ก้าวผ่านความชังตามขนบแบบอินเดีย (ตอนจบ)

“โลกจะดำเนินไปอย่างไรเล่า หากความขมขื่นให้รางวัลเป็นความขมขื่น                                                                                                    
ความเจ็บปวดคือสิ่งที่คืนให้แก่ความเจ็บปวด ความเกลียดชังให้แก่ความเกลียดชัง                                                                                                   
ถ้าบิดาสงสัยในบุตร บุตรสงสัยในบิดา และถ้าความเชื่อมั่นต่อกันได้หายสิ้นไปในระหว่างสามีและภรรยาเล่า ?”
(ในงานแปลของ Lal, The Mahabharata,P.144-145)

ความแตกต่างบนโลกแห่งความไม่เหมือน ยากที่จะให้มนุษย์และเพื่อนร่วมโลกเปิดใจกว้างและยอมรับกันอย่างจริงใจ “แต่มันคงเป็นสิ่งที่ยากกว่า  หากมนุษย์ไม่พยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น จนความไม่เหมือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ความต่างที่ไม่มีทางทำให้เหมือน ความแปลกที่ยากที่จะปรับแต่ง ทั้งหมดคือ ตัวฉนวนเล็ก ๆ ที่เทะเล็มความเป็นเพื่อนร่วมโลกกันอย่างเลือดเย็น”
ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางไปไกลกว่า ๖๐๐ กิโลเมตร ผ่านตั๋วรถไฟราคามากกว่า ๖๐๐ รูปี (สกุลเงินของประเทศอินเดีย ๑๐๐ บาท เท่ากับ ๑๖๐ รูปี) การเดินทางครั้งนี้ได้บทเรียนบางอย่างของความต่างที่สังคมต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อความอยู่รอด แม้พื้นฐานของสังคมมีสิ่งที่ไม่เหมือนค่อนข้างมาก ๆ พอ ๆ กับสังคมไทยที่ดำเนินกันอยู่

ความไม่เหมือนอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบเจอ นับเป็นความแปลกที่จัดการอย่างลงใต้ภายใต้เกลียวคลื่นของ “ผู้คนที่เจอ บทเรียนอย่างหนึ่งมาเหมือนกันและโดนกระทำมาจากบทเรียนแบบนั้นไม่ต่างกัน”  บทเรียนครั้งนั้นทำให้เป็นฝันร้ายของผู้คนและเพื่อนร่วมสังคมทั้งหมดเหล่านั้นไม่ได้ทำให้มันกลายเป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง หาไม่แล้ว ความผิดพลาดครั้งที่สอง ถ้าเกิดขึ้น ไฟแห่งสงครามปะทุขึ้นและโหดร้ายกว่าครั้งแรกเป็นแน่
ความไม่เหมือนในมุมศาสนาของประเทศอินเดีย  ไม่ว่าจะเป็น ฮินดู ซิกห์ อิสลาม ที่เกลียวแห่งมิติศาสนาหมุนไปคนละเส้นทางอย่างน่าทึ่งความต่างของศาสนา ข้าพเจ้าขอนำมาอธิบายและพูดคุยในภายหลัง บทเรียนอย่างหนึ่งที่มุสลิมอินเดียเจอมาเหมือนกันนั่นก็คือ “เมื่อใดที่เราแสดงถึงความอ่อนแอออกมาให้เห็น แม้กระทั่งสีหน้า เราก็จะโดนเผาบ้าน”  เสียงหนึ่งจากชายหนุ่มอินเดียที่ข้าพเจ้าได้นั่งแลกเปลี่ยนท่ามกลางวงจิบชาในอากาศหนาวของทุก ๆ ปลายปี (ปลายพฤศจิกายน-ปลายกุมภาพันธ์)

ความจริงอย่างหนึ่งของความไม่เหมือนสำหรับมุสลิมในอินเดียที่มีให้เห็นและปรากฏชัด ประมาณ ๓ – ๔ อย่างนั่นก็คือ
อย่างแรกสุด มุสลิมนิกายชีอะ (Muslim Shi’ah)ที่ฝังรกรากของตัวเองผ่านวิถีปฏิบัติแบบอีหม่ามสิบสองอย่างยาวนานในหัวเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาลีกัร บังกาลอร์ อักรา นิวเดลลี โดยเฉพาะเมืองลักเนาว์ กระแสความเป็นอิหม่ามสิบสองแบบชีอะห์ในพื้นที่ย่านนี้มีความเข้มข้น สถาบันสอนศาสนาหลายแห่งกลายเป็นที่รองรับผู้คนในแนวความคิดเหล่านี้  จนกระทั่งคนในประเทศอินเดียพูดได้เต็มปากว่า “แหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งชีอะห์”

เทศกาลต่าง ๆ ที่ชีอะห์ได้นำมาปฏิบัติได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมชุมชนเป็นอย่างดีและไม่มีการออกมาขัดขวางการกระทำดังกล่าว แม้คนเหล่านั้นไม่ใช่ชาวอิหม่ามสิบสองก็ตาม ขบวนแห่เดินผ่านซอกซอยในถนนหน้าบ้านเช่า ผู้คนที่เป็นสาวกแห่งแนวความคิดเหล่านี้ก็ได้ออกมารวมกลุ่มกัน และมุสลิมที่ตามแนวความคิดของซุนนี่ก็ไม่ได้ออกมาห้ามปรามการชุมนุมแต่อย่างใด  รถราต้องหยุดวิ่งและคอยให้ขบวนเดินผ่านไป ไม่มีการปะทะหรือเสียดสีกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็น “การรักษาความเป็นเอกภาพของสังคมที่อยู่ในท่ามกลางบทเรียนแห่งความเสี่ยงและการสูญเสียที่ผ่านมาพอๆ กัน”

กระทั่งมหาวิทยาลัย Aligarh Muslim (บ้านของอาลี) ได้เปิดสอนวิชาการศาสนาในวิชาเอกชีอะห์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แม้ทุกวันนี้แนวความคิดเหล่านี้มันหดหายไปมากแล้วก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์อธิบายได้อย่างเด่นชัดถึงความรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง
อย่างที่สอง  มุสลิมสายไหว้กุโบร์หรือบางกลุ่มรู้จักในนาม Muslim Barelli กระแสการไหว้กุโบร์หรือ วัฒนธรรมการบูชาผู้ตายไม่ได้เป็นเหมือนการทำบุญกุโบร์(พบปะญาติและพัฒนาสุสาน)ที่คนในประเทศไทยจัดกันปีละหนึ่งครั้ง  ทว่า พิธีกรรมการไหว้กุโบร์ที่ประเทศอินเดียได้พัฒนาไปไกลมากจนกระทั่ง  ใครที่เสียชีวิต สุสานของเขาจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีจากกลุ่มชนที่มีความเชื่อกับภาพเหล่านั้น สุสานเต็มไปด้วยธูป  เทียน  และผู้คนเรือนร้อยเรือนพันมาเวียนรอบสุสาน
บ้างก็มีจูบ  ลูบ  เลีย เพื่อนำมันมาเป็นส่วนหนึ่งของความศิริมงคลให้กับชีวิต “แนวความคิดเหล่านี้ไม่ได้ใช้ศพของผู้รู้ในกุโบร์เป็นสื่อ (วาซีละ)ผ่านไปยังพระเจ้า” แต่มันกลายเป็นอะไรที่มากไปกว่านั้น นั่นก็คือ “กลายเป็นการบูชาและกราบไหว้สุสานไปในที่สุด” ผู้คนที่มีความเชื่อในลักษณาการเหล่านี้มีการแต่งกายที่ค่อนข้างต่างไปจากคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น หมวกที่สวมใส่มักเป็นหมวกที่ยกสูงกว่าหมวกปกติของคนทั่วไป

คนกลุ่มนี้จะใช้ผ้าคลุมศีรษะ ส่วนมากเป็นสีเขียว ทรงผมจะลอนยาวถึงติ่งหู นี่เป็นอาการเฉพาะที่ปรากฏออกมารองรับแนวความคิดเหล่านี้เบื้องต้น  นักไหว้กุโบร์มักติดตามสุสานของผู้รู้และผู้มีชื่อเสียงในสถานที่ต่าง ๆ ปัจจุบันสุสานที่ได้รับการให้ความสำคัญมากที่สุดนั่นก็คือ “ท่านเชค นิซอมมุดดีน” สุสานของท่านอยู่ในเมืองฮาดรัต นิซอมุดดีน ย่านเมืองหลวงของประเทศอินเดียที่ชื่อว่า นิวเดลลี นั่นเอง
อย่างที่สาม  มุสลิมสายยะมาอัต ตับลิก (Tabigi Jamaat) แนวความคิดเหล่านี้สำหรับประเทศอินเดียได้เกิดขึ้นมาในช่วงอินเดียกำลังหาทางออกในการรักษาความเป็นมุสลิมให้กับประชาชนของตัวเองภายใต้การกดดันของอาณานิคมแห่งประเทศอังกฤษที่กำลังคุกคามอินเดียอย่างถึงขีดสูงสุดภายใต้นโยบาย “ทำให้แตกแล้วแยกปกครอง”

ญามาอะ ตับลิก หรือที่ประเทศไทยเข้าใจว่า “กลุ่มดะวะห์” (ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปในบทความครั้งหน้า) นับเป็นทางออกของสังคมอินเดียอย่างหนึ่งที่ฉายภาพออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน  มุสลิมกลุ่มนี้เน้นการสร้างกลุ่มผ่านผู้ก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี ๑๙๒๐ ที่ชื่อว่า “เมาลานา มูฮัมหมัด อิลยาส คานดะลาวี” ผู้เป็นลูกของอุลามะ(ครูสอนศาสนา)ในพระราชวังเพื่อสอนลูกชายของกษัติย์คนสุดท้ายของประเทศอินเดียนามว่า “ชาร์ บาฮาดูร” (หนีออกจากประเทศไปยังพม่าหลังเหตุการณ์ทางการเมืองปี ๑๘๕๗)

กลุ่มตับลีก เน้นการออกไปในชุมชนต่าง ๆ ปัจจุบันมีอยู่ทั่วโลกเป็นเวลา เดือนละ  ๓ วัน   ปีละ ๔๐ วัน หรือ ๔ เดือน เป็นหลักการพื้นฐานต้น ๆ ที่กลุ่มเหล่านี้ได้นำเสนอแนวทางการเยียวยาความป่วยไข้ของสังคมและการรักษาความเป็นมุสลิมให้คงอยู่ภายใต้สังคมที่กำลังดำเนินไปสู่หนทางแห่งความวิบากกรรม ศูนย์กลางของกลุ่มยามาอะ ตับลีก ก็ได้ตั้งอยู่ในเมืองหลวง ย่านเมืองฮาดรัต นิซอมุดดีน (ห่างจากกลุ่มไหว้กุโบร์ประมาณ ๑ กิโลกว่า ๆ )
อย่างที่สี่  มุสลิมซุนนี่สายแนวความคิดอีหม่ามชาฟีอี (The Minority of Muslim Sunni Ash-Shafi’i) สังเกตจากการตั้งรกรากของประชาชนแนวความคิดนี้จะอยู่บริเวณใกล้ชายทะเลเกือบทุกภาคส่วนของโลก เพราะแนวความคิดนี้อาศัยอาหารทะเลเป็นอาหารหลัก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของมุสลิมในประเทศนี้ เพราะ มุสลิมในประเทศอินเดียเกือบทั้งหมด อยู่ในสังกัดแนวความคิดอิหม่ามฮานาฟี (สังเกตจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งรกรากไกลจากทะเลเป็นส่วนใหญ่ แนวความคิดนี้ การรับประทานอาหารทะเลเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม (มักโระห์)

วิถีปฏิบัติของกลุ่มคนเหล่านี้ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนตั้งแต่ต้น เนื่องเพราะแนวความคิดของการสังกัดของอิหม่าม ทุกอย่างชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ กลายเป็นเป้าสายตาและมายาคติแห่งความแปลกใหม่ให้กับเพื่อนร่วมประเทศ ชนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่แถบทะเลของประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นTamil Nadu  หรือ Kerela จึงค่อนข้างไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศสักเท่าไหร่

ทั้งหมดคือ ตัวอย่างคร่าว ๆ ที่พอจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เหมือน และสิ่งนี้คือความต่างที่ผ่านการหลอมรวมในบทเรียนบางอย่างที่โดนกระทำมาเหมือนกัน จนสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาแห่งการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่เคยตกเป็นเหยื่อมาเหมือนกัน
รถไฟที่ข้าพเจ้านั่งไปเริ่มเข้าสู่ย่านชนบทแห่งเมืองหลวงของจังหวัด เมือง Lucknow ในเขตของ Utara Pradesh มัสยิดในชุมชนมี ๒ ชั้น  การละหมาดวันศุกร์ (ละหมาดที่มุสลิมจำเป็นต้องมารวมครั้งหนึ่งในรอบสัปดาห์ซึ่งตรงกับวันศุกร์) ผู้คนเริ่มทยอยกันมา บันไดร่วมของมัสยิดนั้นทอดยาวจากชั้นแรกไปสู่ชั้นสองของอาคาร

มุสลิมคนไหนเชื่อแบบไหน ก็เลือกทางที่ตัวเองศรัทธา   ชั้นล่างคือ  กลุ่มมุสลิมไหว้กุโบร์   ส่วนชั้นที่สองคือ มุสลิมทั่วไปของประเทศอินเดียสังกัดอิหม่ามฮานาฟี  ข้าพเจ้าเดินขึ้นด้วยความแปลกเพราะประตูของสองมัสยิดที่อยู่คนละชั้นไม่ได้ปิด ใครเชื่อแบบไหนก็ย่างเท้าเข้าไปแบบนั้น บ้างก็ย่างไปชั้นล่าง บ้างก็ย่างไปชั้นบน
ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งกับแนวความคิดดังกล่าวของมุสลิมในประเทศนี้ที่ “พวกเขาพยายามแสดงให้เห็นความจริงบางอย่างที่กลุ่มของตัวเองเชื่อและศรัทธา ไม่มีการกีดกั้นและปิดโอกาสแห่งการเลือกของผู้คน”
“การฉายแสงแห่งความจริงเท่านั้น ความเท็จก็จะมลายหายไปเป็นแน่”

ไม่มีคำอธิบายอย่างอื่นที่ข้าพเจ้าคิดออก  นอกจาก “ภาพแห่งการโดนกระทำและความรุนแรงก่อนหน้าที่ฉายแสงประกายออกมา เมื่อสังคมถึงช่วงการแตกสะบั้นของความสามัคคี เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกก็จะเทะเล็มเลือดเนื้อกันอย่างเลือดเย็น”
อินเดียคงจะมีบทเรียนแบบนี้มากกว่าประเทศอื่น มุสลิมในพื้นที่แห่งนี้มีความบวมช้ำมากกว่ามุสลิมในพื้นที่อื่น จนกระทั่ง ความไม่เหมือนเหล่านี้ พวกเขาปล่อยมันไปจากบ่วงแห่งการคัดค้านและตำหนิซึ่งกันและกัน

“เพราะเมื่อไหร่ที่พวกเขาเลือกเส้นทางแห่งการโจมตีกันอย่างที่เคยเป็น ภาพแห่งความสามัคคีก็แตกพล่านและแปะรอยร้าว รอยโหว่แห่งความสามัคคีฉายแสงออกมาครั้งใด สังคมต้องอบอวลด้วยหยดเลือด”
ด้วยเหตุประการทั้งหมด สังคมในย่านภารตะจึงพยายามรักษาสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดอาการแห่งความชัง เพราะเขาเชื่อว่า “ความโกลาหลจะปรากฏกายในไม่ช้านี้”
บทเรียนบางอย่างที่ประเทศไทยอย่างเราไม่เคยมี นั่นก็คือ “กลิ่นรอยแห่งคาวเลือดจากฐานคิดแห่งความชัง”
ภาพแห่งการสูญเสียแม่ที่กำลังให้นมลูกน้อย ภาพคนข้างเคียงเผาบ้านเพื่อนร่วมชุมชน กระทั่งสังคมไทยจึงเสพวัฒนธรรมแห่งการยำ การตั้งสำนักเพื่อฟาดฟันกัน โดยเฉพาะมุสลิมที่กำลังเทะเล็มเพื่อนมุสลิมด้วยกันและล้มเลิกบุพการีกันทุกหย่อมหญ้า เหตุเพียงเพราะ “วิถีปฏิบัติต่างกัน”

เมื่อเราก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไม่พ้น ทุกอย่าง ทุกสิ่งในมิติแห่งสังคมที่แตกต่างคือ การแก้แค้นและการชิงชัง ส่วนหนึ่งของความเป็นไปในสังคมไทย ในมิติแห่งความชังและการเดินไปสู่หนแห่งความขัดแย้ง นั่นก็คือ ประเทสไทยไม่มีบทเรียนแห่งการโดนขย่ำและทำลายล้างโดนคนอื่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ มุสลิมด้วยแล้ว ไม่เคยมีความรู้สึกร่วมแห่งการโดนระยำและเขนฆ่า จึงไม่แปลก ความต่างที่ปรากฏ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ชินชาเต็มที
ไม่ต่างจาก มิชชินนารีที่รู้สึกโกรธแค้นในขณะที่อาณานิคมอังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียได้บันทึกไว้ว่า

“พวกกบฏได้ทำให้มือของจนเปื้อนเลือดอันบริสุทธิ์ของสตรีและเด็ก เลือดเหล่านั้นได้ไปร้องเรียนต่อสรวงสวรรค์เพื่อการล้างแค้น”
นี่คือส่วนหนึ่งจากอดีตและบทเรียนราคาแพงที่โลกต้องจารึก ไม่ใช่เพียงมายาคติและการฆ่าฟันกัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง คือ การต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าว “พัฒนาการและมุมมองของการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมแห่งมหาอำนาจและการปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของอำนาจฝ่ายมืดที่พร้อมจะครอบและปกคลุมหัวใจของมนุษย์ได้ทุกเมื่อ”

ทั้งหมดเหล่านี้ได้กดทับให้สังคมเราต้องเรียนรู้กันอีกมายเพื่อรักษาความแปลกแยกให้อยู่ร่วมโลกกันได้ “ด้วยการปลดพันธะและมิติแห่งวัตถุให้หลุดพ้น” อินเดียคือตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่คลุกและจมหายไปในประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุด อีกทั้งวัตถุดิบแห่งแนวความคิดทั้งหมดต่างมีบาดแผลและรอยตำหนิมามากมาย

“สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นบทเรียนชั้นดีในการเรียนรู้และเข้าถึงเพื่อในการเปลี่ยนผ่านห้วงยามแห่งความขัดแย้งดี ๆ นี่เอง”
ข้าพเจ้าหวนคิดขณะข้าพเจ้านั่งรถไฟสายเดิมกลับห้องพักด้วยคราบน้ำตาแห่งสยามประเทศที่กำลังลุกเป็นไฟ