ถอดกิจกรรมนักศึกษาภายใต้กฎอัยการศึกที่ชายแดนใต้ ( 10 ปีที่ผ่านมา )
สถานการณ์คุกคามนักกิจกรรมนักศึกษาของฝ่ายทหารภายใต้กฎอัยการศึกในปัจจุบันที่เกิดขึ้น ผมคลับคล้ายคลับคลาความรู้สึกแบบนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่ทหารประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อต้นปี 2547 จังหวัดชายแดนภายใต้ ได้ถูกประกาศใช้กฎอัยการศึก หลังจากมีการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ผมเรียนที่ มอ.ปัตตานี ชั้นปีที่ 3 ผมเป็นคนสนใจเรื่องการเมืองกรุงเทพฯและความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภายใต้ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ด้วยความสนใจข้างต้นและกิจกรรมต่างๆก็มักจะป็นเรื่องเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองและสิทธิมนุยชนเป็นประเด็นหลัก และกลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องนี้ก็มีจำนวนน้อย และมักจะถูกมองจากนักกิจกรรมที่ทีความสนใจด้านอื่นๆ ว่าผมและพรรคพวก เป็นพวกหัวรุนแรง มีการกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมขบวนการบ้าง แม้กระทั่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนในขณะนั้นและขณะนี้ก็มักจะตีตรากลุ่มพวกผมว่า “เป็นคนชักศึกเข้าบ้าน” เพราะทหารเริ่มเข้ามาในมหาวิทยาลัย หลังจากมีการฟ้องร้องกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) สมัยนั้น อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นประธานกรรมการ และได้ออกแถลงข่าวเรื่องการค้นบ้านนักศึกษาของทหารโดยใช้กฎอัยการศึก
พูดก็พูดถึง อาจารย์ที่เคยต่อว่าและต่อต้านผม ตอนนี้ก็ยังสอนอยู่สถาบันเดียวกับผมแต่ก็นับว่าโชคดีที่สอนคนละคณะ หากทว่ากลุ่มอาจารย์ที่เคยต่อว่าผมวันนั้น ตอนนี้รับงบทำงานวิจัยเรื่องสิทธิชุมชน และรุ่นพี่ชอบต่อว่าพวกผมและนิยามว่า “พวกหัวรุนแรง” ก็กลับทำงานสถาบันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทั้งๆที่ 10 ปีก่อน พวกเขาบอกผมว่า "พวกคุณบ้าสิทธิมนุษยชนกันมาก เดี๋ยวจะตายเอา" ทำกิจกรรมเสี่ยงๆและกิจกรรมก็เข้าทางพวกกลุ่มขบวนการ หรือพูดให้สั้นก็คือ เป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการฯ วาทกรรมแบบนี้ ผมและพรรคพวกต้องเจอบ่อยๆ ทำให้หลายต่อหลายครั้งต่อคิดหนักและระมัดระวังมากที่สุด โดยการอ่านหนังสือทฤษฎีและฟังจากนักวิชากาตามงานเสวนาต่างๆ ค่อยเป็นข้อถกเถียงและอภิปรายในกลุ่ม
ตอนที่ทหารมาขอคุยด้วย หลังจากค้นบ้านนักศึกษาเป็นครั้งแรก จำได้ว่า พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 เข้ามาขอคุยกับผมและเพื่อนๆผ่านรองอธิการบดี จำการสนทนาตอนหนึ่งได้ว่า แม่ทัพภาค 4 ให้เรียกแกว่า อาอ๊อด พร้อมให้นามบัตรและเซ็นกำกับหลังนามบัตร ด้วยลายเซ็น และแกเน้นย้ำว่าเจอทหารหรือด่านตรวจที่ไหน ให้เอานามบัตรนี้โชว์ให้ดู ผมคิดในใจ ความหมายของบัตรหมายถึงอะไรหว่า ? เจอที่ไหนให้จับตัวใว้ก่อนหรือเปล่า แต่ผมไม่เคยคิดใช้มันเลย จนกระทั่งทำมันหายตอนไหนไม่ทราบ
ผมอยากจะสรุปสั้นๆเท่าที่จำได้ดังนี้
1 กิจกรรมนักศึกษาภายใต้กฎอัยการศึก สมัยนั้นหากว่าจะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องชายแดนใต้ มักจะมีทหารเข้ามาฟัง แต่ไม่ได้ใส่ชุดทหาร จะใส่ชุดนอกมาตลอดเวลา (แต่รองเท้าทหารไม่เคยเปลี่ยน) พวกเราต้องค่อยระวังและส่งสัญญาณบอกวิทยากรว่ามีทหารหรือตำรวจมาฟัง
2 การระแวงและสงสัยนักศึกษาบางคนว่าเป็นกลุ่มขบวนการ ทำให้มีตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งแถวๆด้านล่างของตึกเรียน
3 เรื่องการใช้โทรศัพท์ในการพูดคุยจะต้องค่อยระวังเป็นพิเศษ ต้องหาสรรหา รหัส สัญลักษณ์ ต่างๆในการคุยกัน เรื่องนี้ในเหล่านักกิจกรรมทางด้านเมือง วิเคราะห์กันว่า อาจจะมีการ “ดักฟัง” อันนี้มาจากเรามักจะได้ยินเสียงแทรกตลอดเวลา
4 สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจทหาร เรามักพบว่าจะมีกลุ่มเพื่อนๆนักศึกษาที่ทำงานร่วมกับทหาร และมักจะได้งบประมาณในการทำงานก้อนโต จัดกิจกรรมในสมานฉันท์ สันติภาพ รักกันใว้เถิดเรา ฯลฯ เช่น การพานักศึกษาไปเที่ยต่างจังหวัด จัดค่าย และเสวนาเชิงสานสัมพันธ์ทางศาสนา อันที่จริงแล้ว สมัยนั้นผมและพรรคพวกมักจะมองกลุ่มนี้ว่า เป็นนักศึกษาสายจัดตั้งของทหาร
5 สืบเนื่องมาจากข้อ 4 จะเพื่อนนักศึกษาบางคนทำหน้าที่รายงานข่าวกิจกรรมและแจ้งให้ทหารรับทราบ ถึงการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมสายการเมือง
6 เรามักจะพบอาจารย์บางคน ที่ค่อยสกัดกั้นการทำกิจกรรมทางด้านการเมืองของนักศึกษา เมื่อเราต้องใช้ทรัพยากรบางอย่างของมหาวิทยาลัยที่ต้องทำหนังสือขออนุญาติ โดยอ้างว่า กิจกรรมอาจจะเสี่ยงเกินไป พวกคุณดูแลไม่ไหว ลงพื้นที่หากเกิดระเบิดและความรุนแรง ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ กระทั่งการขอห้องเสวนาก็มักจะมีเหตุผลว่า โครงการไม่ได้อยู่ในแผน หรือว่าห้องประชุมไม่ว่าง ฯลฯ
7 ผมและพรรคพวกมักจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร โทรมาชวนกินน้ำชาและโรตี บอกว่าจะมีเรื่องคุยด้วย อยากแลกเปลี่ยน โดยส่วนใหญ่พวกผมจะกลัว ไม่มีทางไปเด็ดขาด
8 อาการหวาดกลัวรถทหารหรือว่ารถไม่มีป้าย ที่ขับมาวนแถวๆหอ หรือที่บ้านเช่า มักจะเป็นอาการหวาดกลัวที่แย่มากๆ เพราะทุกคนจะกลัวและนอนไม่ค่อยหลับ หรือไม่บางคนก็หลบไปนอนที่บ้านเพื่อนคนอื่นๆ และบ่อยครั้งมักจะมาตั้งด่านลอยแถวๆถนนเข้าบ้านพัก ตอนกลับจากมหาวิทยาลัยดึกๆจะกลัวมาก
9 เรามักจะเจอใบปลิวบ่อยๆหากว่าลงไปในพื้นที่ลึกๆ ยิ่งที่มีกฎอัยการศึกและการเข้มงวดของทหาร โดยเฉพาะถนนสายหลักหรือว่าทางเข้าหมู่บ้าน แน่นอนโดยส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับอำนาจทหาร
10 เรามักเจอเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมานั่งร้านน้ำชาตอนดึกๆ เพราะว่าหลังจากทำกิจกรรมตอนดึก ออกจากมหาวิทยาลัย ผมและพรรคพวกมักจะกินน้ำชาและโรตีเรามักเจอสายสืบตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารเสมอ สังเกตจากทรงผมและรองเท้า
สุดท้ายระหว่างที่เขียนทำให้ผมนึกคำขอร้องของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่ได้เข้ามาคุยกับผมและเพื่อนๆที่ห้ององค์การบริหารนักศึกษา มอ.ปัตตานีได้ เป็นคำขอร้องที่มีความหมายต่อชีวิตของผมไม่น้อย อาจารย์เกษียร ได้ขอร้องใว้ 3 อย่าง หากว่าเป็นไปได้ที่จะทำ ดังนี้
1 กิจกรรมที่ทำย่อมมีอุปสรรคลำบากเป็นธรรมดา แต่ถ้ารู้ตัวและเป็นไปได้ หากถึงคราวคับขัน "อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยง" เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีอะไรอีกมากที่คนวัยหนุ่มสาวมีการศึกษาอย่างพวกเขาจะทำได้เพื่อตัวเองและส่วนรวมต่อไปข้างหน้า
2 หากกิจกรรมที่ทำเชื่อว่าถูกต้องดีงาม "อย่าใช้ความรุนแรง" เพราะผลของความรุนแรงนั้นเมื่อมันทำร้ายทำลายอะไรลงไปแล้ว เราไม่มีทางฟื้นคืนให้มันเหมือนเดิมได้อีก และผู้ที่บาดเจ็บล้มตายไปทุกคนต่างก็มีคนที่รักอาลัยเขา คนเหล่านั้นย่อมเจ็บช้ำเสียใจต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเหมือนๆ กันไม่ว่าจะฝ่ายใด
3 ถ้าทำไหวและทำได้ "อย่าเลิกสู้" อย่าเลิกทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อช่วยผู้อื่นที่สูญเสียทุกข์ยาก เพื่อทำความยุติธรรมและความจริงให้ปรากฏ