั้นมันอาจจะกลายเป็นทางออกในที่สุด

พรเพ็ญ ก็เสริมต่อว่า สิ่งที่ยังขาดคือการสื่อสารโดยตรงของคนในพื้นที่ไปสู่ต่างประเทศ ในระยะเวลาที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ควรจะเป็นตัวเสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารโดยตรงให้กับองค์กร หรือกลไกระหว่างประเทศได้ เช่น UN ASEAN OIC EU เป็นต้น

ภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาลทหาร และกลุ่มขบวนการฯ

การต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงแบบเยื้อยื้อ ยุทธวิธีที่สำคัญคือจะทำลายความน่าเชื่อถือ หรือความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างวิธีลดเครดิตฝ่ายต้องข้ามให้มากที่สุดที่อาจจะเรียกว่า “สงครามแย่งชิงมวล” แข่งขันกันดึงมวลชนในสภาวะที่การต่อสู้ปราศจากการเปิดเผยตัวตนที่ชัดเจน และดังที่ทราบกันหลังจากการรัฐประหาร เกิดรัฐบาลทหารเข้าบริหารประเทศ รัฐบาลเริ่มมีนโยบายประชานิยม ที่ต้องการสร้างความชอบธรรม และการสนับสนุนกับประชาชนเกือบทุกที่พื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ปาตานี เช่น จ่ายเงินสงเคราะห์ค่าต้นยาง การเพิ่มสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากคนปาตานี ซึ่งทหารอาจจะได้ประโยชน์ ในขณะที่ขบวนการอาจจะเสียประโยชน์ จนก่อให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่ทั้งต่อรัฐบาลและกลุ่มขบวนการในปาตานี

ประเด็นนี้ ฟาเดล วิเคราะห์ว่า ประชานิยมของรัฐบาลมันไม่ได้จะสร้างด้านบวกให้กับทหาร แต่มันจะสร้างด้านบวกให้กับรัฐบาลและสร้างด้านลบให้กับฝ่ายตรงข้าม สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของขบวนการ คือขบวนการไม่มีอำนาจทางการเมือง ไม่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นหรือแย่ลง มีแต่นโยบายที่ยึดโยงกับอุดมการณ์เดิมๆ เช่น ชาตินิยม ศาสนานิยมฯ”

     “แต่สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลเก่าๆทำคือการการันตีปากท้อง เมื่อใดที่รัฐบาลการันตีปากท้องได้ มันไม่ได้แปลว่าชาวบ้านจะอยู่กับรัฐบาลในระยะยาว แต่มันจะลดเครดิตของฝ่ายตรงข้ามทันที เพราะฝ่ายตรงข้ามไม่เคยเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมลักษณะนี้”

     “ตราบใดที่ฝ่ายตรงข้ามไม่เคยเสนอนโยบายลักษณะนี้ คะแนนของขบวนการก็จะติดลบไปเรื่อยๆ และนี้คือเกมทางการเมืองในพื้นที่ที่จะเปลี่ยนไป”

นักสิทธิย้ำไม่มีความยุติธรรมเราอาจจะได้แต่สันติสุข แต่ไม่ได้สันติภาพ

ประเด็นเช่นนี้ พรเพ็ญเห็นและเสนอว่า การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง และมีความยั่งยืนได้นั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือ จะต้องมีระบบยุติธรรมแบบที่เรียกว่า Transitional Justice หรือยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริง รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย บันทึกความทรงจำจากทุกฝ่าย รับฟังความสูญเสียของทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันต้องหาผู้ที่รับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และต้องมีการชดเชยเยียวยาตาม

     “กระบวนการ และสิ่งที่สำคัญผู้เสียหายจะต้องได้รับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมาจากกระบวนการนี้ ซึ่งจากประสบการณ์ก็มีองค์กรพิเศษอยู่หลายๆรูปแบบ เช่น คณะกรรมแสวงหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยก็เคยมีประสบการณ์ที่เรียกว่า คปก.เป็นต้น เพื่อทำให้สังคมยอมรับ ดังนั้นจะต้องดำเนินการด้วยการสร้างความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านในที่นี้ให้ได้ สภาวะที่สันติก็จะขึ้นในพื้นที่”

อนาคตการพูดคุยสันติสุขภายใต้รัฐบาลทหาร

     สภาวะความย้อนแย้งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนการเจราสันติภาพ ให้กลายเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข รวมทั้งความไม่บรรเทาลงของความรุนแรง และการอำนวยความยุติธรรมอาจจะเป็นอุปสรรค ที่ทำให้เกิดความติดขัดต่อการร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขได้ สิ่งที่เป็นโจทย์ที่สังคมอยากทราบ คือมีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้การพูดคุยสันติสุขภายใต้รัฐบาลทหารเกิดขึ้นได้จริง 

ฟาเดล เห็นว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดการพูดคุยสันติสุขได้ คือข้อเจราจาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง หรือว่าเป็นข้อเจราจาที่ทำให้อีกฝ่ายได้เปรียบ และจุดสำคัญอยู่ที่คนกลาง ที่จะเป็นคน หรือกลุ่มที่ชี้พลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชน

     “โจทย์มันขึ้นอยู่กับประชาชน ที่จะสร้างข้อได้เปรียบให้ทั้งสองฝ่ายอย่างไร โดยจะต้องเป็นเกมแบบ Win-Win Solution เพราะผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายพูดถึงประชาชนไม่ได้พูดถึงรัฐและขบวนการ”

ขณะที่ ตูแวดานียา วิเคราะห์ว่า มี 3 ปัจจัย  คือ 1.ต้องทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในสภาวะที่ใกล้จะชนะหรือใกล้จะแพ้ แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างเหลื่อมล้ำกัน   2.สิ่งที่จะทำให้ฝ่ายขบวนการ เข้าร่วมการพูดคุยได้ ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเมืองของขบวนการว่าได้จะรับการยอมรับจากรัฐบาล ผู้อำนวยความสะดวก หรือผู้ที่จะไกล่เกลี่ยในอนาคตหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกยอมรับขบวนการอาจไม่เข้าร่วม  3.คือการเกิดขึ้นของมวลชนทุกระดับที่กำลังจะมีจุดร่วมเชื่อมประสานกันเป็นรูปขบวนมวลชนต่อต้านรัฐไปในทิศทางเดียวกัน เช่น มีการรณรงค์วาทกรรม Sutu Patani, Right to self determinationฯ ดังที่เกิดขึ้นก่อน 28 กุมภาพันธ์ 56 จนมีผลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตัดสินใจตัดตอนการเติบโตทางวุฒิภาวะทางการเมืองของรูปขบวนมวลชนโดยการจัดโต๊ะการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภา 58 ขึ้นมา 

คล้ายกันกับ พรเพ็ญ วิเคราะห์ว่า รัฐบาลครั้งที่ผ่านๆมาอาจจะไม่มีความเป็นเอกภาพกับทหาร แต่รัฐบาลปัจจุบันที่เป็นทหารจะเป็นการง่ายต่อการพูดคุยสันติสุข หรือในครั้งนี้อาจจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ 

     “แต่สิ่งสำคัญที่ผู้นำรัฐบาลจะต้องเปิดพื้นที่เพื่อการสื่อสารสาธารณะ เพราะเมื่อมีเจราจาสิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือเสรีภาพในการพูดคุย โดยเสนอให้ขจัด Freedom from fear (เสรีภาพที่เกิดจากความกลัว)ในที่พื้นที่ เช่น อาจจะยกเลิกกฎอัยการศึกก่อนในระยะหนึ่ง, ยกเลิก Black lists ระหว่างการพูดคุยหรือไม่ฯ และต้องดำเนินพร้อมกับ freedom from want(เสรีภาพที่เกิดจากความต้องการ) ถ้าระบบเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออาจจะเป็นปัญหาแทรกซ้อนในที่สุด”

 

ร่องรอยความย้อนแย้งสันติภาพปาตานี ตอน 1 http://www.pataniforum.com/single.php?id=484