ร่องรอยความย้อนแย้งสันติภาพปาตานี ตอนที่ 1
ตลอดระยะเวลา 11 ปี ไฟใต้นับจากปี 47 เป็นต้นมา ประเด็นที่ได้รับความสนใจของสาธารณะมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องสถานการณ์ความรุนแรง และความเป็นธรรมในพื้นที่ อย่างไรก็ดีในห้วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ประเด็นที่ได้รับสนใจเป็นน้องใหม่มาแรง คือเรื่องของการเจรจาสันติภาพปาตานี ยิ่งภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้มีโจทย์มากมาย ต้อง“ปวดหมอง” ต่อเนื่องจากคณะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ล่าสุดต้นปี 58 การขับเคลื่อนการเจรจาสันติภาพกลายเป็นเรื่องตลกหกเก้าจากท้องทุ่งชุมชนปาตานีถูกแทนที่ด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุข
“สันติสุข” ต่างจาก “สันติภาพ” อย่างไร เหตุใดจึงต้องเปลี่ยน แล้วมีผลต่อนัยยะทางการเมืองอย่างไร อีกทั้งสถานการณ์ความรุนแรง ที่ยังซ่อนบาดแผลความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ อยู่ตรงไหนในสนามกระบวนการสันติภาพ หรือ สันติสุข
ทั้งนี้ปาตานี ฟอรั่ม พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการ “ตื่นรู้”จึงชวนพลเมืองตื่นตัวเสวนาในหัวข้อ “สันติสุข ยุติธรรม ความรุนแรง” สถานการณ์ย้อนแย้งสันติภาพปาตานี โดยมีวิทยากรชวนคุยทั้งนักรณรงค์ในพื้นที่ นักสิทธิ นักกฎหมาย และนักวิชาการ
ตูแวดานียา ตูแวแมแง จากสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) นักกิจกรรมทางสังคมในพื้นที่ปาตานี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนจากกระบวนการสันติภาพเป็นสันติสุขของรัฐบาลปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดของฝ่ายความมั่นคงในการประเมินศักยภาพของขบวนการ BRN ที่ต่ำเกินไปในการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา ที่มีการยอมรับสถานะภาพของขบวนการว่าเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อเอกราช แต่หลังจากที่ ฮัสซัน ตอยิบ แถลงการณ์ผ่าน Youtube โดยมีเงื่อนไข 5 ข้อ ตอบโต้การนำเสนอของรัฐไทยผ่านสื่อกระแสหลักว่า BRN ยอมรับการพูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องประเมิน BRN ใหม่ จึงทำให้รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันตัดสินใจปรับลดระดับจากการเจรจาสันติภาพเป็นการพูดคุยสันติสุขซึ่งเป็นการลดระดับของการเจรจาและของขบวนการไปในตัว
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพไม่ราบรื่น เนื่องจากทิศทางการพูดคุยไม่ตอบโจทย์เป้าหมายของขบวนการฯ”
สอดคล้องกับ ฟาเดล หะยียามา ที่เรียกตัวเองว่านักจับฉ่ายวิทยา วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนจากกระบวนการสันติภาพเป็นการพูดคุยสันติสุขมีนัยสำคัญทางการเมือง คำว่าสันติภาพกับสันติสุขซึ่งมีความแตกต่างที่นัยสภาพของคำกล่าวคือ คำว่า “สันติภาพ” เป็นคำสนธิของคำว่า สันติ แปลว่า ความสงบ ความผาสุก กับคำว่า สภาพ ที่มีความหมายตรงตัว ดังนั้นเมื่อรวมกันเป็นคำว่า สันติภาพ จึงหมายถึง สภาพที่เอื้อให้เกิดความสันติและความสงบ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องสิทธิ ความยุติธรรม และการยอมรับในอัตลักษณ์ ฯลฯ จึงจะก่อให้เกิดสภาวะนี้ขึ้นมาได้ ต่างจากคำว่า “สันติสุข” ซึ่งเป็นเพียงแค่สภาวะที่ไม่มีความขัดแย้งโดยไม่ได้ให้ความสำคัญปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยสภาพดังกล่าว
“ทำให้การเปลี่ยนจากกระบวนการสันติภาพเป็นสันติสุขจึงมีผลอย่างยิ่งในระดับนโยบาย เพราะภาษาที่เปลี่ยนไปจะถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีผลในทางกฎหมายและทางการเมือง เท่ากับเป็นการลดระยะทางกระบวนการสันติภาพจากโต๊ะเจรจาที่ผ่านมาที่คุยเรื่อง สิทธิความเป็นตนเอง สิทธิความเป็นเจ้าของ มาเป็นเพียงการเจรจาสันติสุขในระดับเพื่อยุติการก่อความรุนแรง และเป็นการลดสถานะขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเป็นเพียงผู้ก่อความรุนแรงในสังคมไปในตัว”
ขณะที่ปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ปาตานีภายใต้กฎหมายพิเศษเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดต่อสังคมซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคเหนี่ยวรั้งการสร้างสันติภาพในพื้นที่ ในปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งได้ล่วงเลยมา 11 ปีที่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะประเมินว่าสถานการณ์ความเป็นธรรมภาพรวมในพื้นที่เป็นอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพื่อที่จะขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้จริงในอนาคต
ประเด็นนี้ อนุกูล อาแวปูเต๊ะ จากศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า อำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายพิเศษเป็นของฝ่ายความมั่นคงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนอำนาจในการดำเนินคดีเป็นของฝ่ายตุลาการ ดังนั้นโครงสร้างของฝ่ายตุลาการจึงแยกจากฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ ทำให้ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมขึ้นในพื้นที่มากมาย
“การใช้อำนาจภายตามกฎหมายพิเศษซึ่งฝ่ายความมั่นคงที่ใช้เครื่องมือนี้ในทางที่ผิด กล่าวคือ มีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดเค้นข้อมูลเพื่อขยายผลไปยังเครือข่ายต่างๆ และการบังคับสารภาพด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซ้อมทรมาน และพบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี โดยที่ไม่สามารถเอาผิดใดๆ กับเจ้าหน้าที่ได้เลย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากกระบวนการเหล่านี้ได้กลายมาเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีในชั้นกฎหมายปกติ ทำให้เกิดการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในพื้นที่มากมาย”
ทนายอนุกูล ยังกล่าวอีกว่า ภายใต้ปัญหาความไม่เป็นธรรมดังกล่าว นอกจากโครงสร้างฝ่ายตุลาการที่ไม่เอื้อต่อการที่ศาลจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว การเรียกร้องของประชาชนต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องใดๆ
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลไกรัฐภายใต้กฎหมายพิเศษไม่ได้เอื้อให้เกิดความเป็นธรรม ซ้ำร้ายกลับปล่อยให้เกิดความไม่เป็นธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมาย จากปัญหาเหล่านี้ทำให้ตัวเลขคดีความมั่นคงที่สูงขึ้นไม่ได้สะท้อนความคืบหน้าในการจัดการปัญหาใดๆ ในทางตรงข้ามกลับสะท้อนโครงสร้างความไม่เป็นธรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นกับดักที่ผลักกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มความซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่”
“ส่วนในเรื่องการปรับปรุงนโยบายของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่นั้น แม้รัฐจะมีวาระไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการการสร้างความเป็นธรรม แต่ยังคงมีปัญหาในการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ดังเช่นในกรณีการดำเนินคดีแม้อัยการเริ่มมีการนำหลักฐาน เช่น DNA นิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการฟ้องคดีแทนคำซักทอด ซึ่งทำให้การฟ้องคดีในพื้นที่ลดลง แต่สถิติการร้องเรียนของประชาชนจากการปิดล้อม ตรวจค้น การติดตามผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ก็ยังคงที่”
“ขณะที่ปัญหาการซ้อมทรมานแม้ในปัจจุบันมีตัวเลขลดลง แต่ภายใต้สภาวะที่ไม่มีการตรวจสอบก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะไม่เกิดการทรมาน นอกจากนี้ปัญหาการไม่ได้ลบข้อมูลระบบยังทำให้การดำเนินคดีในปัจจุบันยังคงมีปัญหา เนื่องจากยังมีการดำเนินคดีตามหมายจับเก่าที่มีความบกพร่องในการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงทำให้การฟ้องในหลายคดีถูกศาลยกฟ้อง ซึ่งสะท้อนถึงความบกฟ้องของกระบวนการยุติธรรมและเป็นการสร้างความระแวงต่อคนทั้งในและนอกพื้นที่อีกด้วย” ทนายอนุกูลระบุ
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้การมองปัญหาความเป็นธรรมในพื้นที่มิอาจมองเพียงมิติทางกฎหมาย (การทำผิดกฎหมาย การดำเนินคดีตามกฎหมาย) อย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะจะทำให้คำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมหายไป ดังนั้น จึงต้องมองในมิติรัฐศาสตร์ด้วยว่ากฎหมายเหล่านั้นยุติธรรมหรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร นี่เป็นคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้หากต้องการเห็นสันติภาพในพื้นที่ในเร็ววัน
ปัญหาความรุนแรงในปาตานี/ชายแดนใต้ เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลที่ไม่ใช่แค่เพียงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน หรือมีผู้พิการทุพพลภาพทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่ความเสียหายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในพื้นที่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ความรุนแรงในพื้นที่มีการลดระดับลงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่กำลังจะลดลงหรือมีนัยอย่างไร และจะนำสู่หนทางสันติภาพในพื้นที่จริงหรือไม่?
ตูแวดานียา สะท้อนว่า ความรุนแรงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจากการประเมินของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยงานข่าวกรองที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการมองว่า ความรุนแรงที่ลดลงไม่ได้สะท้อนสัญญาณที่ดีว่าเหตุการณ์กำลังลดลง หากแต่เป็นช่วงที่ฝ่ายขบวนการกำลังปรับโครงสร้าง หลังจากที่งานการข่าวของรัฐมีคุณภาพดีขึ้นทำให้การดำเนินการจับกุมปราบปรามของรัฐมีความแม่นยำมากขึ้นจึงเป็นเหตุให้ขบวนการต้องปรับตัว ปรับโครงสร้าง และมีการปิดลับมากขึ้น ประกอบกับกระแสการพูดคุยสันติสุข จากรัฐที่มีความเข้มข้น ทำให้มวลชนทั้งในและนอกพื้นที่เรียกร้องการลดความรุนแรง และสนับสนุนการเจรจา จึงทำให้ขบวนการต้องสงวนท่าทีในกิจกรรมทางอาวุธ
นอกจากนี้ตูแวดานียา ยังวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ภัยน้ำท่วมที่หนักหน่วงโดยเฉพาะรัฐกลันตันซึ่งเป็นพื้นที่หลังพิงของขบวนการทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ในก่อเหตุของขบวนการได้รับความเสียหาย สิ่งเหล่านี้ทำให้การก่อเหตุในพื้นที่ลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการอ่อนแอลง ท่าทีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับขบวนการว่า มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางใด โดยเปรียบเทียบจากกรณีตัวอย่างในต่างประเทศซึ่งจำแนกเป็น 3 รูปแบบดังนี้
1) รัฐใช้วิธีการปราบปรามอย่างเข้มข้น เพื่อบีบให้ฝ่ายขบวนการไม่สามารถต่อรองโดยใช้อาวุธได้ จนสุดท้ายต้องจำยอมเจรจากับรัฐยอมรับข้อเสนอภายใต้รัฐธรรมนูญ
2) ฝ่ายขบวนการยกระดับการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างหนักหน่วงเข้มข้น(ซึ่งอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอถึงขั้นสามารถบีบรัฐให้ยินยอมเจรจาโดยยอมรับสถานะขบวนการ) จนทำให้กลไกสิทธิมนุษยชนต้องเข้าแทรกแซง และยกระดับสถานะปัญหาความขัดแย้งให้เป็นวาระสากล โดยมี NGOs ที่ทำงานด้านสันติภาพและเกี่ยวข้องกับกลไกกฎหมายระหว่างประเทศพยายามสร้างบรรยากาศให้มีพื้นที่การเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก จนนำไปสู่ทางออกแบบ win-win solution ที่คู่ขัดแย้งชนะร่วมกันแพ้ร่วมกัน และถอยคนละก้าวโดยที่ทางออกไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดิม
3) ขบวนการปฏิบัติการมวลชนควบคู่กับปฏิบัติการทางอาวุธอย่างเข้มข้น จนมีมวลชนจำนวนอย่างน้อย 10 % ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ร่วมออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าต้องการสันติสุภาพแบบใดผ่านรัฐสภาหรือผ่านโต๊ะเจรจาของคู่ขัดแย้งหลัก หรือผ่านการโหวตเสียงแบบการเลือกตั้งตามหลักการประชาธิปไตยสากลซึ่งไม่ใช่เลือกตัวบุคคลแต่เลือกประเด็นหมายถึงรูปแบบทางเลือกสันติภาพ เช่น กระจายอำนาจ การปกครองตนเองแบบพิเศษ และเอกราช จนทำให้ตัวแสดงหลักเหล่านี้จำเป็นต้องหันมาฟังเสียงของประชาชน
"ปัจจุบันไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าความขัดแย้งในพื้นที่จะคลี่คลายไปในทิศทางใดจากสามรูปแบบข้างต้น แต่หากวิเคราะห์จากลักษณะการต่อสู้ของ BRN (กลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในพื้นที่) ที่มียุทธศาสตร์หลักเน้นการปฏิบัติการมวลชน โดยมีวิธีการสู้รบแบบกองโจรที่ประชาชนทุกสาขาอาชีพสามารถเป็นสมาชิกและร่วมปฏิบัติการได้พร้อมๆ กับการประกอบอาชีพหลักของตน ซึ่งสร้างความสับสนต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการแยกแยะระหว่างสมาชิกขบวนการกับมวลชนทั่วไป"
“เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายรัฐเกิดความผิดพลาดกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อมวลชนทั่วไปก็จะส่งผลกระทบต่อกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยปริยาย นอกจากนี้ ตูแวดานียา ยังเสริมอีกว่า ในช่วงหลังมีความพยายามจากขบวนการจะสื่อสารกับรัฐและองค์กรระหว่างประเทศเห็นได้จากการสื่อสารข้อความต่างๆ ที่เริ่มหันมาใช้ภาษาอังกฤษ จากวิธีการเหล่านี้จึงวิเคราะห์ได้ว่าขบวนการมียุทธวิธีการต่อสู้ที่มีแนวโน้มสอดคล้องตามรูปแบบที่ 2 และ 3 ซึ่งขัดแย้งกับยุทธศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายรัฐที่มีความพยายามจะบีบบังคับขบวนการด้วยวิธีการต่างๆ ผ่านกระบวนการสันติสุข”
“ล่าสุดก็มีการลดกองกำลังทหารจากนอกพื้นที่ แต่เพิ่มกำลังจากในพื้นที่ในรูปของ ชรบ. และ อรบ. โดยมีการเพิ่มอาวุธปืนจำนวน 2,000 กระบอก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามเพิ่มความเข้มข้นของกิจกรรมอาวุธและเป็นการโดดเดี่ยวขบวนการจากมวลชน เพื่อให้ขบวนการจำยอมเจรจากับรัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับรูปแบบที่ 1”
สภาวะอันย้อนแย้งของการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการขับเคลื่อนการเจราสันติภาพ ให้กลายเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข รวมทั้งความความรุนแรงที่ไม่บรรเทาลง และการอำนวยความยุติธรรมที่ยังเป็นอุปสรรค จะส่งผลต่อกระบวนการขับเคลื่อนสันติภาพอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป..