จับฉ่ายปาตานี : ภาษีฉบับ “เหนือเมฆ” สะกิดคนรวยแต่ซวยถึงรากหญ้า
“ภาษี” ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับชาวบ้านรากหญ้านะครับ ชั่วชีวิตของหลายๆคนอาจไม่รู้จักภาษีเลยด้วยซ้ำ หรือสัมผัสกับรสชาติการเสียภาษีประจำปีเพียงไม่กี่อย่าง พาลคิดไปว่าภาษีอะไรก็คงไม่มีผลกระทบกับชีวิตตัวเองมากมายนัก ยิ่งหากพูดด้วยบริบทของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พื้นที่ที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย”ด้วยแล้ว ภาษีไม่ใช่เรื่องแรกๆที่ชาวบ้านสนใจแน่ๆ
ห้วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นโยบายรัฐบาลปัจจุบันโดยการนำของ พณฯท่าน พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเสนอนโยบายภาษีใหม่หลายแพคเกจทีเดียว หนึ่งในนั้นคือนโยบายภาษีอสังหาริมทรัพย์ หรือภาษีที่ดินและที่อยู่อาศัยครับ รายละเอียดคร่าวๆ คือเป็นนโยบายการเรียกเก็บภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยและที่ดินที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 คือพูดง่ายๆ คือ บ้านราคา 1 ล้านบาท เก็บภาษี 1,000 บาท ต่อปี ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะมีการจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่านี้
นโยบายนี้ย่อมมีเหตุจำเป็นที่จะถูกประกาศใช้อย่างแน่นอน หากมองในแง่ของการบริหารการคลังแล้ว เรามองได้สองมุมนะครับ ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ถือเป็นการยักย้ายผลประโยชน์จากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ไปสู่ภาษีรัฐเพื่อส่งต่อไปยังประชาชน อาจจะเป็นในรูปแบบของสวัสดิการสังคมที่เพิ่มขึ้น หรืออะไรก็สุดแล้วแต่รัฐบาลจะเห็นชอบครับ ส่วนอีกนัยหนึ่งอาจเป็นด้วยว่า รัฐบาลเริ่มจะกระเป๋าฉีกเสียแล้ว เลยต้องหาเงินเข้าคลังเพื่อความอุ่นใจ
โดยปกติแล้วภาษีที่เพิ่มขึ้นถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รัฐจึงต้องประโลมใจประชาชนด้วยสวัสดิการทางสังคมที่สูงขึ้นเป็นต้นว่าสวัสดิการด้านสุขภาพหรือสวัสดิการผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ฯลฯ แต่นโยบายภาษีครั้งนี้ดูจะขัดแย้งกับนโยบายสวัสดิการสังคมปัจจุบันที่ประชาชนได้รับ นโยบายสวัสดิการด้านสุขภาพที่ชาวบ้านรากหญ้าเคยใช้ประโยชน์ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคก็กำลังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน มีแนวคิดจะยกเลิกอยู่ตลอดเวลา ส่วนคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆนั้น รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถนำเสนอแนวนโยบายที่ชัดเจนต่อสาธารณะได้เลย ดังนั้นหากถามว่าภาษีก้อนใหม่ที่เรียกเก็บได้จะถูกนำไปพัฒนาในด้านไหน คงจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ณ เวลานี้ครับ
ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่อีกมากและเช่นเดียวกับอีกหลายสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ภาษีมักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแรกๆในการจัดการความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยภาษีจะถูกเรียกเก็บเพื่อกระจายรายได้จากผู้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ (เรียกง่ายๆว่าคนมีอันจะกิน) ไปสู่ผู้ที่ยังด้อยโอกาสทางสวัสดิการสังคม(เรียกง่ายๆอีกว่า ชาวบ้านชั้นรากหญ้า) ฟังดูสวยงามเพราะนี่คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์เค้าสอนกันทั่วไปในมหาวิทยาลัยและผู้เขียนเองก็เข้าใจว่าควรเป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติยังห่างไกลจากทฤษฎีอยู่มากครับ การเก็บภาษีตามนโยบายใหม่นี้หากมองเพียงผิวเผินก็จะเข้าใจไปว่า เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้มีอันจะกิน (มีบ้านมีที่ดินมูลค่าเป็นล้าน) เพื่อกระจายรายได้สู่สาธารณะ ชาวบ้านรากหญ้าคงจะได้ประโยชน์เต็มที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล่าบรรดาผู้มีอันจะกินมักจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีอันน้อยนิดนี้หรอกครับเนื่องจากมีช่องทางและกระบวนการมากมายที่จะช่วยลดภาระด้านภาษี แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆคือ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านรากหญ้าต่างหากละครับ
อย่าลืมนะครับว่า บรรดาห้างร้านที่เปิดให้ชาวบ้านเช่าพื้นที่ค้าขาย อพ้าร์ทเม้นต์ คอนโด ห้องเช่า ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามนโยบายใหม่ทั้งสิ้นเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาทและหากต้องเสียภาษีจริงบรรดาเจ้าของพื้นที่คงไม่ยอมเสียภาษีเองอย่างแน่นอน แต่จะผลักภาระออกไปด้วยการ “ขึ้นค่าเช่า” ซึ่งแน่นอนว่าผู้เช่าพื้นที่ค้าขายหรือชาวบ้านที่เช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัยต้องเผชิญภาวะค่าเช่าที่แพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพและต้นทุนค้าขายในแบบที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย
ผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้
ความเป็นจริงแล้วนโยบายภาษีใหม่ย่อมส่งผลกระทบกับทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ด้วยบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อ่อนไหวอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจถูกสะท้อนออกมาด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่นั้นมักจะถูกยึดโยงกับเงื่อนไขจากนโยบายรัฐอยู่เสมอครับ
โดยเนื้อแท้ของนโยบายภาษีใหม่แล้วภาระทั้งหมดจะถูกผลักกลับมาที่ชาวบ้านรากหญ้าในรูปของการขึ้นค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าพื้นที่ค้าขาย ซึ่งท้ายที่สุดจะบานปลายเป็นการเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ประชาชนไปโดยปริยาย และหากเป็นบริบทของพื้นที่ขัดแย้งอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว สภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถดถอยจะกลับกลายเป็นการถ่างช่องว่างระหว่างรัฐและประชาชนเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นเงื่อนไขให้เกิดความชอบธรรมในการสร้างพื้นที่ทางการเมืองของฝ่ายเห็นต่างจากรัฐด้วยการใช้ช่องทางในรูปแบบต่างๆเพื่อดึงการสนับสนุนจากประชาชนด้วยการหยิบยกประเด็นภาวะปากท้องของประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้สร้างผลงานอันน่าประทับใจจากการประกาศอนุญาตให้ประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรในเขตอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโดได้เข้าไปใช้ประโยชน์ แต่รัฐกลับอาจต้องเสียกระบวนอีกครั้งจากการผลทางด้านลบจากนโยบายภาษีใหม่ในครั้งนี้
และถึงแม้รัฐจะชี้แจงว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ ขอให้สังเกตครับ ว่าท้ายที่สุดแล้วการเก็บภาษีบ้านและที่ดินผลจะจบลงตรงที่การขึ้นค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าร้านค้าเกือบทั้งหมด ซึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นหลายครอบครัวที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและอาศัยอยู่ในบ้านเช่ายังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชุมชนเมือง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่ตามอพาร์ทเม้นต์และบ้านเช่าอีกเป็นจำนวนหลายหมื่นคนที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพของสังคมเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูงขึ้นจากเดิม เป็นการบั่นทอนการดำรงชีวิตของประชากรชนชั้นกลางในชุมชนเมืองซึ่งแต่เดิมนั้นถือเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐมาโดยตลอด
สภาวะในระยะยาวที่เป็นผลจากประชาชนถูกบีบให้เพิ่มค่าครองชีพคือบรรยากาศการค้าขายที่ซบเซา และการใช้จ่ายที่ระมัดระวังยิ่งขึ้นหรือเรียกกันว่า “ภาวะตลาดซบเซา” ซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับเป้าหมายของรัฐที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนในพื้นทีอันเป็นเงื่อนไขลำดับต้นๆที่รัฐบาลพูดถึงมาโดยตลอดว่าเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมกับผู้เห็นต่างจากรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
สถานการณ์ต่อไปหลังจากนี้รัฐหรือแม้กระทั่งฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐอาจจะต้องเผชิญหน้ากับบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพที่ถูกสั่นคลอนด้วยปัญหาปากท้องของประชาชนในพื้นที่ และอาจเริ่มมีคำถามใหม่ๆจากประชาชนว่ากระบวนการสันติภาพจะตอบโจทย์ปัญหาปากท้องและการดำเนินชีวิตของประชาชนต่อไปได้อย่างไรในจังหวะเวลาที่สันติภาพดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวแต่ปากท้องได้กลายเป็นปัญหาแรกๆที่ประชาชนต้องการคำตอบ
เชื่อเถอะครับ เรื่องปากท้อง จะเป็นตลกร้าย ของกระบวนการสันติภาพปาตานี แบบเหนือเมฆ...