เมื่อคนไม่ใช่มุสลิมเข้าชมภาพยนตร์เทิดเกียรติศาสนทูตมูฮัมหมัด
ท่ามกลางกระแสการถกเถียงและโต้แย้งกันอย่างเข้มข้นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ฮาลาลหรือไม่ฮาลาล มุสลิมสามารถไปชมได้หรือไม่ได้ บ้างก็โจมตีว่าการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ผิดหลักศาสนาและมีการรณรงค์ไม่ให้ไปเข้าชม ลามไปถึงเรื่องที่ว่า ตกลงสร้างให้มุสลิมชมกันเองหรือตั้งใจให้ต่างศาสนิกชมกันแน่ และอีกหลากหลายประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นนับถือศาสนาอิสลาม
ทันทีเมื่อทราบข่าวว่าหนังเรื่องนี้กำลังจะเข้าฉาย ผู้เขียนเกิดความสนใจว่าวิธีการนำเสนอของผู้สร้างจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าความเป็นไปเป็นมาของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เพื่อต้องการตอบโต้ภาพยนตร์ที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลามเมื่อหลายปีก่อนหรือในกรณีอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือแบบเดียวกันในการนำเสนอ ในขณะเดียวกันก็เพื่อสื่อสารให้กับคนต่างศาสนิกที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมีภาพในด้านลบต่อศาสนาอิสลาม รวมไปถึงการสื่อสารกับมุสลิมด้วยกันเอง เพื่อยืนยันว่ามุสลิมที่ดีนั้น ไม่ได้สนับสนุนความรุนแรง และมีมิติอื่นๆที่เต็มไปด้วยความสันติ
นอกจากประวัติความเป็นมาในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่น่าสนใจแล้ว ยังมีเรื่องของการนำหลักการทางศาสนามาใช้กับการถ่ายทำและจัดฉายภาพยนตร์ด้วย โดยทางผู้สร้างอธิบายว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีสิ่งที่ผิดหลักการศาสนา เช่น ไม่มีภาพการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ไม่มีการนำเสนอภาพของผู้หญิง ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ และการจัดฉายก็แบ่งเป็นที่นั่งฝั่งชายและฝั่งหญิง ข้อจำกัดทางศาสนาเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจ และอยากทราบว่าทางผู้สร้างจะนำเสนอหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างไร โดยเฉพาะข้อกำหนดหนึ่งในภาพยนตร์ที่ผู้เขียนรู้สึกไม่เห็นด้วย ซึ่งก็คือข้อกำหนดที่ว่า จะไม่มีสตรีอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย นั่นทำให้ในครั้งแรกที่ทราบข่าวก็เกิดความรู้สึกว่า ทำไมจึงไม่สามารถมีผู้หญิงอยู่ในภาพยนตร์ที่ฮาลาลได้ มีแต่ผู้ชายเท่านั้นหรือที่สามารถอยู่ในภาพยนตร์ที่ฮาลาล?
แต่ในเรื่องของหลักการทางศาสนาต่างๆหรือเหตุผลที่ทำไมถึงไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิงในภาพยนตร์ ผู้เขียนขอละเอาไว้ไม่พูดถึงในข้อเขียนนี้ เนื่องจากเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สามารถหยิบยกไปถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในการถกเถียงทางศาสนาและวิชาการ และอาจเขียนแยกได้เป็นอีกบทความหนึ่ง ดังนั้นผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะประเด็นการนำเสนอหรือเนื้อหาที่น่าสนใจ เทคนิคการถ่ายทำและการแสดงที่ปรากฎในภาพยนตร์เรื่องนี้
ประเด็นแรก เรื่องของโปรดักชั่นในการถ่ายทำภาพยนตร์ ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่าไม่ได้มีความคาดหวังมากนัก ซึ่งพอได้เข้าไปชมจริงๆ ปรากฏว่าเกินกว่าที่คาดหวัง ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้สร้างสามารถถ่ายทำออกมาได้ดีพอสมควร สถานที่ที่ใช้ในการดำเนินเรื่องมีความสวยงาม สมจริง และมีความเป็นธรรมชาติ บรรยากาศในภาพยนตร์ให้ความรู้สึกสงบ เมื่ออยู่ในพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือเมื่ออยู่ในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัย การจัดวางองค์ประกอบทำออกมาได้ดี
การกำกับภาพและการตัดต่อค่อนข้างเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีจุดที่รู้สึกสะดุดอยู่ไม่มากนัก ในส่วนของการแสดงซึ่งใช้นักแสดงมืออาชีพมาแสดงร่วมกับนักแสดงในพื้นที่ ก็ทำออกมาได้ดี ส่วนเรื่องของดนตรีประกอบที่ไม่มีส่วนประกอบของเครื่องดนตรีชิ้นใดเลย เพื่อให้ตรงตามหลักการทางศาสนาอย่างที่ผู้สร้างระบุไว้ ก็ไม่ได้ทำให้ตัวหนังขาดอรรถรสแต่อย่างใด เพราะมีการใช้เสียงร้องของคนและเสียงจากธรรมชาติมาประกอบ ซึ่งในบางช่วงอาจจะใช้เสียงเยอะเกินไปนิด แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่ไม่มากจนเกินไป โดยสรุปคือผู้สร้างสามารถพาผู้เขียนเดินทางไปกับภาพยนตร์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ประเด็นที่สอง เรื่องของบทภาพยนตร์ ในส่วนนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะนำเสนอเรื่องราวของการสืบสวนสอบสวนและมีบทผู้ร้าย มีตำรวจ มีพระเอก ตามแบบฉบับภาพยนตร์แอคชั่นดราม่าทั่วไป แต่มีส่วนที่เพิ่มเข้ามา คือการนำเอาบทบัญญัติของศาสนามาแทรกไว้ในบทสนทนาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งบทบัญญัติของศาสนาที่นำเสนอ เน้นในเรื่องของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ การปฏิบัติตนตามหลักศาสนา การไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง และการพยายามตอบคำถามของคนต่างศาสนิกในประเด็นต่างๆ ที่มักถูกตั้งคำถามถึง
ในส่วนของการนำเสนอนี้มีจุดหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ค่อยชอบนัก คือการนำเสนอภาพความรุนแรงที่ตรงไปตรงมาโดยไม่จำเป็น บางฉากที่มีการทำร้ายหรือฆ่ากัน ถ้าผู้กำกับสามารถใช้เทคนิคในการถ่ายทำในรูปแบบอื่นได้ น่าจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ฉากที่มีความรุนแรงมากนัก และอีกจุดที่ผู้เขียนคิดว่า ถ้าวางตัวละครให้ผู้ร้ายในภาพยนตร์เป็นคนมุสลิมด้วยกันเอง อาจทำให้ภาพยนตร์มีมิติที่ลึกขึ้น นอกจากการนำเสนอภาพมุสลิมที่เป็นคนดีแต่เพียงฝ่ายเดียว
ประเด็นที่สาม สารที่ได้รับจากการเข้าชมภาพยนตร์ ในฐานะของคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดเป็นพิเศษ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นผู้ไม่มีศาสนาในเชิงสถาบัน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนที่นับถือศาสนาต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะกับพี่น้องชาวมุสลิมมลายูในสามจังหวัด ความรู้สึกแรกหลังจากรับชมภาพยนตร์คือ รู้สึกดี ที่มีโอกาสได้เห็นการใช้สื่อที่ทรงพลังชนิดหนึ่งนั่นก็คือภาพยนตร์ ในการทำความเข้าใจกับคนต่างศาสนาหรือแม้กระทั่งคนในศาสนาเดียวกัน และในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะใช้เครื่องมือชนิดนี้ ในการโต้แย้งผู้ที่ดูหมิ่นหรือมีอคติต่อศาสนาอิสลาม (ในความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องมุสลิม) โดยไม่ใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่น เหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่
อีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกได้จากการนำเสนอในแง่ของเนื้อหาและรู้สึกชื่นชมจากใจจริง คือการพยายามเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ผ่านทางคำพูดและการกระทำของตัวละครในภาพยนตร์ ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความตั้งใจที่จะเปิดรับพี่น้องต่างศาสนิกให้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสวิถีของคนมุสลิม ให้รู้จักศาสนาอิสลามและมุสลิมที่ไม่ได้มีแต่แง่มุมของการนำเสนอภาพความรุนแรง การก่อการร้ายผ่านสื่อต่างๆแต่เพียงเท่านั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างศาสนาแต่อย่างใด แม้กระทั่งความขัดแย้งในสามจังหวัดก็ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิด แต่มุ่งเน้นไปที่การกระทำในระดับปัจเจกบุคคล การดำรงตนอยู่ในวิถีมุสลิมที่ดีตามแบบอย่างของศาสดามูฮัมหมัด ภาพของมุสลิมที่เต็มไปด้วยความอ่อนน้อมและเมตตาต่อคนต่างศาสนิกถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีส่วนใดเลยที่กีดกันคนต่างศาสนิกออกไป
โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนมีความรู้สึกชื่นชมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าข้อถกเถียงเรื่องหลักการทางศาสนาในหมู่ผู้ศรัทธาจะดำเนินไปอย่างไร มีหรือไม่มีข้อสรุปอย่างไร ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเปิดใจรับชมภาพยนตร์ของผู้เขียน หากมองในมุมของคนต่างศาสนิก ที่ไม่ได้มีความรู้เชี่ยวชาญทางศาสนามากเท่ากับผู้ที่ศึกษาศาสนาโดยตรง ผู้เขียนคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมาะสำหรับคนต่างศาสนิกที่พร้อมจะเปิดใจรับชมและอยากศึกษาวิธีคิดของผู้คนในศาสนาอิสลามในเบื้องต้น และไม่ใช่แค่คนต่างศาสนิกเท่านั้น ผู้เขียนคิดว่าแม้กระทั่งในหมู่ผู้ศรัทธาที่มีความเห็นที่แตกต่างกันก็น่าจะมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก่อนที่จะเริ่มถกเถียงกันต่อไปว่าถึงที่สุดแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมามีเนื้อหาอย่างไร แล้วมีตรงจุดใดบ้างที่เป็นปัญหาหรือสมควรได้รับความชื่นชมตามความเป็นจริง แต่น่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายจำกัดเฉพาะในบางพื้นที่ หากผู้สร้างสามารถแก้ไขข้อจำกัดในการฉายได้ ก็น่าจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าถึงกลุ่มผู้สนใจได้มากขึ้น
หมายเหตุ : ความเห็นของผู้เขียน เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่มีความใกล้ชิดกับศาสนาอิสลามในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ในแง่ของความสัมพันธ์ระดับปัจเจก และประสบการณ์ส่วนตัวในวัยเด็กที่มีความผูกพันกับครอบครัวชาวมุสลิม ดังนั้นอาจแตกต่างจากพี่น้องต่างศาสนิกท่านอื่นๆ