ตรัง-ปาตานี ตอน ประชาธิปไตยซ่อนตรงไหนของสังคมไทย

ต่อจากก่อนหน้านี้ที่มีการมองความรักซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกจากประชาธิปไตย แล้วกลับมาสู้เบ้าหลอมหนึ่งของพลเมืองในสังคมไทยคือระบบการศึกษา โดยนางสาวพรพิมล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนาก็เปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย รวมถึงบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย ชวนให้วิทยากรผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกันต่อ

อนวัช จันทร์หงษ์  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาสภาแตออ  ม.อ. ปัตตานี เห็นว่า วิชาประวัติศาสตร์ไทยในระบบการศึกษาไทย ยัดเยียดเอกลักษณ์ชาติผ่านภาพรัฐชาติ โดยตนมองเป็น 2 ส่วนคือ รัฐเหมือนร่างกาย ชาติหมายถึงจิตวิญญาณ เอกลักษณ์ชาติไทยไม่ได้เป็นจริงโดยตัวเอง แต่ถูกนิยามขึ้นมา และตั้งคำถามว่าใครเป็นคนนิยามขึ้นมา มีลักษณะการช่วงชิงการนิยามโดยโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย ฝังไปในความคิดนักเรียน นักศึกษา มีอิทธิพลส่งผลต่อระบบคิดของคนในการมองคนในชาติว่าใครคือคนไทย ซึ่งหากคำนิยามว่าชาติถูกนิยามมาในหลักสูตรการศึกษาแบบนั้นหากเราไม่เชื่อก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คนชาติไทย

“นอกจากเอกลักษณ์ชาติแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ทางพื้นที่ชุมชนความทรงจำ นั่นคือท้องถิ่น ซึ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ประวัติศาสตร์ชุมชนไม่ได้ถูกพูดถึงและให้ค่า จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ปาตานีขัดแย้งกับความเป็นชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกสร้างขึ้นมาจากหลักการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่วันชาติดั้งเดิม คือ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิวัติการปกครองของคณะราษฎรจากระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ก็ถูกยกเลิกในรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการลบเลือนความทรงจำประชาธิปไตยจึงไม่แปลกที่เด็กไทย นักศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มันเป็นการถูกทำให้ลืม” นายอนวัช จี้จุดปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ประวัติศาตร์

ซัยด์ วาเตะ  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง ย้ำว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งหลักสูตรถูกกำหนดโดยรัฐอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือ เลือกที่จะซ่อนเนื้อหาความเป็นจริงบางอย่าง พยายามรักษาความจริงนั้นไว้โดยไม่ใส่ในหลักสูตร หลักสูตรถูกกำหนดโดยปิดกั้นคำตอบของเรา ถ้าเราตอบออกจากกรอบที่เขาวางไว้ก็จะผิด สอนแบบไม่ให้นักศึกษาแสดงความเห็นของตัวเอง

“หน้าที่ของนักศึกษาต้องกล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง กล้าแสดงออก ทุกวันนี้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยขึ้นมาโดยการจัดขององค์กรเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชนสานเสวนาบ้างเล็กน้อยให้ประชาชนและนักศึกษาได้พูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมันน่าจะมีเวทีมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อสะท้อนและรับฟังความคิดเห็นหลากหลาย เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนบ้าง สังคมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เพียงก็แค่ชื่อ แต่จริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย” นายซัยด์ สะท้อนออกมาเหมือนกับมีความอัดอั้นอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน

ขณะที่ ซูการไน รอแม ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาตูปะ ม.อ. ปัตตานี มองว่า การออกแบบหลักสูตรโดยรัฐเลือกที่จะใส่ชุดความคิดไหนให้นักศึกษา และซ่อนอำพรางอีกชุดความคิดที่ไม่ต้องการให้นักศึกษารู้ ซูการไนยกตัวอย่างกรณีความเป็นประชาธิปไตยในม.อ. ปัตตานี หมาวัทยาลัยมีการพยายามสกัดการรณรงค์คัดค้านออกนอกระบบของนักศึกษา โดยพยายามออกมาอธิบายกับนักศึกษาว่านักศึกษายังเป็นเด็กขอเข้าร่วมกำหนดแนวทางว่าจะออกนอกระบบ หรืออยู่ในระบบร่วมกับมหาวิทยาลัยไม่ได้ โดยพยายามจี้กับนักศึกษาว่าหากเกิดผิดพลาดขึ้นมานักศึกษาจะรับผิดชอบไหวหรือเปล่า

ซูการไน  ยังมองว่า กิจกรรมในมหาวิทยาลัยมีการจำกัดนักศึกษาไม่ให้ออกไปเรียนรู้กับกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยด้วยการกำหนดชั่วโมงกิจกรรม ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ปัญหาสังคม ปัญหาชุมชนภายนอก

“การกำหนดชั่วโมงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นโซ่ตรวนล่ามนักศึกษาเอาไว้ การกำหนดบังคับให้ทำกิจกรรมเฉพาะแค่ในมหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ทำกิจกรรมในชุมชน เรียนรู้ปัญหาของพื้นที่ปาตานี ทั้งที่นักศึกษาเป็นคนพื้นที่ปาตานีเองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ให้พวกเขาเรียนรู้ปัญหาบ้านของพวกเขาเองได้อย่างไร”

อย่างไรก็ตามซูการไน ก็เห็นว่า ประชาธิปไตยอยู่บ้างในมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์บางคนไม่ได้บังคับให้ผมต้องใส่นักศึกษาเข้าเรียน ผมไม่ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนอาจารย์ไม่ได้มีปัญหา ผมมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดนักศึกษาแต่อยู่ที่ความรู้ ซึ่งทำให้เราเห็นว่ามหาวิทยาลัยยังมีมุมประชาธิปไตยเล็กๆ อยู่บ้าง

ปรัชญา โต๊ะอิแต ทีมงานปาตานี ฟอรั่ม พยามยามโยงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นคุณประการสำหรับตัวเองที่ทำให้ตัวเองมีคำถามเยอะมากกับระบบที่เป็นอยู่วันนี้ ถ้าระบบไม่มีปัญหา ตัวเองก็คงไม่ตั้งคำถามเหมือนที่คนในสังคมไทยก็ถามเช่นกัน

ปรัชญา ชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นกลยุทธ์ควบคุมคนในชาติ ให้เป็นไปในทิศทางของรัฐฝังใส่หัวตั้งแต่เด็ก ปัญหาที่เขาค่อนข้างข้องใจคือ ประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยไม่ว่าระดับชั้นไหนๆ ทั้งๆ ที่มีประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ทว่าปาตานีกลับหามีไม่ ทั้งๆ ที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นทับถมมาหลายสิบปี มีคนตายไป 5-6 พันคน แต่สังคมไทยยังไม่รู้ชัดว่าปัญหาพื้นฐานมาจากอะไร

ปรัชญา เห็นค่อนข้างชัดว่าผลของระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉายภาพผ่านการขาดวุฒิภาวะของคนในสังคมไทย ขาดวุฒิภาวะทางการเมือง ขาดการยอมรับความเห็นต่าง

“โลกนี้มีแค่ผิดกับถูกเท่านั้นหรือ ทำไมคนไทยมองว่าคนที่ไม่ใช่เสื้อเหลืองก็ต้องเป็นเสื้อแดง ถ้าไม่เอารัฐประหารแสดงว่าเป็นพวกมีปัญหา มองปัญหาในมุมขาวดำ ไม่มีสีเทาเลยหรือ สีอื่นๆ มีบ้างหรือไม่ดังนั้นการตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาไทย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้มองเห็นโครงสร้างปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย”  

รัฐประชา พุฒนวล ตัวแทนจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน จี้จุดไปที่ปัญหาหลักสูตรการศึกษาถูกกำหนดโดยชนชั้นสูง มหาวิทยาลัยจึงเป็นแค่คอกขังนักศึกษาไม่ให้ออกไปแสวงหาความจริงในสังคม ปริวัตรยกรูปธรรมหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนแค่การชนช้างยุทธหัตถี บอกว่าทำสงครามห้ำหั่นกับพม่า ทว่างานศึกษาของสุจิตต์ วงศ์เทศ ระบุว่า พม่าไม่เคยรบกับไทย

รัฐประชา ชี้ไปที่รูปธรรมใกล้ตัวในมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ คือระบบโซตัส เขาคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนระบบโซตัสอยู่ การต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามระบบอาวุโสโดยไร้เหตุผลสิ้นเชิงเป็นการสืบทอดแนวคิดอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

รัฐประชา ยืนยันว่า การปฏิบัติตามคำสั่ง ยึดมั่นในประเพณี ระบบว้าก ระบบเชียร์ ระบบโซตัส เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งรุ่นพี่ไม่เห็นว่ารุ่นน้องเป็นคนเท่ากัน ใช้ความเป็นรุ่นพี่กดขี่ข่มเหงรุ่นน้อง สั่งการโดยไม่มีเหตุผล เหยียดความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยมีผลประโยชน์กับระบบโซตัสที่ถูกสะกดให้เคารพรุ่นพี่ แล้วมันง่ายที่จะสะกดให้เคารพอาจารย์อีกทอดหนึ่ง แต่ถ้าพวกเรา พวกคุณ นักศึกษาไม่เห็นว่าเป็นปัญหาก็ไม่เป็นไรนะ”

ขณะที่ผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นนักศึกษา นักกิจกรรม และข้าราชการ และบุคคลทั่วไป พยายามที่จะเปิดประเด็นแม้นจะอึดอัดกับบรรยากศทางการเมืองไปบ้างก็ตาม โดยมองเห็นคล้ายกันว่า รากเหง้าประชาธิปไตยในแบบสังคมไทยไม่ได้พึ่งถูกถกเถียงภายหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน แต่มีการถกเถียงมานานแล้ว เพียงแค่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ ปัญหา ที่ชัดเจน จนมาถึงวันนี้ ก็เริ่มเห็น เริ่มชัด แต่พึ่งมาทำความเข้าใจกัน ต่างจากสังคมปาตานีที่ค่อนข้างเห็นจริตความเป็นรัฐไทยผ่านสังคมคน กลไก โครงสร้างต่างๆ ซึ่งการขัดขืนเลยมีมาอย่างยาวนานซึ่งไม่ใช่เพียงปี 47 แต่การขัดขืนมีมาหลายทศวรรษ ดังนั้นการเรียนรู้หลักการประชาธิปไตยในสังคมไทย จึงเหมือนเป็นเรื่องที่ต้องกลับไปทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานใหม่หมด ทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ประชาธิปไตยของพลเมืองไทยจึงเป็นเรื่องอีหลักอีเหลื่อไปด้วย

อันที่จริงหลักการประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรมากไปกว่าหลักการพื้นฐานการอยู่ร่วมกันในสังคมของ “มนุษย์”